E-DUANG : ความสะเทือนใจจาก “กองหนุน” เก่า

อาจเป็นเพราะ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่ขยายรายละเอียดจากคำว่า”กองหนุน”จึงนำไปสู่บรรยากาศแห่งการถกแถลง

ไม่เพียงแต่ประเด็นนิยามคำว่า “กองหนุน”

หากแต่ยังไปไกลถึงระนาบที่ว่า ปัจจัยอะไรทำให้เกิดสภาวะที่ “กองหนุน” ถอยออก

บางคนอาจตอบว่า Richard Mille

บางคนอาจตอบว่า คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 53/2560 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม

แต่บางคนยืนยัน “การเดินสาย”

การเดินสาย “ครม.สัญจร”นั้นเด่นชัดยิ่งว่ามีเป้าหมายในทางการเมืองอย่างไร

โดยเฉพาะการดอดพบ”นักการเมือง”

 

การพบกับนักการเมืองจากพรรคชาติไทยพัฒนาที่สุพรรณบุรีใน

เบื้องต้นอาจยังคลุมๆเครือๆ รัวๆ รางๆ

แต่เมื่อมีคนๆของพรรคชาติไทยพัฒนาเป็น “รัฐมนตรี”

ความสงสัยก็เริ่มคลี่คลาย ว่าต้องมีผลมาจากการพบกันคราวนั้นอย่างแน่นอน

ยิ่งที่นครราชสีมาก็พบคนของพรรคชาติพัฒนา

มาที่สุโขทัยก็มีภาพ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นำนักการเมือง ท้องถิ่นกลุ่มใหญ่เข้าร่วมแลกเปลี่ยน

จากนั้นจึงปรากฏภาพ “ลับเฉพาะ” จาก “นครปฐม”

ภาพการยืนเข้าแถวหน้ากระดานเรียงหนึ่งร่วมกับคนในตระกูล “สะสมทรัพย์”สร้างความฮือฮาเป็นอย่างยิ่งเพราะเท่ากับรุกคืบไปยัง ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย

กระแสเรื่อง”พรรคทหาร”จึงอึกทึกอย่างครึกโครม

 

เสียงเตือนในเรื่อง “กองหนุน” ที่ดังขึ้นนิ่มๆเนิบนาบจากบ้านสีเสา เทเวศร์ จึงดังขึ้นในสถานการณ์แบบนี้

1 มีความพยายามสร้างพันธมิตรใหม่ กองหนุนใหม่

เป็นกองหนุนจากพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นกองหนุนจากพรรคชาติพัฒนา เป็นกองหนุนจากกลุ่มมัชฌิมาธิปไตย และที่สุดเป็นกองหนุนจาก ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย

1 ปรากฎการณ์อย่างนี่ย่อมสร้างความสะเทือนใจเป็นอย่างสูงจาก “กองหนุน” เก่า

เข้าทำนองได้”ใหม่”แล้วละทิ้ง”เก่า”

ความสะเทือนใจจากกองหนุน”เก่า”จึงมากด้วย”อารมณ์”กรุ่น