ธนาคารญี่ปุ่นในไทย (2)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ธนาคารญี่ปุ่นในไทยสะท้อนมิติสำคัญ ว่าด้วยพัฒนาการความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น โดยเฉพาะมิติที่รู้กัน “ธุรกิจญี่ปุ่นลงทุนในไทยมากที่สุดติดต่อกันหลายสิบปี” ทั้งนี้ บทบาทธุรกิจญี่ปุ่นในประเทศไทย ได้เดินหน้าต่อเนื่องและยกระดับขึ้นเป็นระยะๆ

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นกลางปี 2556 เมื่อ Mitsubishi UFJ Financial Group, Inc. หรือ MUFG เข้าถือหุ้นใหญ่ที่สุดถึง 75% ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นกรณีธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่กว่าธนาคารอื่นใด ที่มีธนาคารต่างชาติถือหุ้นในสัดส่วนมากที่สุด

ผ่านมาอีกระยะ (ต้นปี 2558) ธนาคารกรุงศรีฯ ยุคใหม่ ซึ่งเน้นว่า “เป็นบริษัทในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) ซึ่งเป็นกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก” ได้ควบรวมกับ BTMU สาขากรุงเทพ (ว่าไว้ในตอนที่แล้ว มีความต่อเนื่อง วางรากฐานในสังคมไทย มาจาก Yokohama Specie Bank ตั้งแต่ปี 2479) ในปี 2559 พิจารณาเฉพาะรายได้รวม

ธนาคารกรุงศรีฯ จึงขยับจากธนาคารระดับ 70,000 ล้านบาท เป็นกว่า 90,000 ล้านบาทแล้ว

 

ปัจจุบัน “กรุงศรีฯ เป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อันดับ 5 ของประเทศ ด้านสินทรัพย์ สินเชื่อ และเงินฝาก” ข้อมูลทางการของธนาคารเอง (ข้อมูลทั่วไป หรือ Fact Sheet กันยายน 2566) ระบุไว้ (โปรดพิจารณา “ข้อมูลจำเพาะ” ประกอบด้วย)

ที่น่าสนใจกว่านั้น แผนการความพยายามขยายเครือข่ายสู่ระดับภูมิภาค เพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงและหลอมรวมระบบเศรษฐกิจอาเซียน ดูไปแล้วประหนึ่งมีบทบาทในเชิงประสานกับ BTMU ซึ่งสร้างเครือข่ายไว้ก่อนหน้าในช่วงเดียวกับเข้ามาถือหุ้นใหญ่ธนาคารกรุงศรีฯ

อย่างที่ว่าไว้ (ตอนที่แล้ว) BTMU ให้ความสำคัญขยายเครือข่ายภูมิภาคอาเซียนเป็นพิเศษ

“เข้าถือหุ้น Vietinbank ประเทศเวียดนามในสัดส่วน 20%…ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เข้าถือหุ้น 20% ของ Security Bank…ประเทศอินโดนีเซีย… เข้าถือหุ้น 94% ใน Bank Danamon” และเป็นตามแบบแผนเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ด้วย

ว่ากันอย่างเจาะจงในภูมิภาคอาเซียน มีเฉพาะธนาคารใหญ่ไทยเท่านั้นมีเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก เป็นแบบแผน อ้างอิงกรณี ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และ ธนาคารไทยพาณิชย์ ทั้งนี้ มีแผนการมีขึ้นเป็นระลอก จากครั้งแรกในช่วง “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” เมื่อทศวรรษ 2530 มาถึงอีกช่วงในทศวรรษมานี้ เชื่อมโยงกับไทม์ไลน์การหลอมรวมเศรษฐกิจอาเซียน

อย่างกรณีในเวียดนาม “ปี 2535 ธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารต่างชาติแห่งแรกที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ โดยสาขาโฮจิมินห์ ซิตี้ เปิดในปี 2535 และสาขาฮานอย เปิดในปี 2537 เพื่อดูแลบริษัทไทยและบริษัทต่างชาติที่เข้ามาเปิดธุรกิจในเวียดนาม…” (ข้อมูลของธนาคารกรุงเทพ)

ขณะธนาคารไทยพาณิชย์โฟกัสกัมพูชา เป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบแห่งแรกในกระแสคลื่นลูกแรก (ปี 2534) ในนาม Cambodian Commercial Bank (CCB) ปัจจุบันมีสาขาครอบคลุมเมืองสำคัญๆ ส่วนในเวียดนาม เพิ่งมาเปิดสาขาโฮจิมินห์ในระลอกหลัง (ปี 2559)

ส่วนธนาคารกสิกรไทยมาทีหลังอยู่ในกระแสคลื่นล่าสุด ได้ยกระดับสำนักงานตัวแทนเป็นสาขาในพนมเปญ กัมพูชา (ปี 2559) ขณะชิมลางเปิดสำนักงานผู้แทน ที่ฮานอยและโฮจิมินห์ ในเวียดนาม ก่อนมาเปิดเป็นสาขาโฮจิมินห์ (ปี 2564)

 

