เหตุใด ‘เพลงป๊อป’ จึงฮิตติดหู?

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

ศาสตราจารย์ ดร. Victoria Williamson ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาด้านดนตรี จาก The University of Sheffield แห่งสหราชอาณาจักร บอกว่า มนุษยชาติสรรค์สร้างบทเพลงขึ้นมาด้วยเหตุผลทางสังคม

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงชาติ เพลงปลุกใจ เพลงในวาระ และโอกาสสำคัญต่างๆ ไปจนถึงเพลงรัก” ศาสตราจารย์ ดร. Victoria Williamson กระชุ่น

ดังนั้น การที่เราได้ยินได้ฟังบทเพลง เช่น “เพลงป๊อป” จึงมักทำให้เกิดความรู้สึกดีๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเพลงนั้นๆ มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

“โดยธรรมชาติแล้ว สมองของมนุษย์ จะบันทึกความทรงจำไปพร้อมๆ กับโสตสัมผัส พลันเมื่อได้ยินเสียงดนตรี” ศาสตราจารย์ ดร. Victoria Williamson กล่าว และว่า

แน่นอนว่า ส่วนใหญ่แล้ว ดนตรีที่มีอิทธิพลสูงสำหรับเราก็คือ “เพลงป๊อป” เพราะไม่ว่าเราจะไปไหนมาไหน เราก็มักจะได้ยินได้ฟัง “เพลงป๊อป” อยู่เสมอ

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามสถานที่ที่มีวัยรุ่นไปอยู่รวมตัวกัน ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ ร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้า”

เพราะ “เพลงป๊อป” จะถูกประสานเข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ง่าย ไม่ว่าผู้ฟังจะรู้ตัวหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เพลงป๊อป” มีลักษณะของ “เพลงไร้กาลเวลา”

“ดังนั้น เพลงป๊อป จึงเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกหวนคะนึงถึงวันวาน ไม่ว่าจะยามเศร้าหรือยามสุข ซึ่งลักษณะเช่นนี้ จะไม่ขึ้นอยู่กับเนื้อร้องหรือทำนองเลยแม้แต่น้อย”

 

เพราะการหวนกลับไปฟัง “เพลงป๊อป” ที่ยังคงตกค้างอยู่ในความทรงจำ จะเป็นหนทางในการช่วยผ่อนคลายของมวลมนุษยชาตินั่นเอง ศาสตราจารย์ ดร. Victoria Williamson สรุป

เหตุผลสำคัญก็คือ “เพลงป๊อป” เป็นเพลงที่มีเมโลดี้ที่ไม่สลับซับซ้อน ที่วางอยู่บนโครงสร้างดนตรีแบบง่ายๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เพลงป๊อป” ไม่จำเพาะเจาะจงว่าจะต้องเป็นเพลงแบบนั้นแบบนี้

เพราะ “เพลงป๊อป” เป็นที่รวมเพลงหลากหลายไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น บลูส์, แจ๊ซ, ร็อก, เร็กเก้, แดนซ์, แร็พ, ฮิปฮอป, อาร์แอนด์บี, ฟังก์ หรือแม้กระทั่งโฟล์ก

แน่นอนว่า วัตถุประสงค์ของ “เพลงป๊อป” คือการประพันธ์ขึ้นสำหรับคนฟังกลุ่มใหญ่

โดยเริ่มจาก Ragtime ไปสู่ Swing และ Jazz ซึ่งมีที่มาจาก Blues ต้นกำเนิดจากคนผิวดำในอเมริกา และดนตรี Country ที่ต่อมาปรับเป็น Rockabilly

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุค 50 ที่ “ร็อกแอนด์โรลล์” ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก นำโดย Elvis Presley และส่งทอดมาถึงทศวรรษ 1960 ซึ่งเป็นยุคทองของ Teen idol อย่าง Rolling Stones และ The Beatles

