คณิตศาสตร์ประกันภัย กับมายาคติ ของการกำหนดนโยบายสาธารณะ

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แนวคิดคณิตศาสตร์ประกันภัยเริ่มก้าวเข้ามาเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายสาธารณะทั้งในไทย และระดับสากล

โดยยึดถือหลักการการพยายามทำนายพฤติกรรมของคนใช้นโยบาย แนวโน้มของงบประมาณที่เกี่ยวข้อง

และพยายามวางกรอบสิทธิประโยชน์ผ่านนโยบายต่างๆ ผ่านเงื่อนไขสถิติ และความเป็นไปได้ผ่านเงื่อนไขต่างๆ โดยพยายามกำหนดตัวแปรต่างๆ โดยผู้เชี่ยวชาญ

อย่างไรก็ตาม การก้าวเข้ามาของคณิตศาสตร์ประกันภัยไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือความก้าวหน้าของวิทยาการความรู้

แต่เกิดจากการที่ประชาชนทั่วไปถูกจำกัดอำนาจในการกำหนดนโยบายต่างๆ พน้อมๆ กับการเพิ่มอำนาจของกลุ่มทุนในการกำหนดนโยบาย

เมื่อแนวนโยบายถูกจำกัดอยู่ในมือของผู้เชี่ยวชาญ มากกว่าความเป็นไปได้ใหม่ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือนโยบายสำหรับคนส่วนใหญ่ จึงดูเป็นความเสี่ยงไปเสียหมด

 

Alexandra Chouldechova นักวิชาการที่ศึกษาเรื่อง ข้อมูลขนาดใหญ่ ปัญญาประดิษฐ์ และสถิติวิเคราะห์ โดยพยายามศึกษาอคติของชุดข้อมูลต่างๆ ที่ถูกนำมาวิเคราะห์ผ่าตัวแบบคณิตศาสตร์ประกันภัย จนถึงการเป็นฐานข้อมูลให้กับปัญญาประดิษฐ์พบว่า ถึงแม้ว่าโดยพื้นฐานแล้ว การตัดสินใจของมนุษย์มีความเสี่ยงต่ออคติและความผิดพลาดมากกว่าการใช้ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่หรือปัญญาประดิษฐ์ก็จริง

แต่ตัวแบบคณิตศาสตร์ประกันภัยก็ไม่ได้มีข้อยกเว้นต่อการตัดสินแบบอคติได้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอคติของข้อมูลเช่นฐานข้อมูลที่ระบุว่าคนกลุ่มหนึ่งมักมีพฤติกรรมแบบหนึ่งซึ่งมีความเสี่ยงต่อการใช้บริการสวัสดิการมากกว่าปกติ คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจแบบหนึ่งมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมการบริโภคแบบหนึ่งที่ส่งผลเสียต่อการกำหนดนโยบายระยะยาว หรือสนับสนุนแนวคิดแบบใดแบบหนึ่ง อันนำสู่การทำนายหรือออกแบบนโยบายในอนาคตที่ลดทอนความสำคัญของมนุษย์ที่มีหลากหลายมิติมากกว่าตัวแปรที่อยู่ใน “ตัวแบบการคำนวณ”

นอกจากนี้ ยังเป็นการลดทอนปัจจัยสำคัญต่างๆ ที่มีความซับซ้อน ผ่านความสัมพันธ์ของมนุษย์ให้เหลือเพียงตัวเลข รวมถึงมองข้ามจริยธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 

ลองพิจารณาว่า ก่อนหน้านี้ ถ้าเราพูดถึงการเลิกทาส หากเราใช้หลักการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ คงเห็นแต่ความเป็นไปไม่ได้ เพราะมันหมายถึงการจ่ายเงินจำนวนมหาศาลให้แก่คนที่เคยทำงานฟรีและไม่มีกฎหมายคุ้มครอง มีแต่ความเสี่ยงของการล่มสลายทางเศรษฐกิจ

เช่นเดียวกันกับการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เลือกตั้งเท่าเทียมกับผู้ชายครั้งแรก หากเราใช้เพียงฐานข้อมูลที่มีมาในอดีต เราก็จะไม่คิดว่าโลกที่มีความยุติธรรมดีกว่า สังคมอนุรักษนิยมชายเป็นใหญ่ที่เราคุ้นชินกันมานับพันปีได้อย่างไร

