ปี 2567 สังคมเปลี่ยน…แต่หนี้สินยังคงอยู่ ครอบครัวคนเดียว | มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

ความหมายเดิมครอบครัว คือ บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปที่ใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภริยา หรือมีความผูกพันทางสายโลหิต หรือทางกฎหมาย หรือเกี่ยวดองเป็นเครือญาติ มี 2 ประเภทคือ

1. ครอบครัวเดี่ยว คือ ครอบครัวที่ประกอบด้วยบุคคลที่ใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภริยา อาจมีหรือไม่มีบุตร พ่อหรือแม่อยู่กับบุตร หรือพี่น้องหรือญาติไม่เกินสองรุ่นใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน

2. ครอบครัวขยาย คือ ครอบครัวที่ประกอบด้วยบุคคลตั้งแต่สามรุ่นขึ้นไป หรือครอบครัวเดี่ยวสองครอบครัวขึ้นไปที่มีความผูกพันทางสายโลหิต หรือเกี่ยวดองเป็นเครือญาติ ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน และอาศัยอยู่ในบ้านหรือบริเวณเดียวกัน

แต่ปัจจุบันกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เพิ่มเติมในส่วนของครัวเรือนที่มีคนเดียว เพราะนับวันจะมีมากขึ้น ปี 2565 นับได้ 7 ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.1 ของครัวเรือนทั้งหมด เพิ่มขึ้นอย่างมากจากร้อยละ 16.4 ในปี 2555

Euromonitor ระบุว่า ครัวเรือนคนเดียว คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 ภายในปี 2573

 

Solo Economy

สภาพัฒน์ได้ให้ข้อมูลว่า Solo Economy หรือเศรษฐกิจของครัวเรือนที่อาศัยอยู่คนเดียว (single person household) เป็นเศรษฐกิจรูปแบบหนึ่งที่กำลังขยายตัวอย่างมากทั่วโลก ส่งผลให้ธุรกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเริ่มปรับตัวเพื่อผลิตสินค้าและบริการให้ตอบสนองต่อคนกลุ่มนี้มากขึ้น โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการใช้จ่ายที่คิดเป็นมูลค่าสูงกว่าคนกลุ่มอื่น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย (2563) คาดว่าครัวเรือนคนเดียวจะมีการใช้จ่ายกว่า 1.4 ล้านล้านบาทต่อปี

สอดคล้องกับข้อมูลของ Euromonitor ที่ระบุว่า ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนคนเดียวสูงที่สุดในเอเชียแปซิฟิก

จึงไม่น่าแปลกที่ปัจจุบันคนหันมาอยู่คอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น และก็มีคนที่เลี้ยงหมาเลี้ยงแมว ปลูกต้นไม้มากขึ้น หรือออกเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้จึงสามารถขยายตัวได้เช่นเดียวกับการทำประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพ เพราะคนที่อยู่คนเดียวก็รู้สึกว่าจะไม่มีใครมาดูแลตัวเองในยามที่มีปัญหา

ในขณะที่สังคมไทยมีผู้สูงวัยมากถึง 20% ดังนั้น จากนี้ไปในสังคมไทยเราจะพบกับคนชราที่อยู่ในสภาพโดดเดี่ยวจำนวนมาก มีผู้ที่หาเลี้ยงตัวเองไม่พอในวัยชรา คนสูงอายุที่ซึมเศร้า และสุดท้ายก็จะพบที่อยู่อาศัยหรือบ้านร้างจำนวนมากที่ไม่มีผู้รับการสืบทอด ซึ่งปัจจุบันนี้ก็เริ่มได้เห็นในต่างจังหวัดหลายแห่งแล้วเนื่องจากลูกหลานซึ่งมีไม่กี่คนเข้ามาทำงานในกรุงเมืองใหญ่และไม่มีใครกลับไปอยู่บ้านเดิม

ไม่ว่าจะอยู่เดี่ยว หรือรวมหมู่ คนรวยรอดแน่ แต่คนจนเป็นหนี้

 

หนี้ครัวเรือนยังคงอยู่คู่กับครัวเรือน

ข้อมูลประกอบ

1. ไตรมาส 2 ปี 2566 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.07 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับปี 2565 และถ้าเทียบกับ GDP ก็อยู่ที่ร้อยละ 90.7 (อัตรานี้เคยพุ่งสูงสุดเมื่อปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 94.7)

2. บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) แจ้งว่าหนี้เสียในประเภทรถยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม GEN Y พบว่า ใช้วิธีผ่อนค่างวดรถแบบเลี้ยงหนี้ หรือค้างค่างวดรถ 1-2 งวด และกลับมาชำระ 1 งวด เพื่อเลี้ยงหนี้ไม่ให้เป็นหนี้เสียจนถูกยึดรถ

ไตรมาสแรกปี 2566 กลุ่ม GEN Y มีสัญญาที่ได้รับอนุมัติจำนวน 600,000 บัญชี แต่ 50% เป็นกลุ่มที่จ่ายค่างวดเลี้ยงหนี้มากที่สุด

