สรุปหลักฐาน คดีปริศนา ‘บ้านกกกอก’ มัดตัวลุงพล ดิ้นไม่หลุดคดี ‘น้องชมพู่’ ศาลพิพากษาจำคุก 20 ปี

หลังจากยืดเยื้อมาถึง 3 ปี 7 เดือน สำหรับคดีของน้องชมพู่ เด็กหญิงวัย 3 ขวบที่เสียชีวิตปริศนาบนเขาเหล็กไฟ

ในที่สุดก็ได้บทสรุป

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ศาลจังหวัดมุกดาหาร อ่านคำพิพากษาตัดสินจำคุก 20 ปี นายไชย์พล วิภา หรือลุงพล

ในความผิดฐานกระทำโดยประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิตและพรากผู้เยาว์

ย้อนมหากาพย์ ‘น้องชมพู่’

สําหรับคดีของน้องชมพู่ ที่เป็นปฐมเหตุของเรื่องทั้งหมดเกิดจากการหายตัวไปของน้องชมพู่ หรือ ด.ญ.อรวรรณ วงศ์ศรีชา อายุ 3 ขวบ ที่หายไปจากบ้านพัก ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2563 ขณะที่คนในหมู่บ้านช่วยกันตามหาจนพบศพน้องบนภูเหล็กไฟ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ท่ามกลางความสงสัยว่าน้องเดินขึ้นไปเสียชีวิตเอง หรือใครเป็นคนพาไป

ตำรวจนำโดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ที่ขณะนั้นเป็นรอง ผบ.ตร. ระดมมือปราบฝีมือดีลงพื้นที่สืบสวน

ทั้ง พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.ณัฐนนท์ ประชุม รอง ผบช.ภ.4 พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. พล.ต.ต.วาที อัศวุตมางกุร ผบก.พฐ. พล.ต.ต.ชัชชัย วงค์สุนะ ผบก.ภ.จว.มุกดาหาร พ.ต.อ.เผด็จ งามละม่อม รอง ผบก.ป. บช.ก. พ.ต.ท.พูนสุข เตชะประเสริฐพร รอง ผกก.สส.1 บก.สส.ภ.1 (ยศและตำแหน่งปัจจุบัน) รวมถึงทีมงานนักสืบทุกคน สถาบันนิติเวชโรงพยาบาล กองพิสูจน์หลักฐาน ทำคดีเรื่อยมา

พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผบช.น. ขณะนำทีมหาหลักฐานบนภูเหล็กไฟ

จนกระทั่งวันที่ 2 ตุลาคม ปีเดียวกัน หลังจากรับตำแหน่ง ผบ.ตร. พล.ต.อ.สุวัฒน์ก็นำคณะชี้แจงความคืบหน้าของคดีหลังเก็บรวบรวมพยานหลักฐานนานถึง 4 เดือน

พล.ต.อ.สุวัฒน์ระบุ ข้อสรุปที่ว่าน้องชมพู่ไม่ได้เสียชีวิตเอง จากการสอบปากคำบุคคล 384 ปาก นำเข้าสำนวน 124 ปาก ผู้เชี่ยวชาญ 13 ปาก วัตถุพยาน 154 ชิ้น สำนวนการสอบสวน 918 หน้า ยืนยัน 8 ข้อ คือ

1. เส้นทางที่ยากลำบากเกินความสามารถของน้องชมพู่ มีเนินชันมากกว่า 60 องศา ขวางกั้นในทุกเส้นทาง

2. พลังงานจากอาหารมื้อสุดท้ายที่น้องชมพู่รับประทานไป ไม่เพียงพอต่อการเดินไปบนจุดพบศพ

3. ประสบการณ์ชาวบ้านยืนยันว่า เด็ก 3 ขวบจะปีนป่ายไปถึงได้แค่ชั้นที่ 2 ของภูเหล็กไฟเท่านั้น

4. กรณีศึกษาการหลงป่าของนางทิน เชื้อคมตา ชาวบ้านกกตูม ชาวบ้านสามารถหาได้เจอภายในคืนเดียว

5. แพทย์ ผู้ชันสูตรและกุมารแพทย์ยืนยันว่า พัฒนาการของเด็กอายุ 3 ขวบไม่สามารถที่จะเดินขึ้นไปเองได้

6. สภาพศพที่เปลือยกาย ซึ่งบิดาและมารดาของน้องชมพูยืนยันว่า น้องชมพู่ไม่สามารถถอดเสื้อเองได้

7. พยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ ที่ตรวจพบเส้นผมน้องชมพู่ถูกตัดด้วยมีด เชื่อได้ว่าเป็นการกระทำของบุคคลอื่น

