ประเทศไทยถึงเวลา “ปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน” แล้วหรือยัง?

ใกล้เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ บทความนี้เป็นบทความส่งท้ายปี 2566 ก่อนที่จะพบกันใหม่อีกครั้งในปี 2567 ในโอกาสนี้ขอสวัสดีปีใหม่ท่านผู้อ่านทุกท่านล่วงหน้าครับ

เข้าเดือนธันวาคม ช่วงฤดูหนาวของไทย หลายๆ ท่านเดินทางพักผ่อนต่างจังหวัดเพื่อดื่มด่ำอากาศในช่วงฤดูหนาว หวังว่าจะหนาวยาวนานให้หายเครียดจากเศรษฐกิจปี 2566 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป

กลับมาสู่เรื่องร้อนๆ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. มีมติเห็นชอบให้ปรับค่าเอฟที (Ft) ขายปลีกไฟฟ้า สำหรับงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 เป็น 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น 69.07 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยทุกประเภทจะอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ฟังปุ๊บหายหนาวเลย ร้อนถึงท่านนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ประกาศชัดเจนว่า “รับไม่ได้” ค่าไฟ 4.68 บาทต่อหน่วย “แพงไป”

 

นโยบายลดรายจ่ายภาคครัวเรือน เป็นหนึ่งในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งการลดค่าไฟฟ้าและพลังงานเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของนโยบายนี้ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น นโยบายนี้ช่วยให้หนี้ภาคครัวเรือนไม่ปรับสูงขึ้น เป็นการพยุงเศรษฐกิจ ถือได้ว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว

แต่นโนบายอุดหนุนราคาพลังงานในรูปแบบดังกล่าว แก้ไขปัญหาวิกฤตราคาพลังงานได้แค่ชั่วคราว หรือระยะเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 2 ปี เนื่องจากต้องใช้งบประมาณแผ่นดินอุดหนุนราคาพลังงาน หนีไม่พ้นที่จะถูก ส.ส.ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายในประเด็นนี้

หากทำยาวนานมาก ตัวเลขงบประมาณที่ใช้ในการอุดหนุนราคาพลังงานจะสูงขึ้นจนเป็นที่น่ากังวล

ท้ายที่สุดรัฐบาลก็จำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างพลังงานเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของราคาพลังงานในระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

พลังงานของไทย ผู้เขียนแบ่งหลักๆ ตามที่ท่านผู้อ่านใช้ในชีวิตประจำวันเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ เชื้อเพลิงในชีวิตประจำวัน และไฟฟ้า ซึ่งทั้งสองส่วนเป็นเสมือนปัจจัยที่ 5 จำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิต

ด้านเชื้อเพลิงในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ก๊าซหุงต้ม และเชื้อเพลิงสำหรับการคมนาคมขนส่ง ซึ่งประเทศไทยมีกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ จึงจำเป็นต้องมีการนำเข้าทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ

ในด้านเชื้อเพลิงนี้ รัฐบาลมีการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลทุกยุคทุกสมัย โดยกดไม่ให้ราคาน้ำมันดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ให้กระทบภาคธุรกิจขนส่ง ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงอยู่ในระดับ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ด้านราคาเชื้อเพลิงในชีวิตประจำวันจึงยังไม่น่ากังวลนัก

หากรัฐบาลจะเดินหน้าหาแหล่งพลังงานใหม่เพื่อให้โครงสร้างราคาเชื้อเพลิงในประเทศถูกลง คงหนีไม่พ้นการเจรจากับกัมพูชาเพื่อร่วมมือพัฒนาและขุดเจาะสำรวจแหล่งพลังงานใหม่ในเขตที่ยังพิพาทกัน หรือ “พื้นที่ทับซ้อน” แต่เรื่องนี้มิใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องที่ยากและใช้เวลายาวนาน

ด้านไฟฟ้า หากจะเล่าถึงโครงสร้างไฟฟ้าของไทย ต้องขอเล่าย้อนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

 

เดิมทีประเทศไทยนั้น รัฐบาลเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าให้แก่ประชาชนเพียงผู้เดียว ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลต้องเร่งลงทุนขยายโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หลายแห่ง โดยส่วนใหญ่ใช้ถ่านหินและน้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งต่อมามีความกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า ส่วนหนึ่งเนื่องจากไทยมีแหล่งก๊าซธรรมชาติ เป็นการลดการนำเข้าถ่านหิน-น้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างชาติและลดปัญหามลพิษ

