‘ฮัลล์สตัทท์’ ออสเตรีย เมืองต้องห้ามนักท่องเที่ยว ขณะ ‘บ่อเกลือ’ น่าน…เมืองต้องห้าม-พลาด!

หนังเพลงปั๊วะปัง “มนต์รักเพลงสวรรค์” หรือ “เดอะ ซาวด์ ออฟ มิวสิก” ที่ออกฉายอเมริกาเมื่อมีนาคม 1965 และถัดมาตุลาคมปีเดียวกันมาฉายที่วิกกรุงเกษมเลียบคลองผดุงกรุงเกษม นานร่วมครึ่งปีถือว่าอมตนิรันดร์กาลบ้านเรา

หนุ่มสาวยุคนั้นรู้จัก “จูลี่ แอนดรูว์” ดีในบทแม่ชี “มาเรีย ฟอน แทรปป์” จากวิหารในเมืองซาลซ์บูร์ก ออสเตรีย ที่ถูกส่งไปเป็นพี่เลี้ยงลูก 7 คนของ “กัปตันจอร์จ ฟอน แทรปป์” พ่อม่ายผู้เคร่งวินัยแสดงโดย “คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์” หนังเรื่องนี้กวาดรายได้ไปมหาศาลยุคนั้น

บทเพลงที่ติดหูเบบี้มูมเบอร์ปัจจุบัน อาทิ “โด เร มี”, “ซิกทีน โกอิ้ง ออน เซเว่นทีน”, “ไซเลนต์ ไนต์”, “เอเดลไวส์” ฟังกี่หนก็ยังนึกถึงหนังเรื่องนี้แม้มีคนเอาไปร้องอีกหลายคน

และใช่จะตรึงใจในเพลงอย่างเดียว หากยังกุมความรู้สึกแต่ละซีนเนอรี่ที่นำเสนอ

เช่น วิหารเก่าอายุนับร้อยๆ ปีภายในซาลซ์บูร์กเมืองใหญ่ลำดับ 4 ของออสเตรีย และเป็นบ้านเกิดศิลปินเอกด้านดนตรีของโลกคือ “โมซาร์ต” แล้วยังเป็นเมืองที่ยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2540 มันช่างสวยอลังการงานสร้างขนาดไหน – คิดดูเอาเถอะ!

คนไทยเราเห่อเมืองที่ว่า…ขนาดลงทุนซื้อบริการนำเที่ยวยุโรปตอนกลางสู่เวียนนาเมือง หลวงออสเตรีย เที่ยวอินน์สบรูกเมืองบนภูเขา แล้วเที่ยวตามรอยหนังในตำนาน “มนต์รักเพลงสวรรค์” และไปดินแดนมรดกโลกแห่งที่สองของออสเตรีย คือ “ฮัลล์สตัทท์” หมู่บ้านเล็กๆ ริมทะเลสาบฮัลล์สตัทท์พื้นที่แค่ 59.8 ตร.ก.ม. ประชากร 788 คน จิ๊บจ๊อยกว่า อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีพื้นที่นับพันตารางกิโลเมตร ประชากรนับหมื่น มีนักท่องเที่ยวปีละ 1.5 ล้านคนแต่สุมอยู่ที่ปายเสียเป็นส่วนใหญ่ 80-90%

ชนบทฉบับกระเป๋าอย่าง “ฮัลล์สตัทท์” มีคนมาแอ่วมาเยือนจากทั่วโลกยั้วเยี้ยปีละ 1 ล้านคน น้อยกว่าแม่ฮ่องสอน 5 แสนคน ด้วยเหตุผลคือต้องการมาสัมผัสบรรยากาศหมู่บ้านในฝัน ซึ่งตั้งอยู่ริมทะเลสาบติดทิวเขาสวยงาม ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ไร้มลภาวะเช่นนครใหญ่ ที่มนุษย์กำลังทนต่อสู้กับสภาพแวดล้อมแสนชั่วร้ายโดยเฉพาะปัญหาโลกร้อนขณะนี้

ปัจจัยสำคัญที่เป็นแม่เหล็กรับผู้คนจากทุกมุมโลก สู่หมู่บ้านรินทะเลสาบเคียงภูเขาที่ว่าก็คือ “สตอรี่” เล่าขานถึงกาลครั้งหนึ่งเคยเป็น “เหมืองเกลือ” ขนาดใหญ่บนภูเขาสูง เลี้ยงดูผู้คนมากมายสร้างความร่ำรวยแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง มิต่าง “เหมืองทอง” ยุค “ตื่นทอง” ในอเมริกาและออสเตรเลียเมื่อปลายศตวรรษที่ 18

