‘น้ำพริกปลาทู’ กำสรวล

ผมเป็นลูกทะเล! บ้านเกิดผมอยู่ห่างจากชายทะเลไม่ถึง 300 เมตร ยามค่ำคืนเอนกายลงนอนบนเสื่อกก สองหูได้ยินเสียงคลื่นสาดซัดหาดชัดเจน

ราวกับว่าแม่ทะเลกำลังกล่อมนอน

เช้ามืด ชิงตื่นก่อนตะวัน แปรงฟันบ้วนปากลวกๆ วิ่งฝ่าลมทะเลไปยังชายหาด

เรือปลาสารพัดขนาดถูกเข็นขึ้นฝั่ง ลูกเรือสาละวนอยู่กับการปลดกุ้งหอยปูปลาออกจากอวนสุดท้ายที่กู้คืน ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรืออวนลากหรืออวนรุน (อวนเข็น) ล้วนกวาดทรัพยากรในทะเลมากองเป็นกอบเป็นกำกลางลำเรือ

เสียงตะโกนสอบถาม เสียงต่อรองราคา ระหว่างคนประมงกับพ่อค้าแม่ค้าดังสับสนอื้ออึง หญิงชายวัยกระทงรุ่นราวคราวเดียวกับผม สอดส่ายสายตามองหาโอกาสเหมาะเข้าไปรับหน้าที่

ขอดเกล็ด ผ่าพุง ฉีกเหงือก หรืออะไรก็ได้ที่แลกได้เป็นค่าข้าวค่าขนมสำหรับวันนั้น…

 

อดีตเมื่อวันวานผุดพราวขึ้นมาเต็มจินตนาการ เมื่อได้อ่านเรื่องราวน่าเศร้าของ “ปลาทู” ที่ อัยแดน โจนส์ เขียนไว้ใน เซาธ์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ เมื่อ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา

เศร้าใจเพราะเขาบอกว่า บางที อีกไม่ช้าไม่นาน ท้องทะเลอ่าวไทยอาจไม่มีปลาทูหลงเหลืออยู่อีกแล้ว

ผมรู้จักปลาทูดี รักปลาทู ถึงขนาดหลงใหล ผมโตมากับปลาทู แม้หลายปีหลังจะไม่มีสดให้กิน ก็ยังมีปลาทูนึ่ง หน้างอคอหัก ทอดได้ที่จนแก้มกรอบกราว ยิ่งได้ผักสดแนม จิ้มกับน้ำพริก ข้าวสวยชามสองชามยังเอาไม่อยู่

ฝรั่งเรียกปลาทูว่า “มินิ แม็กเคอเรล” หรือ “ชอร์ตบอดี้ แม็กเคอเรล” (shortbodied mackerel) เดิมเคยเป็นปลาที่พบเห็นได้ทั่วไปในอ่าวไทย มีมากจนราคาถูก ขายไม่ได้ราคา กลายเป็นอาหารให้โปรตีนที่สำคัญของคนเบี้ยน้อยหอยน้อย

แต่ถ้าใครใกล้ชิดปลาทูอย่างผมจริงๆ จะพบว่า หลังๆ มานี้ปลาทูไม่เพียงแพงขึ้น ยังตัวเล็กลง เล็กจนบางคราวไม่จำเป็นต้องหักคอให้หน้างออีกต่อไป

 

อัยแดน โจนส์ บอกว่า จำนวนประชากรปลาทูในอ่าวไทย ลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ในทางหนึ่งเกิดจากภาวะโลกร้อน อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น บวกกับการเกิดปรากฏการณ์สุดโต่งของภูมิอากาศ ส่งผลให้กระแสน้ำเปลี่ยนแปลงการไหลเวียน ซึ่งกระทบต่อ “แพลงตอน” อาหารหลักของปลาทู

เมื่อผสมผสานเข้ากับการทำประมงมากเกินพิกัด สำหรับป้อนให้เป็นอาหารของคนทั้งโลก ไม่ได้ดูแลวัฏจักรชีวิตของมันให้ดีพอ จำนวนปลาทูก็ดิ่งลงทุกขณะ

ไทยเป็นประเทศเล็กๆ แต่ฝีมือประมงเป็นเลิศ ส่งออกอาหารทะเลได้มากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลกเลยทีเดียว

กระนั้น มือประมงที่เลิศเลอที่สุด ยังยอมรับว่า อย่างมากที่สุดก็จับได้แค่ 2 ใน 3 ของที่เคยได้เมื่อ 30 ปีก่อน

แต่สุดท้าย เราก็จับมากไป จับเสียจนสมดุลที่เคยมีในท้องทะเลสูญเสีย และควบคุมไม่ได้อีกแล้ว

 

อัยแดน โจนส์ หยิบเอาคำของ ผศ.เจษฎ์ เกษตระทัต นักนิเวศวิทยาปลาจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาบอกเล่าเอาไว้ว่า ครั้งหนึ่งเมื่อ 50 ปีก่อน ปลาทูเมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดใหญ่ ยาวถึง 20-30 เซนต์

หลายทศวรรษต่อมามันเล็กลงเหลือแค่ยาวสุด 16 เซนต์ แล้วเมื่อ 10-20 ปีที่แล้วก็เล็กลงอีก โตเต็มที่แล้วยาวเพียง 13 เซนต์ ซึ่งอาจารย์เจษฎ์บอกว่า “น่าตกใจ” ทีเดียว

เพราะขนาดที่เล็กลง ชี้ให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมบังคับให้มันต้องขยายพันธุ์ก่อนวัย ซึ่งไม่ถูกต้องแน่ๆ

วงจรชีวิตของปลาทู เริ่มต้นที่ชุมพร ท้องทะเลชายฝั่งที่นั่นเป็นแหล่งผสมพันธุ์ดั้งเดิม ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายฝูงขึ้นเหนือ ลัดเลาะไปตามแนวชายฝั่งทะเลเพื่อเก็บเกี่ยวอาหารโปรดที่ได้จากแผ่นดิน จนเติบใหญ่เต็มที่ แล้วจึงวนไปวางไข่ในบริเวณอ่าวอุดม จังหวัดชลบุรี

เมื่อปลาที่ออกจากไข่โตพอก็จะอพยพกลับแหล่งผสมพันธุ์เดิมที่ชุมพร วนเป็นวัฏจักรเช่นนี้ทุกปี

แต่ตอนนี้วัฏจักรซ้ำซากนี้ ถูก “อินเทอรัปต์” ไปแล้ว

จำนวนปลาทูที่จับได้ น้อยลงเรื่อยๆ สถิติจากกรมประมง ชี้ให้เห็นสภาพนี้ชัดเจน ในปี 1992 เราเคยจับได้ 96,000 ตัน ก่อนจะทวีขึ้นจนถึงจุดสูงสุดในปี 2011 ที่จำนวน 136,000 ตัน แล้วลดลงมาเหลือ 128,000 ตันในอีก 3 ปีต่อมา

จุดต่ำสุดของประชากรปลาทูในอ่าวไทยคือในปี 2018 ที่ประมงไทยจับได้เพียง 11,000 ตันเท่านั้น

 

ด้วยเหตุนี้ ปีนี้ กรมประมงจึงออกประกาศห้ามทำประมงชายฝั่งด้านใน ในพื้นที่ภาคใต้ระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม จากนั้นก็ขยายการห้ามให้ครอบคลุมชายฝั่งทางเหนือของอ่าวไทยในระหว่างสิงหาคมจนถึงกันยายน

ยังไม่มีใครรู้ว่าจะได้ผลหรือไม่อย่างไร อาจารย์เจษฎ์บอกกับอัยแดน โจนส์ ว่า ปลาทูก็เหมือนกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในอ่าวไทย พยายามจนถึงที่สุดเท่าที่ทำได้ที่จะปรับตัวเองให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมใหม่ๆ แต่เมื่อถึงขีดสุด ปรับตัวต่อไปไม่ได้แล้ว มันก็คงถึงภาวะ “ล่มสลาย”

อาจารย์เจษฎ์ไม่ได้บอก แต่ก็รับรู้ได้ว่า เวลาที่จะช่วยกู้คืนปลาทูให้กับอ่าวไทยและคนไทย เหลือน้อยเต็มทีแล้ว

ผมล่ะ รู้สึกอย่างไร? อย่างที่บอกละครับ นอกจากเศร้าแล้วก็รู้สึก “สมน้ำหน้า” ตัวเองครับ