ฮามาส-อิสราเอล ความขัดแย้งครั้งที่ 5 (10) | จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

อนาคตที่ไม่แน่นอน :
ผลกระทบของการโจมตีฉนวนกาซา
ของอิสราเอลอย่างเต็มกำลัง

สงครามซึ่งเริ่มต้นด้วยการโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ยังห่างไกลจากจุดสิ้นสุดและยังมีความทุกข์ทรมานอีกมากมายที่ยังมาไม่ถึง

การโจมตีของกลุ่มฮามาสต่อชุมชนชาวอิสราเอลทางตะวันตกเฉียงใต้ของอิสราเอลได้เปลี่ยนภาพยุทธศาสตร์ตะวันออกกลางจากการโจมตีเพียงครั้งเดียวไปตลอดกาล

จนถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2023 แนวโน้มทั่วไปในภูมิภาคนี้ดูเหมือนจะเคลื่อนตัวไปสู่ความไร้เสถียรภาพ

เมื่อกล่าวถึงภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันตกหรือตะวันออกกลางก็จะพบว่าความไม่สงบในช่วงปี 2010-2019 ‘อาหรับสปริง’ ได้เริ่มคลี่คลายลงแล้ว ผลลัพธ์หลักคือการแตกกระจายและการล่มสลายบางส่วนของการปกครองในรัฐอาหรับจำนวนหนึ่ง ได้แก่ เยเมน อิรัก และซีเรีย

ที่สำคัญที่สุดในหมู่พวกเขา การเกิดขึ้นของผู้แสดงที่ไม่ใช่รัฐที่เป็นอันตราย องค์กรรัฐอิสลาม และอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้มาก่อนนั้นดูเหมือนจะถูกจำกัดให้น้อยลงไปมาก

 

มีกลุ่มอำนาจที่สามารถระบุตัวตนได้กว้างๆ สองกลุ่มในภูมิภาคนี้

กลุ่มแรกนำโดยสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน กองกำลังต่อต้านตะวันตก รวมถึงอิหร่านเองและขบวนการฮิสบุลลอฮ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านในเลบานอน ระบอบการปกครองของบาชัร อัล อะสัดในซีเรีย ขบวนการฮูษีหรืออันซารุลลอฮ์ในเยเมน กองกำลังติดอาวุธชีอะฮ์ในอิรัก ขบวนการญิฮาดอิสลามและขบวนการฮามาสในหมู่ชาวปาเลสไตน์

กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มประเทศที่มีความเป็นเอกภาพและเป็นกลุ่มประเทศที่มีความสอดคล้องกันอย่างหลวมๆ มากขึ้น ซึ่งถูกระบุอย่างกว้างๆ ว่ามีท่าทีที่สนับสนุนสหรัฐอเมริกาหรือเคยสนับสนุนสหรัฐอเมริกามาก่อน ในกลุ่มนี้จะรวมถึงอิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย โมร็อกโก และบาห์เรน เป็นองค์ประกอบหลัก

อย่างไรก็ตาม ยังมีตัวแสดงผู้มีบทบาทที่ไม่ใช่รัฐอยู่อีกจำนวนหนึ่งซึ่งอยู่ในพื้นที่ปกครองตนเองของชาวเคิร์ดในอิรักและซีเรีย และมีความต่างไปจากกลุ่มที่สนับสนุนอิหร่าน โดยส่วนใหญ่ของตัวแสดงเหล่านี้มีมุมมองทางอุดมการณ์ร่วมกันไปในทางอิสลามการเมือง และมีการวางรูปแบบการปกครองที่เข้มข้น

ในขณะที่กลุ่มที่มีการกำหนดไว้อย่างหลวมๆ นี้ไม่มีรูปแบบการบริหารงานหรือวัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน แต่พวกเขาก็มีความกังวลร่วมกันเกี่ยวกับอิทธิพลของอิหร่าน และการใช้อิสลามในทางการเมือง

 

นักวิเคราะห์หลายคนได้สรุปในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาว่า แม้จะมีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างองค์ประกอบของกลุ่มเหล่านี้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือความไม่ลงรอยกันระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน แต่ในอีกทางหนึ่งภูมิภาคนี้ดูเหมือนจะกำลังเคลื่อนเข้าสู่ความสมดุลมากขึ้น

จีนเป็นตัวกลางในการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

อิสราเอลกลับมามีความสัมพันธ์ทางการทูตกับตุรกีอีกครั้ง หลังจากความตึงเครียดมานานหลายทศวรรษ

อิหร่านยังคงมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายในการทำลายล้างอิสราเอล แต่ที่นี่ ดูเหมือนว่าพันธมิตรใกล้ชิดของอิหร่านที่อยู่ใกล้อิสราเอลที่สุดถูกขัดขวาง แม้ว่าฮิสบอลลอฮ์หรือฮิสบุลลอฮ์จะครอบครองเลบานอน แต่ข้อตกลงกำหนดเขตแดนทางทะเลก็บรรลุข้อตกลงระหว่างอิสราเอลและเลบานอนไปแล้วในปี 2022

ในส่วนที่เกี่ยวกับฉนวนกาซาที่ควบคุมโดยกลุ่มฮามาส การรับรู้ที่เพิ่มขึ้นก็คือ การเคลื่อนไหวดังกล่าวของฮามาส แม้จะมีความเชื่อมั่นในอุดมการณ์การนำเอาอิสลามมาปรับใช้ แต่ก็ถูกขัดขวางโดยอำนาจทางทหารของอิสราเอล

