ลาทีปีเก่า : ความหวัง การมู และก้าวข้ามมู?

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ทุกช่วงเวลาสิ้นปี ผมมีธรรมเนียมซึ่งยึดถือปฏิบัติเอาเองคนเดียวว่า บทความส่งท้ายปีจะไม่เขียนเรื่องอะไรยากๆ (ซึ่งโดยปกติก็ไม่ค่อยมีอยู่แล้ว) แต่จะใช้โอกาสนี้ทบทวนชีวิตในปีที่ผ่านมา และเสนอข้อคิดอะไรเล็กๆ น้อยๆ พอให้ชื่นใจ

รวมทั้งจะเป็นโอกาสในการขอขมาลาโทษ และส่งความสุขปีใหม่แก่ท่านผู้อ่านด้วย

แม้เราจะผ่านพ้นช่วงเวลาที่ “โลกติดเชื้อ” มาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ประเทศของเรายังเหมือนคนพึ่งฟื้นไข้ มึนๆ งงๆ

การเมืองที่ดูเหมือนจะเข้าที่เข้าทางก็ยังไม่แน่ใจนักว่าจะนำเราไปทางไหน ส่วนเศรษฐกิจก็ยังต้องลุ้น ผมผู้ไม่มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้จึงได้แต่เฝ้ารอและเฝ้าดูอย่างใจจดใจจ่อ

ส่วนสถานการณ์ของโลกในปีที่ผ่านมายิ่งชวนให้ระทดท้อ เพราะภาวะสงครามยังคงคุกรุ่นอยู่ทั่วไป นอกจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนอันยืดเยื้อแล้ว ยังมีความไม่สงบที่ดูท่าจะนำไปสู่ปัญหาอีกมากในเมียนมา รวมทั้งสงครามปาเลสไตน์-อิสราเอลอีก

ได้แต่ภาวนาให้สถานการณ์ดีขึ้นในเร็ววัน

 

ในทางตรงกันข้าม แม้เราจะดูเหมือนคนเพิ่งฟื้นไข้ แต่ “สายมู” หรือสินค้าความเชื่อต่างๆ กลับรุ่งเรืองเฟื่องฟูเป็นอันมาก เม็ดเงินจำนวนมหาศาลยังคงหมุนเวียนในธุรกิจนี้ และดูเหมือนจะยังหมุนไปเรื่อยๆ ไม่หยุด

I told พระแม่ลักษมีไว้เลยว่าปีนี้พระองค์ “มา” แน่นอน ดังที่เคยกล่าวไว้แล้ว ไม่ได้ชี้โพรงให้กระรอกนะครับ เพราะกระรอกน่าจะรู้มาก่อนผมอีก

มีผู้วิเคราะห์ไว้มากมายแล้วว่า เหตุใดสายมูถึงรุ่งเรืองนักในเมืองไทย ส่วนหนึ่งก็เพราะความผันผวนทางการเมืองและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้เราต้องหันไปพึ่งสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ผมก็ได้แต่วิแคะไปตามนั้น

หากมองในแง่วัฒนธรรม มูคือวัฒนธรรมป๊อป (pop culture) ที่แพร่ไปในคนทุกชั้นทุกวัย เพราะมันไม่ได้มีภาพลักษณ์ที่น่ากลัวหรือเป็นเรื่องของคนเพศใดกลุ่มใดอีกต่อไปแล้ว ใครก็สามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ตามความต้องการและความสนใจของตัวเองได้

ยิ่งเสริมหนุนด้วยพลังของทุนและสื่อออนไลน์ที่ทำให้ความรู้จำนวนมากไม่เป็นความลับอีกต่อไป ทุกๆ คนจึงสามารถเรียนรู้ แล้วขยับจากผู้ใช้บริการหรือผู้ใช้วัตถุมู ไปสู่การเป็นผู้ผลิตหรือเจ้าสำนักเองได้ไม่ยาก

ใครเสพ “ติ๊กต็อก” ลองเสิร์ชคำว่า “มู” หรือ “สายมู” แล้วไถเล่นๆ ไปดูครับ มีกูรูมากมายหลากหลายสำนักให้ท่านได้ชมเพลินๆ เผลอๆ นั่งไถไปหลายชั่วโมงโดยไม่รู้ตัว

มองในแง่โอกาสทางการตลาด มูคือสินค้าที่ต้นทุน (วัสดุ) ต่ำแต่มูลค่าสูง เพราะมูลค่าของสินค้านี้ขึ้นอยู่กับ “เรื่องเล่า” มากกว่าเนื้อตัวของมันเอง เป็นสินค้าที่ไม่มีเพดานราคา ขึ้นอยู่กับว่าเรื่องเล่านั้นจะก่อให้เกิดความเชื่อถือศรัทธาได้มากน้อยเพียงใด

