กษัตริย์กลับมาพร้อมกับความพ่ายแพ้ หลังจากไปต่อสู้กับกษัตริย์ของฝ่ายใต้

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
หอพระแก้วเวียงจันทน์

ระหว่างเดินชมพระพุทธรูปจำนวนมากที่เรียงรายรอบระเบียงพระอุโบสถวัดสีสะเกด หลวงพระบาง สปป.ลาว ซึ่งบัดนี้ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว

ลูกสาวถามว่าทำไมเอาพระพุทธรูปมาตั้งตรงบริเวณนี้มากมาย

เราไปดูแผ่นป้ายอธิบาย บอกว่าการรวบรวมพระพุทธรูปจำนวนมากนี้ทำขึ้นหลังจากถูกโจมตีจาก “ประเทศข้างเคียงเขตแดน”

ผมถามลูกสาวว่ารู้ไหมว่า “ประเทศข้างเคียง” นี้คือใคร

จากนั้นผมจึงพยายามอธิบายความเป็นมาของสัมพันธภาพระหว่างสองประเทศที่ว่านี้ ทำให้รู้ว่าความรู้ในประวัติศาสตร์ลาวของผมก็ไม่แข็งแรงเลย

ยิ่งเมื่อต้องอธิบายมูลเหตุของการรบพุ่งต่อสู้กันอย่างดุเดือดระหว่างสองแผ่นดิน ยิ่งยากขึ้นไปอีก มันไม่เหมือนการเล่าเหตุการณ์ ซึ่งเรามักรับจากประวัติศาสตร์ชาวบ้านและประวัติศาสตร์ทางการ ที่ง่ายต่อการรับรู้ แต่ไม่ค่อยง่ายในการทำให้เกิดความเข้าใจ แบบที่สมัยนี้กำลังตื่นตูมและอ้างกันเกร่อไป คือความรู้แบบวิพากษ์ คิดอย่างวิพากษ์

นั่นคือนอกเหนือจากการที่กษัตริย์หรือเจ้าชีวิตของลาวต้องการ “กบฏ” ต่อสยาม จนนำไปสู่การนำทัพเข้ามาโจมตียึดครองเมืองในอีสานถึงโคราช

จนในที่สุดมีสตรีผู้นำลุกขึ้นจัดกำลังต่อต้านการบุกของเจ้าอนุวงศ์ จนสามารถขับไล่ข้าศึกให้ถอยพ่ายออกไป ทำให้ไทยได้วีรสตรีสามัญชนคนแรกคือคุณหญิงโมหรือท้าวสุรนารี (ซึ่งหลักฐานลาวไม่มีพูดถึงเลย) ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทยแล้ว

อะไรคือมูลเหตุที่ทำให้เจ้าอนุวงศ์แห่งอาณาจักรเวียงจันทน์คิดและทำการกบฏต่อกรุงสยาม

หนังสือประวัติศาสตร์ลาวเล่มที่ผมค้นคว้าขณะนี้เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ลาวรุ่นใหม่ ดร.มะยุรี เหง้าสีวัทน์ และ ดร.เผยพัน เหง้าสีวัทน์ (Mayoury Ngaosyvathn and Pheuiphanh Ngaosyvathn, Paths to Conflagration : Fifty Years of Diplomacy and Warfare in Laos, Thailand, and Vietnam, 1778-1828, Cornell University SEAP, 1998)

ผู้เขียนทั้งสองตระหนักดีถึงอิทธิพลของประวัติศาสต์ชาติไทยที่มีเหนือประวัติศาสตร์เพื่อนบ้านทั้งหลาย แม้เขาไม่ระบุตรงๆ ว่ามันคืออคติของประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย แต่ผมพูดแทนเอง

เขาอ้างถึงหลักฐานของฝ่ายลาวเองโดยเฉพาะหลังจากค้นพบ “จดหมายเหตุย่อเมืองเวียงจันทน์” ที่ได้จากหอพระแก้ว ซึ่งวรรคสุดท้ายที่ทำให้รู้สึกถึงความเจ็บปวดในหัวใจเมื่อมันจบด้วยข้อความว่า “กษัตริย์ทรงกลับมาพร้อมกับความพ่ายแพ้หลังจากออกไปทำการรบกับกษัตริย์แห่งแดนทางใต้”

ทำให้การอธิบายถึงมูลเหตุเบื้องหลังวิเทโศบายของ “พระเจ้าอนุรุธราช พระเจ้าล้านซ้างร่มขาวเวียงจันทน์” (พระนามเต็ม) ใกล้เคียงความเป็นจริงตามที่ได้เกิดขึ้นในอดีต

 

เริ่มด้วยการที่ผู้เขียนแนะให้มองถึงบริบทของการเมืองระหว่างรัฐในสมัยนั้นที่ไม่ได้ดำเนินไปในสุญญากาศ

หากแต่เคลื่อนไปตามตรรกะของคติความเชื่อ ภูมิรัฐศาสตร์ของอาณาจักรในบริเวณนี้คือ สยาม ลาวและเวียดนาม ที่มีความสัมพันธ์ร่วมกันอย่างแยกไม่ออกภายใต้ระบบบรรณาการของรัฐจารีต

นั่นคือบริบทของสงครามระหว่างลาวกับไทยในปี ค.ศ.1827 (พ.ศ.2370) ที่ก่อเกิดขึ้นภายในระบบการปกครองระหว่างเมืองหรือรัฐต่างๆ ในอุษาคเนย์แต่โบราณนั้น ที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า “ระบบมณฑล” หรือ mandala

กล่าวคือ บรรดารัฐและผู้นำเหล่านั้นได้ศึกษาบทเรียนจากการอยู่ร่วมกันในอดีตแล้วพบว่ามีวิธีการในการทำให้พื้นที่ทางการเมือง (คือรัฐและอาณาจักรต่างๆ) นั้นเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายมากที่สุดด้วยการทำตามทฤษฎีมณฑลนี้

ในแนวคิดทฤษฎีนี้ทุกๆ รัฐและเมืองต่างเป็นส่วนหนึ่งหรือสมาชิกหนึ่งของระบบนี้หรือระบบที่เกี่ยวพันกัน ไม่มีใครสามารถอยู่รอดได้คนเดียวโดยไม่สนใจเพื่อนบ้านอื่นๆ

ความเป็นอิสระที่ได้มาจากการเป็นกลางอย่างแท้จริงนั้นไม่มี มันไม่อาจดำรงอยู่ได้ในโลกของความเป็นจริง

หากแต่รัฐที่เป็นสามนตราชหรือรัฐบรรณาการต่างหากที่อาจมี “นโยบายต่างประเทศ” ที่เป็นกลางได้ โดยต้องแลกกับการเสียสิทธิบางอย่างของตนไปให้แก่รัฐที่ใหญ่กว่า

กษัตริย์รักษาตนอยู่ในวังวนของชีวิตที่หลากหลายได้ด้วยการใช้ประโยชน์จากองค์ประกอบและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในระบบให้ได้มากที่สุด การสร้างพันธมิตรระหว่างรัฐต่างๆ ก็เป็นผลมาจากการที่รัฐเหล่านั้นอยู่ในภูมิศาสตร์แบบไหน (O.W. Wolters, 2008)

นักประวัติศาสตร์ไทยทุกรุ่นจากรุ่นใหญ่ถึงน้อยพากันอธิบายเหมือนกันว่า ศึกเจ้าอนุหรือสงครามระหว่างลาวไทยนั้นมาจากความไม่ดี และความหลงผิดด้วยโทสจริตหรือโมหจริตของกษัตริย์และผู้นำลาวจนทำให้คาดการณ์ผิดพลาดไป

จนถึงนำกองทัพมาบุกกรุงสยามที่เหนือกว่าในทุกๆ ทางอย่างไม่น่าเชื่อ (เหมือนกับการก่อการของฮามาสในกรณีวันที่ 7 ตุลาคมนี้)

 

ผมขออ้างการศึกษาของปรมาจารย์ใหญ่แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนลในประวัติศาสตร์โบราณของอุษาคเนย์ โอ.ดับเบิลยู. วอลเตอร์ (ซึ่งสุพจน์ แจ้งเร็ว เล่าให้ผมฟังว่าแกสาบานจะไม่สอนประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ในยุคล่าอาณานิคมที่แกชิงชังยิ่งนักจากการเป็นทหารอังกฤษที่ไปรบในมลายา) ที่สรุปลักษณะร่วมของการเมืองในภูมิภาคนี้ว่า

ประการแรก คือความสำคัญของเวลาที่เป็นปัจจุบัน อดีตสำคัญเมื่อมันทำให้ปัจจุบันมีความหมายขึ้น ไม่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นค่อยไปอย่างวิวัฒนาการ

ประการต่อมา เมื่อเวลาปัจจุบันสำคัญ จึงให้ความสำคัญแก่การปรับรับและใช้ความชำนาญในเครื่องมือหรืออื่นๆ จากทุกที่ ไม่ว่าจากการค้าแลกเปลี่ยนกับภายนอกหรือจากภายในอุษาคเนย์เอง เพื่อให้ทันสถานการณ์ร่วมสมัยได้

นี่ทำให้เป็นลักษณะของนักปฏิบัติหรือนักทำมากกว่านักคิดทฤษฎี

การทำให้ความคิดทันสมัย ทำให้อุษาคเนย์ต้องสามารถมองเห็นตัวเองในโลกใหญ่ได้ด้วย

โลกใหญ่อันแรกได้แก่โลกศาสนาพราหมณ์ (ศ.ที่ 5) ในโลกทัศน์ฮินดูนี้ ศูนย์กลางอาจอยู่ที่ไหนก็ได้ ตามแต่ใครจะอ้าง ซึ่งมักอยู่ในที่ที่ซึ่งผู้อ้างอาศัยอยู่

การเน้นที่วัฒนธรรมในตัว “บุคคล” และ “ความสำเร็จ” มากกว่าที่กลุ่มและฐานะของความเป็นทายาท มีแนวโน้มที่จะลดการอ้างถึงฐานะตามโคตรตระกูล มีการตรวจสอบผู้นำในทุกเวลาและทุกรุ่น รัฐบาลไม่ใช่เรื่องของสถาบันที่ซับซ้อน แต่เป็นระบบราชการแบบสบายๆ (relaxed unbureaucratic style of public life) ความสำคัญอยู่ที่การจัดการของแต่ละคน การจัดพิธีกรรม

ดังนั้น คุณสมบัติส่วนตัวของการนำจึงสำคัญยิ่ง ไม่จำเป็นต้องถามว่า รัฐบาลเข้มแข็งหรืออ่อนแอ คิดผิดหรือคิดถูก

ประการสุด ท้ายคือกำลังคนเป็นแหล่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญของผู้นำ และจำเป็นยิ่งสำหรับการหาส่วนเกินมาสนับสนุนราชสำนัก งานส่วนรวม การทหารและอื่นๆ และการค้าต่างประเทศ ผู้นำต้องป้องกันภัยอันตราย ป้องกันศาสนา เข้าถึงได้ด้วยการเป็นตัวเชื่อมประสานเมื่อเกิดความขัดแย้ง การได้ความมั่งคั่งจากการค้าถือเป็นสิทธิอย่างหนึ่งของผู้นำ

 

หากนำเอาคุณสมบัติของผู้นำในอุษาคเนย์โบราณดังกล่าวมาอธิบายวิเทโศบายและการปฏิบัติระหว่างลาวภายใต้เจ้าอนุวงศ์ที่มีต่อกรุงสยาม ก็จะทำให้มองเห็นภาพลักษณ์ของกษัตริย์ชนชั้นปกครองลาวในอีกทรรศนะที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากวาทกรรมประวัติศาสตร์ไทยที่มีต่อลาว

ในมุมมองใหม่นี้ เจ้าอนุวงศ์ดำเนินตามคติพุทธของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นราชาธิราชและจักรพรรดิราชทุกประการ ทว่า ปัญหาของรัฐเล็กที่อยู่ระหว่างรัฐใหญ่สองรัฐ (สยามกับเวียดนาม) คือความลำบากและละเอียดอ่อนที่ในที่สุดเป็นปัจจัยชี้ขาดการดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระของตนเองลงไป

การเป็นอิสระของรัฐบรรณาการนั้นอยู่ที่การสร้างอาณาจักรของตนให้เข้มแข็งและมีพละกำลังพอจะต่อกรกับรัฐใหญ่กว่าได้

นั่นคือความพยายามของเจ้าอนุวงศ์ในการเกลี้ยกล่อมเจ้าหลวงพระบางให้มาเข้ากับเวียงจันทน์ และเมื่อเจ้าราชบุตร (โย้) ผู้เป็นโอรสได้ไปครองจำปาศักดิ์ด้วยความสนับสนุนของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ต่อมาคือพระนั่งเกล้าฯ) ในขณะที่เจ้านายอื่นไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าควรให้เมืองนครราชสีมาปกครองไปถึงเมืองจำปาศักดิ์จะดีกว่า จะทำให้ลาวแข็งแกร่งมากเกินไป นั่นเป็นบันไดขั้นแรกของการบรรลุการเป็นพระจักรพรรดิราชหรือในภาษาสมัยใหม่ว่าคือ “เป็นเอกราช”

ปัจจัยที่นักประวัติศาสตร์ไทยไม่อ้างถึงเลยคือปัญหากำลังคนที่ไทยกวาดต้อนลงมาจากสงครามศึกกรุงธนบุรีมาถึงการใช้แรงงานลาวไปขุดคลองคราวก่อสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ต้นรัชกาลที่ 1 และขนซุงมาทำฐานเตาหม้อพระเจดีย์กลางน้ำ

เจ้าอนุวงศ์เห็นถึงความยากลำบากของคนลาวเหล่านั้น จึงออกปากขอต่อรัชกาลที่ 3 ว่าจะนำกลับไปเวียงจันทน์ แต่ไม่ได้รับอนุญาต หลักฐานไทยอ้างว่าเพราะเกรงว่าพวกลาวหากกลับไปอาจคิดก่อการกำเริบได้

หลักฐานฝ่ายลาวปรากฏในเพลงลาวแพนที่ประพันธ์ขึ้นสมัยนั้น เล่าว่า “…ฝ่ายพวกเฮา (ลาว)เป่าแคนแสนเสนาะ มาสะเพาะเข้ากับแคนแสนขยัน เป็นใจความยากยากจากเวียงจันทน์ ตกมาอยู่เขตขันธ์อยุธยา อีแม่คุณเอ๋ยเฮาบ่เคยตกยากตกระกำลำบากแสนยากนี้หนักหนา พลัดทั้งที่กินถิ่นฐาน พลัดทั้งบ้านเมืองมา…”

กลายเป็นเพลงต้องห้ามไปในประเทศไทยสมัยรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

 

ทุกครั้งที่ความพยายาม “ก่อการ” ของเจ้าอนุวงศ์ล้มเหลว ก็กลับไปหาการสนับสนุนช่วยเหลือจากรัฐบรรณาการใหญ่คือเวียดนามสมัยจักรพรรดิมินหม่าง ซึ่งก็พยายามดำเนินวิเทโศบายอย่างระมัดระวัง เพราะตระหนักดีว่ากรุงสยามนั้นเป็นเจ้าใหญ่เหนือลาวมานานจนเป็นประเพณีไปแล้ว

ความอ่อนไหวของสัมพันธภาพทางอำนาจในระยะนั้นเห็นชัดจากฉากใกล้สุดท้ายของเจ้าอนุวงศ์ หลังจากพ่ายแพ้ในการรบกับกำลังสยาม ก็หนีไปพึ่งพระบารมีของจักรพรรดิมินหม่าง ซึ่งยอมให้พำนักในเขตแดนแต่ไม่ให้เข้ามายังเมืองหลวง

พร้อมทั้งสั่งให้กรมการเมืองหัวเมืองนั้นนำเอาของกำนัลและข้าวปลาอาหารเสบียงกรังต่างๆ มามอบให้เจ้าอนุวงศ์ เรียกว่ารับรองเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดีให้สมพระเกียรติ

แม้จะทำให้ฝ่ายสยามไม่พอใจก็ตาม แต่นี่เป็นขนบธรรมเนียมของกษัตริย์แห่งอุษาคเนย์ที่ใครๆ ก็ต้องปฏิบัติ

สรุปโดยรวม ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของเจ้าอนุรุธราชแห่งนครเวียงจันทน์เป็นตรรกะของรัฐและผู้ปกครองที่ต้องการสร้างบ้านเมืองของตนที่เป็นอิสระและอยู่ภายใต้อำนาจจารีตของตนเอง ในคติของระบบมณฑลไม่มีคำว่า “กบฏ” หรือคนไม่ดี เพราะมันไม่มีตรรกะและสภาพเป็นจริงในยุคนั้นรองรับ

คำหลังนี้ว่าไปแล้วเป็นจินตนาการใหม่ของรัฐทุนนิยมสมัยใหม่ภายใต้คติกระฎุมพี