จับปฏิกิริยาทหาร กลาโหมยึดอำนาจ ทุบหม้อข้าวกองทัพ เปลี่ยนระบบจัดซื้ออาวุธ ‘บิ๊กทิน’ ลดภาพอวยทหาร ลั่น อย่าหาว่าใจร้าย

สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม บิ๊กดุง พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร.
สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม บิ๊กดุง พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร.

ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับกองทัพ เมื่อ รมว.กลาโหมพลเรือน จะเปลี่ยนระบบจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ จากที่ต่างคนต่างซื้อ แต่ละเหล่าทัพเคยพิจารณาจัดซื้อจัดหากันเอง ก็เปลี่ยนให้มาเป็นการจัดซื้อแบบแพ็กเกจทั้ง 4 เหล่าทัพ หรือแบบรวมการ ที่จะมีคณะกรรมการชุดใหญ่ชุดเดียวพิจารณาตัดสินใจในการจัดซื้อโดยที่เหล่าทัพเป็นผู้เสนอความต้องการ

โดยคาดว่าคณะกรรมการชุดนี้ อาจจะมี รมว.กลาโหม หรือตัวแทนเป็นประธาน และร่วมด้วย ผบ.เหล่าทัพ หรือตัวแทนเหล่าทัพ

นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหมพลเรือนคนแรก ที่ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี พูดเรื่องนี้ออกมาเพราะถูกเหน็บแนม ค่อนแคะว่ามาเป็น รมว.กลาโหมที่กลัวทหาร เกรงใจทหาร เอาใจทหาร อวยทหาร

“อย่าบอกว่ามาตรการที่ออกมานี้รัฐมนตรีใจร้ายกับกองทัพ” นายสุทินระบุ

ด้วยเพราะรู้ดีว่า การจัดซื้ออาวุธ เป็น “หม้อข้าว” ของกองทัพ ของแต่ละเหล่าทัพ ของ ผบ.เหล่าทัพในแต่ละยุค

แต่เพราะเหตุใด นายสุทินจึงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการจัดซื้ออาวุธ

 

ประการแรก รัฐบาลพรรคเพื่อไทยในยุคนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ที่คุมความมั่นคงเอง ไม่แต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง มีแนวคิดในการจัดซื้อแบบการค้าต่างตอบแทน หรือบาร์เตอร์เทรด คือ ประเทศคู่ค้าต้องซื้อสินค้าเกษตร หรือสินค้าไทย ในวงเงินงบประมาณที่สมดุลกัน โดยให้ทางกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศมีส่วนร่วมในขั้นตอนด้วย

ระบบนี้ เป็นแนวทางที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยใช้มาก่อนในรัฐบาลของตนเอง โดยในเวลานั้น กองทัพไม่ค่อยตอบสนองเท่าใดนัก โดยอ้างว่ายุ่งยากในการเจรจาพูดคุย อีกทั้งประเทศคู่ค้าหรือบริษัทที่จะจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่ได้ต้องการที่จะซื้อสินค้าไทย

ประเด็นนี้ เคยปรากฏความขัดแย้งที่ชัดเจน จากการที่นายทักษิณต้องการให้กองทัพอากาศจัดซื้อเครื่องบินรัสเซีย SU30 โดยรัสเซียจะซื้อสินค้าเกษตรและไก่จากไทย

ขณะที่กองทัพอากาศมองว่า SU30 ไม่เหมาะกับภารกิจของกองทัพอากาศเพราะเป็นเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่เกินไป ทอ.ในยุคนั้น ต้องการซื้อเครื่องบิน F16 หรือ Gripen จากสวีเดน

จนที่สุดเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ล้มอำนาจนายทักษิณ จากนั้นกองทัพอากาศก็จัดซื้อเครื่องบิน Gripen จากสวีเดนฝูงแรก

ดังนั้น ในตอนนี้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงมีแผนรวบอำนาจการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากกองทัพ จากเหล่าทัพ มาไว้ที่กลาโหม เพราะการจัดซื้อแบบรวมกันหรือแบบแพ็กเกจนี้จะยิ่งทำให้การต่อรองในการจัดซื้อในระบบการค้าต่างตอบแทน จะยิ่งสะดวกมากขึ้น

