สำนึก ต่อสงคราม Stop the War ก้อง ณ สุจิตต์ วงษ์เทศ

บทความพิเศษ

 

สำนึก ต่อสงคราม

Stop the War ก้อง

ณ สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

ความน่าสนใจในการอ่าน “เมด อิน U.S.A.” ส่วนหนึ่งอาจเป็นความเห็นของคนอเมริกัน ส่วนหนึ่งอาจเป็นนักศึกษาไทยในอเมริกา

แต่ที่สำคัญอย่างที่สุด คือ ความเห็นของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

ในฐานะที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ สวมวิญญาณหลายวิญญาณ 1 คือนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี 1 คือความเป็นกวี เป็นนักเขียน

ขณะเดียวกัน 1 คือความเป็นนักหนังสือพิมพ์

สุจิตต์ วงษ์เทศ ย่อมรู้อยู่เป็นอย่างดีว่าในห้วงเวลาใดอยู่ในภวังค์แห่ง “จิตวิญญาณ” แบบใด

ยิ่งกว่านั้น รากฐานของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คือรากฐานแห่ง “อนุรักษนิยม”

ประวัติศาสตร์ของเขาจึงแนบแน่นอยู่กับหลักฐานในทางโบราณคดี ความเป็นกวี นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ของเขา จึงแนบแน่นอยู่กับอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญแหลมคม 2 สำนัก

1 สำนัก คึกฤทธิ์ ปราโมช ขณะเดียวกัน 1 ย่อมได้รับผลสะเทือนมาจากสำนัก สุลักษณ์ ศิวรักษ์

ความรู้สึกของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ต่อการต่อต้าน “สงคราม” จึงน่าสนใจ

 

หมิ่นยาม สงคราม

ในทาง ยุทธวิธี

อย่างเช่นเงาสะท้อนความรู้สึกเมื่ออยู่ที่หน้าไวท์เฮาส์ และเมื่อได้เห็นข้อความ “ไม่ต้องตกใจ มีเงิน 25 ดอลลาร์ก็ประกันตัวได้”

นักศึกษาอเมริกันอาจไม่ตกใจ คำถามก็คือ สุจิตต์ วงษ์เทศ เล่าเห็นอย่างไร

“ผมพลิกอ่านอยู่อย่างนั้นแล้วก็อดที่จะยกย่องการทำงานอย่างรอบคอบและอย่างตระเตรียมของคนหนุ่มเหล่านี้เสียมิได้ เพราะเขาพิมพ์คำแนะนำเหล่านี้แจกจ่ายอย่างชัดเจน

นอกจากจะบอกว่าถ้าถูกตำรวจจับแล้วสามารถจะประกันตัวได้ในราคา 25 เหรียญ ยังมีข้อแนะนำปลีกย่อยอีกมากมายเกี่ยวกับการที่ถูกจับว่า

อย่าพูดอะไรทั้งนั้น ใครถามก็ตอบมันไปว่า ‘โน’

ไม่ต้องพูดคำอื่น และไม่ต้องกลัวว่าจะร้ายแรงเพราะเราได้ปรึกษาทนายไว้สำหรับสู้ความแล้ว”

นั่นเป็นความรู้สึกของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

วางแผน แยบยล

รอบคอบ รัดกุม

ไอ้พวกนี้มันเกิดมาเพื่อหงุดหงิดจริงๆ ก็ดูมันวางแผนกันซี มีทางหนีทีไล่ มีทั้งหน่วยบริการเคลื่อนที่ มีทั้งหน่วยบรรเทาทุกข์

อย่างกับว่าจะออกรบ

รถผ่านแหล่งต่างๆ ที่จะเป็นจุดปฏิบัติการของนักศึกษา รถตำรวจออกตระเวนและตำรวจเริ่มจับกลุ่มกันตามสี่แยกต่างๆ นักศึกษาบางกลุ่มเตรียมตัวเดินเหินรับลมหนาว

เนื้อตัวสั่นเทา กลุ่มใหญ่ตั้งค่ายที่สวนสาธารณะโปโตแมคด้านตะวันตก

ส่วนหนึ่ง สนุกสนานอยู่ในสวนโปโตแมค แต่อีกส่วนหนึ่งไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลยในคืนนั้น เพราะปรึกษาหารือกันตลอดเวลาว่าจะทำอย่างไรและมีแผนการอย่างไร

แผนการต่างๆ ไม่มีปิดบังทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายนักศึกษา

ฝ่ายนักศึกษาตีพิมพ์หนังสือจำหน่ายแจกจ่ายล่วงหน้าเป็นเดือนๆ ว่ามีแผนจะทำอย่างไรและตรงไหนบ้าง

ทำนองเดียวกัน ทางฝ่ายรัฐบาลก็บอกหนังสือพิมพ์ว่าจะป้องกันอย่างไร จำนวนตำรวจเท่าไร จำนวนทหารเท่าไร และจะใช้เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์มาช่วยในการป้องกันความวุ่นวายนี้อย่างไร

มันเป็นมวยคู่อาฆาตที่แปลกประหลาดที่สุดในโลก เพราะต่างฝ่ายต่างก็บอกเคล็ดลับกันหมดว่าจะต่อยตรงไหนและเตะตรงไหน อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกอย่างไม่ปิดบังว่าจะสู้ด้วยเพลงมวยเพลงไหน วิธีการอย่างไร

นี่เป็นกรรมเวรของสหรัฐ หรือเป็นบาปของคนอเมริกัน หรือจะเป็นเครื่องถ่างช่องว่างให้ห่างออกไปอีก