ต่อมาในปี 2537 มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นตามการชยายตัวของเศรษฐกิจ รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายให้เอกชนสามารถลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าได้เพื่อลดภาระของรัฐบาลในการลงทุนโรงไฟฟ้า เนื่องจากโรงไฟฟ้าต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก จึงเปิดโอกาสให้เอกชนลงทุนแทน แต่ให้ขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เท่านั้น

นโยบายนี้ประหยัดงบประมาณประเทศ ทำให้มีเงินไปพัฒนาด้านอื่น และในขณะเดียวกันเอกชนก็สามารถลงทุนได้ทันต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า ไม่เกิดปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าแบบประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

ซึ่งเอกชนที่ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า ได้รับสัญญารับซื้อไฟฟ้าขนาดใหญ่จากรัฐบาล เป็นระยะเวลา 25 ปี

จุดนี้เองที่ทำให้เอกชนมีโอกาสขาดทุนได้น้อย เพราะสัญญายาวนานถึง 25 ปี เปรียบเสมือนสัญญาสัมปทานให้เอกชนที่ลงทุนผลิตไฟฟ้าได้ และรัฐบาลรับซื้อทั้งหมดที่ผลิตได้ตามปริมาณที่สามารถส่งเข้าระบบตามที่กำหนดในสัญญารับซื้อไฟฟ้า

นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องจ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย” ซึ่งค่าความพร้อมจ่ายนี้เป็นเสมือนการรับประกันรายได้ของเอกชนผู้ลงทุน

ดังตัวอย่างในปี 2563 ที่อยู่ในช่วงโรคระบาดโควิด-19 ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เดินเครื่องเพียง 35% ของกำลังการผลิตสูงสุด แต่ กฟผ.ยังต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่าย ให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้า เป็นการขจัดความเสี่ยงของผู้ลงทุนโรงไฟฟ้าอีกประการหนึ่ง

อีกตัวช่วยหนึ่ง คือ ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที (Ft) เป็นสิ่งรับประกันว่าผู้ผลิตไฟฟ้าจะไม่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนแปลงไป ในช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงขึ้นราคา ราคารับซื้อไฟฟ้าก็จะปรับสูงขึ้นตาม ในช่วงราคาเชื้อเพลิงลดลง ราคารับซื้อไฟฟ้าก็จะลดลงเช่นกัน

ทั้งสามปัจจัยนี้ ทำให้ผู้ลงทุนโรงไฟฟ้าแทบจะไม่มีโอกาสขาดทุนเลย เพราะรัฐบาลรับความเสี่ยงแทนทั้งสิ้น

 

ปัจจุบันค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4-5 บาทต่อหน่วย แต่ราคาที่ กฟผ.รับซื้อจากเอกชนอยู่ที่ 2-3 บาทต่อหน่วย ขึ้นกับต้นทุนที่เอกชนแต่ละรายใช้ผลิต ซึ่งจากนโยบายนี้ทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าขาดการแข่งขันกันเพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เพราะรัฐบาลรับซื้อตามต้นทุนของเทคโนโลยีที่ใช้ผลิต และ กฟผ.เองก็ทำตัวเป็นพ่อค้าคนกลาง แม้จะมีการเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าแต่ก็ต้องจำหน่ายไฟฟ้าให้ กฟผ.อยู่ดี

หากรัฐบาลยกเลิกไม่ให้ กฟผ.ผูกขาดการรับซื้อและจำหน่ายไฟฟ้าเพียงรายเดียว แต่ปฏิรูปโครงสร้างให้ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นผู้บริหารโครงข่ายไฟฟ้า หรือ National Power Transmission Grid แล้วเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถประมูลราคาไฟฟ้าเพื่อส่งเข้าโครงข่าย

เปิดโอกาสให้เอกชนมีการแข่งขันอย่างเสรีตลอดเวลา ตามปริมาณการใช้งานไฟฟ้าขณะนั้นๆ โดยไม่ต้องผ่านคนกลางอย่าง กฟผ. จะสามารถทำให้ราคาไฟฟ้าลดลงได้อย่างมาก

ส่วนตัวผมเชื่อว่าลดลงได้ 20-30% แน่นอน ซึ่งการประมูลจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อส่งเข้าโครงข่ายมีการใช้นโยบายนี้แล้วหลายประเทศในยุโรป

หากประเทศไทยเลือกใช้นโยบายประมูลจำหน่ายไฟฟ้ารายวัน ปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าในภาคใต้ และปัญหาลาวขายไฟฟ้าให้สิงคโปร์ผ่านไทย ก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป และไทยก็ไม่ต้องขัด MOU เรื่องอาเซียน เพาเวอร์ กริด (Asean Power Grid : APG) อีกด้วย

ประเทศไทยถึงเวลาปฏิรูปโครงสร้างพลังงานแล้วหรือยัง?