ฮามาส-อิสราเอล ความขัดแย้งครั้งที่ 5 (9)

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

ฮามาส-อิสราเอล

ความขัดแย้งครั้งที่ 5 (9)

 

ฉากทัศน์ของสงครามฮามาส-อิสราเอล (ต่อ)

อิสราเอลอ้างผู้บัญชาการฮามาส 2 นาย

ถูกสังหารในการโจมตีค่ายผู้ลี้ภัย

 

มีเหตุการณ์ที่ตามมาหลังวันที่ 7 ตุลาคม ที่อิสราเอลตอบโต้กองกำลังของฝ่ายฮามาสอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่กลายเป็นประชาชนชาวกาซา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและคนชรา

ตัวอย่างเช่น เมื่อชาวต่างชาติในฉนวนกาซาที่ถูกปิดล้อมเตรียมที่จะออกจากภูมิภาคฉนวนกาซาภายใต้การบริหารของกลุ่มฮามาส ก็มีรายงานในเวลาต่อมาว่ามียอดผู้เสียชีวิตชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย 195 ราย ภายหลังการโจมตีของอิสราเอลต่อค่ายผู้ลี้ภัยจาบาเลีย

การโจมตีเหล่านี้ทำให้เกิดความกังวลจากเจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติที่มีความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวอาจถือเป็นอาชญากรรมสงคราม

นอกเหนือจากพัฒนาการเหล่านี้แล้ว อิสราเอลยังระบุด้วยว่าการโจมตีส่งผลให้ผู้นำทางทหารของฮามาส 2 นายในค่ายผู้ลี้ภัยจาบาเลียเสียชีวิต

โดยอิสราเอลโต้แย้งว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์บัญชาการและเป็นโครงสร้างพื้นฐานของฝ่ายฮามาสตามรายงานของรอยเตอร์

ต่อมาชาวต่างชาติทั้งหมด จากหลายประเทศ รวมถึงออสเตรเลีย ออสเตรีย บัลแกเรีย สาธารณรัฐเช็ก ฟินแลนด์ อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น จอร์แดน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาก็ทยอยกันเดินทางออกจากกาซาเข้าสู่อียิปต์

 

อิสราเอลดำเนินการรณรงค์เชิงรุกต่อกลุ่มติดอาวุธฮามาสอย่างแข็งขัน โดยใช้การโจมตีทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกำจัดกลุ่มฮามาส

การกระทำนี้เกิดขึ้นหลังจากกลุ่มฮามาสบุกโจมตีทางตอนใต้ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม

อิสราเอลกล่าวหาว่ากลุ่มฮามาสต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของผู้คน 1,400 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน และการจับตัวประกันมากกว่า 200 คน

จากนั้นการระเบิดศาสนสถานและโรงพยาบาลก็ตามมาอย่างต่อเนื่อง โดยอิสราเอลไม่ปฏิเสธว่าเป็นผลงานของตัวเองหรือโยนความผิดให้ฮามาสอีกต่อไปเหมือนอย่างที่เคยทำมาแต่ต้น

โรงพยาบาลอัล-กุดส์ (al-Quds) ในเมืองกาซาที่มีประชากรหนาแน่นก็ถูกถล่มด้วยระเบิดเช่นกัน ทั้งนี้ สภาเสี้ยววงเดือนแดงปาเลสไตน์ยืนยันถึงรายงานอันหฤโหดที่เกิดขึ้นเหล่านี้ โดยเน้นย้ำถึงความท้าทายในความยากลำบากในการที่จะอพยพผู้คนออกจากโรงพยาบาล ตามที่ทางการอิสราเอลเตือนไว้ โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย

สำนักงานสื่อของรัฐบาลฮามาสในฉนวนกาซาออกแถลงการณ์ในเวลาต่อมาว่ามีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตอย่างน้อย 195 รายในการโจมตีค่ายอพยพจาบาเลียของอิสราเอล 2 ครั้ง โดยที่ยังมีอีก 120 รายที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าอยู่ใต้ซากปรักหักพัง

นอกจากนี้ ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 777 คน

 

ในขณะที่นานาชาติกำลังเรียกร้องให้มีการหยุดยิง รวมทั้งมีบางประเทศที่ยังคงสนับสนุนให้สงครามดำเนินต่อไปแต่เรียกร้องให้มีการหยุดสงครามชั่วคราวเพื่อมนุษยธรรม สถานการณ์ในฉนวนกาซายังคงเต็มไปด้วยการสูญเสียชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะเด็กและคนชรามากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการโจมตีอย่างต่อเนื่องของอิสราเอล

และในขณะที่การปิดล้อมมีความเข้มข้นมากขึ้นอยู่นั้นจะพบว่าภูมิภาคนี้กำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนอาหาร น้ำมัน น้ำดื่ม และยารักษาโรคอย่างรุนแรง