 

มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องสองประการ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ สิ่งแรกและที่อาจยังคงถูกสังเกตน้อยที่สุดก็คือความนิยมอย่างต่อเนื่องของศาสนาอิสลามทางการเมืองในระดับรากหญ้าทั่วทั้งโลกอาหรับที่เป็นมุสลิมสำนักคิดซุนนีที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความพ่ายแพ้หรือการทำให้โครงการที่อิสลามการเมืองซุนนีได้สร้างขึ้นมาค่อยๆ ลดพลังลง ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน

จากอียิปต์ไปจนถึงอิรัก เวสต์แบงก์กาซา จอร์แดน เลบานอนไปจนถึงซีเรียและการตอบโต้การยึดครองอิสราเอลจะพบว่าแนวทางการใช้อิสลามในทางการเมืองได้พยายามที่จะยกโครงการทางการเมืองหลายโครงการในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

รัฐบาลภราดรภาพมุสลิมในอียิปต์ ชัยชนะในการเลือกตั้งของขบวนการฮามาสในดินแดนปาเลสไตน์ การก่อความไม่สงบของชาวซีเรียที่ถือสำนักคิดซุนนี กลุ่มรัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย แต่โครงการทั้งหมดเหล่านี้ประสบความถดถอยและถูกละเลย เป็นผลให้ในช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ความสนใจถูกหันไปที่กระบวนการทางการทูตที่นำโดยรัฐจากเบื้องบนเสียมากกว่า นำไปสู่ความเพิกเฉยต่อความเข้มแข็งและความนิยมอย่างต่อเนื่องของแนวคิดและองค์กรอิสลามในระดับรากหญ้าไปในที่สุด

ขบวนการฮามาสเป็นตัวแทนเจตจำนงของชาวปาเลสไตน์ ในการนำเอาอิสลามไปใช้ในทางการเมือง

ความช่วยเหลือทางทหารของอิหร่านต่อขบวนการฮามาสในระยะเวลาที่ขยายออกไปทำให้ฮามาสมีความสามารถทางทหารดังที่แสดงไว้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม การรุกของกลุ่มฮามาสในวันนั้นคือการพบกันของปัจจัยทั้งสองนี้ และส่งผลให้พวกเขากลับมาสู่ศูนย์กลางในตะวันออกกลาง หลังจากครึ่งทศวรรษแห่งภาพลวงตา

 

เกิดอะไรขึ้นตอนนี้?

จนถึงขณะนี้ การตอบสนองของอิสราเอลคือการระดมกำลังสำรอง 360,000 นาย และเริ่มการรณรงค์ทางอากาศเหนือฉนวนกาซา ข้อสันนิษฐานยังคงเป็นไปในทิศทางที่ว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการโหมโรงการรุกภาคพื้นดินอย่างกว้างขวางในฉนวนกาซา ตามที่ได้รับการยืนยันโดยรัฐมนตรีกลาโหม Yoav Gallant ที่แถลงการณ์ต่อสาธารณะว่าเป้าหมายของการรุกภาคพื้นดินเช่นนี้คือการโค่นล้มรัฐบาลฮามาส ซึ่งปกครองฉนวนกาซา

ในขณะเดียวกัน องค์ประกอบอื่นๆ ของพันธมิตรที่นำโดยอิหร่านซึ่งมีฮามาสเป็นส่วนหนึ่งได้ระดมกำลังและเข้าสู่การต่อสู้บางส่วน ขณะนี้กองกำลังฮิสบุลลอฮ์กำลังโจมตีชายแดนทางเหนือเป็นประจำทุกวัน โดยใช้จรวดต่อต้านรถถังและขีปนาวุธ พร้อมกันนี้กองกำลังติดอาวุธชีอะฮ์ของอิรักและซีเรียได้เข้าโจมตีกองกำลังของสหรัฐอเมริกา แม้แต่กลุ่มฮูษีในเยเมนก็พยายามยิงโดรนและขีปนาวุธจำนวนหนึ่งเข้าสู่ทิศทางของอิสราเอลเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม

ขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาได้ส่งกลุ่มเรือบรรทุกเครื่องบินไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการขัดขวางอิหร่านและกองกำลังฮิสบุลลอฮ์จากการดำเนินการขั้นเด็ดขาดมากขึ้น

ผลลัพธ์ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดการหยุดชะงักอย่างรุนแรงต่อชีวิตของทั้งชาวอิสราเอลและชาวกาซาทั่วไป สำหรับชาวอิสราเอล การสังหารผู้คน 1,400 คนโดยกลุ่มติดอาวุธนั้นมีเสียงสะท้อนทางประวัติศาสตร์ที่แข็งแกร่งว่าชาวอิสราเอลส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของผู้ลี้ภัยชาวยิวจากยุโรป เอเชียตะวันตก และแอฟริกาเหนือ

ประสบการณ์ของการพลัดถิ่น การสังหารหมู่ และความสิ้นหวังอยู่ในความทรงจำที่มีชีวิตของหลายครอบครัว และอยู่ในความทรงจำของพวกเขาเกือบทั้งหมด แต่ขณะนี้รัฐบาลของพวกเขากำลังทำให้ชาวปาเลสไตน์เจ้าของแผ่นดินต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นอย่างที่พวกเขาเคยถูกกระทำมาแล้ว