ทุกวันนี้ ถึง “เหมืองเกลือ” จะปิดฉากลงนานแล้ว ทว่า ท้องถิ่นยังคงรักษามรดกชิ้นนี้ไว้ในพิพิธภัณฑ์ประจำหมู่บ้าน ให้คนต่างแดนได้รู้ถึงซีรีส์นี้เมื่อเอ่ยถึง “ฮัลล์สตัทท์”

หันกลับมามองบ้านเรา…ก่อนแผ่นดิน “นพบุรีศรีนครน่าน” จะถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา ได้มีการค้นพบบ่อเกลือสินเธาว์บนภูเขาสูง และต่อมาถูกนำมาเป็นทรัพยากรเลี้ยงผู้คนจนเจริญรุ่งเรือง กระฉ่อนไปถึงเชียงตุงจากพม่า หลวงพระบางเมืองหลวงของลาว ยูนนานฝั่งใต้จีนแผ่นดินใหญ่ ต้องส่งคนนั่งช้างผ่านป่าเขาเข้ามาแบ่งปันไปให้ประชาชนได้บริโภค

อีกทั้งเป็นที่หมายปองของอาณาจักรสุโขทัย แต่สุดท้ายตกเป็นหัวเมืองฝ่ายเหนือสุดของล้านนา

นานวันจึงมีฐานะเป็นอำเภอชื่อ “บ่อเกลือ” บนเทือกเขาผีปันน้ำ ต่อเทือกเขาแดนลาวกว้างไกลกว่า 800 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 1.5 หมื่นคน

และจนเดี๋ยวนี้บ่อเกลือก็ยังเป็นแหล่งผลิตเกลือกลางชุมชน แม้สถานะจะละลายกลายเป็นหมุดใหม่ทางการท่องเที่ยว ที่ปีหนึ่งมีคนไปเที่ยวน่าน 1.13 ล้านคน

โดยครึ่งหนึ่งตั้งใจไปอินกับโฉมใหม่ อ.บ่อเกลือ เหมือน อ.ปาย มากกว่าไปดูภาพเขียนฝาผนังวัดภูมินทร์ในตัวเมือง หรือประติมากรรมดินธรรมชาติที่ฮ่อมจ๊อม อ.นาน้อย

ทั้งพิพิธภัณฑ์ “เหมืองเกลือ” บนภูเขาแห่งหมู่บ้าน “ฮัลล์สตัทท์” และ “บ่อเกลือ” บนเทือกเขาผีปันน้ำ กำลังถูกยกขึ้นปกนครในฝันของนักท่องเที่ยวทั้งสองแห่ง

กระนั้น…ทางฝ่าย “ฮัลล์สตัทท์” เกิดพลิกผันเมื่อชาวบ้านซึ่งมีอยู่หยิบมือเดียว ได้ออกมาแสดงสัญลักษณ์ “ทัวร์ลง” นักท่องเที่ยวด้วยการตั้งแผงไม้สูงราว 3 เมตร ยาว 5 เมตรบนราวสะพาน เพื่อบดบังจุดวิวพอยต์ภาพมุมต่ำเห็นหมู่บ้านอยู่กลางภูเขากับทะเลสาบ ซึ่งสวยงามขนาดนักท่องเที่ยวต้องมาถ่ายภาพหรือเซลฟี่เก็บกลับไปเป็นภาพที่ระลึก

สำนักข่าวเอเอฟพีได้รายงานเมื่อกลางปี 2566 โดยอ้างเจ้าหน้าที่ชุมชนของหมู่บ้านถูกชาวบ้านร้องเรียน กรณีสุดจะทนกรณีมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางเข้าไป เป็นการทำลายความสงบที่เคยมีมาก่อน อีกทั้งสร้างความรำคาญแก่ผู้อยู่อาศัย และไม่รู้ด้วยว่าจะรื้อแผงดังกล่าวออกไปเมื่อใด เพราะปฏิกิริยาครั้งนี้เกิดจากการตัดสินใจของมวลชนทั้งสิ้น

