ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 ธันวาคม 2566 - 4 มกราคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ |
เผยแพร่ |
ลายมือที่เปลี่ยนแปลง มีสาเหตุจาก
1. เจ็บป่วยมาก
2. มีอายุมาก
3. มึนเมา
4. สภาพของการเขียน
การตั้งประเด็นคำถาม
ต้องตั้งตามหลักวิชา และให้ผู้ชำนาญการสามารถตอบได้ และต้องบ่งให้แน่ชัดว่าจะใช้ตรวจอะไร ตรงไหน
สิ่งต่างๆ ที่เป็นรายละเอียดเหล่านี้ พนักงานสอบสวนจะต้องเรียนรู้ เพราะเมื่อออกไปทำงาน บางแห่งไม่มีพนักงานสอบสวนอาวุโสที่จะมาคอยให้คำแนะนำได้ ตัวพนักงานสอบสวนจึงต้องตัดสินใจดำเนินการเบื้องต้นด้วยตนเอง
และถ้าหากเข้าใจ การปฏิบัติจะไม่ยุ่งยากซับซ้อนหรือวุ่นวาย เพียงแต่ว่า คดีในลักษณะแบบนี้ จะไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก เมื่อเกิดมีการมาแจ้งความ และพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์ ขั้นตอนการปฏิบัติจึงต้องจัดการให้ถูกต้อง
และความรู้ต่อจากนี้ไป ถือเป็นความรู้เบื้องต้น เป็นพื้นฐานเท่านั้น ที่จะต้องจดจำขั้นตอนให้ได้
เมื่อพูดถึงเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร ผมมีเรื่องที่จะพูด ที่จังหวัดภูเก็ต ผมเป็นรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองภูเก็ต เวลานั้นยังเรียกสถานีตำรวจในลักษณะแบบนี้ ผมได้ตรวจสำนวนการสอบสวนของรองสารวัตร และสารวัตร พบว่า มีคดีปลอมแปลงเอกสารด้วยคดีหนึ่ง และผู้ต้องหาคนเดียวกันนี้ ยังมีคดีอื่นๆ อีกหลายคดี
ผมจึงได้เรียกนายตำรวจที่รับผิดชอบของแต่ละคดีมาสอบถาม และบอกว่า ปล่อยคนทำผิดคนนี้อยู่ได้ยังไง ทำไมไม่ติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดี ในที่สุดก็จับกุมตัวมาดำเนินคดีได้
แต่ผู้ต้องหาคนนี้มีฤทธิ์มาก เพราะมีน้าชายเป็นผู้พิพากษา (น้องชายของแม่ผู้ต้องหา) มีพี่เขยเป็นอัยการ
เมื่อนำผู้ต้องหาไปฝากขังที่ศาล ผู้พิพากษาที่เป็นเวรฝากขัง ได้กล่าวบริภาษผู้ต้องหาว่า ทำแบบนี้ประเทศชาติเสียหาย ระวังไว้นะผมจะเอาให้หนัก
วันแรกผู้พิพากษาท่านนี้ยังไม่รู้สายสัมพันธ์ของผู้ต้องหา เมื่อรู้ว่าเป็นใครเท่านั้นเอง ก็กลับลำมาอัดผมทันที โดยบอกฝากนายตำรวจที่เป็นเวรฝากขังในวันต่อมาว่า ให้ไปบอกเจ้านายคุณด้วยนะ (คือหมายถึงผม) ระวังจะติดคุกนะ
ผมไม่เข้าใจเมื่อรองสารวัตรที่ไปฝากขังนำเรื่องมาเล่าให้ผมฟัง ว่าผมจะติดคุกได้ยังไง เมื่อไม่ได้ทำผิดอะไร และไม่ได้กลั่นแกล้งใคร
แล้วต่อมา ผมได้รับคำฟ้องจากศาลตกเป็นจำเลย จริงตามที่ผู้พิพากษาท่านนั้นพูดไว้
เรื่องยังไม่จบ ผู้ใหญ่ในจังหวัด สั่งให้เลขาฯ โทร.หาผม เพื่อให้ผมไปพบรัฐมนตรีที่กรุงเทพฯ เพื่อขอคดีให้ผมช่วยผู้ต้องหา
