พระพุทธบาทสตรีตอาร์ต ก้าวแรกสู่ 400 ปี พระพุทธบาท สระบุรี

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

www.facebook.com/bintokrit

 

พระพุทธบาทสตรีตอาร์ต

ก้าวแรกสู่ 400 ปี

พระพุทธบาท สระบุรี

 

ลาทีปีเก่า สวัสดีปีใหม่ 2567 ยินดีต้อนรับสู่ปีงูใหญ่หรือปีมังกรทอง 2024 ที่ดูจะเป็นปีมงคลให้ผู้คนได้มีความหวังกันบ้าง

นอกจากเรื่องของปีนักษัตรที่ดูจะมีความพิเศษอยู่พอสมควรแล้ว ปีนี้ยังเป็นปีครบรอบ 400 ปี พระพุทธบาท สระบุรีที่ได้รับการสถาปนาขึ้นโดยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมใน พ.ศ.2167 พอดี

นับว่าเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับชาวสระบุรี ตลอดจนคนไทยทั้งประเทศด้วย

พระพุทธบาท สระบุรี คือรอยพระพุทธบาทตามคติความเชื่อเรื่องรอยพระบาทหรือรอยเท้าของพระพุทธเจ้าที่มีอยู่ทั้งหมด 5 รอย ได้แก่ เขาสุวรรณมาลิก เขาสุมนะกูฏ เขาสุวรรณบรรพต โยนกประกาศ และริมแม่น้ำนัมมทาหรือนัมทานที

ซึ่งเดิมทีไม่ทราบว่ารอยพระบาทที่เขาสุวรรณบรรพตนั้นอยู่ที่ไหน

แต่ต่อมาพระสงฆ์ที่เดินทางไปสักการบูชารอยพระบาท ณ เขาสุมนะกูฏที่ศรีลังกาแล้วทราบจากพระสงฆ์ลังกาว่ารอยพระบาท ณ เขาสุวรรณบรรพตอยู่ที่สยาม

ต่อมาเมื่อพระเจ้าทรงธรรมทรงทราบเรื่องนี้จึงให้ตามหา แล้วพบว่าน่าจะเป็นรอยหินขนาดใหญ่ที่เชิงเขาในเขต ต.ขุนโขลน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรีในปัจจุบัน

พระเจ้าทรงธรรมได้รับสั่งให้สร้างมณฑปครอบรอยหินนั้นเอาไว้ แล้วสถาปนาบริเวณโดยรอบให้เป็นวัดพระพุทธบาท และประกาศให้รัศมี 1 โยชน์หรือราวๆ 16 กิโลเมตรรอบรอยพระบาทเป็นเขตพุทธบูชา

ทุกวันนี้วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร เป็น 1 ใน 6 พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษหรือเอกอุ ชนิดราชวรมหาวิหารซึ่งในปัจจุบันมีอยู่เพียง 6 วัดเท่านั้น คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดอรุณราชวราราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดพระปฐมเจดีย์ และวัดพระพุทธบาท

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาชุมชนเล็กๆ ในป่าเขาที่แทบไม่มีบทบาทมากนักในประวัติศาสตร์ก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นแหล่งจาริกแสวงบุญสำคัญของสยาม

โดยเกิดธรรมเนียมประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จะต้องเสด็จมานมัสการรอยพระพุทธบาทเป็นประจำทุกปี

และการเสด็จพระราชดำเนินจากกรุงศรีอยุธยามาพระพุทธบาทแต่ละครั้งก็เป็นกระบวนพยุหยาตราหรือขบวนเสด็จที่ใหญ่โตใช้ระยะเวลาเดินทางและพำนักอยู่หลายวัน

ดังที่ปรากฏในวรรณคดีโบราณมากมาย เช่น บุณโณวาทคำฉันท์และโคลงนิราศพระพุทธบาทของพระมหานาค วัดท่าทราย

กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศกและกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดงหรือกาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดงของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรหรือเจ้าฟ้ากุ้ง

นิราศพระบาทของพระสุนทรโวหารหรือสุนทรภู่

โคลงนิราศวัดรวก ของหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก)