ขณะที่นายกเทศมนตรีเมือง “ฮัลล์สตัทท์” นายอเล็กซานเดอร์ ชูต ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นด้วยว่า “วิธีแก้ปัญหาง่ายนิดเดียวคือ ทำจุดที่นักท่องเที่ยวเคยมาถ่ายรูปให้กลายเป็นจุดไม่ใช่เพื่อการถ่ายรูปอีกต่อไป”

เรื่องนี้จึงบอกให้รู้ว่า…สถานที่ในฝันของนักท่องเที่ยวนั้น อาจจะมิใช่สิ่งที่เจ้าของบ้านแห่งนั้นพึงปรารถนารับนักท่องเที่ยวหมู่มากเสมอไป เพราะปกติก็อยู่อย่างมีความสงบสุขไร้สิ่งรบกวน โดยมีรัฐสวัสดิการที่เพียงพอกับการใช้ชีวิตอยู่แล้ว

คอนเทนต์ชาว “ฮัลล์สตัทท์” ที่แสดงออกครั้งนี้ แตกต่างกับคอนเทนต์หมู่บ้านไทยที่มีอยู่ 75,000 แห่งโดยสิ้นเชิง

ตรงที่นั่นตั้งแผงสกัดคนมาเที่ยว แต่บ้านเราเรียกคนมาเที่ยววิถีชุมชน โดยขาดการคำนึงถึงเอกลักษณ์ท้องถิ่นที่นับวันจะถูกทำลายลงอย่างไม่ลืมหูลืมตา

เช่น หลีเป๊ะ เกาะสุดท้ายฝั่งอันดามันติดทะเลสากลเขต จ.สตูล เดิมเป็นถิ่นชาวเลเคยเป็นประเด็นถกเถียงจะกันออกจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ให้เป็นอิสระเพื่อรักษาวัฒนธรรมกลุ่มคนเหล่านั้น

แต่เกาะหลีเป๊ะก็ถูกจัดเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกที่หมู่เกาะตะรุเตา-อาดังราวี จ.สตูล แล้วจากนั้นหลีเป๊ะก็ไม่พิสดาร เพราะไปเดินตามรอยเกาะเสม็ด ระยอง, เกาะล้าน พัทยา ที่มะงุมมะงาหราตามหลังสีสันเกาะภูเก็ต เกาะสมุย และเกาะช้าง จ.ตราด

อีกแห่งชุมชน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ของกลุ่มชนเผ่ากะเหรี่ยงและชาวเขาหลายเผ่ากลางภูเขาและแม่น้ำปาย ที่ค่อยๆ แปลงโฉมมีผับบาร์รับคนต่างชาติ ไม่นานกลายเป็นนิวเดสติเนชั่นนักท่องเที่ยวไทยประเภทดราม่า…

เมื่อปีก่อนนี้ถูกเวิลด์ กินเนสส์บุ๊ก บันทึกให้เป็นแหล่งชุมนุมกลุ่มนักท่องเที่ยวบนห่วงยางกลางแม่น้ำปาย…เป็นนิวอะเมซิ่ง ไทยแลนด์!

อ.เชียงคาน จ.เลย นี่ก็เคยเป็นเมืองท่าค้าขายริมฝั่งโขงของคนเชียงคานกับหลวงพระบาง มีอาคารบ้านเรือนไม้เก่าหลงเหลือให้เห็น ไม่นาน…ถูกผลักดันให้เป็นถนนคนเดินแฟชั่นวอล์กกิ้งสตรีตขายสินค้าจากตลาดโบ๊เบ๊ คลองผดุงกรุงเกษม

เช่นเดียวกับตลาดน้ำดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี กับตลาดน้ำอัมพวา จ.สมุทรสงคราม ที่ชาวสวนเคยพายเรือนำสินค้าจากเรือกสวนมาขาย ทุกวันนี้คือตลาดรวมตัวของพ่อค้าต่างถิ่นดีๆ นี่เอง

ที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือ “บ่อเกลือ” จ.น่าน ตำนานเดียวกับ “เหมืองเกลือ” หมู่บ้าน “ฮัลล์สตัทท์” ออสเตรีย ที่นักลงทุนกำลังไปจำแลงเป็น อ.ปาย ให้นักท่องเที่ยวหมู่มากไปสร้างเคมีต้องกันกับธรรมชาติป่าเขา…

ผิดกับ “ฮัลล์สตัทท์” ตั้งแผงปิดป่าเขาไล่คนมาเที่ยวอย่างไม่ไยดี