‘ช่วงเวลาที่ดี’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ผมบอกใครๆ เสมอว่า ตั้งแต่วันที่เสือดาวตัวหนึ่ง อนุญาตให้ผมอยู่ใกล้ๆ ขณะมันนั่งพักผ่อน และพยายามเล่นกับผีเสื้อสกุลผีเสื้อเณร วันนั้น คือวันที่ผมรู้จักและเข้าใจในความเป็นเสือมากยิ่งขึ้น

ไม่รู้จัก หรือเข้าใจเสือทั้งหมดอย่างที่พวกมันเป็นหรอก แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมเข้าใจ

เสือเปิดโอกาสให้ผมอยู่กับมันกว่าครึ่งชั่วโมง 10 นาทีแรก ผมถ่ายรูปและมองมันผ่านช่องมองภาพของกล้อง หลังจากนั้น ผมนั่งดูด้วยสายตาเปล่า

เหตุการณ์วันนั้น ผมได้งานที่ดี เป็นงานที่ผมบอกบ่อยๆ เช่นกันว่า ไม่ใช่เป็นงานอย่างที่ผมเห็น เพราะผมมีเพียงรูปเสือดาวแยกเขี้ยวขาว เงยหน้ามองข้างบน

กรอบรูปแคบเกินกว่าจะเห็นผีเสื้อตัวเล็กที่เสือกำลังมอง

มีแต่เสือตัวหนึ่ง แยกเขี้ยวแหลม น่าเกรงขาม นั่งอยู่ลำพัง

แต่ก็เถอะ ได้พักผ่อน นั่งเล่นกับผีเสื้อ ผมก็เชื่อว่า นั่นเรียกได้ว่า เป็นช่วงเวลาที่ดีของเสือ

 

ทํางานในป่า ในเวลาใกล้สิ้นปี เลี่ยงไม่พ้นกับสภาพอากาศอันหนาวเย็น ชีวิตส่วนหนึ่งต้องพึ่งพากองไฟ ผิวแตกระแหง

ความเงียบถูกแทรกด้วยเสียงฟืนแตกปะทุ

หลังอาหารเย็น ได้จิบโกโก้ร้อนๆ เอนหลังพิงขอนไม้อยู่ข้างกองไฟ มองเปลวไฟร่ายรำ

ช่วงเวลานี้ เป็นเวลาซึ่งความเมื่อยล้าที่นั่งอยู่ในซุ้มบังไพรแคบๆ ตั้งแต่เช้าจนพลบค่ำ หายไป

 

สายตามองเปลวไฟร่ายรำ ผมนึกถึงเสือที่พบ ในการทำงาน คงพูดได้ว่า ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคงเป็นเวลาที่ได้เผชิญหน้าสบตากับเสือ

ผมได้รับโอกาสให้พบกับเสือในหลายสภาวะ ไม่ว่าขณะมันกำลังทำงาน พักผ่อน หรือแม้แต่ยอมรับความพ่ายแพ้ต้องยอมเดินเลี่ยงๆ ผ่านฝูงควายป่าที่ตั้งแถวเตรียมรับมืออย่างยอมจำนน

ในป่า โดยศักดิ์ศรี เสือคือนักล่าหมายเลขหนึ่ง พวกมันทำงานลำพัง ใช้ชีวิตโดดเดี่ยว

รูปร่างของเสือได้รับการออกแบบมาอย่างเหมาะสมยิ่ง

เริ่มตั้งแต่ดวงตาที่อยู่ชิดกันบนด้านหน้าของใบหน้า ต่างจากสัตว์กินพืชที่ดวงตาจะอยู่ใกล้มาทางหูเพื่อการมองด้านข้างและรอบตัวถนัด

ตำแหน่งดวงตาช่วยให้เสือมองเป็นมิติ กะระยะได้ภาพจากดวงตาแต่ละข้างจะเหลื่อมซ้อนทับกันพอดีเป็นพื้นที่กว้าง นี่คือคุณสมบัติที่เหมาะสำหรับการกระโจนตะครุบเหยื่ออย่างแม่นยำ

นอกจากนั้น ตาของเสือจะสะท้อนแสงเหมือนมีกระจกอยู่ภายในเพราะมีฉากสะท้อนแสงที่หลังจอรับภาพ ตาเสือจึงรับแสงได้มากกว่าปกติ และช่วยให้มองเห็นได้ในเวลากลางคืน

