สิทธิการสื่อสารในสังคมไทย

สมหมาย ปาริจฉัตต์

บทความพิเศษ | สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

สิทธิการสื่อสารในสังคมไทย

 

หมายเหตุ : เป็นการสรุปจากคำปาฐกถา หัวข้อ 50 ปี 14 ตุลา กับสิทธิการสื่อสารในสังคมไทย ในโอกาสครบรอบ 50 ปีเหตุการณ์ วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาองค์กรของผู้บริโภค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) และสถานีโทรทัศน์ Thai PBS จัดงาน Media Forum ครั้งที่ 20 วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2566 ณ ชั้น 5 วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

 

โจทย์ของหัวข้อที่ตั้งไว้ คงต้องการหาคำตอบ อย่างน้อย 3 ประการ คือ

1. 50 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ พ.ศ.2516 ที่เกิดเหตุ 14 ตุลาฯ มหาวิปโยคจนถึงวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2566 สิทธิการสื่อสารของสังคมไทยเป็นอย่างไร

2. เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ให้บทเรียนอะไรกับเราในแง่ของสิทธิการสื่อสาร

3. สิทธิการสื่อสารปัจจุบันและอนาคตควรเป็นอย่างไร

ไม่ว่าสิทธิหรือเสรีภาพการสื่อสารไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ โดยไม่เกี่ยวข้องกับบริบทของสังคม แต่เป็นผลพวงของเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ทั้งในประเทศและในทางสากล

กล่าวโดยสรุป สิทธิการสื่อสารในสังคมไทยเป็นพัฒนาการที่มีสภาพ ลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด

 

สภาพลุ่มๆ ดอนๆ ดังกล่าวพิจารณาจากปัจจัยอะไร ควรแบ่งการพิจารณาออกเป็นสองช่วง ช่วงแรกก่อน 14 ตุลาคม 2516 และช่วงหลังจากนั้นจนถึงถึงปัจจุบัน

โดยพิจารณาจาก 2 ปัจจัยสำคัญได้แก่

1. บทบัญญัติกฎหมายสูงสุดของประเทศ คือรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกฉบับต่างๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ

โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ เป็นหัวใจของการเรียกร้องประชาธิปไตย จนเป็นที่มาของเหตุการณ์ 14 ตุลามหาวิปโยค สถานการณ์สังคมไทยเวลานั้นคุกรุ่นไปด้วยบรรยากาศแห่งความเกลียดและความกลัวอำนาจรัฐเผด็จการ

2. พิจารณาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละช่วง เพราะบ่อยครั้งมีกฎหมายที่มีเนื้อหารับรองสิทธิการสื่อสาร แต่การบังคับใช้จริงกลับไร้ประสิทธิภาพ ความเป็นจริงของสิทธิการสื่อสารจึงต้องดูจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงประกอบกันไป บทบาทและชะตากรรมของตัวละครการเมืองแต่ละกลุ่มที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

ในแง่กฎหมาย สิทธิการสื่อสารสะท้อนให้เห็นได้จากบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของชนชาวสยาม ซึ่งถูกกล่าวถึงตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ฉบับที่สอง ฉบับถาวร 10 ธันวาคม 2475

มาตรา 14 บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย เคหสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การโฆษณา การศึกษาอบรม การประชุมโดยเปิดเผย การตั้งสมาคม การอาชีพ

พอถึงปี พ.ศ.2484 รัฐบาลขณะนั้นก็ออกกฎหมาย พ.ร.บ.การพิมพ์ ขึ้นมา ควบคุม จำกัด ปิดกั้นเสรีภาพ และสิทธิการสื่อสาร

ต่อมา พ.ศ.2489 นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพิ่มสิทธิการพิมพ์ การชุมนุมสาธารณะ และการตั้งคณะพรรคการเมือง

พอ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย ทำการปฏิวัติ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ 9 พฤศจิกายน 2490 ตัดสิทธิการตั้งคณะพรรคการเมือง

ต่อมาคณะบริหารประเทศชั่วคราว นำโดย พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ตัดบทบัญญัติที่ว่าด้วยเสรีภาพการสื่อสารออกทั้งหมด

สถานการณ์ทางการเมืองก้าวเข้าสู่ยุคมืด นักการเมืองฝ่ายค้านถูกฆ่า นักหนังสือพิมพ์ถูกจับกุมหลายระลอก ตั้งข้อหาว่าก่อการกบฏ เริ่มตั้งแต่ กบฏไทยอิสระ พ.ศ.2485 ยิงทิ้ง บก.ชื้น โรจนวิภาต ระหว่างนั่งรถสามล้อผ่านราชตฤณมัยสมาคมฯ กลับบ้าน สังหารนายอารีย์ ลีวระ ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย สยามนิกร ขว้างระเบิด นายไถง สุวรรณทัต เจ้าของหนังสือพิมพ์อิทธิธรรม ขาขาดกลางสนามหลวง