นิราศพระบาทสำนวนนายจัด

โคลงลิลิตดั้นตำนานพระพุทธบาทของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นต้น

แม้ว่าปัจจุบันสถานะของพระพุทธบาท สระบุรีจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

แต่ก็ยังนับเป็นสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของไทยและเป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดสระบุรีอีกด้วย

ผมเองในฐานะที่เป็นคนพระพุทธบาท สระบุรี ก็เห็นว่านี่เป็นวาระโอกาสสำคัญของเมืองที่ไม่ควรนิ่งเฉยหรือปล่อยผ่านไป

จึงได้ชักชวนผู้คนจำนวนหนึ่งในพื้นที่ รวมทั้งภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน มาร่วมกันทำโครงการศิลปะขึ้นเป็นการประเดิมในนามของกลุ่มฅนหระรี

นอกจากนี้ ยังได้เชื้อเชิญกลุ่มคนและหน่วยงานต่างๆ นอกพื้นที่เข้ามาร่วมกันสร้างสรรค์งานจิตรกรรมขึ้นตามจุดต่างๆ ของเมืองด้วย

โดยหวังว่าจะสร้างแผนที่ศิลปะ 14 จุดที่ครอบคลุมไปทั่วเขตเทศบาลพระพุทธบาท

โครงการนี้มีชื่อว่า “พระพุทธบาทสตรีตอาร์ต” ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

หากใครสนใจชมภาพศิลปะบนผนังกำแพงหรือมีโอกาสได้แวะเวียนมาในแถบจังหวัดสระบุรี แนะนำว่าไม่ควรพลาดเยี่ยมชมผลงานซึ่งแม้จะกระจายอยู่ทั่วเมืองแต่ก็ได้ถูกผูกโยงเข้ามาในแผนที่เดียวกัน

 

ดังนี้

(1) ภาพ 12 นักษัตรและภาพอื่นๆ ที่กำแพงโรงเจใหม่ฮกเอี้ยงฮุกตึ๊ง ฝีมือของทีมพระพุทธบาทคือ เมทินี ปิ่นแก้ว สกุลย์ เสริฐธิกุล จิโรจ ธรรมนิติชนก สิริมาศ กสิชาญ วรพจน์ ยะโสภา เฉลิมพงษ์ นามสมบูรณ์ วีรภัทร พระนคร และอาสาสมัครจำนวนมาก

(2) ภาพกุมภกรรณทดน้ำและวัดพระพุทธบาท ที่กำแพงโรงสีเอี่ยมเฮงล้ง ย่านกุมภกรรณทดน้ำ ฝีมือของทีมครุศาสตร์ จุฬาฯ นำโดยแน็ค นภัทร เอกจริยกร แคน อาร์เซ และปาล์ม

(3) ภาพชุด 6 ภาพที่กำแพงตรอกคลองหมอฝั่งขวา หลังไปรษณีย์ จากทีมครุศาสตร์ จุฬาฯ

(4) ภาพชุด 7 ภาพที่กำแพงตรอกคลองหมอฝั่งซ้าย หลังไปรษณีย์ จากทีมศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

(5) ภาพทุ่งโคนมที่ผนังร้านนม Milk Teen ซอยคลินิก ตลาดนิคมฯ จากทีมครุศาสตร์ จุฬาฯ กับทีมเพาะช่าง (เป้ กิต วัน เนส)

(6) ภาพเจ้าพ่อมังกรทองที่ผนังห้างทองเพชรมังกร ตลาดจอมพล ป. จากครุศาสตร์ จุฬาฯ กับเพาะช่าง

(7) ภาพราตรีประดับดาวที่ ร.ร.พูลเจริญวิทยา จากครุศาสตร์ จุฬาฯ กับเพาะช่าง

(8) ภาพทลายกำแพงแห่งพระพุทธบาทที่ผนังอาคาร ตึกร้านป้าติ๋มส้มตำ ริมถนนพหลโยธิน จากทีมลพบุรี กลุ่มลพบุลุย (Lopburui)