ส่วนใบหน้า เสือมีหน้าสั้นกว่านักล่าตัวอื่นๆ เพราะจำนวนฟันที่ลดลง แต่นี่เป็นข้อได้เปรียบทำให้เสือเพิ่มแรงกดที่เขี้ยวได้มากขึ้น เพราะเขี้ยวอยู่ใกล้กับจุดต่อของกรามซึ่งพัฒนาให้แข็งแรงเพิ่มขึ้น

เหล่านี้คือคุณสมบัติของนักล่า ผู้อยู่บนสุด

เป็นคุณสมบัติอันทำให้เสือมีภาพความเป็นสัตว์ดุร้าย อันตราย ภาพที่ดูเหมือนจะไม่มีวันจางหาย

เสือโคร่งเบงกอล – เสือวัยรุ่นอายุราว 7 เดือน เข้ามานั่งใกล้ๆ มองด้วยแววตาสงสัย

ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และ Tiger reserve Tadoba andhari

เสือโคร่งเบงกอลครอบครัวหนึ่ง เดินตรงเข้ามายังรถจี๊ปที่ผมนั่งอยู่

มีลูกเล็ก อายุราว 7 เดือนสามตัว ตัวโต ซึ่งคงเป็นพี่อันเป็นลูกชุดก่อน และแม่

อีกสัก 5 เมตรก่อนถึงรถ ตัวแม่พาเลี้ยวเข้าไปบ่อน้ำข้างทาง และใช้เวลาที่บ่อน้ำอยู่นาน

ผมเห็นความอบอุ่นในครอบครัว อีกไม่นาน เจ้าตัวเล็กก็จะต้องแยกย้ายไปตามวิถี พวกมันจะมีช่วงเวลาดีๆ เวลาแห่งความอบอุ่นเช่นนี้สองปี เป็นสองปีแห่งการเรียนรู้ แม่จะถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆ ให้

 

เจ้าเสือวัยรุ่น อายุ 7 เดือนตัวหนึ่ง ผละจากกลุ่ม เดินเข้ามานั่งใกล้รถ เอียงคอหันไปมา แววตาสงสัย

ในประเทศอินเดีย เคยมีประชากรเสือโคร่งนับแสนตัว ในยุคหนึ่งพวกมันเป็นคล้ายถ้วยรางวัลของคน การฆ่าเสือเป็นเกมของผู้ปกครองอาณานิคม

ถึงวันนี้ การไล่ฆ่าจบสิ้นลงแล้ว เสือโคร่งที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ มีโอกาสได้ดำเนินชีวิตไปตามวิถี

แต่ภาพความดุร้าย อันตราย คล้ายจะยังไม่หายไปไหน ไม่ว่าจะเป็นเสือซึ่งอาศัยอยู่ที่มุมใดของโลก

 

ผมละสายตาจากช่องภาพ หลังกดชัตเตอร์ไประยะเวลาหนึ่ง มองเสือตัวนี้ด้วยสายตาเปล่าๆ

มันทำให้ผมนึกถึงเสือดาวตัวที่อนุญาตให้ผมนั่งอยู่ใกล้ๆ ดูมันเล่นกับผีเสื้อ

การอยู่ในสถานภาพของนักล่าหมายเลขหนึ่ง ชีวิตย่อมไม่ง่าย

อยู่ในที่มั่นสุดท้าย ต้องพบปะกับคนทุกๆ วัน ย่อมไม่ง่ายนักเช่นกัน การปรับตัวจำเป็น

เสือโคร่งเบงกอลวัยรุ่นตัวนี้ กับเสือดาวตัวนั้น บอกผมอย่างหนึ่ง

อยู่ใกล้ๆ สบสายตา คือ “ช่วงเวลาที่ดี” ของเรา

เป็นเวลาอันทำให้เราได้รู้จักกันอย่างแท้จริง

ได้รู้จัก เข้าใจ นักล่าหมายเลขหนึ่งบ้าง อย่างน้อยก็ทำให้ช่วงเวลาที่ผ่านมาของการทำงานในป่า ไม่สูญเปล่าสักเท่าใดนัก •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