จิตต์สุภา ฉิน : การแบ่งแยกทางดิจิตอลในครอบครัว

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ทุกวันนี้การนั่งกินข้าวโต๊ะเดียวกันแต่ต่างคนต่างก้มหน้าก้มตาดูจอโทรศัพท์ของตัวเองกลายเป็นภาพที่เห็นกันจนชินตาไปเสียแล้ว

ทุกครั้งที่ซู่ชิงกลับหาดใหญ่และออกไปกินข้าวกับที่บ้าน คุณแม่จะต้องทอดเสียงพูดด้วยอาการประชดประชันติดตลกขบขันเล็กๆ ว่า “ดีจังเลยน้าาา ที่เราได้มาเจอกันพร้อมหน้าพร้อมตา…” ในตอนที่ทุกคนต่างกำลังวุ่นอยู่กับการก้มหน้ามองจอจนเห็นขวัญกลางกระหม่อมอย่างชัดเจน

หันไปโต๊ะข้างๆ ก็เป็นสถานการณ์แบบเดียวกันเป๊ะ

แถมยังหนักข้อกว่าโต๊ะของเราเสียอีก เพราะตั้งแต่ครอบครัวข้างๆ หย่อนก้นนั่งลง พวกเรายังไม่ได้ยินเสียงพวกเขาคุยกันเลยแม้แต่คำเดียวจนกระทั่งลุกออกจากโต๊ะไปนั่นแหละ

เทศกาลวันหยุดเป็นช่วงเวลาที่ผู้ใหญ่และผู้สูงวัยเฝ้ารอให้ลูกๆ หลานๆ กลับบ้านมาเยี่ยม มาใช้เวลาอยู่ด้วยกันหลังจากที่ต้องอยู่อย่างเปล่าเปลี่ยวเดียวดายมาทั้งปี

ข่าวดีก็คือในยุคดิจิตอลแบบนี้ เทคโนโลยีช่วยให้ผู้สูงวัยมีอาการเหงาที่ลดน้อยลงเพราะสามารถใช้คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตและติดต่อผู้คุยกับคนในครอบครัวหรือเข้าสังคม ไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโซเชียลมีเดียได้มากขึ้น

ทำให้ไม่ต้องหันหน้าไปคุยกับหมากับแมวอย่างเหงาๆ อีกต่อไป

สถิติระบุว่าเทคโนโลยีช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถรับมือกับโรคซึมเศร้าและอาการเหงาได้ดีขึ้น

ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าต่อคนอื่นมากขึ้นและทำให้ติดต่อกับคนที่รักได้บ่อยขึ้น

ดังที่เรามักจะแซวกันอยู่บ่อยๆ ว่า ลองหยิบโทรศัพท์ของคุณพ่อคุณแม่มาเปิดไลน์ดูสิ ข้อความในแต่ละวันที่พวกท่านได้รับเนี่ยมากกว่าพวกเราตั้งไม่รู้กี่เท่า แถมเป็นสมาชิกของกรุ๊ปแชตในไลน์อีกตั้งไม่รู้กี่สิบกรุ๊ป

วันทั้งวันก็หมดไปแบบที่แทบจะไม่มีเวลามาเหงา

แค่ตอบข้อความเพื่อนให้ทันพระอาทิตย์ก็ตกดินไปแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเทคโนโลยีในมือให้ติดต่อสื่อสารกับผู้คนรอบข้างได้สะดวกรวดเร็ว แต่ผู้ใหญ่จำนวนมากก็ยังชื่นชอบการพบปะกันซึ่งๆ หน้า มากกว่าการคุยกันผ่านหน้าจออยู่ดี

ซึ่งในช่วงเทศกาลวันหยุดแบบนี้ ความเคยชินที่ไม่เหมือนกันของแต่ละเจเนอเรชั่นก็อาจปะทะกันและก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งไม่เข้าใจกันขึ้นมาได้

ลูกหลานที่นั่งรถ นั่งเครื่องบินเดินทางไปเยี่ยมปู่ย่าตายายของตัวเองก็มักจะมีโทรศัพท์มือถือติดหนึบอยู่กับตัวเพราะอยากจะส่งข้อความหาเพื่อนหรือเช็กโซเชียลมีเดียตลอดเวลาว่าเพื่อนแต่ละคนไปเที่ยวหรือไปทำกิจกรรมที่ไหนกันบ้าง

ในขณะที่ผู้ใหญ่มองไปเห็นเข้าก็เกิดอาการหงุดหงิด คิดแต่ว่าอะไรกันเนี่ยเด็กสมัยนี้ แทนที่จะวางโทรศัพท์แล้วมาพูดคุยกัน มาช่วยทำกับข้าว มาช่วยจัดโต๊ะ ทำไมถึงได้มัวแต่นั่งก้มหน้าได้นานสองนานราวกับไม่สนใจไยดีความเป็นไปรอบตัวเลย

ซึ่งหากไม่ระวังให้ดีก็อาจนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งหรือน้อยอกน้อยใจกันยกใหญ่ได้

แทนที่จะมีช่วงเวลาวันหยุดที่ดีก็กลับกลายเป็นประสบการณ์ที่ทำให้อารมณ์ขุ่นมัวบึ้งตึงใส่กันไปแทน

 

สถานการณ์แบบนี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในยุคนี้ค่ะ

เด็กในเจเนอเรชั่นที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีจะถูกเรียกว่าเป็นคนกลุ่ม digital native คือมีความเป็นดิจิตอลอยู่ตามสัญชาตญาณ

ส่วนเจเนอเรชั่นก่อนหน้าก็จะถูกเรียกว่า digital immigrants ซึ่งเป็นพวกที่ต้องปรับตัวเข้าหาดิจิตอล และยังชื่นชอบการมีปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวมากกว่า

ทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจหรือรู้สึกเหมือนถูกลบหลู่ ไม่ให้เกียรติ เวลาที่คนเจเนอเรชั่นอื่นข้างๆ ตัวมัวแต่วุ่นวายอยู่กับเทคโนโลยีไอซีทีตรงหน้าโดยที่ไม่ชวนตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย

ซึ่งปรากฏการณ์นี้เรียกว่า physical-digital divide หรือการแบ่งแยกทางกายภาพและดิจิตอลนั่นเอง

ดังนั้น ในช่วงเทศกาลวันหยุดนี้เราลองมาดูกันค่ะว่าทั้งสองเจเนอเรชั่นจะสามารถปรับตัวเข้าหากันได้ยังไงบ้างแบบที่บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น

 

บางครอบครัวเลือกใช้วิธีการกำหนดช่วงเวลาปลอดเทคโนโลยีขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการออกกฎหรือการเล่นเกมก็ตาม

อย่างเช่น กำหนดไปเลยว่าตั้งแต่เวลากี่โมงถึงกี่โมง ห้ามสมาชิกในครอบครัวหยิบดีไวซ์ของตัวเองขึ้นมาเล่นเด็ดขาด

ส่วนใหญ่ก็มักจะกำหนดกฎนี้ขึ้นมาในช่วงรับประทานอาหารด้วยกันนั่นแหละค่ะ

บางบ้านก็ให้ทุกคนเอาโทรศัพท์ของตัวเองไปใส่รวมกันไว้ในกล่อง หรือเอาไปวางไว้อีกห้อง (เพราะอย่าลืมนะคะว่าเราเคยคุยกันถึงผลวิจัยชิ้นหนึ่งที่ระบุว่าต่อให้เราใส่โทรศัพท์ไว้ในกระเป๋าหรือวางไว้ตรงหน้าแบบที่ไม่หยิบมาเล่นหรือไม่เปิดเครื่องเลยก็ตาม แต่การมีอยู่ของโทรศัพท์ใกล้ตัวเราก็ทำให้เราเสียสมาธิมากอยู่ดี)

การตกลงกันเพื่อวางดีไวซ์ของตัวเองลงก็จะทำให้ทุกคนมีสมาธิใส่ใจกับบทสนทนาระหว่างกันมากขึ้น

บางบ้านเปลี่ยนให้การสละโทรศัพท์กลายเป็นเกมการละเล่นเกมหนึ่งไปเลย เช่น ภายในเวลาหนึ่งชั่วโมงนับจากนี้ ใครหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเล่น คนนั้นจะต้องถูกลงโทษ อาจจะถูกสั่งให้จ่ายเงินค่าอาหารมื้อนั้นไปคนเดียวเต็มๆ หรือต้องถูกทำโทษอะไรฮาๆ บางอย่าง ก็จะทำให้การต้องยอมปล่อยโทรศัพท์ออกจากมือสนุกสนานขึ้น

และไม่ฝืนความรู้สึกมากจนเกินไป

 

อีกหนึ่งวิธีที่เว็บไซต์ Quartz แนะนำ ก็คือไหนๆ ก็ต้องใช้เทคโนโลยีกันทั้งสองฝ่ายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็นำเทคโนโลยีนี่แหละมาเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์เสียเลย

สิ่งที่หลานๆ สามารถทำได้ก็คือหยิบอุปกรณ์ของตัวเองออกมาไม่ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ต แล้วก็โชว์ให้ผู้ใหญ่ดูว่าแต่ละวันพวกเขาใช้อะไรบ้าง โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มไหนเป็นยังไง ชอบไม่ชอบอะไร แล้วก็ใช้โอกาสนี้สอนวิธีการใช้งานให้พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ดูไปด้วยเลย

เด็กอาจจะสอนผู้ใหญ่ว่าผู้ใหญ่จะใช้เทคโนโลยีช่วยสร้างความบันเทิงได้ยังไง แอพพ์ไหนถ่ายภาพสวย เน็ตฟลิกซ์คืออะไร เข้าไปดูยังไง

ถ้าจะวิดีโอคอลล์หาคนในครอบครัวต้องทำขั้นตอนอะไรบ้าง

ส่วนผู้ใหญ่ก็อาจจะแชร์ให้ฟังว่าในแต่ละวันพวกเขาใช้สมาร์ตโฟนทำอะไร ใช้แอพพ์อะไรใส่ข้อความ “สวัสดีวันจันทร์” ไว้ในภาพดอกไม้แสนสวย แล้วภาพดอกไม้นั่นล่ะไปเอามาจากไหน

หรือขอให้ลูกหลานช่วยสอนวิธีการตั้งค่า การสมัครใช้งานบริการต่างๆ ให้ กิจกรรมการพูดคุยกันแบบนี้ทำให้ฝ่ายวัยรุ่นไม่ต้องทิ้งเทคโนโลยีในมือตัวเอง ในขณะที่ผู้ใหญ่ก็ไม่รู้สึกถูกกีดกันออกมาจากโลกของลูกหลาน แต่ได้รับการต้อนรับให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในนั้นด้วย วินวิน อบอุ่นทั้งสองฝ่าย

หวังว่าวิธีที่พูดมาจะทำให้การรวมญาติกันในปีนี้ราบรื่นและสนุกสนานมากขึ้นนะคะ ส่วนตัวซู่ชิงมองว่าใครที่ติดโซเชียลมีเดียมากๆ ก็น่าจะใช้โอกาสนี้ในการฝึกตบะ ฝึกความอดทน ลดการใช้เฟซบุ๊กให้น้อยลง วางโทรศัพท์มือถือลงบ้างแล้วหันไปชื่นชมธรรมชาติสองข้างทาง หันไปมองหน้าพ่อแม่พี่น้องญาติๆ ที่อยู่ข้างๆ แล้วซึมซับความรักเข้าไปให้เต็มที่

เว้นแต่ญาติๆ มัวแต่ก้มหน้าดูโทรศัพท์อยู่เหมือนกัน ในกรณีนั้นก็ต้องยื่นบทความนี้ให้อ่านนะคะ