8. นิสัยส่วนตัวของน้องชมพู่ กลัวที่สูง และกลัวป่า ที่ผ่านมาน้องชมพู่ไม่เคยไปในป่าหลังบ้านเลยสักครั้ง ทั้งหมดยืนยันได้ว่าน้องชมพู่ไม่สามารถเดินขึ้นไปบนภูเหล็กไฟซึ่งเป็นจุดพบศพได้ด้วยตนเอง จะต้องมีใครบางคนที่รู้จักกัน ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เป็นผู้พาขึ้นไป

นาทีควบคุมตัวนายไชย์พล วิภา หรือลุงพล

แจ้งข้อหาเอาผิดลุงพล

เมื่อได้ข้อสรุปว่ามีคนพาน้องชมพู่ขึ้นไปบนภูเหล็กไฟ จึงเกิดคำถามว่าแล้วใครกันแน่ที่เป็นคนพาน้องไป

ผ่านมาอีกร่วม 8 เดือน ศาลจังหวัดมุกดาหารอนุมัติหมายจับนายไชย์พล วิภา หรือลุงพล เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ใน 3 ข้อหา คือ

“พรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดามารดา โดยปราศจากเหตุอันควร, ทอดทิ้งเด็กอายุไม่เกินเก้าปี เพื่อให้เด็กนั้นพ้นไปเสียจากตน โดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแล เป็นเหตุให้เด็กถึงแก่ความตาย และกระทำการใดๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป”

ภายหลังถูกจับกุมตำรวจรวบรวมสำนวนส่งอัยการ ต่อมาอัยการให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติม โดยให้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในความผิดฐาน “ฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา”

ทั้งนี้ ลุงพลปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ขณะที่ น.ส.สมพร หลาบโพธิ์ หรือป้าแต๋น ถูกแจ้งข้อหาร่วมกันกระทำการใดๆ แก่ศพของน้องชมพู่ หรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป ตาม ป.วิอาญา ม.150 ตาม ม.83 ซึ่งบัญญัติว่า

“ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น”

นายอนามัย วงศ์ศรีชา และ นางสาวิตรี วงศ์ศรีชา พ่อและแม่น้องชมพู่ มาฟังคำพิพากษา

เปิดคำพิพากษามัดลุงพล

คําตัดสินระบุว่า พบข้อพิรุธในคำให้การของลุงพล 4 ประการ ทำให้เชื่อว่าน่าจะเป็นผู้กระทำผิด คือเนื่องจากน้องชมพู่จะร้องไห้หากถูกคนแปลกหน้าอุ้มตำรวจจึงสืบสวนกลุ่มบุคคลดังกล่าว 14 คน แบ่งเป็นญาติ 12 คน และบุคคลใกล้ชิด 2 คน พบว่า 13 คนมีหลักฐานยืนยันที่อยู่หรือตำแหน่งอ้างอิงจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ชัดเจน ยกเว้นลุงพล

ประการที่สอง ลุงพลให้การเป็นข้อพิรุธหลายอย่าง อาทิ ให้การกับตำรวจชุดสืบสวนว่า วันเกิดเหตุมีนัดไปรับพระ ส. ที่วัดถ้ำภูผาแอก ขณะเดินทางไปวัด ป้าแต๋นโทรศัพท์แจ้งว่าน้องชมพู่หายตัวไป

แต่ครอบครัวของลุงพลมีโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงเครื่องเดียวอยู่กับป้าแต๋น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะโทรศัพท์แจ้งเรื่องแก่ลุงพล อีกทั้งพระ บ. ซึ่งจำวัดอยู่ที่วัดถ้ำภูผาแอกเช่นกันยืนยันว่า วันดังกล่าว เวลาประมาณ 10.00 นาฬิกา ลุงพลเดินทางไปถึงวัดและพูดกับพระ บ. ว่า หลานหายเกือบไม่ได้ไปส่งพระ ทั้งที่ในขณะนั้นไม่มีโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดตัวต้องยังไม่ทราบเหตุว่าน้องชมพู่หายตัวไป

ประการที่สาม พยานโจทก์ปากนาย ว. และนาง พ. ให้การในชั้นสอบสวนว่า พยานเห็นลุงพลอยู่บริเวณสวนยางพาราซึ่งเป็นทางเดินที่สามารถเข้าถึงจุดที่น้องชมพู่หายตัวไป ในช่วงเวลาที่คนร้ายลงมือกระทำความผิด โดยขณะที่มีการสอบสวนเรื่องนี้ ลุงพลพยายามไปพูดคุยกับนาย ว. ให้ นาย ว. บอกเจ้าพนักงานตำรวจว่า นาย ว. พบตัวเองในช่วงเวลา 7.00 นาฬิกา ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เกิดเหตุ จึงเป็นข้อพิรุธว่า หากไม่ได้กระทำความผิด เหตุใดต้องพูดจาในลักษณะดังกล่าวกับพยาน แม้ต่อมานาง พ. จะเบิกความว่า ไม่ได้เห็นจำเลยที่ 1 บริเวณสวนยางพารา แต่ก็เป็นการกลับคำภายหลังเกิดเหตุกว่า 2 ปี ซึ่งอาจทำเพื่อช่วยเหลือจำเลย คำให้การในชั้นสอบสวนของนาง พ. จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่า