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กับ นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม

ประการที่สอง นายสุทินก็ต้องแสดงให้เห็นว่า ตนเองและรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ไม่ได้เกรงใจ กลัวหรืออวยกองทัพ เรื่องใดที่เป็นนโยบายของพรรคหรือรัฐบาล ก็ต้องทำ โดยยกกรณีการสั่งยกเลิกการต่อเรือดำน้ำจีนลำแรก แล้วให้เปลี่ยนมาเป็นเรือฟริเกต หรือเรือผิวน้ำประเภทอื่น

นายสุทินระบุว่า ตนเองอาจถูกมองว่าอวยทหาร ซึ่งความจริงคือ ทำตามเนื้องาน ผมเป็นผู้บังคับบัญชาที่ตัดสินใจบนประโยชน์ หากสถานการณ์เข้มก็ต้องเข้ม ถ้าสถานการณ์ไม่เข้ม ก็ไม่จำเป็นต้องทำ แต่ถึงเวลาที่ตัดสินใจเรื่องสำคัญก็ต้องตัดสินใจ บางอย่างเราไม่จำเป็นต้องบลั๊ฟฟ์ หรือขึงขังใส่ทหาร ถ้าไม่จำเป็นต้องทำก็ไม่ต้องทำ ถ้าเปรียบแล้วก็คือ เป็นนักมวยต่อยตามแผน ไม่ใช่ต่อยตามเสียงเชียร์

“ผมก็ไม่ได้ใจดีกับทหาร บางครั้งก็ขัดใจเขา อย่างเช่น เรือดำน้ำจีน ผมก็ไม่ได้เอากับเขา อย่างนี้เรื่องใหญ่ด้วย ซึ่งก็มีอีกหลายเรื่องที่มันไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ แต่ถ้ามันใช่แล้วไปบอกว่าไม่ใช่ หวังไปโชว์ฟอร์มเฉยๆ ไม่มีประโยชน์” นายสุทินกล่าว

สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม กับ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ.

ประการที่สาม มีรายงานว่า นายสุทินได้สอบถามความคิดเห็นหยั่งเชิงผู้บัญชาการเหล่าทัพบางคนแล้ว เช่น ปลัดหนุ่ม พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกลาโหม บิ๊กอ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด และบิ๊กไก่ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. ที่ล้วนเป็นเพื่อนเตรียมทหาร 24 ด้วยกัน

สำหรับ พล.อ.สนิธชนก นั้นน่าจะสนับสนุนระบบใหม่นี้ เพราะอำนาจจะมารวมอยู่ที่กลาโหม ซึ่งปลัดกลาโหม คือข้าราชการประจำเบอร์ 1 ของกลาโหม และเป็นเสมือนเลขานุการของ รมว.กลาโหม และคาดว่า บทบาทของผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน (สนผ.กผ.) จะมีความสำคัญในเรื่องการกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ของอาวุธยุทโธปกรณ์ที่กองทัพจำเป็นต้องจัดหา นอกเหนือจากที่แต่ละเหล่าทัพเสนอมา

ขณะที่มีรายงานว่า พล.อ.ทรงวิทย์ ก็มีแนวคิดนี้เช่นกัน เพราะต้องการให้กองทัพไทยเป็นสากล เช่น อังกฤษ สิงคโปร์ คือ มีคณะกรรมการกลางในการพิจารณาจัดซิ้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในระดับกลาโหม เพราะเหล่าทัพไม่ควรจัดซื้อเอง เพื่อจะได้ไม่มีข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ หรือเงินทอนในวงการอาวุธ และเห็นว่า ผบ.เหล่าทัพ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ แต่ให้เสนอความต้องการขึ้นไปได้

ในระบบสากลแล้ว จะต้องมีคณะกรรมการในระดับกลาโหมที่พิจารณาเรื่องของยุทธศาสตร์ความต้องการ ความจำเป็นของแต่ละเหล่าทัพ และไปศึกษาว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ใดเหมาะสมที่จะใช้โดยให้เดินสายไปพบปะพูดคุยหาข้อมูลด้านอาวุธยุทโธปกรณ์เอง ไม่ใช่ให้พ่อค้าแม่ค้าอาวุธหรือตัวแทน เป็นผู้เสนอความต้องการให้กับกองทัพเช่นที่ผ่านมา

