เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง : มรดกของเมือง

วันสุดท้ายที่ไปเยือนนครศรีธรรมราชในเดือนสิงหาคม อิ่มเอมเปรมใจ มีเวลาตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงบ่ายสองโมงก่อนขึ้นเครื่อง คนขับรถมือหนึ่งผู้รอบรู้ด้นกันสดๆ ถามสองสามคำว่าบนถนนสายหลักของเมืองมีสิ่งน่าสนใจอยู่สองสามแห่ง จะต้องการแวะที่ไหนบ้าง คำตอบของคณะที่ประสานกันเสียงดังฟังชัดก็ทำให้คุณจ่าสารถีไม่ลังเลรีบพาไปส่ง

ใครที่จะมาเที่ยวนครศรีธรรมราช ควรจะบรรจุรายการบ้านเก่าที่เป็นมรดกที่น่าภาคภูมิใจของเมืองแห่งนี้ลงไปด้วย คือบ้านเก่าของท่านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ ที่ตั้งอยู่ถนนราชดำเนิน เป็นบ้านไม้ทรงปั้นหยายกพื้น หลังคาสูง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2445 โดยท่านขุนรัฐวุฒิวิจารย์ ชื่อเดิม นายเขียน มาลยานนท์ ท่านเป็นนายอำเภอเมืองกลาย ในบ้านหลังนี้จะมีรูปของท่านสมัยโบราณติดอยู่พร้อมกับเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ

ต่อมาท่านขุนฯได้ยกที่ดินและบ้านหลังนี้ให้กับหลานคือ นายโกวิท ตรีสัตยพันธุ์ ซึ่งได้เปิดในปี พ.ศ.2482 เปิดเป็นโรงเรียนรัฐวุฒิวิทยา ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนนครวิทยา และได้ปิดลงในปี พ.ศ.2529

ภายในบ้านนี้มีสิ่งของที่มาจากโรงเรียนแสดงอยู่ เช่น สมุดพกนักเรียน เป็นสิ่งละอันพันละน้อยที่น่าดู ต่อมาในปี พ.ศ.2536 นายสำราญ ตรีสัตยพันธุ์ ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของตระกูลตรีสัตยพันธุ์ ได้ซื้อบ้านและที่ดินแปลงนี้มาด้วยเล็งเห็นการณ์ไกลว่าบ้านนี้คือมรดกของเมือง และบูรณะปรับปรุงซ่อมแซมเพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นบ้านโบราณของจังหวัด ให้คนรุ่นหลังของชาวนครและนักท่องเที่ยวได้มาชมความงาม

บ้านหลังนี้อยู่ในการดูแลของคุณแป๋ว ณัฏฐสุด ตรีสัตยพันธุ์ ซึ่งเป็นภรรยาของคุณสำราญ เนื่องจากคุณสำราญได้วายชนม์ไปแล้ว บุตรสาวของคุณแป๋วซึ่งศึกษาอยู่ต่างประเทศก็กลับมาช่วยคุณแม่ดูแล

ในวันที่เราไปนั้น ได้เห็นภูมิทัศน์ที่สวยงามของบ้าน ประกอบด้วยลานหน้าบ้านที่เปิดมุมมองเชื้อเชิญผู้มาเยือน ด้านขวามือเป็นร้านขายของที่ระลึกที่มีรสนิยม สวยงาม ด้านซ้ายมือเป็นร้านกาแฟที่มีกาแฟอร่อย และขนมต่างๆ ด้านหลังเป็นห้องน้ำที่สะอาดสะอ้าน

เรือนไทยตั้งอยู่บนถนนสายหลักคือถนนราชดำเนิน ใช้ทางหลวงหมายเลข 401 เข้าตัวอำเภอเมือง อยู่ตรงข้ามวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร รถจอดหน้าบ้านได้สะดวก

วันที่เราไป เห็นคุณแป๋วกำลังควบคุมพนักงานซึ่งมีไม่กี่คนตัดแต่งต้นไม้ คุณแป๋วบอกว่าพนักงานจำนวนไม่กี่คนนี้ได้ดูแลทำความสะอาดและทำทุกอย่าง เธอยังเล่าเพิ่มว่าบางทีคนรู้ว่ามีห้องน้ำและมีลูกเล็กๆ ทำสกปรกไว้ในห้องน้ำ เธอเกรงใจพนักงานก็มาช่วยทำความสะอาดด้วย

แสดงถึงความรักสถานที่แห่งนี้อย่างลึกซึ้งและทุ่มเท คุณแป๋วบอกว่าเธอยินดีที่จะดูแลบ้านหลังนี้เองมากกว่าจะมอบให้ทางบ้านเมือง เพื่อสามีที่ฝากฝังไว้ก่อนเสียชีวิต และคุณแป๋วก็ได้ทำเต็มที่จริงๆ จากการปรับปรุงสถานที่อย่างไม่หยุดนิ่ง ทำให้บ้านมีชีวิตชีวา มีสง่า เชิดหน้าชูตาเมือง

01

เมื่อเห็นว่าบ้านหลังนี้เป็นมรดกของเมือง คนนครฯ ส่วนหนึ่งมีข้าวของสวยงามก็มอบมาให้ตั้งแสดง รวมทั้งภาพเขียนของ ม.ร.ว.ภิญโญสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์ อดีตประธานช่างสิบหมู่ ด้วย

คุณแป๋วยังเล่าว่าเดิมบ้านทรุดโทรมมาก เธอชี้ให้ดูรูปที่ใครเห็นก็ต้องถอนใจ แต่เหมือนการทำความดีที่มีเบื้องบนเห็น เธอบอกว่าได้มีผู้รับเหมาคนหนึ่งยื่นมือเข้ามาทำให้จนกลับมาเป็นเรือนที่แข็งแรงสวยงาม

อดที่จะถามไม่ได้ว่าการรักษามรดกเมืองให้สวยงามเช่นนี้ต้องอาศัยกำลังทรัพย์ด้วย ลำพังการขายของที่ระลึกต่างๆ คงไม่เพียงพอ คุณแป๋วบอกว่าเธอได้ค่าเช่าจากร้านกาแฟ และข้างบ้านก็มีอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าที่พอมีรายได้

มรดกของเมืองก็เหมือนมรดกชาติ ต้องอาศัยวิสัยทัศน์และการลงมือฟื้นฟูดูแลด้วยใจเต็มร้อย สิ่งที่ได้กลับมาไม่ใช่เงินทอง แต่คือความภาคภูมิใจ ซึ่งในที่สุดสมาคมสถาปนิกสยามก็ยกย่องให้บ้านหลังนี้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น