พ.ศ.2495 จับกุมกบฏสันติภาพ นำโดยนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา

 

ต่อมา ถึงยุคเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร หัวหน้าคณะปฏิวัติยึดอำนาจจอมพล ป. ขับ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจไปอยู่สวิสสำเร็จ

กวาดจับนักหนังสือพิมพ์ ทั้งที่สนับสนุนรัฐบาลและคัดค้านรัฐบาล ส่งเข้าคุกจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ ทองใบ ทองเปาด์ ทนายรางวัลแม็กไซไซ นำเอาเรื่องราวชีวิตนักโทษการเมืองในคุกมาเขียนหนังสือชื่อคอมมิวนิสต์ลาดยาว

รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 28 มกราคม 2502 ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ และบัญญัติมาตรา 17 ให้อำนาจเบ็ดเสร็จนายกรัฐมนตรีสั่งการใดๆ ได้ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

การยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่เสร็จ จอมพลสฤษดิ์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2506 จอมพลถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สืบทอดมาตรา 17 ต่ออีก

การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเป็นไปด้วยความล่าช้าจนถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทำให้ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร แถลงว่า “ไหนๆ จะช้าที่สุดในโลกแล้วก็ให้ช้าต่อไป เวลานี้ไม่เห็นอดอยากปากแห้งอะไรนี่ คงจะได้เห็นรัฐธรรมนูญสักวันหรอก” (หนังสือ ข้างหลังภาพ 14 ตุลาคม รศ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ สำนักพิมพ์มติชน)

จนกระทั่งร่างเสร็จประกาศใช้วันที่ 20 มิถุนายน 2511 รวมเวลา 7 ปี 11 วัน แต่ก็ไม่อาจต้านทานกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้

เกิดเหตุการณ์จับกุม 13 กบฏผู้นำการเรียกร้องร้องรัฐธรรมนูญ และการเคลื่อนไหวของประชาชนโดยมีนักศึกษาเป็นฝ่ายนำ นำไปสู่เหตุการณ์14 ตุลามหาวิปโยค ส่งผลให้บรรยากาศทางการเมืองเปิด เสรีภาพเบ่งบาน สิทธิการสื่อสารมีมากขึ้น

แต่เวลาผ่านไปเพียงสามปี เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลามหาโหด วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะ ประกาศยึดอำนาจการปกครอง ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2517 ปิดหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ประกาศคำสั่งคณะปฏิรูป ฉบับ 42 บังคับใช้ ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการสื่อสาร ทำให้นักศึกษา ประชาชน กรรมกร ชาวนา หลบหนีเข้าป่าเป็นจำนวนมาก

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาตามลำดับจึงเป็นภาพสะท้อน สภาพลุ่มๆ ดอนๆ ของสิทธิและเสรีภาพการสื่อสารของสังคมไทย ดังที่กล่าวแต่แรก

 

จนมาถึงยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนแปลงนโยบาย โดยออกคำสั่ง 66/2523 เปิดโอกาสให้นักศึกษาประชาชนกลับคืนเมือง

ต่อมารัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ประกาศนโยบายเศรษฐกิจนำ แปรสนามรบเป็นสนามการค้า สิทธิการสื่อสารดูมีมากขึ้น เกิดการรวมตัวของสมาคมวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เรียกร้องจนรัฐบาลยอมยกเลิกคำสั่งคณะปฏิรูปฉบับที่ 42 สำเร็จ

แต่ต่อมาก็เกิดเหตุรัฐประหารคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีได้เพียง 48 วัน ยอมลาออกหลังเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 17 พฤษภาคม 2535 จบลง

 

ต่อมา พ.ศ.2540 เกิดรัฐธรรนูญฉบับประชาชน เกิดกระแสเรียกร้องสิทธิเสรีภาพการสื่อสาร สื่อเสรี สื่อคลื่นกระจายเสียง สื่อโทรคมนาคม มีบทบาทมากขึ้น

การเกิดขึ้นของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทีวีสาธารณะ ก้าวสู่ยุคดิจิทัล สื่อกระจกเต็มตัว

การสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต เกิดเว็บไซต์ต่างๆ พัฒนาเป็นสำนักข่าวอิสระหลากหลาย จนถึงสำนักข่าวอิศรา

