นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ตลาดเชียงใหม่

นิธิ เอียวศรีวงศ์

เมื่อตอนที่ซูเปอร์ฯ เริ่มเข้ามาเชียงใหม่สัก 30 ปีมาแล้ว แม่ค้าในตลาดสดพากันบ่นว่าลูกค้าบางตาไปมาก บางคนถึงกับบอกว่ามาขายของในตลาดก็เพื่อได้มานอนหลับพักผ่อนเท่านั้น

อันที่จริงตลาดในสมัยนั้นก็เหมือนหรือเกือบเหมือนซูเปอร์ฯ อยู่แล้ว พื้นที่และอาคารเป็นของนายทุนใหญ่ เปิดให้พ่อค้าแม่ค้าเช่าเป็นตารางเมตรในราคาที่ค่อนข้างสูง ฉะนั้น ผู้เช่าจึงเป็นพ่อค้าแม่ค้าแท้ มีทุนมากพอจะทำกิจการค้าขายในตลาดได้ ไม่ใช่ผู้ผลิตในภาคเกษตร สองฝ่ายไม่เคยพบหน้ากันเลย เพราะแม้แต่การซื้อหาผักหญ้าหรือวัสดุอื่นมาขายในตลาด ก็ซื้อจากคนกลางอีกต่อหนึ่ง

แม้กระนั้นราคาที่ซื้อก็ถูกมาก แต่เมื่อซื้อแล้วต้องมาตัดแต่งเองเพื่อทำให้เป็นสินค้าในเกรดดี ซึ่งจะขายแก่ลูกค้าในราคาสูงกว่ากันหลายเท่าตัว

ซูเปอร์ฯ ก็ทำอย่างเดียวกัน เพียงแต่นายทุนคนเดียวหรือกลุ่มเดียวขายของทั้งตลาด ด้วยแรงงานที่จ้างมาเท่านั้น

ตอนนั้น ผมยังพำนักในเขตเมือง (หมายความว่าในหรือชิดกับเขตเทศบาลนคร) จึงพบว่าลูกค้าตลาดสดที่ร่วมจับจ่ายซื้อของร่วมกันนั้น ก็คือคนชั้นกลางในเขตเมืองนั่นเอง ผมไม่รู้ว่าในสมัยนั้นชาวบ้านรอบนอก โดยเฉพาะเกษตรกร จับจ่ายซื้อของที่ไหน เมื่อขี่จักรยานยนต์ออกไปเที่ยวรอบนอกในวันหยุด ก็ได้เห็นตลาดนัดแบกะดินอยู่บ้าง แต่ใครคือลูกค้าของตลาดนั้นก็เดาไม่ถูก เพียงแต่ได้พบผู้ผลิตนำสินค้าจากไร่นาของตนออกวางขายจำนวนมากทีเดียว

นอกจากนี้ ในเขตเมืองของอำเภอรอบนอก ก็มักมีตลาดสดที่เป็นอาคารไม้เปิดโล่งอยู่ด้วยเสมอ เข้าใจว่าคงให้บริการแก่คนชั้นกลางในละแวก ส่วนผู้ขายก็น่าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้า เพราะต้องเสียค่าเช่าแผงด้วย

ผมคิดว่าตลาดของคนชั้นกลางเช่นนี้แหละ ที่ได้รับผลกระทบจากซูเปอร์ฯ มาก และผมสงสัยว่าซูเปอร์ฯ เองก็ตั้งใจจะแข่งกับตลาดประเภทนี้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกสินค้ามาจำหน่าย หรือการตั้งราคา และการเสนอความเหนือกว่าของสินค้า (เช่น มีตู้แช่เนื้อสัตว์) ตลาดของคนชั้นกลางจะอยู่รอดได้ก็โดยเน้นขายเฉพาะด้าน (specialization) เช่น อยากซื้อตั้งฉ่ายที่หอมๆ จากเมืองจีนก็ต้องไปตลาดเก่า (ในกรุงเทพฯ)