ยุค 70 “เพลงป๊อป” แตกออกเป็นเพลงฮิปปี้ และเพลงดิสโก้ ก่อนจะส่งผ่านถึงทศวรรษ 1980 ด้วยไมเคิล แจ๊กสัน, มาดอนน่า และ Hairband จากนั้น กลับสู่ยุคทองของ “เพลงป๊อป” อีกครั้งในยุค 90 ร่วมกับดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ

 

ในยุค 2000 มี “ศิลปินป๊อป” ที่ประสบความสำเร็จมากมาย ไม่ว่าจะเป็น บริตนีย์ สเปียร์, คริสติน่า อากีเลร่า, บียอนเซ่, แบล็ก อายด์ พีส์, จัสติน ทิมเบอร์เลค

รวมไปถึงวงป๊อป-พังก์ อย่างซิมเปิล แพลน, เอฟริล ลาวีน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รายการโทรทัศน์อเมริกัน ไอดอล ที่สร้างศิลปินชื่อดังมากมาย อาทิ เคลลี่ คลาร์กสัน และเคลย์ ไอเคน

และยุค 2010 กับเพลงป๊อปที่ผสมผสานความเป็นอาร์แอนด์บีอย่างเนลลี เฟอร์ตาโด และริฮานนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทศวรรษ 2020 นี้

จะเห็นได้ว่า “เพลงป๊อป” ในแต่ละยุค เป็นที่รวมของแนวเพลงที่หลากหลาย มีสไตล์ และลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันไป สอดคล้องกับบุคลิกภาพของแฟนเพลงแต่ละคน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉากในชีวิตประจำวันของแต่ละคน ที่จะต้องมีเหตุการณ์ที่กระทบกับความรู้สึกที่แตกต่างกันอยู่ตลอดเวลา

ทำให้บางครั้งเราต้องการฟังเพลงสดใสเพื่อเพิ่มพลังใจ และบางครั้งเราอาจคิดถึงเรื่องราวเศร้าๆ เก่าๆ ที่ทำให้มีอารมณ์หม่นหมอง

แต่ไม่ว่าจะเศร้า หรือจะสุข “เพลงป๊อป” คือคำตอบของผู้คนเสมอ

คำถามของเราก็คือ เหตุใด “เพลงป๊อป” จึงฮิตติดหู?

 

คําตอบอยู่ด้านบนแล้ว นั่นคือ เพราะว่า “เพลงป๊อป” เป็นเพลงที่มีโมโลดี้ที่ไม่สลับซับซ้อน ที่วางอยู่บนโครงสร้างดนตรีแบบง่ายๆ

เนื้อร้องของ “เพลงป๊อป” มักเริ่มต้นด้วยการเปิดเรื่องด้วยท่อนธรรมดาที่มีท่วงทำนองคล้ายกันประมาณ 2 ท่อน

จากนั้นจะเข้าสู่ท่อนฮุก ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องมีท่วงทำนองแตกต่างไปจากท่อนแรกอย่างชัดเจนเพื่อการจดจำ

ต่อมาก็อาจจะเป็นท่อนแยกที่มีสุ้มเสียงแปลกๆ ที่แตกต่างจากท่อนแรก และท่อนฮุก เรียกว่าท่อนบริดจ์

หรือไม่ก็วนกลับไปท่อนแรกอีกครั้ง หรือย้อนไปที่ท่อนฮุกอีกที

หากนึกภาพตาม จะเห็นได้ว่า โครงสร้าง “เพลงป๊อป” ที่ฮิตระดับโลก หลักๆ จะไม่ต่างไปจากนี้มากเท่าใดนัก

คำถามต่อมาก็คือ เหตุใด “เพลงป๊อป” จึงต้องมีโครงสร้างแบบนี้?

คำตอบก็คือ เพราะโครงสร้างดังกล่าว ฟังแล้วติดหูง่าย

แล้วทำไมถึงติดหูง่ายล่ะ?