ผม (สุจิตต์ วงษ์เทศ) ไม่ทราบ ผมไม่รู้และผมไม่อยากคิดทั้งนั้น

 

ลงสู่ ท้องถนน

ณ กรุงวอชิงตัน

ผม (สุจิตต์ วงษ์เทศ) เดินกวาดไปทั่วกรุงวอชิงตัน หลายครั้งที่เดินสวนทางกันกับนักศึกษาทั้งหญิงทั้งชายซึ่งหน้าตาตื่นเต้นตั้งแต่เช้าตรู่

“เป็นไง สำเร็จเรอะ”

“ไม่ไหวเลยคราวนี้” นักศึกษาที่เดินสวนกันตอบขึ้น “ตำรวจเอาแต่จับท่าเดียวไม่ยอมฟังเหตุผล เราเลยไม่สนุกเหมือนเมื่อก่อน”

“อ้าว แล้วจะไปไหน”

“กลับบ้านซี่”

“บ้านอยู่ไหน”

“โอไฮโอ”

ที่สี่แยกแห่งหนึ่ง นักศึกษากลุ่มใหญ่ยืนเกะกะกันกลางถนนกับร้องและตะโกนโหวกเหวกกลางถนนว่า

“สต็อป วอร์ นาว-หยุดสงครามเสียทีโว้ย”

แดดสายและลมพัดแรงจนหนาว มือชา ตีนชาไปหมด รถราเริ่มติดกันเป็นแนวยาวเหยียด

นักศึกษานั่งบ้างยืนบ้าง บางคนนอนราบกับพื้นถนนกลางสี่แยก

รถไม่เขยื้อนเพราะนักศึกษาเป็นร้อยยืนขวางอยู่ เฮลิคอปเตอร์บินว่อนและรถตำรวจเปิดไซเรนแล่นเข้ามาที่สี่แยก

 

นักศึกษาแตกกระจายเหมือนมดแตกรัง

ตั้งแต่ ปริญญาตรี

กระทั่ง ปริญญาเอก

นักศึกษาผมยาวๆ แต่งตัวปอนๆ ล้วนแล้วแต่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย บ้างก็กำลังทำปริญญาตรี และมีไม่น้อยที่กำลังทำปริญญาโท และส่วนหนึ่งเป็นนักศึกษาที่กำลังทำปริญญาเอก

เขามาจากที่ต่างๆ กัน นิวยอร์ก อิทะกะ ชิคาโก เค้นท์ สเตท ไวโอมิ่ง อินเดียนา

ฯลฯ

อย่างน้อยผม (สุจิตต์ วงษ์เทศ) ก็มองเห็นว่า เขาไม่ได้ต้องการที่จะมาก่อเรื่องราวตีรันฟันแทง นักศึกษาแต่ละกลุ่มพยายามที่จะอธิบายให้คนเข้าใจ และบางทีถ้าหากเจ้าของรถคันใดโมโหเขาก็จะพากันกรากเข้าไปแสดงความเสียใจ

ขอโทษขอโพย และขอความเห็นใจว่าเขาจะต้องทำ

ภาพหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ฉบับบ่ายวันนั้นก็คือ นักศึกษากลุ่มหนึ่งนั่งอยู่บนพื้นถนน มีตำรวจนายหนึ่งกำลังฉีดแก๊สน้ำตาไปบนหัวคล้ายกับฉีดสเปรย์รถน้ำต้นไม้ที่มีใบมีขนปุกปุย

นักศึกษาสักสิบคนที่ถูกจับกุมอยู่กลางถนน ก้มหน้าเอามือกุมหัวกันทุกคนท่ามกลางคนที่มุงดูอยู่อย่างเวทนา

ปรากฏว่านักศึกษาถูกจับไป 5 พันคน

ประมาณบ่ายเศษๆ การประท้วงของนักศึกษาคลี่คลายลงไปในทางที่ดี ขบวนต่างๆ แตกสลายไปเป็นจุดๆ นักศึกษาที่แตกกระจายเหล่านั้นต่างเดินกันเพ่นพ่านเป็นนักท่องเที่ยวธรรมดาที่ไปทัศนาจรกรุงวอชิงตัน

 

เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ประสบการณ์ ตรง

ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

นี่ย่อมเป็นประสบการณ์อันน่าตื่นตาตื่นใจหากมองจากด้านของ สุจิตต์ วงษ์เทศ แม้จะได้พบเห็นการประท้วงของนักศึกษาในมหานครกรุงเทพบ้าง

ไม่ว่าจะเป็นต่อต้าน “ค่ารถเมล์” เมื่อเดือนมิถุนายน 2511

ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมและเคลื่อนไหวของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจากสามย่านไปยังรัฐสภา

แต่ก็ในฐานะที่ยืนมองอยู่ห่างๆ ไม่ได้เข้าร่วมอย่างใกล้ชิด

ภาพอันเห็นจาก “เมด อิน U.S.A” สำหรับ สุจิตต์ วงษ์เทศ จึงถือว่าเป็นประสบการณ์ “ตรง”

แต่พลันที่เข้าสู่โหมด “โง่เง่าเต่าตุ่น”

ก็จะสัมผัสได้ในการปะทะและขัดแย้งในทาง “ความคิด” และในทาง “การเมือง” อันแหลมคมยิ่งขึ้นไปอีก

เมื่อสหรัฐอเมริกาเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน

เมื่อประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน บินไปจับมือกับประธานเหมาเจ๋อตงในทำเนียบจงหนานไห่

ทำไมจึงตั้งชื่อว่าเป็น “โง่เง่าเต่าตุ่น”