(9) ภาพตำนานลอยกระทงที่ผนังอาคาร S.D.Minimart ย่านกุมภกรรณทดน้ำ จากทีมพระพุทธบาท

(10) ภาพแลนด์สเคปวัดพระพุทธบาทที่ผนังตึกศัลยกรรม รพ.พระพุทธบาท โดยน้องกู๊ดทีมลพบุรี

(11) ภาพเปิดประตูสู่แดนทานตะวันที่จุดจอดรถพยาบาล รพ.พระพุทธบาท ฝีมือวิทยาลัยการอาชีพสระบุรี ร่วมกับทีมจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (อาร์ม เอิร์น ทีม) กับครุศาสตร์ จุฬาฯ

(12) ภาพลอยละล่องไปในฟองของความทรงจำ ณ ตึกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน รพ.พระพุทธบาท โดยทีมจิตรกรรมฯ ศิลปากรกับครุศาสตร์ จุฬาฯ

(13) ภาพเริงระบำในพระพุทธบาท ที่อาคารอนุสรณ์ 60 ปี รพ.พระพุทธบาท ฝีมือของทีม ร.ร.สุธีวิทยา

และ (14) ภาพสถานที่สำคัญของสระบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง หลังร้านกาแฟโบราณ ปากซอยข้างร้านอาหารตามสั่งเจ๊ฉ่าย ตลาดใน จากทีม กศน.อำเภอพระพุทธบาท นำโดยครูไอซ์และครูเมย์

 

โครงการพระพุทธบาทสตรีตอาร์ตไม่มีงบประมาณตั้งต้นอยู่เลย

แต่อาศัยการระดมทุนจากผู้คนในพื้นที่ทั้งที่เป็นเงินและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสี ยานพาหนะ อาหาร ที่พัก ฯลฯ

และด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนในพระพุทธบาทและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น วัดพระพุทธบาท วัดถ้ำกระบอก มูลนิธิอาทรประชานาถ (หลวงพ่ออลงกต ติกฺขปญฺโญ) อำเภอพระพุทธบาท เทศบาลเมืองพระพุทธบาท ร.ร.พูลเจริญวิทยา ร.ร.อนุบาลวัดพระพุทธบาท ร.ร.สุธีวิทยา วิทยาลัยการอาชีพสระบุรี ร.ร.เทศบาลพระพุทธบาท Co/Connexion

รวมทั้งสถานศึกษาต่างๆ นอกพื้นที่ ได้แก่ คณาจารย์และนิสิตจากสาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ผศ.ดร.อินทิรา พรมพันธุ์ และ ผศ.ดร.อภิชาติ พลประเสริฐ อาจารย์ ดร.สริตา เจือศรีกุล ผศ.ดร.ศิริก้อย ชุตาทวีสวัสดิ์ กับ รศ.ทิพเนตร์ แย้มมณีชัย จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณาจารย์และนิสิตจากภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ นำโดย อาจารย์ ดร.พิชัย ตุรงคินานนท์ และ ผศ.กระสินธุ์ อินสว่าง ตลอดจนเครือข่ายภาคประชาชนอื่นเช่น กลุ่มลพบุลุย (Lopburui) โดย อาจารย์เสรี แก้ววิเชียร และผองเพื่อนจากลพบุรี เป็นต้น

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลรายละเอียดได้ที่ www.facebook.com/saraburipeople2022 และ https://www.youtube.com/@saraburipeople2022/featured

บัดนี้โครงการพระพุทธบาทสตรีตอาร์ตสำเร็จลุล่วงลงด้วยดีแล้ว ภาพจิตรกรรมบนผนังกำแพงชุดแรกจำนวนทั้งหมด 14 จุด 28 ภาพ ได้ปรากฏกระจายตัวไปทั่วทั้งเมืองพระพุทธบาทบังเกิดเป็นแผนที่ศิลปะร่วมสมัยขนาดใหญ่ที่กินอาณาบริเวณครอบคลุมพื้นที่หลายกิโลเมตรเป็นรูปวงกลมรอบรอยพระพุทธบาท

รอคอยผู้มาเยือนให้แวะเวียนเข้าเยี่ยมชมและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองครบรอบ 400 ปี พระพุทธบาท สระบุรี ในปีนี้