จากนั้นผมถูกผู้บังคับบัญชาด่าว่า ทำให้เกิดความแตกแยกในกระบวนการยุติธรรม
เท่านั้นยังไม่พอ มีโทรศัพท์จากเลขานุการรัฐมนตรีคนหนึ่งโทร.มาที่ห้องทำงานผู้กำกับ เรียกผมไปด่า ที่ผมจับผู้ต้องหาคนนี้ และให้ช่วยเหลือผู้ต้องหา
ช่วงเวลานั้น มองไปทางไหนรอบตัวผมมีแต่คนจ้องจะทำลายผม ต้องการให้ผมติดคุก
ผมไม่ผิดและทำตามหน้าที่ที่ผมรับผิดชอบ ทุกย่างก้าวผมรู้ตัวเองดีว่า ผมทำอะไรไปบ้าง ซึ่งไม่มีข้อผิดพลาด ผมจึงสู้ด้วยตัวผมเอง และแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ฟ้องผม ในความผิดฐานฟ้องเท็จ
ผลของคดีจะเป็นอย่างไรนั้น ไม่ต้องทำนาย เพราะถ้าผมผิด คงจะต้องติดคุกออกจากราชการตั้งแต่ครั้งนั้นแล้ว
แต่กว่าจะต่อสู้ฟันฝ่าออกมาได้ เลือดตาแทบกระเด็น ถ้ายุคนั้นมีโซเชียลมีเดียแบบทุกวันนี้ ผมจะไม่ปล่อยให้ตุลาการและอัยการที่กลั่นแกล้งรังแกผมโดยเด็ดขาด
เกริ่นนำเรื่องการปลอมแปลงแค่นี้ก่อน ถือเป็นการฉายหนังตัวอย่าง เพราะรายละเอียดพร้อมหลักฐานมีมากมาย เล่าไม่จบไม่สิ้น
การที่ผมจะไปสู้กับใครได้นั้น ผมจะต้องมีหลักที่แน่น มั่นคง ไม่โอนเอน เอียงไปเอียงมา หรือหาแก่นสารอะไรไม่ได้ เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น แรกๆ อาจจะตกใจ จนเสียสมาธิไปบ้าง แต่องค์ความรู้ที่ได้รับจากอาจารย์และการฝึกฝนด้วยตนเอง จึงเกิดความมั่นใจ และเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ จึงสามารถปักหลักสู้ และไม่เพลี่ยงพล้ำ
และความรู้ที่ได้รับการสอนของอาจารย์ รวมทั้งนายตำรวจที่เคยเป็นพี่เลี้ยง และการบ่มเบาะประสบการณ์ทำให้ผมได้รางวัลพนักงานสอบสวนดีเด่นหลายครั้งติดต่อกัน
อาจารย์ที่สอนในวิชาการพิสูจน์หลักฐาน คือ พ.ต.อ.ทวี วัฒนสุข มีหัวข้อมาบรรยาย คือ ความสำคัญของเอกสาร (Document)
คำจำกัดความของคำว่า “เอกสาร”
“เอกสาร” หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น
เอกสาร เป็นพยานหลักฐาน (Document Evidences) ที่สำคัญ เกือบทุกประเภทของคดี
เอกสาร หมายถึง วัสดุใดๆ ก็ตามที่มีเครื่องหมาย (Mark) สัญลักษณ์ (Symbol) ตัวหนังสือ (Letters) ปรากฏอยู่บนวัสดุนั้น จะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ และจะมองเห็นด้วยตาเปล่า หรือมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าก็ตาม และบรรดาตัวหนังสือ หรือเครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์นั้น จะต้องแสดงความหมายให้เข้าใจได้
ประโยชน์ของเอกสารในแง่ของพยานหลักฐาน เรานำเอกสารมาใช้อยู่ 2 ลักษณะ ดังนี้
1. นำมาใช้เป็นพยานเอกสาร เรานำเอกสารนั้นมาเป็นพยานได้ทันที สามารถจะรู้ได้ถึงมูลเหตุจูงใจ จำนวนผู้ต้องหา ซึ่งหาได้จากข้อความในเอกสาร หรือสาเหตุการตาย เช่น จดหมายลาตาย หรือข้อความในจดหมาย บ่งบอกถึงการดำเนินการโจรกรรม