ในช่วงคาบเกี่ยวกันนั้นในคลื่นระลอกหลังเช่นกัน ธนาคารกรุงศรีฯ (ปี 2559) เข้าซื้อ Hattha Kakser Limited ธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ชั้นนำในกัมพูชา

ต่อมาสักพัก (ปี 2563) Hattha Kaksekar Limited ได้รับอนุมัติให้ดําเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ภายใต้ชื่อ Hattha Bank Plc. ตามมาในเวียดนาม

ในกรณีล่าสุด (พฤษภาคม 2566 ) ธนาคารกรุงศรีฯ เข้าซื้อและรับโอนหุ้นในอัตราร้อยละ 50 ของ SHBank Finance Company Limited ในประเทศเวียดนาม

อีกกรณีสำคัญ ที่อินโดนีเซีย “อินโดนีเซียเป็นตลาดสำคัญของธนาคารกรุงเทพมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ซึ่งหลังจากที่ธนาคารตั้งสาขาแห่งแรก ณ กรุงจาการ์ตาในปี 2511 ธนาคารยังคงเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกิจการในตลาดอินโดนีเซียมาอย่างต่อเนื่อง และครั้งล่าสุดในปี 2563 ธนาคารประสบความสำเร็จในการเข้าถือหุ้นธนาคารเพอร์มาตา (Permata Bank)” ข้อมูลธนาคารกรุงเทพระบุไว้

ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย เดินแผนตามหลังมา มีดีลผ่านบริษัทลูก “กสิกรวิชั่นไฟแนนเชียล ลงนามซื้อหุ้น 67.50% ในธนาคารแมสเปี้ยน (Bank Maspion)” ถ้อยแถลงทางการของธนาคารเองต้นปีก่อน (เมื่อ 30 พฤษภาคม 2565)

ตามมาอย่างกระชั้น ธนาคารกรุงศรีฯ ได้เข้าซื้อกิจการ PT. Home Credit Indonesia บริษัทสินเชื่อผู้บริโภคชั้นนำในอินโดนีเซีย (พฤศจิกายน 2565) ดีลนี้มีฐานลูกค้าในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 6 ล้านราย และมีเครือข่ายสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ธนาคารกรุงศรีฯ ยังให้ความสำคัญประเทศฟิลิปปินส์ เช่นเดียวกับ BTMU ด้วย โดย “ในเดือนตุลาคม 2563 กรุงศรีฯ เข้าซื้อหุ้นในอัตราร้อยละ 50.0 ของ SB Finance, Inc. ซึ่งประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยในประเทศฟิลิปปินส์” (อ้างจาก Fact File)

 

ความเคลื่อนไหวข้างต้น ให้ภาพเชิงยุทธศาสตร์ สะท้อนแบบแผนธุรกิจธนาคารกรุงศรีฯ ซึ่งมีความแตกต่างจากธนาคารใหญ่ไทยอย่างเห็นได้ชัด ขณะโดยรวมๆ เป็นไปตามแนวทางธุรกิจ BTMU “ให้บริการทางการเงินอย่างครบวงจรและนําเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายแก่ลูกค้า กลุ่มเป้าหมายทั้งสามกลุ่ม คือ ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ลูกค้าธุรกิจ SME และลูกค้าบุคคล” ข้อมูลนำเสนอของธนาคารกรุงศรีฯ ระบุไว้

เมื่อพิจารณาอีกตอน ข้อความมีนัยยะสำคัญ มีความเจาะจง เชื่อมโยงกับบทบาทอันต่อเนื่อง ธนาคารกรุงศรีฯ ในฐานะผู้นำธนาคารเพื่อรายย่อย จากยุค GE Capital (2550-2556) สู่ยุค BTMU (2556-ปัจจุบัน)

“เราเป็นผู้นําในธุรกิจสินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต และตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ โดยมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดที่ร้อยละ 25 ร้อยละ 15 และร้อยละ 29 ตามลําดับ ณ สิ้นสิงหาคม 2566”

โดยเปรียบเทียบกับช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โครงสร้างสินเชื่อรายย่อยคงครองสัดส่วนมากที่สุด แม้ได้ลดลงเล็กน้อย จาก 51% (ปี 2556) เป็น 48% (ปี 2566) โดยสินเชื่อบุคคล (จาก 27% ในปี 2556 เป็น 25% ในปี 2566) และบัตรเครดิต (จาก 18% ในปี 2556 เป็น 5% ในปี 2566) คงมีตำแหน่งทางการตลาดอยู่อันดับ 1 แม้จะลดสัดส่วนลงเล็กน้อยเช่นกัน ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เคยอยู่ในอันดับ 2 (ปี 2665) ด้วยส่วนแบ่งการตลาดทั้งระบบ 18% ได้ก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับ 1 ด้วยส่วนแบ่งการตลาดทั้งระบบเป็น 29% (ปี 2566)

เชื่อว่าเป็นความเชื่อมโยง ให้ภาพอิทธิพลธุรกิจญี่ปุ่นในสังคมไทยโดยรวมได้ด้วย •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com