ยุทธการ 22 สิงหา : จุดเริ่ม รัฐบาล ‘พลังประชาชน’ สมัคร สุนทรเวช – เฉลิม อยู่บำรุง

การผลักรุน นายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวขบวนของพรรคพลังประชาชนดำรงอยู่เหมือนกับเป็น “สายล่อฟ้า” ในทางการเมือง

ด้านหนึ่ง สร้างความไว้วางใจจากปีก “อนุรักษนิยม”

ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่ง เท่ากับเป็นการท้าทายต่อปีกในด้านที่ “ก้าวหน้า” ที่ไม่ยอมรับพฤติการณ์ของ นายสมัคร สุนทรเวช

ไม่ว่าเมื่ออยู่”ประชาธิปัตย์” ไม่ว่าเมื่ออยู่ “ประชากรไทย”

เป็นความล่อกแล่กและอ่อนไหวเป็นอย่างมากทุกครั้งที่มีการพลิกฟื้นรายละเอียดจากสถานการณ์สังหารหมู่เมื่อเดือนตุลาคม 2519

ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสนามหลวง

ยิ่งเมื่อ นายสมัคร สุนทรเวช เข้ามาอยู่ในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” และ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” ยิ่งมากด้วยความเร้าใจ

เห็นได้จาก “มติชนบันทึกประเทศไทย ปี 2551”

 

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ออกอากาศในรายการ “ทอล์ค เอเชีย” ทางสถานีโทรทัศน์ CNN เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์

เกี่ยวกับเหตุการณ์นองเลือดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ซึ่งขณะนั้น นายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

ระบุว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตเพียงคนเดียว

หลังคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวเผยแพร่ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นคำให้สัมภาษณ์ที่ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย

กลุ่มญาติวีรชน 6 ตุลาคม และอดีตแกนนำนักศึกษาในยุคนั้น รวมถึงบรรดานักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ต่างออกมาแสดงความเห็น

รุมประณาม นายสมัคร สุนทรเวช ทันที

 

ทุกอย่างเหมือนกับจะเป็น “ผีซ้ำด้ำพลอย” ในการประชุมรัฐสภาเพื่อแถลงนโยบายรัฐบาลในวันที่ 18 กุมภาพันธ์

มีการพูดพาดพิงถึงกรณี 6 ตุลาคม 2519

ทำให้ นายสมัคร สุนทรเวช ลุกขึ้นตอบโต้ และมีการพูดพาดพิงถึง นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์

นี่ย่อมเป็นอารมณ์ตกค้างในทางการเมืองอันยืดเยื้อ ยาวนาน

ยาวนานตั้งแต่เมื่อครั้ง นายชวน หลีกภัย กับ นายสมัคร สุนทรเวช ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ยาวนานตั้งแต่ยังยืนคนละมุมภายในพรรคประชาธิปัตย์

ในเมื่อ นายชวน หลีกภัย เองก็ได้รับผลสะเทือนจากสถานการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 กระทั่งนำมาเขียนในหนังสือ “เย็นลมป่า”

ในเมื่อ นายสมัคร สุนทรเวช กลับได้ประโยชน์จาก “สถานการณ์”

นั่นก็คือ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร อันเป็นรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นภายหลังสถานการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

แล้วทำไมจึงเรียกว่าเป็นสถานการณ์ในลักษณะ “ผีซ้ำด้ำพลอย”

 

ต้องยอมรับว่าเพียงคำพูดของ นายสมัคร สุนทรเวช ที่ยืนยันผ่าน CNN ว่ามีคนตายในสถานการณ์ 6 ตุลาคม เพียง 1 คน

ก็สร้างความสะเทือนใจเป็นอย่างสูงอยู่แล้ว

เรื่องพวกนี้ไม่เพียงแต่ นายธงชัย วินิจจะกูล จะเกาะติดหาข้อมูลเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างชนิด “กัดไม่ปล่อย”

หากแม้กระทั่งในพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน ก็มี “คนเดือนตุลา”

การยุบพรรคไทยรักไทยอาจทำให้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ถูกตัดสิทธิทางการเมือง อาจทำให้ นายสุธรรม แสงประทุม ต้องลดบทบาท