ตลาดคนชั้นกลางในเชียงใหม่แห่งหนึ่ง หลังจากซบเซาไปนาน ก็กลับมาคึกคักได้อีกครั้งด้วยของฝากประเภทอาหารเหนือ เฉพาะแคบหมูอย่างเดียว ก็ตั้งกระทะทอดกันหลายเจ้า ยังไม่พูดถึงเตา (อบ) ย่างไส้อั่ว, น้ำพริกหนุ่ม, ส้มสายน้ำผึ้ง, ฯลฯ ก็มีหลายเจ้าเหมือนกัน รสชาติของอาหารเหล่านี้มักปรุงให้ถูกใจนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯ (ซึ่งก็อร่อยดีสำหรับคนเชียงใหม่เก๊ๆ แบบผม)

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของพ่อค้าแม่ค้าในตลาดไม่ง่ายเหมือนการปรับตัวของซูเปอร์ฯ เพราะตลาดมีหลายเจ้าของ ไม่อาจทำได้ทั้งตลาด คนที่ยังต้องทนขายก๊อกๆ แก๊กๆ ต่อไปก็ยังมีอีกหลายเจ้า ในขณะที่บางซูเปอร์ฯ ของเชียงใหม่ปรับไปสู่สินค้าคุณภาพที่เจาะจงลูกค้ากำลังซื้อสูงกว่าทั่วไป กลับขายดิบขายดีจนขยายสาขาไปหลายแห่งทั่วเมือง

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่มีตลาดคนชั้นกลางซึ่งอยู่แถวละแวกบ้านผมในปัจจุบัน ที่มีพ่อค้าแม่ค้าอยู่ไม่ถึงครึ่งของอาคารโรงเรือน

ในระหว่าง 30 ปีที่เชียงใหม่เริ่มมีซูเปอร์ฯ เศรษฐกิจ-สังคมของเชียงใหม่ก็แปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนในปัจจุบันหากไม่นับกลุ่มชาติพันธุ์บนดอยที่ห่างไกลแล้ว คนเชียงใหม่ได้เข้าสู่ตลาด (ทางเศรษฐกิจ) เต็มตัวไปหมดแล้ว หมายความว่าใช้แรงงานของตนเพื่อขาย และเอาเงินไปแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการที่ต้องการในตลาด ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงการอพยพเข้าของคนชั้นกลางอีกจำนวนมาก ดังนั้น จึงเกิดตลาดขึ้นอีกหลายประเภทซึ่งล้วนคึกคักทั้งสิ้น

หนึ่งคือตลาดที่อยู่บนลานหรือข่วงประเภทต่างๆ ทั้งที่มีเจ้าของหรือไม่มีเจ้าของ แต่เนื่องจากเจ้าของไม่ต้องลงทุนอะไรกับข่วงดังกล่าว ค่าเช่าพื้นที่ในการวางของขายจึงมีราคาถูก วัดแห่งหนึ่งมีข่วงใหญ่อยู่หน้าวัดและติดถนนใหญ่ จึงอนุญาตให้พ่อค้าแม่ค้ามาวางของขายเป็นตลาดนัดในเย็นวันจันทร์, พุธ, ศุกร์ พระท่านเคยบอกผมเมื่อหลายปีมาแล้วว่า เก็บค่าเช่าเพียงแผงละ 10 บาท เพื่อเป็นค่าทำความสะอาด

ข่วงอีกแห่งหนึ่งเป็นของเอกชนอยู่ติดถนนตรงสี่แยกที่จะขึ้นเขา ก็เปิดตลาดนัดในวันอังคาร, พฤหัสฯ, เสาร์ เพื่อไม่ให้ตรงกับตลาดนัดของวัดซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก ดังนั้น ตลาดแห่งนี้จึงมีชาวเขานำผลผลิตของตนมาวางขายด้วย และมีชาวเขาเป็นลูกค้า เพราะเป็นทางที่เขาจะกลับบ้านทุกเย็น หลังจากขายแรงงานในเมือง เพียงไม่กี่ปีที่ผมได้เห็น ตลาดนัดแห่งนี้และตลาดนัดหน้าวัดก็กลายเป็นแหล่งซื้อขายคึกคัก

