ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 ธันวาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | Cool Tech |
ผู้เขียน | จิตต์สุภา ฉิน |
เผยแพร่ |
Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน
Instagram : @sueching
Facebook.com/JitsupaChin
เทรนด์ปี 2024
ที่ HR ต้องเจอ
ปีนี้ทั้งปีเราได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับ AI ไม่ขาดสาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Generative AI ที่แทรกซึมเข้าไปอยู่ในทุกแวดวงทุกแง่มุมของการใช้ชีวิต เข้าไปช่วยอำนวยความสะดวกทั้งในเรื่องการศึกษา การทำงาน ไปจนถึงความบันเทิง นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมแพร่หลายรวดเร็วที่สุดอย่างหนึ่ง
ดังนั้น จึงพนันได้เลยว่าหากมีการคาดการณ์เทรนด์อะไรสักอย่างที่กำลังจะมาถึง เทคโนโลยีอย่าง Gen AI จะต้องไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแน่ๆ
Forbes ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับเทรนด์ HR หรือทรัพยากรบุคคลที่คาดว่าจะเป็นเทรนด์มาแรงในปี 2024 และ Gen AI ก็ได้รับการพูดถึงเป็นเทรนด์แรก
Generative AI อย่าง ChatGPT กลายเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ช่วยทำงานในหลากหลายรูปแบบ ซึ่ง Forbes มองว่าเทคโนโลยีนี้ก็จะมาช่วยฝ่าย HR ทำงานได้เยอะ คนทำงาน HR อาจจะโยนงานบางอย่างที่ทำเป็นกิจวัตร อย่างเช่น กระบวนการคัดสรรคน การพัฒนาบุคลากร การวางแผนกำลังคน หรืองานแอดมินฯ ต่างๆ ไปให้ Gen AI ทำแทน
Gen AI จะช่วยให้แผนก HR คัดสรรพนักงานที่เหมาะสมได้ดีขึ้น เว็บไซต์ McKinsey เคยทำพอดแคสต์ที่พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ โดยมีเนื้อหาว่า Gen AI จะช่วยให้หัวหน้างานสามารถเขียนคุณสมบัติของตำแหน่งที่ตัวเองต้องการได้ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม เนื่องจาก Gen AI เป็นเทคโนโลยีที่มีความโดดเด่นเรื่องการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและเรียบเรียงออกมาเป็นภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย มันก็จะสามารถเขียนประกาศรับสมัครงานโดยดึงเอาคุณสมบัติที่ตำแหน่งนั้นๆ ควรจะมีได้อย่างครบถ้วน
นอกจากการช่วยเขียนคุณสมบัติของตำแหน่งงานที่ต้องการแล้ว Gen AI ยังลงลึกกว่านั้น มันสามารถแนะแนวทางให้พนักงานได้พัฒนาตัวเองเพื่อให้ก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้ดีขึ้นด้วย
ที่ผ่านมาหากพนักงานมีทักษะแต่มองเห็นภาพไม่ชัดว่าตัวเองจะต้องทำอย่างไรจึงจะเพิ่มโอกาสทางด้านการงานให้สูงขึ้นได้ สิ่งที่พอจะทำได้ก็คือการคุยกับหัวหน้างานหรือคนที่มีประสบการณ์ให้ช่วยชี้แนะแนวทางให้ได้
แต่ในยุคที่มนุษย์สามารถพูดคุยปรึกษากับ Gen AI ได้แล้ว มันอาจจะให้คำแนะนำที่เราไม่ทันได้นึกถึงก็ได้
พนักงานสามารถคุยกับแชตบ็อตที่ฉลาดมากๆ ป้อนข้อมูลไปว่าตัวเองมีทักษะและประสบการณ์การทำงานที่โดดเด่นในด้านไหนบ้าง แล้วถามแชตบ็อตว่ามีอาชีพไหนที่น่าจะเหมาะสมกับตัวเองที่สุด
สิ่งที่แชตบ็อตทำได้ก็คือมันอาจจะตอบกลับมาว่าคนส่วนใหญ่ที่มีทักษะและโปรไฟล์แบบเดียวกันนี้เขาเลือกทำงานอะไรกันบ้าง
ถ้าเราฟังแล้วเจองานที่เราเริ่มสนใจ เราก็สามารถถามมันได้เลยว่าจะต้องเริ่มต้นที่ไหน ไม่ต้องคลำผิดคลำถูก เริ่มนับใหม่ตั้งแต่ศูนย์ เราอาจจะได้ไอเดียใหม่ๆ ได้ถอยมามองภาพที่กว้างขึ้นด้วยข้อมูลที่เราไม่เคยมีมาก่อน
ในที่สุดก็อาจจะค้นพบความเป็นไปได้ใหม่ๆ โดยที่มี Gen AI คอยแนะนำเราไปทีละขั้นๆ ราวกับเป็นที่ปรึกษาด้านอาชีพส่วนตัว
เทรนด์ HR ในปี 2024 จะไม่ได้หยุดอยู่แค่ Gen AI เท่านั้น แต่จะยังมีเครื่องมือเทคโนโลยีที่ทันสมัยอีกหลายอย่างให้แผนก HR ได้เลือกหยิบไปใช้ อย่างเช่น แพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบออนไลน์ เทคโนโลยีโลกเสมือนทั้ง AR และ VR ที่สามารถใช้ในการเทรนนิ่งพนักงานได้แบบสมจริง ลบข้อจำกัดเรื่องระยะทางทิ้งไป
