12 Angry Men : อารมณ์วิกฤต เหตุผลวิบัติ สังคมวินาศ ที่สังคมไทยควรเรียนรู้

ในปีนี้ภาพยนตร์เรื่อง 12 Angry Men (1957) จะมีอายุครบ 67 ปีพอดีหากนับจากการเข้าฉายวันแรก และภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถูกนำมาฉายที่โรงภาพยนตร์เฮาส์ สามย่าน ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา

ความพิเศษของภาพยนตร์เรื่องนี้คือมักจะได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังระดับคลาสสิคทั้งจากนักวิจารณ์และผู้ชมทั่วไป และถ้าใครได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วก็จะรู้ได้เองว่าความพิเศษในการเล่าเรื่องเป็นอย่างไร ซึ่งหาได้ยากยิ่งที่มีคนดูหนังเรื่องนี้จบแล้วจะมีคนไม่ชอบ

ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับการโหวตให้เป็นหนังดราม่าที่มีฉากเป็นศาลไต่สวนคดีที่ดีที่สุดตลอดกาลเป็นอันดับที่สองของสหรัฐอเมริกา

ภาพยนตร์เรื่อง 12 Angry Men เป็นผลงานของผู้กำกับฯ ซิดนีย์ ลูเม็ต (Sidney Lumet) ที่เล่าถึงลูกขุนทั้ง 12 คนที่กำลังพิจารณาตัดสินคดีที่ลูกชายถูกกล่าวหาว่าฆ่าพ่อตนเอง โดยมีเงื่อนไขคือ ลูกขุนทั้ง 12 คนจะต้องลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าจำเลยมีความผิดหรือไม่

โทษของคดีนี้คือการประหารชีวิต ฉะนั้น ผลการพิจารณาของลูกขุนทั้ง 12 คนมีความสำคัญต่อชีวิตของคนคนหนึ่งอย่างยิ่ง

หนังเรื่องนี้มีฉากหลักเพียงฉากเดียวคือห้องพิจารณาคดีในศาล แม้ว่าฉากหลักมีเพียงฉากเดียว แต่หนังเรื่องนี้ก็ได้รับการจัดประเภทจากนักวิจารณ์บางคนว่าเป็นหนังระทึกขวัญ (thriller)

นั่นหมายความว่า ผู้กำกับหนังเล่าเรื่องอย่างน่าติดตาม ลุ้นระทึก ผู้ชมจะค่อยๆ รับรู้รายละเอียดของคดีความไปพร้อมกับหนัง

ซึ่งไม่เป็นปัญหากับผู้ชมในเรื่องรายละเอียดซับซ้อนเหมือนหนังประเภทไต่สวนคดีความเรื่องอื่นๆ แต่อย่างใด

เหตุการณ์ฆาตกรรมที่หนังกล่าวถึงนั้นเกิดขึ้นในชุมชนแออัด จำเลยเป็นเด็กถูกกล่าวหาว่าแทงพ่อตัวเองด้วยมีดจนถึงชีวิตแล้ววิ่งหนีไป โดยเหตุการณ์มีพยานเพียงสองคนที่เห็นเหตุการณ์ คือชายชราขาพิการที่อยู่ห้องข้างล่างซึ่งเป็นผู้ได้ยินเสียงทะเลาะกันระหว่างพ่อกับลูก กับหญิงสาววัยกลางคนที่มองเห็นเหตุการณ์จากตึกฝั่งตรงข้าม

รายละเอียดจากนี้เราจะได้รู้ไปพร้อมกับลูกขุนคนต่างๆ ที่เสนอความคิดของตนในตอนแรกว่า ทำไม่ถึงตัดสินว่าจำเลยมีความผิด ซึ่งมีเพียง ลูกขุนคนที่ 8 เพียงคนเดียวเท่านั้นที่เห็นว่าจำเลยไม่ผิด หรืออย่างน้อยก็ยังตัดสินไม่ได้

หลังจากนี้ก็จะเป็นช่วงที่ ลูกขุนคนที่ 8 จะโน้มน้าวลูกขุนคนอื่นๆ ให้เปลี่ยนความคิดและตัดสินว่าจำเลยไม่มีความผิด

ซึ่งตรงนี้เองที่หนังเรื่องนี้ทำได้สมบูรณ์แบบอย่างยิ่ง โดยใช้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น เหตุผล หลักฐาน อารมณ์ ความรู้สึกมาโน้มน้าวให้คนอื่นเห็นคล้อยตาม

หนังเรื่องนี้จึงถูกนำไปใช้เป็นตัวอย่างในเรื่องการโน้มน้าวความคิดความเชื่อของคนอื่นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ หรือการแนะแนวทางแบบโค้ชชิ่ง งานขายสินค้า การชักจูงความคิดเห็นด้านต่างๆ

หรือแม้กระทั่งเป็นตัวอย่างของการเรียนการสอนวิชาการใช้เหตุผล หลากหลายจุดประสงค์ต่างกันออกไป เพราะหนังเรื่องนี้มีครบทุกอย่างดังที่กล่าวมา

12 Angry Men เป็นภาพสะท้อนได้ดีอย่างยิ่งถึงความขัดแย้งกันทางความคิดความเชื่อของสังคมไทยในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา

เพราะดูเหมือนว่าเราจะใช้ความคิดเห็นส่วนตัวหรืออารมณ์เป็นที่ตั้ง

และมีคาถากำกับไว้ว่า “ทุกคนย่อมมีเหตุผลเป็นของตัวเอง ฉะนั้น ทุกคนมีสิทธิที่จะคิดจะเชื่อในสิ่งที่ตนเห็นว่าถูกต้อง”

เมื่อเป็นเช่นนี้หลายคนเวลาถกเถียงโต้แย้งกันจึงไม่มีการยอมหรือลดราวาศอกแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม มันก็คงจริงที่ทุกคนมีสิทธิที่จะคิดจะเชื่อในสิ่งที่ตนเห็นว่าถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่าเหตุผลของทุกคนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หากคนที่พอจะรู้เนื้อหาของวิชาตรรกวิทยาหรือการใช้เหตุผลอยู่บ้างก็พอจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่า “เหตุผลผิด” หรือ “เหตุผลวิบัติ” อยู่บ้าง

พูดอีกอย่างก็คือ เราทุกคนสามารถมีเหตุผลได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะมีเหตุผลที่ดีเสมอ

เราลองดูตัวอย่างการใช้เหตุผลผิดจากหนังเรื่องนี้แล้วเทียบกับเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมของเราดู

 

ลูกขุนคนที่ 8 กล่าวแก้ต่างให้จำเลยว่า “จำเลยอายุเพียง 18 ปีเอง” นัยยะของข้อความนี้คือ ยังเด็กเกินไปที่จะก่ออาชญากรรมหรือก็เป็นไปได้น้อยที่เด็กอายุ 18 ปี จะก่ออาชญากรรม

ทั้งที่จริง อายุของจำเลยไม่เกี่ยวกับความสามารถในการก่ออาชญากรรม

ตรงนี้เองที่เป็นการใช้เหตุผลผิดที่เรียกว่า “ลวงให้หลงประเด็น” (red herrings)

หลังจากการใช้เหตุผลผิดของ ลูกขุนคนที่ 8 แล้วเขาก็ใช้เหตุผลผิดอีกประเภทที่เรียกว่า “การอ้างความสงสาร” (appeal to pity) ต่อ โดยที่เขาพูดเหมือนเห็นใจจำเลย แม้เขาบอกว่าเด็กอาจจะผิดหรือไม่ผิดก็ได้ แต่เขาพยายามแย้งคนอื่นเพราะสงสารเด็กคนนี้ที่อายุเพียง 18 ปี

เหตุผลของเขาจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับหลักฐานที่ไม่เพียงพอหรือหลักฐานแย้ง แต่ขึ้นกับความสงสาร มันจึงเป็นเหตุผลผิดนั่นเอง

ต่อมา ลูกขุนคนที่ 10 บอกว่า “คนที่พักอาศัยอยู่ในสลัม เกิดมาในสภาพแบบนั้น ใครๆ ก็รู้ว่า เป็นคนโกหกทั้งนั้น” นั่นหมายความว่า จำเลยที่อาศัยอยู่ในสลัมย่อมเป็นคนที่พูดโกหกเสมอ

เราจะเห็นว่านี่ไม่ใช่เหตุผลที่ดีอย่างแน่นอน เพราะการพูดโกหกไม่เกี่ยวกันเลยแม้แต่น้อยกับการเกิดหรือใช้ชีวิตอยู่ในสลัม อันนี้จึงเป็นเหตุผลผิดอย่างชัดเจน ที่เราเรียกว่า “การกล่าวหาที่มา” (damning the origin หรือ genetic fallacy)

ส่วน ลูกขุนคนที่ 2 ให้เหตุผลว่า “เขาคิดว่าจำเลยผิด เพราะเขาเชื่อว่าผิดตั้งแต่แรก” นี่ไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่าเหตุผลที่ดีอย่างแน่นอน เพราะไม่ได้อธิบายอะไรเพิ่มเติมเลยว่าทำไมถึงเชื่อเช่นนั้น การอ้างเหตุผลผิดแบบนี้ เราเรียกว่า “การทวนคำถาม” (begging the question) เพราะพยายามพิสูจน์ความผิดโดยการสมมุติความผิดไว้ตั้งแต่ต้น จึงเป็นการให้เหตุผลวน (circular reasoning)

นอกจากนี้ ลูกขุนคนที่ 9 พยายามจะอธิบายว่าทำไมคนแก่ที่เป็นพยานจึงโกหกในคำให้การ

เหตุผลของ ลูกขุนคนที่ 9 นั้นเป็นการด่วนสรุป (hasty generalization) เพราะไม่มีหลักฐานใดเลยที่จะชี้ว่าพยานให้การเท็จ ลูกขุนคนที่ 9 เพียงแต่คาดการณ์ว่าเพราะเหตุใดพยานถึงพยายามปกปิดขาที่เสียของเขา

นอกจากนี้ ยังเป็นการทวนคำถามอีกด้วยที่บอกว่า พยานกำลังโกหกก็เพราะปกปิดขาของเขา และที่ต้องปกปิดขาก็เลยต้องโกหก

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การใช้เหตุผลผิดนั้นเป็นอย่างไร นั่นก็คือฉากที่ ลูกขุนคนที่ 10 โวยวายขึ้นมาว่า เพราะอะไรเขาถึงเชื่อว่าจำเลยมีความผิด เพราะเขาเห็นว่าจำเลยสกปรกและพูดภาษาอังกฤษก็ไม่ถูกต้อง

ซึ่งจะเห็นว่าความเห็นของลูกขุนคนดังกล่าวไม่ได้เป็นเหตุผลแต่อย่างใด แต่กลับนำเอาสิ่งที่ไม่เป็นเหตุผล เช่น เรื่องสกปรกหรือพูดภาษาอังกฤษไม่ถูกต้องมาโจมตีเพื่อลดความน่าเชื่อถือของจำเลย

นี่จึงเป็นเหตุผลผิดที่เรียกว่า “การโจมตีตัวบุคคล” (personal attack)

 

ในช่วงท้ายเรื่อง ลูกขุนคนที่ 8 ก็ใช้เหตุผลผิดอีกครั้ง โดยกล่าวถึงกรณีความน่าเชื่อถือของพยานที่เป็นผู้หญิง โดยการสร้าง “ทางเลือกลวง” (false dilemma) ขึ้นมาว่าพยานผู้หญิงนั้นโดยปกติสวมแว่นตา แต่ตอนที่เธออ้างว่าเห็นเหตุการณ์นั้นเธอกำลังจะนอน

ฉะนั้นก็มีความเป็นไปได้อยู่สองทาง คือขณะเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมเธอสวมแว่นตาปกติ หรือเธอไม่ได้สวมแว่นตา เพราะเธอกำลังจะเข้านอน เสมือนเสนอความคิดว่ามีทางเลือกแค่ 2 ข้อนี้เท่านั้น ถ้าเธอสวมแว่นก็จะเป็นไปได้ที่เธอจะโกหก เพราะลูกขุนคนที่ 8 อ้างว่า โดยทั่วไปคนจะเข้านอนจะไม่สวมแว่นโดยเด็ดขาด แต่ถ้าขณะนั้นเธอไม่สวมแว่น เธอก็จะไม่สามารถเห็นเหตุการณ์ได้ หรือเห็นก็ไม่ชัดเจนพอที่จะระบุได้ว่าใครเป็นผู้กระทำ

ตรงนี้เองที่ในวิชาตรรกวิทยาเรียกว่า “ทางเลือกลวง” เพราะบังคับให้เราเลือกความเป็นไปได้แค่ 2 ทางนี้เท่านั้น ทั้งที่จริงยังมีความเป็นไปได้อื่นๆ อีก เช่น อาจเป็นไปได้ว่าเธอไม่ได้สวมแว่น เธอจึงไม่สามารถมองเห็นเหตุการณ์ได้ชัด

แต่ก็มีทางเป็นไปได้แบบอื่นที่เธออาจจะอยู่ในขั้นตอนการใส่แว่นก่อนเข้านอนแล้วเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เธอจึงเห็นฉากเหตุการณ์ขณะนั้นเป็นช่วงสุดท้ายก่อนถอดแว่นแล้วนอนก็เป็นได้

 

อันที่จริงยังมีอีกหลายกรณีมากที่เป็นการใช้เหตุผลผิดในภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่คงไม่ใช่ประเด็นของผู้เขียนในที่นี้ แต่ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น เพื่อให้เห็นภาพว่า ผู้คนในสังคมเวลาเกิดการถกเถียงโต้แย้งกัน ก็จะมีลักษณะในทำนองนี้ คือทุกคนล้วนแต่คิดว่าตนมีเหตุผล แต่ทั้งที่จริงอาจจะเป็นเหตุผลผิดแทบทั้งสิ้น ซึ่งจากตรงนี้เมื่อเหตุผลเป็นเครื่องมือเดียวที่เป็นตัวกลางจะสื่อสารกับคนอื่นในสังคมนั้นผิด หรือ “วิบัติ” ไปแล้ว ก็คงยากที่ผู้คนจะตกลงกันได้ไม่ว่าในเรื่องใดก็ตาม ดังเราเห็นได้ชัดเจนกันอยู่แล้วจาก “นางแบก นายแบก” หรือ “ด้อมสี” ทั้งหลาย

ในช่วงสุดท้ายของภาพยนตร์ดูเหมือน ลูกขุนคนที่ 8 จะประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนใจลูกขุนคนอื่นๆ ได้หมดว่าจำเลยไม่มีความผิด

ยกเว้น ลูกขุนคนที่ 3 เพียงคนเดียวที่ยังยืนยันว่า ต่อให้ทุกคนพูดอีกกี่ชั่วโมงนาที เขาก็ไม่มีวันเปลี่ยนใจ เพราะอย่างไรจำเลยที่เป็นเด็กก็ผิดวันยังค่ำ แต่ดูเหมือนว่าทุกสายตาจะมองมาที่เขาคนเดียว จนเขาปะทุอารมณ์ขึ้นมา พร้อมพูดอย่างเกรี้ยวกราดว่า “ผิด อย่างไรเสียไอ้เด็กเมื่อวานซืนนี่ก็ต้องผิดอยู่ดี” พร้อมทั้งฉีกรูปถ่ายของลูกชายตัวเองที่มีปัญหาขัดแย้งถึงขั้นชกต่อยกัน จนลูกชายของเขาหนีออกจากบ้าน

ฉากนี้คนดูหลายคนคงรับรู้ได้ดีว่า ผู้กำกับฯ พยายามจะชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคต่อการใช้เหตุผลก็คือ อารมณ์ความรู้สึกอันเป็นอคติที่หยั่งลึกในความคิดของมนุษย์

เพราะลำพังแต่โต้แย้งกันด้วยความคิดที่มีเหตุผล ลูกขุนคนที่ 3 ย่อมจำนนต่อเหตุผลและหลักฐานที่ลูกขุนคนอื่นๆ นำมาหักล้างไปนานแล้ว แต่ด้วยอคติที่มีต่อลูกของตน โดยคิดว่าเด็กทุกคนก็เหมือนๆ กันที่ดื้อรั้นไม่ยอมเชื่อฟังผู้ใหญ่และมีความชั่วร้ายอยู่แล้ว จึงไม่ยอมล้มละความคิดของตนไปได้ง่ายๆ

 

เราลองมองย้อนกลับมาที่ความขัดแย้งในสังคมไทยที่ผ่านมาก็เช่นกัน ต่อให้เราถกเถียงกันด้วยเหตุผล ข้อมูลหลักฐานมากมายขนาดไหนก็ไม่มีทางยุติกันได้ เป็นไปได้ก็เพราะด้วยอคติที่เรามีนั่นเอง ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

ซึ่งอคติที่ว่านี้อาจจะเกิดจากความรัก ความเกลียด หรือความกลัว ก็ได้ทั้งนั้น เมื่อ “อารมณ์วิกฤต” ย่อมมิอาจเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากตนได้ ประกอบทั้งการใช้ “เหตุผลวิบัติ” ย่อมทำให้ไม่มีใครหันกลับมาพิจารณาตัวเองได้เลยว่าคิดผิดพลาดตรงไหน อย่างไร ก็อาจนำพาไปเราไปสู่ “สังคมวินาศ” ได้ในไม่ช้า

อย่างที่สังคมไทยกำลังเผชิญความแตกแยกกันทางความคิดความเชื่อของผู้คนในปัจจุบันมาหลายสิบปีแล้ว แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงไปได้ในเร็ววันนี้

เราอาจจะต้องหันมาทบทวนทั้งเหตุผลความคิด อารมณ์ความรู้สึกกันเสียใหม่

ไม่อย่างนั้นสังคมเราคงเดินไปไม่ถึงไหนเสียที อย่างที่เราเสียโอกาสไปมากมายในหลายสิบปีที่ผ่านมา