2. นำมาใช้เป็นพยานวัตถุ โดยให้ผู้ชำนาญการพิเศษตรวจพิสูจน์ สามารถตรวจได้ตามคำถาม 5 ลักษณะ :-
1) การตรวจพิสูจน์ลายมือเขียน (handwriting) ลายเซ็น (Signature) ลายพิมพ์นิ้วมือ (Fingerprint) เพื่อให้ทราบถึงผู้เกี่ยวข้องในเอกสาร
ลายมือเขียน-การเขียนเครื่องหมาย หรือตัวอักษร ซึ่งมีความหมายให้เป็นที่เข้าใจต่อกันได้
ลายเซ็น-การเขียนสัญลักษณ์ หรือตัวอักษร ซึ่งใช้แทนชื่อตนเอง จะอ่านออกหรือไม่ก็ตาม
2) การตรวจพิสูจน์เกี่ยวกับเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร
เอกสารนี้ถูกปลอมแปลงหรือไม่ อย่างไร ซึ่งการปลอมมี 3 ลักษณะ คือ
– การปลอมบางส่วน : เปลี่ยนแปลงแก้ไข ต่อเติมฉบับที่ถูกต้องอยู่แล้ว
– การปลอมทั้งฉบับ : เช่น ปลอมใบปริญญา
– ปลอมเฉพาะลายเซ็นอย่างเดียว จะปลอมในเอกสารที่จะมีผลทางกฎหมาย เมื่อมีการลงชื่อนั้น
3) การตรวจพิสูจน์เกี่ยวกับระยะเวลาที่เอกสารนั้นได้ทำขึ้น (Dating Problem) ซึ่งทำได้เป็นบางคดี ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ประกอบเป็นเอกสารนั้นๆ
4) การตรวจพิสูจน์หาชนิดและแหล่งที่มาของวัสดุที่ประกอบตัวเป็นเอกสาร เช่น ตรวจว่า พิมพ์มาจากพิมพ์ดีดเครื่องไหน
วัสดุที่ประกอบตัวเป็นเอกสารมี 3 อย่าง คือ
– วัสดุที่ทำให้เกิดตัวอักษร หรือเครื่องหมายต่างๆ ได้แก่ เครื่องพิมพ์ดีด อุปกรณ์ที่คล้ายเครื่องพิมพ์ดีด บล็อก ตราประทับต่างๆ เครื่องคิดเลข
– วัสดุที่ใช้รองรับ เช่น กระดาษ ไม้ เหล็ก ฯลฯ
– วัสดุที่ใช้ในการขีดเขียน เช่น หมึก ปากกา ดินสอ
หมึกที่ใช้ในท้องตลาดมี 3 ชนิด
1. หมึกน้ำ :- Indian ink, Permanent, Washable
2. หมึกแห้ง
3. หมึกปากกาไส้สักหลาด
– ในการเขียนเอกสารเพื่อความคงทน ติดกระดาษนาน ควรใช้ปากกาหมึก Indian ink หรือ Permanent
– ถ้าเป็นหมึกแห้ง ให้ใช้ปากการาคาแพงๆ จะคงทนกว่าราคาถูกๆ
– ส่วนปากกาไส้สักหลาด ไม่ควรใช้เพราะถูกน้ำแล้วจะละลายหมด
– สำหรับปากกาให้ใช้ปากกาหมึกซึมปากใหญ่ๆ เบอร์ 5 เพื่อปลอมยาก
ข้อแนะนำในการเขียนลายเซ็น
1. ให้มีความยาวพอสมควร
2. ให้มีลายเซ็นเข้าเกี่ยวพันกันมากพอสมควร (ไม่ให้รู้ว่าเส้นไหนพันเส้นไหน)
3. ให้มีเส้นโค้งในลายมือชื่อด้วย (ถ้าปลอมเส้นจะไม่โค้ง จะมีการสั่นของเส้นโค้ง)
5) การตรวจพิสูจน์ในภาคเบ็ดเตล็ดต่างๆ เช่น
– การตรวจพิสูจน์หาข้อความในเอกสารที่เขียนด้วยหมึกลับ (Secret ink)
– การหาข้อความจากรอยขีดฆ่า รอยกด
– การหาข้อความจากเอกสารไหม้ไฟ การหาลายนิ้วมือแฝงในเอกสาร
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022