ประการสุดท้าย การเข้าตรวจค้นรถยนต์ของลุงพล พบเส้นผม 16 เส้น และวัตถุพยานอื่น โดยผลการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ประกอบกับคำเบิกความของพยานผู้เชี่ยวชาญปรากฏว่า เส้นผม 1 เส้น ที่ตกอยู่ในรถยนต์ลุงพล มีองศาของรอยตัด หน้าตัด และพื้นผิวด้านข้างตรงกันกับเส้นผมน้องชมพู่ 2 เส้น ซึ่งตรวจเก็บได้จากบริเวณที่พบศพ

ลุงพลพาทนายตั๊มขึ้นภูเหล็กไฟ

เส้นผมทั้ง 3 เส้นดังกล่าวถูกตัดในคราวเดียวกัน ด้วยวัตถุของแข็งมีคมชนิดเดียวกัน เชื่อว่าลุงพลเป็นผู้ใช้ของแข็งมีคมตัดเส้นผมผู้ตาย แต่ด้วยเหตุที่เส้นผมมีขนาดเล็กมากจึงไม่สังเกตว่ามีเส้นผมผู้ตายเส้นหนึ่งตกอยู่ในรถยนต์ของตน

ปัญหาต่อมาต้องวินิจฉัยว่า ขณะพาผู้ตายขึ้นไปบนเขาภูเหล็กไฟ ลุงพลรู้หรือไม่ว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่

เห็นว่า ลุงพลไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์ร่วมทั้งสองหรือผู้ตายมาก่อน จึงไม่น่าเชื่อว่าจะมีเจตนาฆ่าหรือเจตนาทอดทิ้งผู้ตาย

ประกอบกับรายงานการตรวจศพน้องชมพู่พบรอยช้ำใต้หนังศีรษะ บริเวณหน้าผากด้านซ้ายและท้ายทอยเป็นจ้ำๆ จึงอาจเป็นกรณีที่หมดสติไป ส่วนลุงพลไม่ได้ตรวจดูให้ดีเลยพาผู้ตายไปทิ้งไว้บนเขาภูเหล็กไฟ จึงเป็นความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเคลื่อนย้ายศพฯ นั้น เห็นว่า ภายหลังวันเกิดเหตุจนถึงวันที่พบศพผู้ตาย โจทก์ไม่มีพยานคนใดเบิกความว่าเห็นจำเลยทั้งสองขึ้นไปบนเขาภูเหล็กไฟ แม้ผลการตรวจเส้นผม 3 เส้น จากบริเวณที่พบศพผู้ตายมี mtDNA ตรงกับป้าแต๋น แต่การตรวจหา mtDNA นั้น ไม่สามารถใช้ระบุตัวบุคคลได้ เพียงแต่ระบุได้ว่าเป็นเส้นผมของบุคคลที่อยู่ในสายมารดาเดียวกับผู้ตายเท่านั้น จึงไม่จำต้องเป็นของป้าแต๋นเพียงผู้เดียว เห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสองในข้อหานี้

พิพากษาว่า ลุงพล (จำเลยที่ 1) มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 317 วรรคแรก ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 10 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำคุก 10 ปี ข้อหาอื่นให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับป้าแต๋น (จำเลยที่ 2)

กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง เป็นเงิน 1,170,000 บาท

อนึ่ง คดีนี้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมุกดาหาร ตรวจสำนวนและทำความเห็นแย้งว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีข้อสงสัยตามสมควร ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1 เห็นควรพิพากษายกฟ้อง จึงให้รวมไว้ในสำนวน ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11(1)

หลังรับฟังคำพิพากษาทนายฝ่ายลุงพลได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดิน 6.5 แสนบาท ประกันตัวออกไป โดยเตรียมยื่นอุทธรณ์สู้คดีต่อ

คดีน้องชมพู่ เป็นคดีที่ตำรวจนำเทคโนโลยีและวิทยาการทางนิติวิทยาศาสตร์มาใช้อย่างเต็มที่เพื่อคลี่คลายคดี นำมาสู่การจับกุมและศาลตัดสินลงโทษผู้ก่อเหตุ

นับเป็นยุคใหม่ของการสืบสวนอย่างแท้จริง

แผนที่ภูเหล็กไฟ