อีกทั้งยังเป็นสินค้าที่ “นิช มาร์เก็ต” (Niche Market) คือการตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น การผลิตเครื่องรางของขลังแก่กลุ่มผู้สนใจเรื่องนั้นโดยเฉพาะ อย่างเครื่องรางสายพื้นเมือง สายผี สายฮินดู สายจีน ฯลฯ โดยเฉพาะงานคราฟหรืองานทำมือทีละชิ้น เช่น ตะกรุดจารมือ กุมารทองปั้นที่ละองค์ ซึ่งมีมูลค่าสูงและเป็นที่ต้องการมาก เป็นเทรนด์ทางการตลาดในปัจจุบัน

ในขณะเดียวกันก็สามารถขยับไปสู่การเป็นสินค้าแบบ “แมสส์ มาร์เก็ต” (Mass Market) หรือการตลาดแบบมวลชน ได้ด้วยหากสามารถทำให้เกิดเป็นกระแส อย่างกรณีพระลักษมีซึ่งเดิมเป็นที่เคารพของคนที่นับถือเทพสายอินเดียหรือฮินดู แต่สุดท้ายก็ขยายวงออกไปอย่างกว้างขวาง

สินค้ามูเป็นสินค้าที่ไม่ต้องคิวซี ไม่มีองค์กรไหนมาควบคุมคุณภาพ หากไม่ได้ผลตามที่โม้ไว้ ผู้ใช้ก็มักโทษตัวเองมากกว่าโทษสินค้านั้น เช่น คิดว่ามีกรรมหนักหรือข้อขัดข้องจากตัวเอง ทำให้เครื่องของขลังไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่ ครั้นจะไปโวยวายว่าไม่ได้ผลก็ดันมีคนที่ใช้ได้ผลด้วย เลยไม่แน่ใจว่าอะไรกันแน่ที่ผิดปกติ

เขียนๆ ไปก็ชักอยากเข้าวงการธุรกิจสายมูซะแล้วครับ แต่ผมไม่มีหัวการค้า จะเข้าไปก็เก้อๆ เขินๆ เอาเป็นว่าถ้าหายไปจากมติชนสุดสัปดาห์วันไหน อาจเจอช่องทางรวยใหม่ (ฮา)

 

เนื่องจากธุรกิจสายมูเป็นโอกาสสู่ความร่ำรวยดังที่กล่าวมา ใครต่อใครจึงอยากเข้ามาสู่วงการนี้

ผมไม่ได้เหมารวมว่าทุกคนจะเป็นเช่นนั้น คือคนที่ “มุ่ง” มารวย แต่คงมีคนที่เข้ามาเพราะชื่นชอบเรื่องพวกนี้อย่างเดียวอยู่จริงๆ ด้วย

แต่ก็ดังที่โบราณว่าไว้ครับ ไสยศาสตร์นั้นเป็นวิชาที่ “กิน” ตัวเรา คือหากเราเรียนแบบใหลหลง เราก็จะค่อยๆ ถูกกินคือจะสูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง

สุดท้ายเมื่อเราต้องพึ่งพาสิ่งนอกตัวอยู่เสมอหรือคิดว่าสิ่งนั้นมีอิทธิพลเหนือเราอย่างเต็มที่แล้ว เท่ากับเราได้ถูกไสยศาสตร์กินโดยสมบูรณ์

ข้อเตือนใจอันนี้ ช่วยให้เราระลึกได้ว่า หากจะสัมพันธ์กับมูหรือไสยศาสตร์ ใช้วัตถุมูหรือเครื่องรางของขลัง ก็ขอให้สิ่งนั้นช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นในตนเองของเรา และใช้เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและคนอื่น หรือใช้ในฐานะ “กุศโลบาย” อันหนึ่งสำหรับช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น

ดังนั้น ในท้ายปีมูนี้ ผมจึงมีเรื่องอยากจะเล่าซึ่งเป็นเรื่องที่ผมรับฟังมาแล้วประทับใจ

 

อาจารย์ณัฐนนท์ ปานคง หรือตันเทียนเต็กฮวดซือ ผู้ที่ผมศึกษาเรื่องไสยเวทจีนอยู่ด้วยนั้น เล่าให้ฟังว่าท่านเรียนไสยเวทหลากสาขากับอาจารย์หลายท่าน ที่สำคัญคือแป๊ะเกี๋ยว ผู้สอนสั่งและแนะให้หาความรู้ต่อยอดจากสิ่งที่สอน