แต่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ก็เป็นคนเดือนตุลาคมในมหาวิทยาลัยมหิดล

เรื่องนี้อาจใช้เวลาไม่นานนักก็สงบลงได้เพราะตระหนักว่าปรปักษ์ทางการเมืองของพรรคพลังประชาชนยังมีอีกจำนวนไม่น้อย

แต่พลันที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ร่วมออกโรง เรื่องก็ยาว

 

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เคยเป็นนายตำรวจคนดังแห่งกองปราบปราม มีบทบาทในแวดวงตำรวจก่อนเข้าสู่การเมือง

ผ่านจากพรรคประชาธิปัตย์ไปก่อตั้งพรรคมวลชน

และเมื่อเข้าร่วมกับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน ผ่านการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550

ก็ได้รับการปูนบำเหน็จให้เป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย”

ในบรรยากาศที่ นายสมัคร สุนทรเวช ออกมาเอ่ยถึงสถานการณ์แปลกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ก็เข้าไปร่วมด้วยช่วยกัน

เป็นการเปิดเผยในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 ว่า มีตำรวจกองปราบปรามคนหนึ่งยศร้อยตำรวจโท

เป็นตำรวจขี้เมา และได้ตายไปแล้ว

ในคืนวันที่ 5 ตุลาคม ได้ไปเที่ยวมาแล้วเมาเหล้า ทำปืนลั่นบริเวณต้นมะขามที่สนามหลวง

ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด และทำให้สถานการณ์บานปลาย

เมื่อประมวลคำพูดของ นายสมัคร สุนทรเวช ประสานเข้ากับคำบอกเล่าอย่างค่อนข้างพิสดารของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กระแสแห่งความไม่พอใจต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรียิ่งโหมแรง

นี่ย่อมอยู่เหนือจากความคาดคิดของพรรคพลังประชาชน

“มติชนบันทึกประเทศไทย ปี 2551” ขมวดท้ายบันทึกว่า สุดท้าย นายสมัคร สุนทรเวช ได้หยุดความเคลื่อนไหวโดยได้ยอมไม่เอ่ยปากพูดถึงสถานการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อีกเลย

เรื่องจึงจบ

 

จากสถานการณ์อันเกี่ยวกับกรณี 6 ตุลาคม 2519 เมื่อประสานเข้ากับบทบาทอันมาจาก นายสมัคร สุนทรเวช กับบทบาทของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง

2 คนนี้จึงถูกจับตามองอย่างเป็นพิเศษ

จากพื้นฐานที่ นายสมัคร สุนทรเวช มีความสัมพันธ์อยู่กับเครือข่าย “จารีตนิยม” และคนใน “กองทัพ” มาอย่างยาวนาน

จากพื้นฐานที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผาดโผนใน “ยุทธจักร” ตำรวจ

ประกอบกับการเดินทางกลับประเทศของ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร โดยความเข้าใจทั่วไปคือการกลับมาเพื่อต่อสู้คดีการซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก แต่สำหรับคนที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงทางการเมืองย่อม “กระสา” ต่อ “กลิ่น”

เพราะหลังจากได้ชัยชนะในการเลือกตั้งผ่านพรรคพลังประชาชน หลังจาก นายยงยุทธ ติยะไพรัช ได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังจาก นายสมัคร สุนทรเวช ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

บทสรุปของปรปักษ์ทางการเมืองก็มองข้ามไปยังการเดินทางกลับของ นายทักษิณ ชินวัตร โดยอัตโนมัติ

การฟื้นคืน “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” จึงได้บังเกิด

 

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อันประกอบด้วย นายสนธิ ลิ้มทองกุล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายพิภพ ธงไชย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ รวมถึง นายสุริยะใส กตะศิลา จึงได้ประชุมร่วม

แถลงการณ์ฉบับที่ 1 ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงได้ปรากฏขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากที่เงียบไปหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

เป็นการฟื้นขึ้นมาโดยแสดงเป้าหมายอย่างชัดเจนคัดค้านการกลับมาของ นายทักษิณ ชินวัตร

นั่นก็คือ การกลับมาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551