โล่เงิน : ย้อนรอยปริศนาการตาย “เสี่ยชูวงษ์” อุบัติเหตุหรือฆาตกรรมอำพราง?!!

กว่า 2 ปีกับการรอคอยความกระจ่างของครอบครัวผู้สูญเสีย ในคดีการเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำของ นายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง หรือเสี่ยจืด นักธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ของเมืองไทย

ที่ล่าสุดคืบอีกเปลาะ เมื่อศาลจังหวัดพระโขนงประทับรับฟ้องคดีที่ครอบครัวนายชูวงษ์เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีต ส.ส.นครสวรรค์ เป็นจำเลย ฐานร่วมกับพวกฆ่านายชูวงษ์ จากกรณีรถยนต์ที่นายชูวงษ์นั่งมากับ พ.ต.ท.บรรยิน ที่เป็นคนขับ ไปชนต้นไม้ แล้วนายชูวงษ์เสียชีวิต

โดยศาลนัดพร้อมคู่ความเพื่อสอบคำให้การจำเลยในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 ที่จะถึงนี้

ย้อนรอยคดีการเสียชีวิตของนายชูวงษ์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 นายชูวงษ์นั่งรถยนต์ยี่ห้อเลกซัส สีดำ ทะเบียน ภฉ 1889 กรุงเทพมหานคร ที่ พ.ต.ท.บรรยิน เป็นคนขับ โดยรถยนต์เกิดเสียหลักชนต้นไม้ฝั่งตรงข้ามซอย 61 ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 แขวงและเขตสวนหลวง กทม. ท้องที่ สน.อุดมสุข เป็นเหตุให้นายชูวงษ์เสียชีวิต ส่วน พ.ต.ท.บรรยิน ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย

จากสภาพรถยนต์ จุดเกิดเหตุ และสภาพบาดแผลที่ตัวนายชูวงษ์ในวันนั้น ทำให้ครอบครัวไม่ปักใจเชื่อว่าเขาเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ ครอบครัวตั้งข้อสังเกตไว้หลายจุด ทั้งร่องรอยการชนเอียงมาทางคนขับ แต่คนนั่งข้างกลับเสียชีวิต ต้นไม้ที่ชนไม่ใหญ่มากนัก ตัวถังรถบุบสลายไม่มาก กระจกไม่แตก

“ขณะที่แพทย์โรงพยาบาลสิรินธร ที่รับศพนายชูวงษ์ พบรอยแผลบริเวณช่องอก และช่องท้อง แต่ไม่พบรอยกระแทกรุนแรง ขณะเดียวกันพบว่ากะโหลกศีรษะแตก มีเลือดออกปาก จมูก หู เนื่องจากศีรษะถูกกระแทกรุนแรง รวมทั้งปกตินายชูวงษ์จะคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง แต่ขณะเกิดเหตุกลับไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งผิดวิสัยการนั่งรถยนต์ของนายชูวงษ์”

ข้อสันนิษฐานที่ครอบครัวนายชูวงษ์ยังคงคลางแคลงใจ

ครั้งนั้น ครอบครัวผู้สูญเสียเข้าพบ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในขณะนั้น เพื่อร้องเรียนให้ช่วยตรวจสอบในประเด็นที่ยังติดใจสงสัย พล.ต.อ.สมยศ จึงสั่งการให้โอนคดีจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ไปให้กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ดำเนินการสางคดีต่อ

จากการสืบสวนสอบสวนและตรวจสอบด้านเทคนิคของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ป. และผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ป. พบความผิดปกติเบื้องต้น 3 จุด

1. คำให้การของ พ.ต.ท.บรรยิน เรื่องเวลาเกิดเหตุ เพราะหากคำนวณช่วงเวลาขับรถยนต์จากสนามกอล์ฟเลควู้ด มาถึงจุดเกิดเหตุน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที แต่ตามคำให้การของ พ.ต.ท.บรรยิน ระบุว่าใช้เวลาถึง 1.30 ชั่วโมง

2. จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดก่อนถึงจุดเกิดเหตุ 900 เมตร พบว่ารถยนต์คันเกิดเหตุขับมาด้วยความเร็วเพียงแค่ 38 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น

และ 3. สภาพรถเสียหายเล็กน้อย แต่นายชูวงษ์กลับมีแผลฉกรรจ์ที่ศีรษะจนเสียชีวิต

ต่อมาชุดสืบสวน บก.ป. พร้อมเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานกลาง (พฐก.) และผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมกันจำลองเหตุการณ์ มีการนำหุ่นจำลองขนาดเท่านายชูวงษ์ พร้อมติดกล้อง 15 ตัวในรถ เพื่อจำลองเหตุการณ์ บันทึกภาพและเก็บข้อมูลอย่างละเอียด

โดยเจ้าหน้าที่จำลองเหตุการณ์ซ้ำๆ กันถึง 4 ครั้ง ผลการวิคราะห์เบื้องต้นพบว่าความเร็วรถยนต์ที่นายชูวงษ์นั่งมา น่าจะอยู่ที่ประมาณ 30-50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ขณะที่มูลเหตุจูงใจในการก่อเหตุ ครอบครัวนายชูวงษ์ตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะมาจากการโอนหุ้นผิดปกติหลายร้อยล้านให้กับหญิง 2 คน

ชุดสืบสวน บก.ป. ตรวจสอบพบว่า นายชูวงษ์โอนหุ้น 4 ตัว มูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท แบ่งเป็นการโอนหุ้นให้กับ น.ส.ศรีธรา พรหมา มารดา ของ น.ส.อุรชา วชิรกุลฑล หรือป้อนข้าว โบรกเกอร์สาว มูลค่า 40 ล้านบาท

และโอนหุ้นให้กับ น.ส.กัญฐณา ศิวาธนพล หรือน้ำตาล พริตตี้สาว มูลค่า 228 ล้านบาท

โดยหญิงสาวทั้ง 2 คนได้รับการโอนหุ้นก่อนหน้านายชูวงษ์เสียชีวิตไม่ถึงเดือน ขณะที่ญาติมาทราบเรื่องการโอนหุ้นดังกล่าววันที่ 30 มิถุนายน 2558 หลังนายชูวงษ์เสียชีวิตแล้ว เนื่องจากได้รับจดหมายแจ้งการโอนหุ้นมาที่บ้านพัก

จากช่วงเวลาการโอนหุ้นก้อนโต 300 ล้านบาทก่อนนายชูวงษ์เสียชีวิตไม่นาน ทำให้ครอบครัวนายชูวงษ์ไม่อาจปล่อยให้เงื่อนงำการเสียชีวิตครั้งนี้ผ่านไปได้!?

เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ป. ดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง ก่อนสรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการ กระทั่งอัยการคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 เจ้าของสำนวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง แต่รองอธิบดีอัยการคดีอาญากรุงเทพใต้มีความเห็นแย้งให้ฟ้อง และเมื่อสำนวนส่งมาถึงอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้พิจารณาแล้วสั่งไม่ฟ้อง

สำนวนพร้อมความเห็นจึงถูกส่งมาให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.คนปัจจุบัน พิจารณา

ต่อมาเมื่อต้นปี 2560 พล.ต.อ.จักรทิพย์ มีความเห็นแย้งความเห็นของพนักงานอัยการ สำนวนจึงถูกส่งให้อัยการสูงสุดชี้ขาด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุดคนปัจจุบัน

ขณะที่สำนวนคดีฆ่าในส่วนที่ตำรวจ บก.ป. รวบรวมพยานหลักฐาน ถูกส่งให้อัยการศาลจังหวัดพระโขนง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการ

เมื่อคดีแรกเข้าสู่การพิจารณาชั้นศาล จากนี้เป็นหน้าที่ของฝ่ายโจทก์และจำเลย จะต้องนำพยานหลักฐานแสดงต่อศาลเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง

บทสรุปจะเป็นอุบัติเหตุ หรือ ฆาตกรรมอำพราง จึงน่าติดตาม!!