ตลาดนัดกำลังเป็นที่นิยม เพราะสินค้าที่ขายราคาถูกอย่างหนึ่ง เพราะค่าเช่าพื้นที่ราคาถูก และมีสินค้าที่ผู้ผลิตนำมาวางขายเองด้วย โดยเฉพาะพวกผักหญ้าพื้นเมืองซึ่งบางครั้งก็ไม่อาจหาซื้อได้ในตลาดประเภทอื่นอีกอย่างหนึ่ง โรงเรียนของเทศบาลแห่งหนึ่งแถวบ้านผม เปิดพื้นที่โรงเรียนทุกวันศุกร์ให้ชาวบ้านนำของมาขายได้ นอกจากชาวบ้านในละแวกแล้ว ก็ย่อมมีพ่อค้าแม่ค้าเร่ที่นำของไปขายตามตลาดนัดต่างๆ หมุนเวียนกันไปอยู่ด้วย

ที่น่าสนใจแก่ผมก็คือ ลูกค้าตลาดนัดประกอบด้วยคนหลายจำพวกมาก คนชั้นกลางมักหยุดรถเก๋งเพื่อจ่ายตลาดก่อนกลับบ้าน อันเป็นบ้านจัดสรรซึ่งผุดขึ้นเกือบจะต่อเนื่องกันไปบนถนนสู่ทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่ ชาวบ้านในละแวกย่อมเข้ามาเลือกซื้อสินค้าที่มีให้เลือกมากกว่า แม้แต่ที่อยู่ไกลออกไปจากละแวก ก็มักขี่จักรยานยนต์หรือปิกอัพมาซื้อสินค้าในตลาดนัดเช่นกัน

ถึงแม้เรียกว่าตลาดนัด แต่แตกต่างจากตลาดงานวัดตรงที่ว่า ผู้ค้าคือคนหน้าเดิมซึ่งอาจพบได้ในทุกวันที่ติดตลาดนัด ซ้ำวางของขายในที่เดิมเสียด้วย จึงผิดจากพ่อค้าแม่ค้าในตลาดงานวัดซึ่งพบลูกค้าปีละครั้งเดียว มีช่องฟันกำไรได้ยิ่งมากก็ยิ่งฟัน หาทางเอาเปรียบคู่แข่งของตนทุกวิถีทางทั้งตรงและเบี้ยว พ่อค้าแม่ค้าในตลาดนัดเหล่านี้มี “เครดิต” ที่ต้องรักษาไว้ และไม่สามารถเอาเปรียบพ่อค้าแม่ค้าร่วมตลาดกันได้ง่ายๆ เพราะจะต้องเห็นหน้ากันทุกนัด

ผมเคยหาซื้อผักพื้นบ้านบางอย่างที่แม่ค้าไม่มี เขาจึงชี้มือให้ผมไปหาแม่ค้าอีกเจ้าหนึ่งที่เขาเคยเห็นว่ามักมีขายเสมอ

ยังมี “ตลาด” อีกอย่างหนึ่งที่ระบาดไปตามหมู่บ้าน ผมอยากเรียกว่าตลาดสะดวกซื้อของชาวบ้าน คือใต้ถุนเรือนของชาวบ้านบางคน เปิดเป็นตลาดเล็กๆ ที่เจ้าของขายอยู่คนเดียว มีผักหญ้านานาชนิด เนื้อสัตว์แช่อยู่ในถังน้ำแข็ง อาหารสำเร็จรูปบางอย่าง ผลไม้ที่เพื่อนบ้านเอามาฝากขาย สบู่ ยาสีฟัน ฯลฯ แต่เท่าที่ผมเข้าใจคงไม่มีใครมาจ่ายตลาดให้ครบในตลาดสะดวกซื้อเหล่านี้ เท่าที่ผมเคยเห็น ต่างมาหาซื้ออะไรที่ขาดเหลือเฉพาะหน้าชิ้นสองชิ้นเท่านั้น

ตลอดเส้นทางจักรยานที่ผมขี่เล่นเป็นประจำ จะทะลุเข้า (หมู่) บ้านนั้นออกบ้านนี้ไปเรื่อยๆ ผมได้เห็นตลาดประเภทนี้ไม่ต่ำกว่า 4-5 แห่ง ทั้งนี้ ไม่นับที่ปิ้งหมู-ไก่-เนื้องัว-ควาย เสียบไม้ย่างขาย หรือบางแห่งทอดกล้วยแขก โดยซื้อกล้วยสุกงอมใกล้หมดราคาในตลาดอื่นมาทอดขาย (ซึ่งอร่อยอย่างยิ่งสำหรับผม) หากนับอย่างนี้ด้วยก็มีเป็นสิบๆ ตลอดเส้นทางจักรยานของผม

โดยสรุปก็คือชีวิตของชาวเชียงใหม่ในทุกวันนี้อยู่ได้ด้วยการซื้อขายแลกเปลี่ยน นี่คงเป็นสิ่งที่ใครๆ แม้ไม่เคยมาเชียงใหม่เลยก็คงพอนึกออก

ในทุกวันนี้ ตลาดคือพื้นที่ซึ่งคนเชียงใหม่ได้พบปะกันมากที่สุด มากกว่าในงานปอย, มากกว่าในเทศกาลทางศาสนาและการท่องเที่ยว และผมคิดว่าน่าจะมากกว่าพื้นที่ของซูเปอร์ฯ และห้างสรรพสินค้าด้วย อย่างน้อยก็มีคนเชียงใหม่อีกมากที่ไม่จ่ายตลาดในซูเปอร์ฯ แต่แทบจะไม่มีใครนับตั้งแต่คนชั้นกลางขี่เก๋งลงมา ที่จะไม่จ่ายเข้าของในตลาดประเภทต่างๆ

ด้วยความที่ห่างกรุงเทพฯ มานานมาก ผมอยากเดาว่า พื้นที่อย่างนี้ไม่มีในกรุงเทพฯ ที่ซึ่งคนระดับล่างจับจ่ายซื้อเข้าของ เป็นที่ซึ่งคนชั้นกลางขี่เก๋งขึ้นไปไม่เข้าไปจับจ่ายซื้อของ ที่ดินในกรุงเทพฯ ราคาแพงเกินกว่าใครจะเอามาทำตลาดนัด แม้แต่ตลาดที่เป็นโรงเรือนยังถูกรื้อทิ้งไปหลายแห่งแล้ว เพื่อเอาไปทำอย่างอื่นที่ให้กำไรกว่า หากวัดในกรุงเทพฯ มีที่ว่าง ก็คงเอาไปสร้างตึกแถวให้เช่า มากกว่าเปิดให้ชาวสวนนำผลผลิตมาขายแก่ชาวบ้านในราคาถูก

ซูเปอร์ฯ จึงอาจเป็นพื้นที่ซึ่งคนกรุงเทพฯ ได้พบกันมากที่สุด แต่ผมสงสัยว่าคงจะพบคนใน “ชั้น” เดียวกันมากกว่าพบข้ามชั้นเหมือนตลาดนัดของเชียงใหม่ ผมจำความตระหนก, ความงุนงง และความสับสนของคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เมื่อเสื้อแดงยึดราชประสงค์ใน พ.ศ.2553 ได้ดี พวกนั้นจะขี้เยี่ยวส้วมไหน, อาบน้ำห้างไหน, ปรุงอาหารข้างลิฟต์ศูนย์การค้าใด ฯลฯ ศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ทางชนชั้นแน่