ขณะที่กลุ่ม GEN X มีจำนวน 400,000 บัญชี โดย 50% หรือ 200,000 บัญชี เป็นหนี้เสียแล้ว

ตัวเลขของทั้ง 2 กลุ่ม GEN มีความเสี่ยงว่าในอีก 4 เดือนข้างหน้า จะมีลูกหนี้ถูกยึดรถรวม 1,000,000 คัน

3. หนี้นอกระบบ เป็นหนี้ครัวเรือนที่ไม่มีตัวเลขชัดเจน ประเมินกันว่าอาจมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท ตอนนี้ยังต้องจัดทำฐานข้อมูลและระบบ จัดกลุ่มลูกหนี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา โดยการไกล่เกลี่ยระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ อัตราดอกเบี้ยนั้นจะต้องไม่เกิน 15% ต่อปี ให้ธนาคารของรัฐปล่อยกู้ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ

สนับสนุนให้เจ้าหนี้นอกระบบ เข้ามาอยู่ในระบบ ผ่านการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ภายใต้ พิโกไฟแนนซ์

 

รัฐบาลเสนอมาตรการแก้หนี้แต่ละกลุ่ม

12 ธันวาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล เรื่องการจัดการหนี้ทั้งระบบ โดยสรุปมีการแบ่งลูกหนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

ลูกหนี้ในกลุ่มที่ 1 คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

กลุ่มนี้โดยปกติจะมีประวัติการชำระหนี้ดีมาโดยตลอด แต่สถานการณ์โควิดทำให้ธุรกิจต้องสะดุดหยุดลง ขาดสภาพคล่อง จนไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้

กลุ่มนี้จะต้องได้รับการช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้เสีย

หรือได้รับการพักชำระหนี้เพื่อผ่อนปรนภาระเป็นการชั่วคราว โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในกลุ่มนี้ ได้ประมาณ 1.1 ล้านราย

ส่วนลูกหนี้ SMEs สถาบันการเงินของรัฐจะเข้าไปช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs ที่อยู่กับแบงก์รัฐ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs เหล่านี้ได้ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 99 ของจำนวนลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียในกลุ่มนี้ นับเป็นจำนวนกว่า 100,000 ราย

สำหรับกลุ่มที่ 2 คือ ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพ โดยอาจจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อยได้แก่

กลุ่มข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร ที่มักจะมีหนี้กับสถาบันการเงิน

– ลดดอกเบี้ยสินเชื่อไม่ให้สูงจนเกินไป โอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ในที่เดียว เช่น ที่สหกรณ์ เพื่อให้การตัดเงินเดือนนำมาชำระหนี้ทำได้สะดวก และสอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้

2. กลุ่มที่เป็นหนี้บัตรเครดิต ปรับโครงสร้างหนี้ ผ่อนได้ยาวถึง 10 ปี ลดดอกเบี้ยจาก 16-25% เหลือ 3-5%

สำหรับลูกหนี้กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง เช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อ และลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กลุ่มนี้จะได้รับการช่วยเหลือ โดยการพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว การลดดอกเบี้ย หรือลดเงินผ่อนชำระในแต่ละงวดให้ต่ำลง เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้เกษตรกร ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน รัฐบาลได้มีโครงการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรแล้ว โดยพักทั้งหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งโครงการนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมการพักหนี้กว่า 1.5 ล้านราย เป็นต้น

สำหรับลูกหนี้กลุ่มที่ 4 กลุ่มนี้เป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐ มาเป็นระยะเวลานาน กลุ่มนี้จะโอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินของรัฐ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น คาดว่ามาตรการนี้จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 3 ล้านราย

แต่การพักหนี้จะไม่สามารถลดหนี้ได้ ตราบใดที่รายได้ของลูกหนี้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายและพวกเขาจะก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้น การสร้างงานสร้างรายได้ต่างหากที่เป็นหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหา

 

อยากจะให้กำลังใจแก่ทุกคนในปี 2567 ว่า…รูปแบบการใช้ชีวิตของคนในสังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนไปตามยุคสมัยซึ่งมีแรงผลักดันจากเทคโนโลยีที่เป็นเครื่องมือในการผลิต และการสื่อสาร ทำให้รูปแบบการค้าและการเงิน การคลังเปลี่ยนตาม แม้แต่มิจฉาชีพ ยังต้องเปลี่ยนตาม

การมีหนี้สินในยุคนี้จึงเป็นเรื่องปกติ ในโลกนี้คนส่วนใหญ่เป็นหนี้ เพราะเราอยากใช้จ่ายหรือลงทุนมากกว่าที่เรามีอยู่หรือหามาได้

การเป็นหนี้ไม่ใช่บาป ไม่ใช่ความผิด มันเป็นเพียงภาระที่เพิ่มขึ้นเหมือนแบกของหนักอยู่บนหลัง แต่ชีวิตเราจะต้องก้าวเดินต่อไป

อย่าไปทำบาปหรือความผิดเพิ่มขึ้นเพื่อปลดหนี้เด็ดขาด