สำหรับ พล.อ.ทรงวิทย์ ซึ่งเป็นนายทหารยุคใหม่ แนวคิดทันสมัย เรียนจบนายร้อย VMI สหรัฐอเมริกา ออกแนวอินเตอร์ ย่อมเห็นด้วยกับการจัดซื้ออาวุธแบบรวมการ หรือแพ็กเกจ อีกทั้งกองบัญชาการกองทัพไทยก็ไม่ได้มีงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธมากนัก เพราะไม่ใช่หน่วยคุมกำลังแบบ ผบ.เหล่าทัพ

และคาดว่า พล.อ.ทรงวิทย์ ได้เคยหารือกับนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมมาบ้างแล้ว และมีส่วนที่ทำให้เกิดนโยบายนี้ เพราะนายเศรษฐา หรือนายสุทิน ก็คงจะต้องหยั่งเชิงกองทัพมาก่อนแล้ว

แต่ทว่า ผบ.ทหารสูงสุด แม้จะเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของเหล่าทัพ แต่ในระบบแบบไทยๆ ทหารไทยก็ไม่สามารถคุม ผบ.เหล่าทัพได้

เพราะสำหรับเหล่าทัพแล้ว ย่อมได้รับผลกระทบเต็มๆ ที่จู่ๆ ถูกยึดอำนาจในการตัดสินใจไปเป็นของกลาโหม หรือคณะกรรมการ แต่โดยสถานการณ์การเมือง สภาพสังคม อาจบีบบังคับให้เหล่าทัพไม่อาจปฏิเสธ เพราะหากเหล่าทัพใดไม่เอาด้วย ก็จะถูกเข้าใจว่ามีเรื่องของผลประโยชน์ไปโดยปริยาย

เพราะแนวคิด แนวนโยบายนี้ นอกจากมีคณะกรรมการพิจารณาชุดเดียวแล้ว ยังจะต้องมีคณะกรรมการคุณธรรม ที่มีบุคคลภายนอกมาร่วมพิจารณาด้วย

สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม กับ พลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด

นายสุทินจะนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาในที่ประชุมสภากลาโหม หลังปีใหม่ ก่อนที่จะเดินหน้าการใช้ระบบใหม่ ที่ถือว่าเป็นการยึดอำนาจของ รมว.กลาโหม

“ผมไม่หนักใจเพราะทหารมีวินัยอยู่แล้ว ซึ่งในฐานะผู้บังคับบัญชา หากตัดสินใจเรื่องใดที่เป็นประโยชน์ต่อกองทัพ เชื่อว่าทหารจะเห็นด้วยอยู่แล้ว โดยคณะกรรมการชุดนี้จะดูตั้งแต่ต้นจนจบ สังคมจะได้สบายใจว่าการซื้อจำเป็นและคุ้มค่าหรือไม่ ใช้ได้จริงหรือไม่ มีการผูกขาด หรือล็อกสเป๊กหรือไม่ ซึ่งเหล่าทัพก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้” นายสุทินระบุ

โดยเฉพาะกองทัพอากาศที่มีการจัดซื้อหลายรายการ ก็ยินดีทำตามกฎ ที่สังคมฟังแล้วจะสบายใจ

แต่อย่างไรก็ตาม อำนาจรัฐ อำนาจ รมว.กลาโหมพลเรือน กำลังถูกจับตามองว่ามีอยู่จริงหรือไม่ จากการเปลี่ยนระบบจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และโดยเฉพาะกรณีเรือดำน้ำจีน ของ ทร.

ที่แรกๆ หลังนายสุทินแถลงข่าวที่กองทัพเรือ ยังไม่มีกระแสต่อต้าน

แต่จากนั้น แรงกดดันทั้งจากอดีต ผบ.ทร. นายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ แม้แต่กำลังพล ทร.เอง พุ่งไปที่บิ๊กดุง พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. ในเชิงตำหนิว่า ไม่ต่อสู้เพื่อเรือดำน้ำ รวมถึงเสียงสะท้อนจากสายบ้านป่ารอยต่อฯ

ประกอบกับทางฝ่ายจีนเองก็ไม่ต้องการที่จะให้ยกเลิกต่อเรือดำน้ำแล้วเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกต เพราะบริษัท CSOC ก็จะเสียประโยชน์ เนื่องจากเรือฟริเกต ไม่ใช่เรือที่บริษัทต่อ จึงจะทำให้ยุ่งยากในเรื่องของเงินงบประมาณในส่วนของจีนเอง ดังนั้น จึงมีข่าวว่าทางจีนเองก็ไม่ยอม

จนมีรายงานว่า พล.ร.อ.อะดุง ต้องเข้าหาและพูดคุยกับนายสุทินหลายครั้ง เพื่อยืนยันความจำเป็นที่กองทัพเรือต้องมีเรือดำน้ำในยุคนี้ ก่อนที่จะส่งให้อัยการสูงสุดวินิจฉัยเรื่องข้อตกลงไทยจีนและการเปลี่ยนเครื่องยนต์เรือดำน้ำว่าเป็นอำนาจของใคร

นายเศรษฐา ทวีสิน

ทําให้เกิดกระแสข่าวสะพัดในกองทัพเรือว่า นายสุทินอ่อนลงและพร้อมที่จะให้กองทัพเรือเดินหน้าต่อเรือดำน้ำจีน โดยเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์จีน ตามที่กองทัพเรือเคยเสนอมา แต่ก็ต้องรอการวินิจฉัยของอัยการสูงสุดภายใน 30 ธันวาคม 2566 นี้ก่อน ที่คาดการณ์ว่าจะเป็นผลบวกกับฝ่ายกองทัพเรือ

“ผมก็เห็นความจำเป็น ไม่ใช่ว่าไม่ให้ แต่พอดีมีปัญหา เราก็กลัวเสียดายเงินทิ้งเปล่า เอาอะไรมาแทนดีกว่าเอาเงินไปทิ้งเปล่า ซึ่งถ้าอัยการตีความออกมาว่า ยังเอาเรือดำน้ำได้ เราก็เอาให้เขา แต่ถ้าไม่ได้โดยกฎหมาย สเป๊กไม่ได้ คุณภาพไม่ดี เราก็อาจเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น และทดแทนให้เขา” นายสุทินกล่าว

จึงไม่แปลกที่กองทัพเรือจะดูแลนายสุทินเป็นอย่างดีในทุกๆ เรื่อง รวมทั้งการเชิญไปตรวจความพร้อมของกองทัพเรือ โดยจัดเฮลิคอปเตอร์ให้นั่งไปลงบนเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช และเรือหลวงอ่างทอง กลางทะเล โดยมีเรือรบหลายลำมาร่วมต้อนรับ โดยมีเรือหลวงนเรศวร ยิงสลุต 19 นัด เป็นเกียรติแก่นายสุทิน ก่อนที่จะโชว์ปฏิบัติการยุทธการสะเทินน้ำสะเทินบก ที่หาดยาว สัตหีบ ชลบุรี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

จนทหารเรือเริ่มสบายใจกันแล้วว่า จะได้เรือดำน้ำจีน เครื่องยนต์จีน อย่างน้อยก็มีเรือดำน้ำลำแรกมาไว้ก่อน ส่วนลำที่ 2-3 ค่อยพยายามกันต่อไป เพราะไม่เช่นนั้น หากกองทัพเรือยอมยุติโครงการต่อเรือดำน้ำจีนในครั้งนี้ ก็ไม่รู้ว่าอีกเมื่อใดที่จะได้ปัดฝุ่นรื้อโครงการนี้ขึ้นมาอีก

ดังนั้น อนาคตของเรือดำน้ำจีน และการเปลี่ยนระบบการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ก็สะท้อนถึงพลังอำนาจของนายสุทิน รมว.กลาโหมพลเรือน หรือแม้แต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยและนายกรัฐมนตรี ว่าเข้มแข็ง หรืออ่อนยวบ เกรงใจทหารเช่นที่ถูกครหา

และเป็นการสะท้อนได้ด้วยว่า “บิ๊กดีล” ระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร ผู้มีบารมีนอกพรรคเพื่อไทย กับขั้วอนุรักษนิยม และกองทัพ ยังคงขลังอยู่หรือไม่ ในยุครัฐบาลผสมข้ามขั้วเช่นนี้