ความหมายที่หายไป จากอนุสาวรีย์ป๋วย-ปรีดี (1) | ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมได้รับการชักชวนให้ไปร่วมเสวนาหัวข้อ “สำนักไหนหมายชูประเทศชาติ” ทบทวนถกเถียงนิยามชาติ ผ่านชีวประวัติ โลกทัศน์ และการรับรู้ต่อปูชนียบุคคลแห่งธรรมศาสตร์ โดยได้รับมอบหมายให้พูดเกี่ยวกับความทรงจำผ่านอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญของธรรมศาสตร์

ทำให้ได้มีโอกาสสำรวจดูอนุสาวรีย์รูปบุคคลที่มีอยู่ในธรรมศาสตร์ทั้งที่ท่าพระจันทร์และรังสิต และทำให้เกิดข้อสังเกตบางอย่างที่อยากจะนำมาเล่าในบทความนี้

อย่างแรกที่สังเกตเห็นได้ชัด คือ ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่มีอนุสาวรีย์รูปบุคคลเยอะมาก ทั้ง ปรีดี พนยมยงค์, ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และสัญญา ธรรมศักดิ์

แค่เฉพาะปรีดีเพียงคนเดียวก็มีถึง 4 แห่ง คือ หน้าตึกโดม, ภายในห้องอนุสรณสถานปรีดี พนมยงค์ (ปัจจุบันปิดบูรณะใหญ่), หน้าอาคารยิมเนเซียม 2 และอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี

หรือในส่วนของป๋วยก็มีอย่างน้อย 2 แห่ง คือ หน้าอาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ และอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี

โดยมิได้สำรวจอย่างจริงจัง ผมอยากจะเชื่อว่า ธรรมศาสตร์น่าจะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีอนุสาวรีย์รูปบุคคลตั้งอยู่ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย

หรือถ้าไม่เยอะที่สุด อย่างน้อยก็ต้องติด top 3 อย่างแน่นอน

พิธีวางพานพุ่มหน้าอนุสาวรีย์ปรีดี พนยมยงค์ เนื่องในวันปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2566
ที่มาภาพ : เว็บไซต์ THAMMASAT BUSINESS SCHOOL

ประเด็นต่อมาที่อยากชวนคิดและพูดคุยก็คือ การมีอยู่ของอนุสาวรีย์ปรีดีและป๋วยรวมกันมากถึง 6 แห่งเช่นนี้ อะไรคือ “ความหมาย” ที่อนุสาวรีย์เหล่านี้ได้ส่งผ่านมาสู่ผู้คนที่เดินผ่านมาพบเห็นบ้าง และความหมายนั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่ อย่างไร

ในทัศนะส่วนตัว อนุสาวรีย์รูปบุคคลไม่ควรมีเป้าหมายเพียงแค่ให้เราจดจำตัวบุคคลที่ถูกสร้างเป็นอนุสาวรีย์เพียงอย่างเดียว แต่เป้าหมายที่สำคัญกว่าคือการให้สังคมระลึกถึงหลักการนามธรรมหรืออุดมการณ์บางอย่างที่บุคคลนั้นๆ เคยยึดถือเมื่อครั้งยังมีชีวิต

เช่น การต่อสู้เพื่อเอกราช การยืนหยัดเพื่อคนด้อยโอกาสที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ การเป็นภาพตัวแทนของเสรีภาพทางการเมือง การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย การอุทิศตัวเองเพื่อสร้างความเสมอภาคทางสังคม ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม การสร้างอนุสาวรีย์รูปบุคคล โดยเฉพาะในสังคมไทย มักนำพาให้เราหลงทาง เพราะชอบชวนให้เรายึดติดอยู่กับตัวบุคคลที่ถูกนำมาสร้างอนุสาวรีย์มากจนเกินไปจนมองข้ามหลักการนามธรรมที่บุคคลเหล่านั้นยึดถือ ซึ่งควรจะเป็นหัวใจสำคัญที่สุดที่อนุสาวรีย์ควรทำหน้าที่ระลึกถึง

ด้วยกรอบความเชื่อดังกล่าว หากเรานำมาพิจารณาอนุสาวรีย์ป๋วย-ปรีดี ในธรรมศาสตร์ ก็คงไม่เกินเลยไปนักถ้าจะพูดว่า อนุสาวรีย์ที่มีอยู่แทบไม่ได้ทำหน้าที่สื่อสารความหมายที่เป็นหลักการนามธรรมของทั้งสองท่านเลย

 

ความหมายและจิตวิญญาณของคนหนุ่มรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าที่เป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเป็นแกนนำคนสำคัญหนึ่งในกลุ่มคณะราษฎรที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ.2475 ของปรีดี พนมยงค์ ถูกส่งผ่านออกมาจากอนุสาวรีย์ปรีดีทั้ง 4 แห่งในธรรมศาสตร์หรือไม่

ผมคิดว่าไม่

ความหมายและจิตวิญญาณของคนที่ยืนหยัดต่อสู้กับความไม่ถูกต้องในสังคมไทยจนต้องหลี้ภัยออกนอกประเทศของป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถูกส่งผ่านออกมาจากอนุสาวรีย์ป๋วยทั้ง 2 แห่งในธรรมศาสตร์หรือไม่ ผมก็คิดว่าไม่

อนุสาวรีย์ทั้งสองท่านที่มีอยู่ (ยกเว้นอนุสาวรีย์ ณ อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนหน้า) มีลักษณะที่เรียบเฉยและนิ่งเงียบทางความหมายมากเกินไป แม้จะตั้งอยู่ในตำแหน่งที่โดดเด่น มีขนาดใหญ่ และอยู่บนฐานสูง แต่ก็ไร้ซึ่งความหมายทางอุดมการณ์

เป็นการออกแบบที่แทบไม่มีความแตกต่างอะไรเลยจากอนุสาวรีย์รูปบุคคลที่มีอยู่มากมายในสังคมไทยที่สุดท้ายก็ถูกเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นรูปเคารพอันศักดิ์สิทธิ์

มิใช่อนุสาวรีย์ที่มีไว้เพื่อระลึกถึงหลักการนามธรรมที่มีคุณค่าต่อมนุษยชาติและทำหน้าที่เป็นสื่อกลางส่งผ่านคุณค่านั้นต่อไปยังคนรุ่นหลัง

 

การสร้างอนุสาวรีย์แม้จะเป็นแนวคิดสมัยใหม่ที่นำเข้ามาจากยุโรปมานานกว่าร้อยปีแล้ว แต่สังคมไทยก็แทบไม่เคยรับแนวคิดนี้เข้ามาใช้ในความหมายที่ตรงตัวตามต้นแบบแต่อย่างใด

คนไทยจัดการแนวคิดในการสร้างอนุสาวรีย์โดย “ทำให้เป็นท้องถิ่น” (localized) ผ่านการผสมผสานแนวคิดสมัยใหม่เข้ากับธรรมเนียมปฏิบัติของเราเองที่มีต่อรูปเคารพทางศาสนาในบริบทแบบจารีต

ซึ่งทำให้แทบไม่มีอนุสาวรีย์รูปบุคคลในสังคมไทยชิ้นไหนเลยที่จะไม่กลายสถานะมาเป็นรูปเคารพศักดิ์สิทธิ์

วิธีการออกแบบอนุสาวรีย์รูปบุคคลที่ผ่านมาสะท้อนนัยยะนี้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบที่เน้นความสงบนิ่งของท่วงท่าอนุสาวรีย์ในลักษณะที่ไม่ต่างจากท่วงท่าของพระพุทธรูปหรือเทวรูปทางศาสนา

การติดตั้งอนุสาวรีย์บนฐานสูงที่ส่วนใหญ่มักจะสูงพ้นเหนือหัวคนจนทำให้เราต้องแหงนหน้าคอตั้งบ่าในการมอง

ไปจนถึงการออกแบบแผนผังที่มีลักษณะตั้งอยู่บนแนวแกนสมมาตร (symmetrical balance) ที่ไม่ต่างจากการออกแบบศาสนสถาน

หากศิลปินพยายามจะออกแบบท่วงท่าให้หลุดพ้นออกไปจากแนวทางนี้ ก็มักจะได้รับการท้วงติง วิจารณ์ และแก้ไขแบบให้กลับมาสงบนิ่งเหมือนเช่นเคย

ดังตัวอย่างเมื่อครั้งออกแบบปฐมบรมราชานุสาวรีย์ (อนุสาวรีย์รัชกาลที่ 1) โดย ศิลป์ พีระศรี ซึ่งแบบร่างครั้งแรกๆ ของอนุสาวรีย์มีการวางท่วงท่าการนั่งที่แสดงอาการผ่อนคลาย (มากกว่าแบบที่ได้สร้างจริง)

แต่สุดท้ายก็ต้องปรับแก้ให้ท่วงท่าโดยรวมมีความ “สงบนิ่ง” มากขึ้น

หรือเมื่อครั้งก่อสร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินที่วงเวียนใหญ่ โดยศิลปินคนเดียวกัน ได้ออกแบบท่วงท่าของม้าทรงที่แสดงอาการตื่นตัวพร้อมโจนทะยานผ่านการยกหางสูง (ไม่สงบนิ่ง) ซึ่งก็ได้รับการวิจารณ์ว่าไม่เหมาะสมเช่นเคย

 

รากทางความคิดแบบนี้ถูกส่งผ่านมายังอนุสาวรีย์ป๋วยและปรีดีในธรรมศาสตร์อย่างเห็นได้ชัด (ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) เราจะเห็นถึงท่าทางที่สงบนิ่ง การออกแบบที่ตั้งบนฐานสูง และองค์ประกอบแวดล้อมที่เน้นความสมมาตร ซึ่งด้วยลักษณะการออกแบบดังกล่าว

จึงไม่แปลกที่อนุสาวรีย์ทั้งสองท่านจะมีสถานะในด้านหนึ่งที่ไม่ต่างจากรูปเคารพศักดิ์สิทธิ์ แม้ว่าระดับของการเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะไม่ได้มากเท่าอนุสาวรีย์รูปบุคคลอีกหลายแห่งในสังคมไทยก็ตาม

แน่นอน ไม่ปฏิเสธนะครับว่า อนุสาวรีย์ทั้งสองท่านในแต่ละปีจะมีพิธีการตลอดจนกิจกรรมประจำปีที่ชวนผู้คนให้ระลึกถึงหลักการนามธรรมและจิตวิญญาณอันกล้าหาญในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

แต่หากมองในแง่มุมของการออกแบบ โดยส่วนตัวก็ยังรู้สึกเสียดายที่การออกแบบที่เน้นความศักดิ์สิทธิ์ (แม้จะโดยไม่ตั้งใจ) ได้เข้ามาทำลายบั่นทอนความหมายที่ควรจะมีและควรจะเป็นลงอย่างน่าเสียดาย

และบางครั้ง ความศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่ควรจะมีตั้งแต่แรก ก็ย้อนกลับมาส่งผลเสียจนทำลายคุณค่าที่แท้จริงของอนุสาวรีย์ลงเสียด้วย

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรณีดราม่าเมื่อหลายปีก่อน (ราว พ.ศ.2555) ซึ่งนักศึกษาชื่อ “Aum Neko” ได้ขึ้นไปนั่งบนฐานอนุสาวรีย์ปรีดีภายในห้องอนุสรณสถานปรีดี พนมยงค์ และโพสท่าถ่ายรูปโดยโหนเกาะไหล่ตัวอนุสาวรีย์ ซึ่งภาพนี้ได้สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากในประชาคมธรรมศาสตร์

และที่น่าตกใจคือ แม้แต่อาจารย์ที่น่าจะมีแนวคิดหัวก้าวหน้าบางคนก็ยังออกมาโจมตีการถ่ายภาพนี้ในลักษณะที่เกินแก่เหตุ (หากสนใจกรณีนี้ อ่านรายละเอียดใน ชาตรี ประกิตนนทการ, “รูปปั้นศักดิ์สิทธิ์,” อ่าน. ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 เมษายน-มิถุนายน 2555)

ความไม่พอใจดังกล่าวเราไม่สามารถมองแยกได้เลยจากการออกแบบและจัดวางอนุสาวรีย์ปรีดีในลักษณะที่เข้าไปสร้างความศักดิ์สิทธิ์จนทำให้อนุสาวรีย์มีสถานะเป็นรูปเคารพมากกว่าการเป็นวัตถุที่ใช้ระลึกถึงหลักการนามธรรม (จิตวิญญาณประชาธิปไตย) ที่ควรจะเป็น

 

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.2563 ธรรมศาสตร์ได้สร้างอนุสาวรีย์ป๋วย-ปรีดี ขึ้นมาอีกชิ้นหนึ่งในบริเวณ อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ซึ่งได้รับการกล่าวถึงในแง่บวกเป็นอย่างมาก

หลายเสียงพูดตรงกันว่าเป็นการสร้างอนุสาวรีย์ในมิติใหม่ที่แทบไม่เคยมีปรากฏในสังคมไทยมาก่อน

เป็นอนุสาวรีย์ที่ไร้ซึ่งกลิ่นอายของรูปเคารพอันศักดิ์สิทธิ์

และสะท้อนให้เราเห็นถึงหลักการนามธรรมที่ทั้งสองท่านยึดถือมาตลอดชีวิต

ผมเห็นด้วยว่าอนุสาวรีย์ชิ้นนี้มีความพิเศษและไร้ซึ่งกลิ่นอายความศักดิ์สิทธิ์

แต่สิ่งที่ยังไม่แน่ใจเท่าไรนักคือ ความหมายที่อนุสาวรีย์ชิ้นนี้ส่งผ่านมาสู่ผู้ชมนั้นเป็นความหมายที่สะท้อนหลักการนามธรรมของทั้งสองท่านได้อย่างสมบูรณ์แล้วหรือไม่