ไสยเวทอย่างจีน โดยเฉพาะสายวิชาลื่อซานเป็นไสยเวทผสม คือมีทั้งประเพณีและพิธีกรรมของพุทธ (เส็กก่าว) คติความเชื่อและพิธีกรรมของเต๋า (โต่ก่าว) และผีหรือคติพื้นบ้าน (ฮวดก่าว) ซึ่งยังมีร่องรอยสมัยถังในการรับเอามนตรยานจากอินเดียเข้ามา

ผู้ฝึกไสยเวทจีนจึงต้องค่อยๆ ศึกษาเรียนรู้คติคำสอนนอกเหนือจากเรื่องพิธีกรรม แต่กระนั้นผู้เรียนวิชาฮวดเหล่านี้ก็มีเพียงจำนวนน้อยที่จะมาสนใจในทางคำสอนเท่ากับเรื่องอื่นๆ

อาจารย์นนท์เล่าว่า หลังจากเรียนรู้จนสำเร็จสรรพวิชาไสยเวทคือสามารถนำไปใช้งานได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว มีธรรมเนียมโบราณบางอย่างซึ่งได้สูญหายไปหรือลดน้อยลงเรียกว่า การ “ต่อหวด” แปลว่า “ก้าวข้าม (ต่อ) ไสยเวท (หวด/ฮวด)”

ครูจะนำศิษย์ผู้สำเร็จวิชาไป “ก้าวข้ามไสยเวท” โดยการทดสอบตามที่ครูกำหนดขึ้น คือเอาวิชาที่เรียนไปใช้ในสถานการณ์จริง เช่น ให้ไปไล่คนถูกผีเข้า ให้รักษาคนป่วย ฯลฯ แล้วดูผลว่าสำเร็จไหม

ถ้าไม่สำเร็จ ครูอาจให้เลิกวิชาเหล่านั้นทั้งหมดไม่ต้องทำอีกต่อไป หรือศิษย์อาจขอเลิกเองก็ได้

 

กรณีของอาจารย์นนท์ แป๊ะเกี๋ยวท่านพาไปให้ช่วยรักษาคนป่วย แต่เป็นผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย จึงต้องดูแลอาบน้ำเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวให้ด้วย และต้องใช้ทั้งวิชาสมุนไพรยาจีนรวมถึงคาถาอาคมอยู่นานพอสมควรจนกระทั่งคนไข้ดีขึ้น จึงถือว่าสอบผ่าน

การต่อหวดในบางกรณี เช่นแบบข้างต้นต้องใช้ทั้งความอดทน ความเอาใจใส่และอาจต้องช่วยเหลือคนนอกเหนือหน้าที่ผู้ใช้ไสยเวท

บางครั้งอาจทำให้ท้อแท้หมดหวังหรือเบื่อหน่าย หรือเกิดความรู้สึกต่างๆ เพราะที่จริงแล้วการต่อหวดหรือการก้าวข้ามไสยเวท คือการให้ศิษย์ทบทวนว่าเรียนไสยเวทไปเพื่ออะไร มิใช่ต้องการแค่ดูประสิทธิผลของวิชาเท่านั้น

หากเกิดความตระหนักในหัวใจอย่างแท้จริงว่า วิชาไสยเวทมีไว้รับใช้ช่วยเหลือผู้คน ให้เขาพ้นความทุกข์ยากด้วยกรุณาโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และต้องทุ่มเทเสียสละตน ถือว่าคนคนนั้นได้ “ก้าวข้ามไสยเวท” แล้ว จากนี้จะใช้วิชาไสยเวทหรือจะเลิกก็มิใช่ปัญหาอีกต่อไป

หากยังใช้ต่อ วิชาไสยเวทของคนคนนั้นก็จะเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีแรงจูงใจที่ถูกต้องดีงาม และไสยเวทนั้นจะไม่สามารถกินคือไม่มีอำนาจเหนือเขาได้เลย แต่ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะใช้มันตอนไหนอย่างไร ในฐานะเครื่องมืออันหนึ่งในการช่วยผู้คนเท่านั้น

ผมฟังเรื่องนี้แล้วอยากนำมาเล่าต่อ ด้วยหวังว่าจะเป็นคติแก่ผู้ชื่นชอบสายมูทั้งหลาย

ให้เราได้ก้าวข้ามไสยเวทไปด้วยกัน เพื่อจะมีสังคมที่ตื่นรู้ เมื่อตื่นรู้แล้ว เราจะใช้อะไรเป็นเครื่องมือหรืออุปายะในการทำให้สังคมของเราดีขึ้นก็ย่อมเป็นไปได้

ท้ายนี้ ขอให้ครูบาอาจารย์ประทานพรแด่ท่านผู้อ่านทุกท่าน ให้บุญกุศลเต็มฟ้า ทรัพย์เต็มแผ่นดิน ทั้งอริยทรัพย์และโภคทรัพย์

สวัสดีปีใหม่ครับ •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง