จาก ‘ปฏิรูปกองทัพ’ ถึง ‘กองทัพต้องปรับตัว’

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

จาก ‘ปฏิรูปกองทัพ’

ถึง ‘กองทัพต้องปรับตัว’

 

 

พอ ‘รังสิมันต์ โรม” แห่งพรรคก้าวไกลออกมาแสดงความชื่นชมหลังพบผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกว่ามีความตั้งใจที่จะ “ปรับตัว” จริง, ก็มีเสียงถามว่า “ก้าวไกลเปี้ยนไป๋” หรือเปล่า

เพราะนโยบายของพรรคนี้ที่เคยเข้มข้นว่าด้วยการ “ปฏิรูปกองทัพ” ทำไมกลายเป็น “กองทัพต้องปรับตัว” เท่านั้นหรือ?

หรือจะเป็นแนว “ร่วมกันพัฒนา” และ “ค่อยทำค่อยไป” แบบของพรรคเพื่อไทย?

“โรม” มีตำแหน่งเป็นประธานกรรมาธิการความมั่นคงฯ ของสภาผู้แทนราษฎร

ภาพที่เราไม่ค่อยได้เห็นคือการยืนแถลงข่าวกับผู้นำเหล่าทัพและประกาศว่ากองทัพจะไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป

เพราะคณะกรรมมาธิการความมั่นคงฯ พร้อมจะสนับสนุนการปรับเปลี่ยนของกองทัพในทิศทางที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง

อะไรทำให้ “โรม” มีน้ำเสียงและทีท่าที่แสดงความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับกองทัพแทนที่จะเข้าไป “ปฏิรูป” ให้ทันสมัยและทำงานภายใต้รัฐบาลพลเรือน?

 

“โรม” บอกผมว่า “ผมยังไม่ได้เปลี่ยนจุดยืนเรื่องปฏิรูปกองทัพ ยังยืนยันว่ากองทัพจะต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับยุคสมัย แต่เมื่อได้ฟังจากผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชากรทหารบกวันนั้นแล้วก็ต้องยอมรับว่าท่านมองเห็นกองทัพในทิศทางเดียวกับเรา…”

ตอนที่รัฐบาลเศรษฐาเข้ามาและแต่งตั้งคุณสุทิน คลังแสง เป็นรัฐมนตรีกลาโหมก็มีความหวังว่าอาจจะได้เห็นพรรคเพื่อไทยที่เคยวิพากษ์กองทัพอย่างต่อเนื่องในการอภิปรายรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา นำมาแนวทางปฏิรูปกองทัพมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม

ใครที่ตั้งความหวังเช่นนั้นก็คงจะพากันผิดหวัง

บางคนถึงกับ “ช็อก” ด้วยซ้ำ

เพราะนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน และรัฐมนตรีสุทินหลังจากกินข้าวกับผู้นำเหล่าทัพรอบแรกแล้วก็ออกมาก็ดูเหมือนจะฝังกลบคำว่า “ปฏิรูปกองทัพ” ไปเลย

เพราะคุณเศรษฐาบอกว่าไม่ชอบคำว่า “ปฏิรูป” แต่ต้องการใช้คำว่า “ร่วมกันพัฒนา” มากกว่า

ทั้งๆ ที่หากไปค้นดูเอกสารของกองทัพเองก็มีการวางยุทธศาสตร์ “ปฏิรูปกองทัพ” ให้ทันสมัยเพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่บนแปลงในระดับโลกด้วยซ้ำไป

อาการประหลาดใจก็เพิ่มดีกรีหนักขึ้นเมื่อเปรียบเทียบแล้วก็อาจจะเห็นภาพของรัฐบาลพลเรือนมีการแสดงออกต้องการ “ปฏิรูป” น้อยกว่าผู้นำเหล่าทัพด้วยซ้ำ

เหมือนเป็นภาพกลับตาลปัตรโดยหาคำอธิบายอะไรไม่ได้

ก็ได้แต่ชี้ไปที่อาการ “ตระบัดสัตย์” ที่ทำให้เกิด “ดีลลับ” อันเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลพลเรือนเกิดอาการเกร็ง ไม่กล้าไปแตะต้องกองทัพที่ผู้มีบารมีไปทำข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการไว้กับ “บ้านใหญ่” ทางการเมือง

ไม่เพียงแต่พรรคเพื่อไทยจะถอยร่นจากการปฏิรูปกองทัพเท่านั้น คุณสุทินยังลุกขึ้นพูดในสภาทำนองว่าในฐานะรัฐมนตรีกลาโหมจะใช้วิธีการที่นิ่มนวลกับกองทัพ

โดยหลีกเลี่ยงวิธีการที่คุณสุทินเรียกว่าเป็นการ “ชักธงรบ” กับกองทัพซึ่งในความเห็นของนักการเมืองรุ่นเก๋าที่เคยวิพากษ์ทหารไว้อย่างเจ็บแสนในการอภิปรายนั้นมีแต่จะล้มเหลวเท่านั้น

 

การ “แปลงร่าง” อย่างรวดเร็วกะทันหันของพรรคเพื่อไทยเช่นนั้นย่อมทำลายความหวังของการ “ปฏิรูป” ในทุกวงการหดหายไปต่อหน้าต่อตา

ไม่เพียงแต่จะไม่ “ปฏิรูป” กองทัพเท่านั้น แต่ความคาดหวังที่จะเห็นรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ “ปฏิรูป” ตำรวจหรือการศึกษาหรือระบบราชการก็มีอันต้องอันตรธานหายไปต่อหน้าต่อตาเช่นกัน

ดังนั้น ความหวังสำหรับคนที่ต้องการเห็นการปฏิรูปกองทัพอย่างจริงจังเพื่อเรียกคืนศักดิ์ศรีและความเป็นมืออาชีพของกองทัพจึงอยู่ที่พรรคก้าวไกล

ในภาวะที่เชื่อได้ว่าคนในกองทัพไม่น้อยก็ต้องการจะ “ปฏิรูป” องค์กรของตนเองเพื่อให้พ้นจากข้อครหาว่าเป็นกองทัพที่ถูกการเมืองครอบ

หรือเพราะผู้นำกองทัพบางคนเข้าไป “เล่นการเมือง”

จึงทำให้บทบาทที่น่าเชื่อของกองทัพในฐานะมืออาชีพที่จะปกปักรักษาเอกราชของประเทศไม่อาจจะฟื้นคืนมาได้

ใครที่เคยสัมผัสกับคนในระดับต่างๆ ในกองทัพจะยืนยันได้ว่าคนในเครื่องแบบไม่น้อยมีความต้องการจะเห็นการปฏิรูปอย่างแท้จริง

อีกทั้งทหารรุ่นใหม่ที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองและเชื่อในเรื่องของธรรมาภิบาลกับความเสมอภาคแห่งสิทธิและความพยายามจะลดความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้นต่างก็มีความคิดและแนวทางปฏิบัติที่โอนเอียงไปทางด้านความคิดที่เปิดกว้างและทันกับความเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น หากพรรคก้าวไกลยังยึดมั่นในเจตนาที่จะสร้างความทันสมัยและความเป็นมืออาชีพให้กับกองทัพ จึงน่าจะมีแนวร่วมทั้งในและนอกกองทัพไม่น้อยเลย

 

ดังนั้น เมื่อคุณรังสิมันต์ โรม ไปพบกับผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบกเมื่อสัปดาห์ก่อน และได้เขียนรายงานในเฟซบุ๊กของท่าน ผมจึงสนใจวิเคราะห์เป็นพิเศษ

ลองอ่านดูว่าคุณ “โรม” มีความประทับใจอะไรอย่างไรก่อนที่จะวิเคราะห์ต่อว่าเราจะมีความหวังว่าจะเกิดการ “ปฏิรูปกองทัพ” ในอนาคตอันใกล้ได้หรือไม่

คุณ “โรม” เขียนไว้อย่างนี้

เมื่อวานนี้ (15 ธันวาคม 2566) ผมและ กมธ.ความมั่นคงฯ ได้ไปพบกับ ผบ.ทบ. (พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์) ที่กองทัพบกในช่วงเช้าและ ผบ.สส. (พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี) ที่กองทัพไทยในช่วงบ่าย โดยได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากทั้งสองหน่วยงาน และได้ให้ความร่วมมือในการหารือประเด็นต่างๆ ผ่านการพูดคุยตลอดทั้งวัน

ซึ่งผมก็หวังว่าเราจะได้รับความร่วมมือที่ดีเช่นนี้กับทุกหน่วยงานต่อไปครับ

จากการพูดคุยกับผู้บริหารของกองทัพทั้ง 2 หน่วยงาน พูดไปในทิศทางเดียวกันว่า “กองทัพต้องปรับตัว” กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อให้เข้าสู่การเป็นกองทัพที่ทันสมัย และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่จะลดความน่าเชื่อถือของกองทัพต่อพี่น้องประชาชนในอนาคตดังนี้

1. การเกณฑ์ทหาร ที่บอกกับเราว่าภายในปี 71 จะตั้งเป้าเป็นการรับสมัครทั้งหมด และบอกว่าการเกณฑ์จะใช้ในยามสงครามเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ดีเรื่องที่ผมและ กมธ.ให้ข้อเสนอว่าเพื่อให้เกิดความยั่งยืน อาจจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ทหารมาจากการรับสมัครทั้งหมดได้จริงๆ ไม่ใช่เพียงเป็นแนวนโยบายชั่วคราว

2. สามจังหวัดชายแดนใต้ในเรื่องด่านและฐานที่มั่น ที่ได้รับการร้องเรียนมาว่าต้องการให้ลดจำนวนลงมาบ้าง แม้ว่าหน่วยความมั่นคงยังยืนยันว่ามีความจำเป็น แต่หากมีการลดจำนวนลงได้ จะเป็นสัญญาณที่ดีว่าสถานการณ์กำลังผ่อนคลาย และกำลังเข้าช่วงการนำมาสู่สันติภาพ

3. ชายแดนเมียนมา เราได้พูดคุยเกี่ยวกับแผนรับมือกับผู้อพยพจากเมียนมา การช่วยเหลือคนไทยในเมียนมา โดยนำแผนเล้าก์ก่ายที่สามารถช่วยพี่น้องประชาชนได้จริง มาใช้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่อื่นๆ เช่น KK Park ใกล้แม่สอดที่อาจมีคนไทยถูกหลอกไปทำงานเช่นเดียวกัน

4. การเพิ่มจำนวนทหารหญิงในตำแหน่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นนักบิน กองกำลังสันติภาพ ตำแหน่งในเชิงนโยบาย และการพัฒนาความสามารถของทหารผู้หญิงให้มีโอกาสในการเติบโตได้ทัดเทียมกับทหารชาย, การปรับลดจำนวนนายพล ที่ได้รับการยืนยันว่าตั้งเป้าจะต้องปรับลดให้เหลือครึ่งหนึ่ง ภายในปี 70

5. ความคืบหน้าในการจัดการน้ำมันเถื่อนและบ้านพักสวัสดิการ และรับเรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในพื้นที่ชายแดนไปพิจารณา รวมทั้งในเรื่องของ พ.ร.บ.อุ้มหาย ที่ยืนยันว่าได้มีการอบรบเจ้าหน้าที่ ในหน่วยงานสังกัดกองกำลังป้องกันชายแดน และศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายให้เคร่งครัดในการปฏิบัติตามกฎหมาย

ทำให้การหารือกับกองทัพในวันนี้เป็นไปในทิศทางที่ดีมาก ด้วยการยืนยันจากท่าน ผบ.สส. และท่าน ผบ.ทบ. ว่ายินดีที่ทำงานร่วมกันกับ กมธ.มั่นคงฯ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

ทาง กมธ.ของเราก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนการทำงานของกองทัพและการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยเป็นทหารมืออาชีพ การที่กองทัพกำหนดทิศทางนโยบายที่ดีแบบนี้ ผมเชื่อว่าจะให้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนครับ

(สัปดาห์หน้า : ปฏิรูปกองทัพจะเกิดได้หรือไม่อย่างไร?)

https://www.matichonweekly.com/wp-admin/post-new.php