อันที่จริง ตลาด โดยเฉพาะตลาดแบบเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ซึ่งผู้คนใน “พหุสังคม” เข้ามาใช้ร่วมกันเสมอ เขาอาจแยกกันไปศาสนสถาน เพราะถือศาสนาต่างกัน, แยกกันไปโรงเรียน เพราะอยากเตรียมบุตรหลานของตนเข้าสู่สังคมต่างชนิดกัน, แม้เบียดเสียดอยู่ใกล้กันในตลาด แต่เขาไม่พูดกันเลยเพราะใช้ภาษากันคนละภาษา (อีกทั้งถ้อยทีถ้อยเหยียดและเกลียดกันอย่างฝังลึกเสียด้วย), จำเป็นจริงๆ เท่านั้นหรอกที่เขาจำเป็นต้องถามไถ่ราคาหรือต่อรองราคากันพ่อค้าแม่ค้าซึ่งเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง แต่ก็เพียงเท่านั้น

ในทัศนะของ J. S. Furnivall พหุสังคมเกิดขึ้นทั่วไปในอาณานิคมทั่วโลก แต่ต่างจากประเทศที่มีประชากรหลายชาติพันธุ์ในโลกตะวันตก เช่น สหรัฐ, แคนาดา, ออสเตรเลีย ความแตกต่างที่สำคัญก็คือในประเทศตะวันตก ถึงผู้คนประกอบด้วยหลากหลายชาติพันธุ์ แต่ต่างยอมรับอนาคตที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวร่วมกัน เช่น ครอบครัวจีนในแคนาดาต้องการให้ลูกได้เข้าโรงเรียน เพื่อสามารถเลี้ยงตัวได้ในสังคมแคนาดาในภายหน้า แม้ว่าบังคับให้ต้องเรียนพิเศษภาษาจีนตอนเย็นทุกวันก็ตาม แต่คนพม่าภายใต้ระบบอาณานิคมอังกฤษ ไม่ได้ต้องการให้ลูกเรียนหนังสือโรงเรียนที่สอนตามแบบอังกฤษ เพราะอนาคตของลูกจะต้องอยู่ในสังคมพม่าซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสังคมอังกฤษเลย นอกจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

สรุปให้เหลือสั้นๆ ก็คือ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ (เช่น ซื้อ-ขายของในตลาด) เพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะกลมกลืนคนต่างวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ของสังคมพหุวัฒนธรรมให้ฝันถึงอนาคตอันเดียวกันได้

แม้ว่าตลาดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ผมพบว่าผู้จ่ายตลาดซึ่งประกอบด้วยคนต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจและสถานภาพทางสังคม มีความสัมพันธ์กันมากกว่าการซื้อขาย เช่นเขาพูดคุยกันด้วยเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับราคาหรือคุณภาพของสินค้ามากมายหลายเรื่อง ข้ามชนชั้นและสถานภาพระหว่างกัน

ในท่ามกลางการแตกตัวทางชนชั้น, สถานภาพ, ปูมหลังชีวิตของผู้คนในเชียงใหม่ และความแตกแยกในความคิดทางการเมือง แต่เชียงใหม่ก็ไม่กลายเป็นพหุสังคมตามความหมายของ Furnivall วัฒนธรรม, ระบบการศึกษา, ระบบเศรษฐกิจ และการเมือง ฯลฯ ผูกความหลากหลายของผู้คนคิดถึงอนาคตที่ต้องมีฝ่ายอื่นอยู่ด้วยเสมอ แม้ความเห็นอาจไม่ตรงกันว่าฝ่ายอื่นจะอยู่ในสถานะอะไร แต่ทุกคนก็ยอมรับว่าเป็นอนาคตของทุกคน

ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงไม่เห็นความจำเป็นต้องมีมาตรการปรองดองจากเบื้องบน ความปรองดองที่จะมีผลยั่งยืนได้จริงต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมมักสร้างขึ้นเอง สิ่งที่ข้างบนผู้ถืออำนาจต้องทำก็คือ ทำให้เงื่อนไขของการเรียนรู้เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรม และบังคับใช้กฎหมาย (ที่มีความชอบธรรม) อย่างเที่ยงธรรมเท่านั้น