ภาษาไม่เคย ‘หยุดนิ่ง’ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

เคยสังเกตไหมครับว่า ภาษาทั้งหลายไม่ว่าเป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียนไม่เคยหยุดนิ่งหรือตายตัวอยู่กับที่ หากแต่มีความผันแปรไปตามยุคสมัยอยู่เสมอ

ความเปลี่ยนแปลงนี้มีทั้งเรื่องของตัวอักษร ถ้อยคำ รูปประโยค สำนวนภาษา หรือแม้กระทั่งความหมายที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด

กล่าวถึงเรื่องภาษาเขียนก่อนก็แล้วกันนะครับ

ยกตัวอย่างเช่น ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือที่เรียกกันว่าศิลาจารึกหลักที่หนึ่ง มีใครอ่านออกบ้างยกมือขึ้น

เห็นไหมครับว่าไม่มีใครยกมือสักคน

ชั่วระยะเวลาประมาณ 700 ปี ตัวหนังสือก็เปลี่ยนแปลงไปตั้งมากมาย ในสมัยนั้นสระกับตัวอักษรอยู่บรรทัดเดียวกัน มาถึงยุคสมัยของเรา สระบางตัวก็อยู่บรรทัดเดียวกับตัวอักษร เช่น สระอา สระเอ ขณะที่สระบางตัวกระโดดขึ้นไปอยู่ข้างบน เช่น สระอิ สระอี มิหนำซ้ำยังมีสละบางตัวเลื่อนลงไปอยู่ข้างล่าง เช่น สระอุ สระอู

ในขณะที่พวกเราอ่านศิลาจารึกสมัยสุโขทัยไม่ออก ถ้าผมเอาบทความนี้ไปให้ชาวสุโขทัยยุคนั้นอ่าน ท่านคงมึนไปเหมือนกัน

 

เรื่องของถ้อยคำก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่น สรรพนาม ผมไม่แน่ใจนักว่า ข้อความในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงท่านจารึกไว้ว่า “พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์…”

คำว่า กู ในประโยคดังกล่าว เป็นสรรพนามบุรุษที่หนึ่งหมายถึงพระองค์เองแน่แท้ แต่อย่าไปตีขลุมเอาว่า ชาวสุโขทัยยุคนั้นใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งเรียกตัวเองว่า กู ได้ในทุกกรณี

ดูน่าหวาดเสียวพิลึกถ้าชาวบ้านชาวเมืองในเวลานั้นกราบบังคมทูลพ่อขุนผู้เป็นประมุขของประเทศโดยเรียกตัวเองว่า กู

หรือคำว่า ออเจ้า ที่กำลังฮิตกันอยู่ในเวลานี้ซึ่งมีความเข้าใจว่าเป็นสรรพนามบุรุษที่สองในสมัยอยุธยา แท้จริงแล้วจะใช้ในรูปประโยคที่ใครพูดกับใครผมก็ยังไม่แน่ใจนัก

ลองดูอีกสักตัวอย่างหนึ่งครับ

พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่หกว่าเป็นหนังสือความเรียงภาษาไทยดีเด่นชั้นยอด

คนรุ่นผมยังพออ่านพระราชนิพนธ์ดังกล่าวได้เข้าใจโดยไม่ต้องอ่านหลายรอบ ไม่ต้องเปิดพจนานุกรม

แต่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในเวลานี้จะมีสักกี่คนที่สามารถอ่านพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ได้โดยเก็บความเข้าใจได้เท่ากันกับเรา และตัวผมเองเห็นอวดเก่งอย่างนี้ ก็ไม่สามารถยืนยันกับตัวเองได้ว่าผมเข้าใจพระราชนิพนธ์ดังกล่าวได้ถูกต้องทุกคำทุกบรรทัดเท่ากับพระผู้ทรงพระราชนิพนธ์

นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าภาษาพูดภาษาเขียนของเราเปลี่ยนแปลงมาเรื่อย ไม่มีใครมีพลานุภาพที่จะไปหยุดยั้งภาษาให้ยืนนิ่งอยู่กับที่ได้

 

สํานวนภาษาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย การเปรียบเทียบหรือยกตัวอย่างในเรื่องที่เป็นที่เข้าใจกันดีทั่วไปในยุคสมัยหนึ่ง อาจเป็นเรื่องที่คนต่างยุคไม่มีทางจะเข้าใจได้เลยเป็นอันขาด เพราะชุดของความรู้ความเข้าใจ หรือประสบการณ์ไม่เหมือนกัน

มนุษย์เช่นผมหรือเพื่อนที่รุ่นราวคราวเดียวกัน ถ้าพูดว่า เปรียบเทียบขนาดร่างกายของใครคนหนึ่ง “ตัวโตราวยักษ์วัดแจ้ง” ทุกคนก็จะร้องอ๋อและเข้าใจเหมือนกัน เพราะรู้ว่าที่หน้าประตูทางเข้าวัดแจ้งหรือวัดอรุณราชวรารามทางฝั่งธนบุรี มีรูปปั้นยักษ์คู่หนึ่งยืนอารักขาอยู่สองข้างซ้ายขวา แถมรูปภาพประตูวัดพร้อมด้วยยักษ์นี้ยังเคยเป็นภาพบนธนบัตรราคา 100 บาทสีแดงแสนสวยสมัยที่ผมเป็นเด็กเสียด้วย

แบงก์ 100 บาทสมัยก่อนมีความหมายมาก และยังไม่มีแบงก์ 500 บาท แบงก์ 1000 บาทอย่างทุกวันนี้

เห็นยักษ์วัดแจ้งทีไรก็ดีใจทีนั้น เพราะรู้สึกว่ารวยแล้ว

สำนวนเปรียบเทียบเรื่องขนาดรูปร่างใหญ่โตนี้ ถ้าย้อนขึ้นไปก่อนผมสักหนึ่งรุ่นหรือสองรุ่น ผู้ใหญ่ครั้งนั้นท่านจะกล่าวว่า “ตัวโตราวกับยักษ์ปักหลั่น”

ยักษ์ปักหลั่นนี้เป็นที่รู้กันทั่วไปในครั้งนั้นว่าเป็นชื่อยักษ์ที่ปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เรื่องรามเกียรติ์ มีรูปพรรณสัณฐานใหญ่โต มีหน้าที่คอยเฝ้ารักษาสระโบกระหว่างเส้นทางไปกรุงลงกา เมื่อพระรามยกทัพมา ยักษ์ปักหลั่นนี่ถึงได้สู้กับทัพลิงทั้งหลายจนเสียชีวิต

แต่มาถึงวันนี้ไม่มีใครรู้จักยักษ์ตนนี้เสียแล้ว น่าสงสารเนอะ

 

เราพูดถึงสำนวนโบราณที่เด็กสมัยใหม่ไม่เข้าใจมาสองสำนวน

คราวนี้หันมาดูสำนวนที่เด็กสมัยนี้พูดกันบ้าง สำนวนเหล่านี้ผู้ใหญ่หลายคนก็ไม่เข้าใจครับ

ตัวอย่างเช่น เวลาใครก็แล้วแต่ทำอะไรที่ลับๆ ล่อๆ แล้วนึกว่าคนอื่นไม่ได้สังเกตเห็น เพื่อนฝูงที่จับสังเกตได้ก็จะบอกว่า “โอ๊ย! เรื่องนี้มองจากดาวอังคารก็เห็นแล้ว”

นั่นหมายความว่า เรื่องบางเรื่องที่เรานึกว่าปกปิดหลบซ่อนเป็นอย่างดี แต่ในสายตาของคนอื่นเขาจับได้ไล่ทันโดยไม่ยาก เพราะพฤติการณ์ของเราโจ่งแจ้งเสียจนมองจากที่ไกลแสนไกลขนาดมองจากดาวอังคารซึ่งห่างจากโลกมากมายโน่นยังมองเห็นได้ชัด

สำนวนนี้หลานของผมเคยนำมาใช้กับผมบ้างในบางครั้ง แต่จำไม่ได้เสร็จแล้วว่าผมถูก “จับโป๊ะ” เรื่องอะไร

คำว่า จับโป๊ะ นี้ก็เช่นเดียวกัน เป็นถ้อยคำภาษาสมัยใหม่ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ในความหมายว่า จับได้ไล่ทัน

 

อีกสำนวนหนึ่งที่เพิ่งเป็นข่าวระหว่างประเทศขึ้นมาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คือสำนวนที่เด็กยุคนี้พูดถึงการเดินทางไปกินไปเที่ยวที่ไหนก็แล้วแต่ ที่สามารถไปได้โดยไม่ยากเย็น (ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงอาจจะอยู่ไกลและเดินทางไปไม่ง่ายนัก แต่ใจเราสั่งให้ไปเสียอย่าง เราก็จะตะเกียกตะกายไปจนได้ ) เช่น ผมชอบไปเที่ยวศรีราชา สำหรับผมแล้ว “ศรีราชาจึงอยู่แค่ปากซอยนี่เอง”

สำนวนว่า “อยู่แค่ปากซอยนี่เอง” เป็นภาษาปัจจุบันที่ใช้ในการอุปมาอุปไมยว่า สามารถไปได้บ่อยๆ และอาจจะแฝงความหมายในทางบวกว่า น่าไปบ่อยๆ เสียด้วย

สำนวนนี้เป็นข่าวเล็กๆ ขึ้นมาเมื่อหลายวันก่อน เพราะมีผู้พูดถึงการเดินทางไปเที่ยวเมืองเวียงจันทน์ ผู้พูดอธิบายว่า เวียงจันทน์ก็แค่ปากซอยนี่เอง

คนไทยที่เป็นวัยรุ่นฟังแล้วย่อมเข้าใจว่าผู้พูดหมายความว่าอย่างไร แต่เวลาเดียวกัน ข้อความนี้ผู้รับฟังหรือได้อ่านข้อความซึ่งเป็นประชาชนพลเมืองของประเทศลาว หลายคนไม่เข้าใจความหมายที่เป็นความตั้งใจของผู้พูด ทำให้เข้าใจผิด

และแปลความไปได้ว่า เวียงจันทน์เป็นเมืองเล็กเมืองน้อย เหมือนย่านปากซอยของบ้านผู้พูด ที่มีความเจริญไม่มากนัก มีความหมายหนักไปในทางดูถูกดูแคลน

ต้องอธิบายกันอยู่ครู่ใหญ่จึงพอเข้าใจและคลายความหงุดหงิด

 

เห็นไหมครับว่า ประโยคเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน แต่ผู้รับสารมีชุดข้อมูลด้วยความเข้าใจในทางภาษาต่างระดับไม่เหมือนกันกับผู้ส่งสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสำบัดสำนวนซึ่งเป็นความซับซ้อนมากกว่าภาษาที่ใช้กันปกติ ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

ภาษาก็เหมือนกับเรื่องอีกหลายอย่างในโลกนี้ที่ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่เสมอ คำบางคำเกิดขึ้นแล้วก็อยู่ไปยาวนาน คำบางคำเกิดขึ้นแล้วได้รับความนิยมอยู่เพียงแค่ระยะเวลาอันสั้นแล้วก็จางหายไป

ไม่มีใครมีอำนาจสั่งการได้ว่าคำไหนจะอยู่คำไหนจะไปไม่รอด สำนวนใดจะติดตลาดสำนวนไหนจะเสื่อมความนิยม

ภาษาเป็นเรื่องของสังคม เราท่านทุกคนทุกวัยนี่แหละครับเป็นคนร่วมกันตัดสินใจว่าภาษาของเราจะเดินไปทางไหน

นี่ผมพูดถึงภาษานะครับ ไม่ได้พูดถึงการเมืองประชาธิปไตย

โปรดอย่าเข้าใจผิด อิอิ