 

คําตอบของคำตอบก็คือ “เพลงป๊อป” ถูกสร้างขึ้นเพื่อลบล้างสภาวะความเคยชิน และน่าเบื่อ หรือ Habituation

เพราะถ้า “เพลงป๊อป” มีแต่ท่อนแรก ซึ่งเป็นเนื้อร้อง และทำนองธรรมดา คนฟังจะ Habituation

ดังนั้น เพื่อหลีกหนี Habituation จึงมีการเติมท่อนฮุก และท่อนบริดจ์เข้าไปใน “เพลงป๊อป” เพื่อให้เกิดความแตกต่างขึ้นในเพลงเพลงเดียวกัน ซึ่งนำไปสู่การจดจำ

เหตุผลก็คือ เมื่อแฟนเพลงได้ยินท่อนแรกหรือท่อนธรรมดาซ้ำ 2 ครั้ง จะเริ่มเกิดภาวะ Habituation นักแต่งเพลงที่ไม่เก่ง จะเติมท่อนธรรมดาเข้าไปอีก 1 ครั้ง

แต่หากเป็นนักแต่งเพลงมือเก๋า จะเปลี่ยนรูปแบบท่วงทำนอง และเนื้อร้องทันที คือเข้าท่อนฮุก และท่อนบริดจ์

และหากเป็นนักแต่งเพลงมือทอง ก็จะเอาท่อนฮุกขึ้นก่อน หรือสุดสุดกว่านั้นก็เอาท่อนบริดจ์ขึ้นก่อน ทำให้คนฟังเกิดภาวะ Dis-habituation หรือตื่นตาตื่นใจ

 

สรุปง่ายๆ ได้ว่า กลเม็ดเคล็ดลับของนักแต่ง “เพลงป๊อป” ระดับตำนาน ก็คือ การสร้างความใหม่ หรือเสียงแปลกๆ ให้อยู่ในเพลงเพลงเดียว

ซึ่งบางคนอาจจะ “สูงสุดคืนสู่สามัญ” คือใช้ท่อนธรรมดา ท่อนแรก แบบเรียบง่าย จากนั้นเติมเสียงใหม่ หรือท่อนฮุกเข้าไป 1 ครั้ง

กลับไปที่ท่อนเก่า แล้วไปท่อนบริดจ์ ซึ่งเป็นรูปแบบเสียงที่ 3 จากนั้น กลับไปท่อนธรรมดาๆ เป็นอันจบเพลง หรือบางคนเรียกว่า “สูตรสำเร็จ”

จะเห็นได้ว่า “เพลงป๊อป” 99.99% วางอยู่บนโครงสร้างนี้ ซึ่งอันที่จริง “เพลงร็อก” ที่มีลักษณะคล้าย “เพลงป๊อป” มากที่สุด ก็ใช้วิธีการแต่งเช่นเดียวกับ “เพลงป๊อป”

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสมองของเราชอบสิ่งที่คุ้นเคย ขณะเดียวกัน ก็ชอบสิ่งแปลกใหม่ไปพร้อมๆ กันด้วย แต่ต้องไม่ใหม่ หรือแปลกจนฉีกแนวมากจนเกินไป

นี่คือจุดสมดุลระหว่างความเก่ากับความใหม่ ที่หลอมรวมอยู่ในเพลงเพลงเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สุดยอดนักแต่งเพลงรู้กันดี

เพราะอย่างที่บอกไป ว่าสมองของเรามีแนวโน้มชอบสิ่งเก่าๆ ที่คุ้นเคย

ขณะเดียวกัน สิ่งเก่าๆ ที่คุ้นเคยต้องไม่มากจนเกินไป เพราะสมองของเราก็ชอบสิ่งแปลกใหม่ด้วย และแน่นอนว่า สิ่งใหม่นี้ก็จะต้องไม่ใหม่จนเกินไปเช่นกัน

นักแต่ง “เพลงป๊อป” มือทอง ต่างเข้าใจทฤษฎีนี้ จึงสามารถสร้าง “เพลงป๊อป” ที่ฮิตติดหู หรือฮิตติดตลาด มาชั่วนาตาปีนั่นเอง