เทรนด์ HR เทรนด์ต่อมาที่ Forbes ทำนายว่าจะมาแรงปีหน้าก็คือกลุ่มคนทำงาน Gen Z จะเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในขณะที่กลุ่มมิลเลนเนียลก็จะเริ่มขยับขยายขึ้นไปเป็นพนักงานอาวุโสหรือฝ่ายบริหารมากขึ้น
ความท้าทายของฝ่าย HR ก็คือจะต้องรับมือกับความคาดหวังที่แตกต่าง อย่างเช่น กลุ่ม Gen Z ก็จะมีความคาดหวังเรื่องวัฒนธรรมและชีวิตการทำงานที่แตกต่างจากพนักงานที่มีอายุมากกว่า
Gen Z อาจจะให้ความสำคัญเรื่องความสมดุลของชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวมากกว่า หรือมองว่าการเพิ่มพูนทักษะและความยั่งยืนเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าเมื่อเทียบกับพนักงานเจนก่อน
ปี 2024 พนักงานจะต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายสูง การอนุญาตให้พนักงานทำงานได้อย่างยืดหยุ่นอย่างการเลือกทำงานจากที่บ้าน หรือกำหนดเวลาทำงานได้เอง อาจจะเป็นข้อดีที่ดึงดูดให้คนเก่งๆ อยากมาทำงานกับองค์กร
แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะตามมาด้วยปัญหาบางอย่าง เช่น ไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้ ทีมเวิร์กไม่เข้มแข็ง หรือสื่อสารกันผิดพลาด ทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งที่ HR ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดในปีหน้า
หนึ่งในงานใหญ่ที่ทีม HR จะต้องเจอในปี 2024 ก็คือจะต้องช่วยกันพิจารณาว่าทักษะอะไรบ้างที่จะเป็นทักษะสำคัญที่ต้องเพิ่มพูนให้กับพนักงานเพื่อให้รับมือกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี อย่าง Gen AI ได้ทัน ซึ่งก็จะต้องเริ่มจากการเข้าใจก่อนว่า AI จะส่งผลอย่างไรต่อบทบาทที่พนักงานที่เป็นมนุษย์ทำอยู่ในตอนนี้ และจะเพิ่มทักษะด้านไหนเพื่อให้แรงงานมนุษย์ทำในสิ่งที่แมชชีนทดแทนไม่ได้
และที่ฉันคิดว่าน่าสนใจดีก็คือ HR จะต้องหาวิธีสื่อสารกับพนักงานเพื่อให้เห็นคุณค่าของการกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ
ช่วงโควิดระบาด การทำงานจากที่บ้านเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด และเมื่อสถานการณ์ค่อยๆ คลี่คลาย เราก็ได้ยินการเสนอรูปแบบทำงานไฮบริดที่ผสมผสานระหว่างการทำงานที่บ้านกับการทำงานที่ออฟฟิศ จนกระทั่งสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ บริษัทใหญ่ๆ เริ่มเรียกพนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศอย่างเต็มตัว
นำมาสู่การประท้วงจากพนักงานที่คุ้นเคยกับการทำงานนอกออฟฟิศไปเสียแล้ว
Forbes จึงสรุปว่าหน้าที่ของ HR ในปีหน้าก็คือการทำให้พนักงานเห็นคุณค่าของการขับรถออกจากบ้านในตอนเช้าว่าไม่ใช่การลงทุนที่เสียเปล่า การจะทำแบบนี้ไม่ได้แปลว่าต้องซื้อเฟอร์นิเจอร์เก๋ๆ หรือหาเก้าอี้บีนแบ็ก โต๊ะปิงปอง มาวางไว้ที่ออฟฟิศ แต่ทำได้ด้วยการพิสูจน์ให้พนักงานเห็นว่าการมาทำงานด้วยกันที่ออฟฟิศนั้นก่อให้เกิดมูลค่าได้จริง การทำงานอยู่ในสถานที่เดียวกันจะทำให้ได้ประสิทธิผลดีขึ้น มีทีมเวิร์กที่ดีขึ้น และได้พัฒนาอาชีพรวมถึงความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานให้ดีขึ้น HR จะต้องแสดงให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการประชุมออนไลน์กันเพียงอย่างเดียว
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างบางเทรนด์ที่ Forbes ได้คาดการณ์เอาไว้ แต่ฉันคิดว่ามันทำให้เราได้เห็นภาพรวมว่าปีหน้าจะเป็นปีที่เทคโนโลยีส่งผลต่อรูปแบบการทำงานของ HR ในทุกๆ ด้าน มีทั้งที่ส่งเสริมให้ทำงานได้ง่ายขึ้น และมีทั้งที่เป็นความท้าทายที่ต้องเตรียมแก้ไขและรับมือ
ส่วน AI จะส่งผลอย่างไรต่อแรงงานที่เป็นมนุษย์ในอนาคตก็คงยังไม่มีใครบอกได้ แต่ก็เชื่อว่าเราจะค่อยๆ ได้เห็นผลกระทบกันมากขึ้นในปี 2024 นี่แหละ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022