เช่นเดียวกับการเกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในช่วงเวลานั้นประเทศไทยอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 นโยบายที่ควรเป็นในตอนนั้นคือเรื่องพักหนี้ แจกเงิน หากมองตามหลักเพราะเป็นนโยบายที่ดีในระยะสั้น และเป็นนโยบายที่เป็นไปได้ทางเศรษฐกิจในขณะนั้น

แต่ด้วยแรงผลักทางการเมืองทำให้เกิดนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายที่ไม่ได้อยู่ในสารระบบการกำหนดนโยบายกระแสหลักในขณะนั้น และไม่สามารถหวังผลทางเศรษฐกิจได้ แต่สามารถสร้างสังคมที่ยุติธรรมได้ในระยะยาว

เช่นเดียวกันกับสิทธิการลาคลอด หรือเบี้ยผู้สูงอายุก็ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่มีฐานข้อมูลที่พร้อมในการผลักดันนโยบาย

แต่ท้ายสุดก็สามารถสร้างสังคมที่ยุติธรรมมากขึ้นได้

 

ดังนั้น มันจึงกลับมาที่ข้อถกเถียงหลักที่มีมาอย่างยาวนาน ว่าในการกำหนดนโยบายนี้ เราพึงให้เป็นเรื่องของคนธรรมดา หรือผู้เชี่ยวชาญ หรือแม้กระทั่งการใช้โมเดลที่ไร้หัวใจละพยายามปราศจากอคติที่สุด

สำหรับบทความนี้ผู้เขียนคงไม่ได้ฟันธงว่าต้องใช้แนวทางไหนโดยเฉพาะ

แต่เพียงจะย้ำว่ากลไกการกำหนดนโยบายต่างๆ ไม่สามารถปราศจากอคติได้อย่างเต็มร้อย และด้วยความซับซ้อนของสังคมและความสัมพันธ์ของมนุษย์ สิ่งที่เราจำเป็นต้องพิจารณาไม่ใช่เพียงแค่ความเป็นไปได้ในเงื่อนไขสังคมปัจจุบัน แต่เราจำเป็นต้องพิจารณาถึงสิ่งที่สมควรเป็น สำหรับเราในฐานะมนุษย์

หลักการสำคัญที่การทำนายต่างๆ ด้วยตัวแบบทางธุรกิจ และคณิตศาสตร์ประกันภัยมักมองข้าม คือหลักการที่เราเรียกว่า “ตัวทวีคูณความเสมอภาค”

หลักการนี้ ไม่สามารถคาดเดาออกมาเป็นตัวเลขที่สมบูรณ์ได้

แต่หากเราพิจารณาถึงผลประโยชน์ที่ แม่คนหนึ่งได้จากเงินการเลี้ยงดูบุตร อาจไม่สามารถบอกได้ว่าพวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงใด หรือเด็กคนหนึ่งจะมีผลการเรียนหรือน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุดคือการเพิ่มทางเลือกในชีวิตของครอบครัวหนึ่ง ที่มากขึ้น

เช่นเดียวกับประกันการว่างงาน ที่เราไม่สามารถบอกได้ว่า เมื่อคนได้รับประกันการว่างงานพวกเขาจะเปลี่ยนอาชีพที่มีรายได้มากขึ้นเพียงใด

แต่มันคือการเปิดโอกาสให้ผู้คนใคร่ครวญกับชีวิตมากขึ้น ทบทวนสิ่งที่สำคัญกับชีวิตได้นานมากขึ้น

 

มันก็เป็นเพียงหลักการ สำคัญที่อนุญาตให้เราสามารถป่วยได้ สามารถว่างได้ สามารถแก่ สามารถเรียนสิ่งที่ชอบ สามารถมีความรัก มีครอบครัว มีความสุข หรือการได้รับอนุญาตให้เรายังเป็นมนุษย์ อันนับเป็นหลักการพื้นฐานที่สังคมเราควรเป็น

คณิตศาสตร์ประกันภัยไม่ได้มีปัญหาในตัวมันเอง

หากแต่เราลดทอนคุณค่าทุกอย่างให้เหลือเพียงแค่ตัวเลข ก็เท่ากับเราได้ทำลายคุณค่าค่าต่างๆ ที่ยึดโยงความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีความสลับซับซ้อน และมีเหตุผลหลายชุดมากกว่าความเป็นไปได้ในทางสถิติและตัวเลข