สะท้อนถึงบทบาทและพัฒนาการของวารสารศาสตร์สู่ยุคดิจิทัล แต่ยังอยู่ภายใต้แพลตฟอร์มของต่างชาติเป็นหลัก จึงทำให้การพูดถึงอธิปไตยไซเบอร์ ดังต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้

 

ทางด้านการรวมตัวของสมาคมวิชาชีพ เกิดสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 ปัจจุบันพัฒนาเป็นสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เกิด พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ.2540 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ โทรคมนาคม พ.ศ.2543

การเมืองก้าวสู่ยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2544 ต่อมาถึงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 เกิดรัฐประหารโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) มีกฎหมายลูกใหม่ๆ เกิดขึ้น ได้แก่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 พ.ร.บ.องค์กรกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะ พ.ศ.2551

แต่ขณะเดียวกันก็มี พ.ร.บ.ความมั่นคงออกมาบังคับใช้ พ.ร.บ.ประกาศกฎอัยการศึก 2457และฉบับแก้ไขในเวลาต่อมา พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ยังคงบังคับใช้อยู่

จนหลังเหตุการณ์รัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 เกิดมี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 และ พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2565

กฎหมายระดับรองเหล่านี้ มุ่งเป็นเครื่องมือของรัฐในการควบคุมกำกับ จำกัดสิทธิเสรีภาพ มากกว่าส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

สรุป ตั้งแต่หลัง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เรื่อยมา จะพบว่าสมาคมองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชนเติบโตขยายตัวมากขึ้นก็ตาม แต่ก็อยู่ภายใต้ข้อจำกัด ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด การรักษามาตรฐานทางจริยธรรมและพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นไปอย่างยากลำบาก ประกอบกับพลังสังคมยังไม่แข็งแรงพอ

ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสะดวกรวดเร็วขึ้นก็ตาม สิทธิการสื่อสารสังคมภายนอกดูดีมีการพัฒนา แต่เนื้อในความเป็นจริงยังมีปัญหา

การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะของสื่อ และของประชาชนยังประสบอุปสรรค จากระบบโครงสร้างอำนาจ กฎหมาย ค่านิยม วัฒนธรรมอุปถัมภ์ ระบบราชการปิด กฎระเบียบเกี่ยวกับชั้นความลับยังมีผลเหนียวแน่น

ขณะเดียวกันบทบาทของสื่อออนไลน์ ออฟไลน์ ทั้งมีสังกัดและไม่มีสังกัด ถูกตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบ และจรรยาบรรณ ข่าวปลอม ข่าวปล่อย ข่าวลอก ลอกข่าว ปัญหาความปลอดภัย การใช้สื่อเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

 

50 ปี 14 ตุลาคม ให้บทเรียนอะไร ให้กับใคร

ให้บทเรียนต่อทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีอำนาจรัฐ ถ้าใช้อำนาจล้นเกิน อำนาจมิชอบ ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ ปิดปากสื่อมวลชน ในที่สุดไปไมรอด

แนวทางประชาธิปไตย เสรีภาพภายใต้ความรับผิดชอบ จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

ด้านสื่อสารมวชนต้องทำให้เกิดสำนักข่าวอิสระที่เข้มแข็ง ดำเนินบทบาทอย่างเข้มข้น คู่ขนานไปกับสื่อกระแสหลัก

ทำให้วาระประชาชน คนเล็กคนน้อยถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นให้มากขึ้น ไม่ใช่เน้นแต่วาระของชนชั้นนำ

พื้นที่ข่าวสารที่เป็นสาระทดแทนข่าวประโลมโลก มนต์ดำ ไสยศาสตร์ แปลกพิสดาร ดาราออกลูก เหมือนช่วงยุคทมิฬ อำนาจมืดก่อน 14 ตุลาคม 2516

สิทธิการสื่อสารในสังคม วารสารศาสตร์ยุคดิจิทัล ควรจะพัฒนาดีขึ้นกว่านี้ ความคาดหวังจึงอยู่ที่พลังอันเกิดจากการรวมตัวขององค์กรสื่อและองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค

ทำให้พลังความจริง พลังข่าวสาร พลังสื่อสารมวลชนทุกแขนง นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งพลังประชาชนในที่สุด

แต่ไม่ว่าสื่ออะไร สิ่อกระดาษ สื่อกระจก คลื่นความถี่ ออนไลน์ ออฟไลน์ ยุคอดีต หรือยุคที่กำลังถูกปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไล่ล่าอยู่ตอนนี้

สิ่งที่ต้องคำนึงและยึดมั่นอยู่เสมอ คือ การสร้างความสมดุลระหว่างภารกิจเชิงอุดมการณ์กับภารกิจเชิงพาณิชย์ ให้ได้ตลอดไป