ดร.อาบู อัล-ฮัสซัน ผู้ถือหนังสือเดินทางสหรัฐอเมริกากล่าวถึงสภาพที่เลวร้ายในฉนวนกาซา โดยเน้นย้ำถึงการขาดแคลนน้ำ อาหาร และที่พักพิง เขาคร่ำครวญถึงการเห็นความตายอย่างท่วมท้นในภูมิภาคนี้ด้วยความเศร้าสลด

สถานการณ์เลวร้ายนี้ได้ขยายตัวไปถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพในฉนวนกาซา ด้วยการขาดแคลนเชื้อเพลิง ซึ่งนำไปสู่การปิดสถานพยาบาลที่จำเป็น ซึ่งรวมถึงโรงพยาบาลที่รักษาโรคมะเร็งที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวในกาซา

การที่อิสราเอลไม่เต็มใจที่จะอนุญาตให้ขบวนรถเพื่อมนุษยธรรมส่งเชื้อเพลิงนั้นมีสาเหตุมาจากความกังวลว่านักรบฮามาสอาจเปลี่ยนเส้นทางเพื่อจุดประสงค์ทางทหาร

 

อัชร็อฟ อัล-ก็อดเราะฮ์ (Ashraf Al-Qudra) โฆษกกระทรวงสาธารณสุขฉนวนกาซา เน้นย้ำถึงปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิงขั้นวิกฤต โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลอินโดนีเซีย

เขาตั้งข้อสังเกตว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหลักของโรงพยาบาลใช้งานไม่ได้อีกต่อไปเนื่องจากไม่มีเชื้อเพลิง โรงพยาบาลถูกบังคับให้เปลี่ยนไปใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟให้กับตู้เย็นในห้องดับจิตและเครื่องกำเนิดออกซิเจนได้

ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภัยพิบัติหากไม่ได้มีการจ่ายเชื้อเพลิงอีกต่อไป

ในขอบเขตของการทูตระหว่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกามีกำหนดเยือนอิสราเอลครั้งที่สองภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน วาระการประชุมของเขาประกอบด้วยการประชุมกับเจ้าหน้าที่อิสราเอล รวมถึงนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู โดยมีเป้าหมายในการแสดงความสามัคคี ในขณะเดียวกันก็เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการลดการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือนในหมู่ชาวปาเลสไตน์

การเยือนของบลิงเคนยังจะรวมถึงการแวะเยือนจอร์แดน ซึ่งแม้จะเป็นประเทศที่มีการฟื้นความสัมพันธ์กับอิสราเอลให้เป็นปกติแล้ว แต่จอร์แดนได้ถอนเอกอัครราชทูตของตนออกจากกรุงเทลอาวีฟเพื่อตอบโต้การโจมตีของอิสราเอลในฉนวนกาซาไปเรียบร้อยแล้ว

ในจอร์แดน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการปกป้องชีวิตพลเรือน และยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐในการป้องกันการบังคับให้ชาวปาเลสไตน์ต้องอพยพออกจากฉนวนกาซา ซึ่งเป็นข้อกังวลที่มีมากขึ้นในโลกอาหรับ

นอกจากนี้ เขายังเตรียมเข้าร่วมการเจรจาที่นำโดยอียิปต์และกาตาร์โดยมีเป้าหมายเพื่อปล่อยตัวประกันทั้งหมดที่กลุ่มฮามาสจับตัวเอาไว้

 

ในด้านการเมือง สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกาคาดว่าจะมีการลงคะแนนเสียงในร่างกฎหมายที่ให้ความช่วยเหลืออิสราเอลมูลค่า 14.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยได้รับการสนับสนุนจากพรรครีพับลิกัน

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มร่างกฎหมายดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากจะต้องเผชิญกับการคัดค้านที่สำคัญในวุฒิสภาที่ควบคุมโดยพรรคเดโมแครต และทำเนียบขาวซึ่งได้ระบุถึงความเป็นไปได้ของการยับยั้งนี้

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แสดงความสนใจในร่างกฎหมายมูลค่า 1.06 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งจะจัดลำดับความสำคัญต่างๆ มากมาย รวมถึงความช่วยเหลือแก่ยูเครน ความมั่นคงชายแดน ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการสนับสนุนอิสราเอล

ต่อมากระทรวงสาธารณสุขในฉนวนกาซาได้รายงานถึงตัวเลขที่น่าวิตกของชาวปาเลสไตน์ที่อย่างน้อยมีจำนวนถึง 8,796 คน ที่ถูกสังหารในเขตพื้นที่ชายฝั่งแคบๆ รวมถึงการเสียชีวิตของเด็ก 3,648 คน นับตั้งแต่ความรุนแรงเริ่มปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม