ศิลปะแห่งการทำลายที่ต่อลมหายใจให้ยุ้งข้าวทิ้งร้าง ในมหกรรมศิลปะ Thailand Biennale Chiang Rai 2023

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในช่วงปลายปี 2566 นี้ ประเทศไทยเรากำลังจะมีการจัดงานมหกรรมศิลปะครั้งยิ่งใหญ่ระดับโลกอย่าง มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ที่จังหวัดเชียงราย ที่จะมีศิลปินทั้งในและต่างประเทศมาร่วมแสดงผลงานกันอย่างคับคั่ง

ในคราวนี้เราเลยถือโอกาสแนะนำเกี่ยวกับศิลปินและผลงานที่จัดแสดงงานในมหกรรมศิลปะครั้งนี้ให้ได้รู้จักกัน

เริ่มกันด้วยศิลปินต่างชาติอย่าง ริวสุเกะ คิโดะ (Ryusuke Kido) ประติมากรชาวญี่ปุ่น ผู้จบการศึกษาะดับปริญญาตรีจาก Tama Art University และระดับปริญญาโทและเอกจาก Tokyo University of the Arts ในโตเกียว

คิโดะทำงานด้วยเทคนิคประติมากรรมเป็นหลัก เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงรูปทรงและวัสดุของงานประติมากรรมผ่านสื่อต่างๆ

เขาเริ่มต้นการทำงานด้วยการแกะสลักหินอ่อนเป็นรูปทรงของสิ่งที่ไร้รูปร่างให้จับต้องอย่าง อากาศ, น้ำ หรือควัน ก่อนที่จะหันเหมาทำงานบนวัสดุอื่นๆ อย่าง กระจก หรือแผ่นอะคริลิก ไปจนถึงการทำงานแกะสลักบนเฟอร์นิเจอร์อย่าง เก้าอี้พลาสติกเก่าๆ, เก้าอี้ไม้โบราณ หรือการทำงานประติมากรรมจากขี้เถ้า

เมื่อดูเผินๆ ผลงานของเขาคล้ายกับร่องรอยชำรุดสึกกร่อนบนพื้นผิววัตถุเหล่านั้น

แต่เมื่อพินิจใกล้ๆ ก็จะเห็นเป็นลวดลายอันเต็มไปด้วยรายละเอียดอันประณีต ซับซ้อน น่าตื่นตา

ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ครั้งนี้ คิโดะ สร้างสรรค์ผลงานประติมากรรม Inner Light – Chaing Rai Rice Barn (2023) บน “หลองข้าว” หรือ “ยุ้งข้าว” ที่ใช้เป็นที่เก็บข้าวเปลือกของชาวล้านนาในอดีต ที่ปัจจุบันไม่ถูกใช้งานจากการพัฒนาการเกษตรกรรมของประเทศไทย จนถูกทิ้งร้างหรือขายทอดตลาดเป็นของประดับตกแต่งบ้านหรือร้านอาหารต่างๆ

คิโดะกล่าวถึงที่มาที่ไปของยุ้งข้าวเก่าที่เขานำมาใช้ทำงานศิลปะในครั้งนี้ว่า

“ผมได้ยุ้งข้าวเก่านี้มาจากเชียงใหม่ หลังจากที่พยายามหามาครึ่งปี ทุกวันนี้ยุ้งข้าวถูกนำมาขายกัน เพราะส่วนใหญ่ใช้ไม้คุณภาพดีสร้างขึ้นมา คนส่วนใหญ่จะซื้อไม้จากยุ้งข้าวไปตกแต่งอาคาร ร้านอาหารต่างๆ ทำให้ฟังก์ชั่นเดิมสูญหายไป ยุ้งข้าวส่วนใหญ่ก็จะถูกรื้อแยกชิ้นส่วนออกจนหมดเพื่อขายแค่วัตถุดิบ”

“ผมได้ยินว่า เดิมทีคนไทยสมัยก่อนไม่นิยมใช้ยุ้งข้าวมาทำที่อยู่อาศัย เพราะยุ้งข้าวเป็นที่สถิตของเทพเจ้าแห่งข้าว (พระแม่โพสพ) แต่ทุกวันนี้ ความเชื่อนี้ก็ค่อยๆ สูญหายไปพร้อมๆ กับตัวยุ้งข้าว ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะโครงสร้างสังคมเปลี่ยนไป ในอนาคตอาจไม่มียุ้งข้าวเหล่านี้เหลืออยู่อีกต่อไป เราไม่สามารถหยุดความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ทำได้ก็เพียงแต่ทำงานศิลปะเพื่อรำลึกถึงมัน”

“ในญี่ปุ่นเองก็เคยมีวัฒนธรรมเกี่ยวกับข้าวแบบนี้เหมือนกัน แต่ยุ้งข้าวของญี่ปุ่นจะแตกต่างจากของไทย ตอนนี้ในญี่ปุ่นเองก็แทบไม่มียุ้งข้าวเหลืออยู่แล้ว เพราะระบบการเกษตรของเราเปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับในเมืองไทย ชาวนาปลูกข้าวเก็บเกี่ยวส่งโรงสีโดยตรง จึงไม่จำเป็นต้องใช้งานยุ้งข้าวอีกต่อไป”

“ปัจจุบันวัฒนธรรมเหล่านี้ได้สูญหายจนกลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว แต่ถ้าเรานำประวัติศาสตร์เหล่านี้มาพูดถึง เราอาจจะตระหนักถึงวัฒนธรรมเหล่านี้ ว่ามีบางสิ่งเปลี่ยนแปลงไปในวัฒนธรรมไทย ผมคิดว่าสังคมไทยนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก และมีพัฒนาการในหลายด้าน มากกว่าอีกหลายประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน หลายสิ่งหลายอย่างก็สูญหายและถูกหลงลืมไป ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในทุกที่”

“ผมอยากให้ผู้คนตระหนักถึงสิ่งที่สูญหายและถูกหลงลืมไปเหล่านี้จากงานศิลปะของผม”

คิโดะทำงานกับยุ้งข้าวเก่าที่ว่านี้ด้วยการแกะสลักฝาและพื้นไม้กระดาน และส่วนประกอบต่างๆ ของยุ้งข้าวจนกลายเป็นร่องรูพรุน ที่ประกอบกันเป็นลวดลายอันซับซ้อน ละเอียดอ่อน พร่างพรายลายตา น่าพิศวง ไปจนทั่วตัวเรือนยุ้งข้าวหลังนี้ จะว่าไป ลวดลายรูพรุนเหล่านี้ดูๆ ไปก็คล้ายกับทุ่งดอกไม้ หรือสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วอะไรสักอย่างที่กำลังงอกเงย ชอนไชตัวบ้านหลังนี้อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

“ด้วยความที่ภรรยาผมเองก็เป็นคนไทย เธอเกิดในจังหวัดพิจิตร บ้านของเธอก็มียุ้งข้าว ตอนที่เธอเป็นเด็ก ถ้าเธอแอบเข้าไปในยุ้งข้าว พ่อแม่ผู้หลักผู้ใหญ่ในครอบครัวของเธอจะโกรธมาก เพราะยุ้งข้าวไม่ใช่ที่เล่นสำหรับเด็กๆ ดังนั้น เมื่อตอนเธอเป็นเด็ก เธอสงสัยมาก ว่ามีอะไรอยู่ข้างในนั้น เธอจึงแอบดูข้างในยุ้งข้าวผ่านรูเล็กๆ บนไม้กระดาน”

“ผมจึงแกะสลักยุ้งข้าวนี้ให้เป็นรูพรุน เพื่อให้มองเห็นข้างในได้ แต่ผมจะไม่อนุญาตให้ผู้ชมขึ้นไปบนยุ้งข้าว แต่จะให้แอบส่องมองข้างในผ่านรูเหล่านี้ เพื่อจะได้มีประสบการณ์แบบเดียวกับภรรยาของผม และปกติยุ้งข้าวก็ไม่ใช่สถานที่ที่ให้ใครๆ ขึ้นไปอยู่แล้ว เพราะเป็นที่อยู่ของเทพเจ้าแห่งข้าวนั่นเอง”

(หลายคนอาจไม่ทราบว่า ภรรยาของคิโดะคือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “สามีดิฉันเป็นศิลปินญี่ปุ่น Sculptor’s Wife JP” ที่มีแฟนๆ ติดตามนับหมื่นคนอีกด้วย)

“รูปทรงของลวดลายเหล่านี้ ผมได้แรงบันดาลใจมาจากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอย่างไวรัส หรือเซลล์มะเร็ง ผมเริ่มต้นทำงานด้วยรูปทรงเหล่านี้ในปี 2011 หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น รวมถึงเหตุการณ์ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟูคุชิมา ไดอิจิ ถึงตอนนั้นผมจะอยู่ที่โตเกียว แต่เราก็หวาดกลัวและระมัดระวังในการกินอาหารและดื่มน้ำมากๆ เรากลัวแม้แต่ฝน เพราะเราไม่สามารถมองเห็นมลภาวะเหล่านั้นได้ เราได้แต่นึกภาพว่ามีมลภาวะปนเปื้อนเข้ามาสู่ร่างกายของเรา”

“หลังจากนั้น เมื่อผมได้เห็นทิวทัศน์ต่างๆ ผมไม่สามารถมองเห็นทิวทัศน์เหล่านั้นในแง่มุมที่สวยงามอีกต่อไป ทุกครั้งผมจะมองไปถึงเบื้องหลังของมัน เพราะทิวทัศน์สวยงามส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นนั้นถูกสร้างขึ้นโดยบริษัทที่รับผิดชอบในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ทำให้เกิดมลภาวะขึ้นมา ผมจึงสร้างผลงานที่ทำให้เราเข้าใจถึงข้อเท็จจริงเบื้องหลังทิวทัศน์อันสวยงามเหล่านั้น”

“แต่หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผมเริ่มเปลี่ยนแปลงงานไปนิดหน่อย ในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด เรามักจะใส่ใจกับสุขอนามัย เราใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดทุกๆ ที่ที่เราไป ตอนนั้นผมรู้สึกว่า ไวรัสเชื่อมโยงทุกคนเข้าด้วยกัน เพราะไวรัสติดต่อและแพร่ระบาดไปสู่ทุกคน คล้ายกับเป็นความสัมพันธ์และการสื่อสารบางอย่าง ในขณะเดียวกัน เราก็พยายามทำความสะอาดทุกสิ่งทุกอย่างในทุกที่ เพราะเราจินตนาการว่าตรงนั้นมีไวรัสอยู่ และกลัวว่ามันจะมาติดเรา”

“ผมจึงรู้สึกว่าไวรัสเชื่อมโยงวัตถุสิ่งของเหล่านี้มากกว่าผู้คนเสียอีก เวลาเรานั่งบนเก้าอี้ หรือกินอาหารในภัตตาคาร เรากลัวมากๆ ที่จะสัมผัสกับอะไรบางอย่าง ผมรู้สึกว่าความกลัวเชื่อมโยงวัตถุเหล่านี้เข้าด้วยกัน ในผลงานของผมชุดนี้ ผมต้องการให้ลวดลายและรูปทรงเหล่านี้ของผมเชื่อมโยงเข้ากับยุ้งข้าวและเชื่อมโยงไปถึงผู้ชมเช่นเดียวกัน”

ที่น่าสนใจก็คือ ในการทำงานครั้งนี้ คิโดะไม่ได้เป็นผู้ลงมือทำงานแต่เพียงคนเดียว หากแต่เป็นการทำงานร่วมกับกันสล่า (นายช่างในภาษาล้านนา) ท้องถิ่น อย่าง สล่าคำจันทร์ ยาโน และเหล่าบรรดาทีมงานช่างพื้นเมืองของเชียงใหม่ที่มาร่วมด้วยช่วยกันลงแรงกายแรงใจสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมชิ้นนี้ขึ้นมา

คิโดะกล่าวถึงการทำงานร่วมงานระหว่างศิลปินญี่ปุ่นและสล่าชาวไทยว่า

“โดยปกติผมแกะสลักงานประติมากรรมโดยใช้เครื่องมือแกะสลักไฟฟ้า และนำเครื่องมือนี้มาให้นายช่างท้องถิ่นชาวเชียงรายลองใช้ เพื่อมาช่วยทำงานในชุดนี้ของผม ช่างแกะสลักท้องถิ่นเหล่านี้มีทักษะในการแกะสลักมาก แต่คราวนี้เขาลองใช้เครื่องมือของผม และเขาชอบมากจนอยากได้มาใช้เองเลย”

“เหมือนเป็นการพบกันระหว่างคนทำงานจากญี่ปุ่นและเชียงราย เราต่างก็ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน นอกจากการทำงานแล้ว ผมยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และอาหารการกินจากพวกเขาด้วย และถึงแม้พวกเขาจะใช้เครื่องมือไฟฟ้า แต่สิ่งสำคัญก็คือสายตาของพวกเขาในการมองรูปทรงเหล่านี้ ถึงทุกคนจะใช้เครื่องมือแบบเดียวกัน แต่งานของละคนก็มีรูปทรงและลวดลายที่แตกต่างกัน ในช่วงแรกของการทำงาน ผมให้เขาลองเลียนแบบรูปทรงลวดลายง่ายๆ ของผมก่อน แต่หลังจากนั้นผมก็ให้เขาทำลวดลายที่ซับซ้อนขึ้นในแบบของตัวเอง”

เมื่อได้เห็นการแกะสลักลวดลายบนเรือนไม้จนเป็นรูพรุนพร้อยไปทั่วเช่นนี้ ก็ทำให้เราอดนึกไปถึงกิจกรรมของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่กินไม้เป็นอาหารอย่าง “ปลวก” ไม่ได้ ซึ่งจะว่าไป ในแง่หนึ่ง ลักษณะการกินไม้ของปลวกก็สามารถมองเป็นลวดลายที่สวยงามซับซ้อน ไม่ต่างอะไรกับงานศิลปะได้เช่นเดียวกัน ซึ่งคิโดะตอบข้อสังเกตนี้ของเราว่า

“ถ้ามองแบบนี้ ผมก็คือปลวกจากญี่ปุ่น ที่มาพบกับปลวกของประเทศไทยนั่นแหละ ในภาพจำของมนุษย์ ปลวกคือสิ่งมีชีวิตที่ทำลายบ้านเรือน แต่ผมคิดว่าปลวกนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่สร้างสรรค์ต่างหาก เพราะถึงแม้ปลวกจะทำลายไม้ แต่พวกมันก็สร้างจอมปลวกขึ้นมา เพราะบางครั้งในการทำลายก็มีการสร้างสรรค์อยู่ด้วยเช่นเดียวกัน”

เช่นนี้แล้ว ปฏิบัติการทำ (ลวด) ลายยุ้งข้าวในครั้งนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการชุบชีวิตยุ้งข้าวเก่าทิ้งร้างให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ในขณะเดียวกันก็เป็นการพลิกพื้นวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยที่สูญหายตายจากและถูกหลงลืมไปให้กลับอยู่ในความทรงจำของผู้คนอีกครั้งนั่นเอง

มิตรรักแฟนศิลปะท่านใดสนใจสัมผัสกับผลงานของ ริวสุเกะ คิโดะ ก็สามารถมาเยี่ยมชมกันได้ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566-30 เมษายน 2567 ในพื้นที่แสดงงาน อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) จังหวัดเชียงราย

ขอบคุณภาพจากศิลปิน และ อำนาจ ก้านขุนทด •

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์