‘กลว.’: อะไรคือ ‘ขื่อคา’ ฮุน มาแนต?

อภิญญา ตะวันออก

โดนจังๆ อย่างสกรรม! ฉันหมายถึงเรื่องนี้ ในที่สุด ก็มายืนถึงจุดตรงนี้จนได้

อะไรหรือ? มันคือ อนุความร่วมมือไตรภาคี หรือวิสัยทัศน์ “3 เหลี่ยมเศรษฐกิจ” ของระหว่าง 3 ประเทศ Cambodia, Loas and Vietnam ตามภาษาไทยฉันเรียก “กลว.” (ซีแอลวี)

ทำให้นึกถึงสหพันธรัฐอินโดจีน ว่าด้วยอดีตแนวคิดเวียดนามหลังรวมประเทศเหนือใต้เสร็จสิ้น มาจากหลักคิด 3 พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนนั่น ซึ่งถ้าคนช่างจำ ก็ย้อนยาวไปสมัยอาณานิคมฝรั่งเศส-อินโดจีน!

ไม่ค่ะ นี่เป็นแค่ระนาบรัฐวาทกรรมอันตกค้างเท่านั้น (แต่ก็ย้อนแนวคิดด้วย) และไม่เกี่ยวกับประเทศที่ 3 จนก่อสงครามกลางเมืองให้ 3 ประเทศนี้ แต่เป็นวันนี้ วันที่ภาคีพี่น้องลาว-เวียดนามและอดีตสังคมนิยมคอมมิวนิสต์กัมพูชา กลายเป็นไตรภาคีร่วมกันด้านความร่วมมือบนพื้นฐานเศรษฐกิจตามระเบียบสังคมใหม่ว่าด้วยการค้าเสรี

ไม่ใช่ “กับดัก” แห่งอดีตสักหน่อย มันได้หายไปไม่หลงเหลือแล้ว จะมีก็แต่ 3 ประเทศพี่น้อง แห่งคำว่า “กลว./CLV” เท่านั้น

ว่าแต่จริงหรือ?

ก็ใครล่ะจะนึกว่า แค่ไม่กี่ทศวรรษ สหรัฐออกไป ไม่นานจีนก็เดินเข้ามาและรุกคืบด้านเศรษฐกิจใจโครงการมากมายภายใต้คำว่า “แถบเส้นทาง” หรือ BRI จนสยายปีกเข้ามาทั้ง สปป.ลาวและกัมพูชา

นี่คือเรื่องเดียวกันที่ทำให้สมเด็จฮุน เซน ลืมพรรคคอมมิวนิสต์ฮานอยไปเลยแต่นั้นมา

มันคือ ความสูญเสียอิทธิพลในอนุภูมิภาคนี้อยู่ไม่น้อย แต่เวียดนามก็ปรับตัวได้ดีว่า หลังจากที่กินรวบในผลประโยชน์ทั้งทางตรงและอ้อมจากกัมพูชา (และลาว) มายาวนาน ทันทีนั้น ความร่วมมือแบบยุคเก่าสมัยก่อนสงครามเย็นก็ต้องสิ้นสุดลง เพราะภูมิทัศน์รัฐศาสตร์และการพัฒนาประเทศเพื่อนบ้าน ได้เปลี่ยนไปแล้ว

ดังนี้ ก่อนสหัสวรรษเพียงปีเดียว (1999/2542) เวียดนามก็ร่างอิทธิพลใหม่ต่อ 2 ประเทศอดีตสหพันธรัฐอินโดจีนด้วยโครงการ “3 เหลี่ยมเศรษฐกิจ” ที่ว่า

แต่เวียดนามก็ไม่มีเม็ดเงินที่มากพอจะล่อซื้อกัมพูชาที่ต้องการเม็ดเงินนอกประเทศสร้างโครงการมากมายในประเทศ

เม็ดเงินน้อย ริอ่านจะเป็น “เต้ย” ต่อไปเหมือนอดีต คงมิได้ ดังนี้ราวปี 2553 เวียดนามจึงสร้างเครือข่ายเชื่อมเส้นทางชายแดนกัมพูชาในจังหวัดต่างๆ เช่น รัตนคีรี-มณฑลคีรี ซึ่งเป็น 2 ใน 4 จังหวัดตามข้อตกลง “กลว.” (ที่จะสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายตามข้อตกลงของอาเซียน)

เงินน้อย คงไม่เกี่ยว เพราะสมัยเป็น “เต้ย” เวียดนามก็เคยทำอย่างนี้ คือส่งกองทหารช่างมาสร้างถนนให้กัมพูชาจนถึงจังหวัดรัตนคีรี (และมณฑลคีรีด้วย?)

รัฐบาลกัมพูชา คงชินชาเรื่อง ดังนี้ การที่ทางกองทัพจีนจะมาแจมทัพเรือเขมรจึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเวียดนามเองก็ทำแบบนี้บ่อยๆ จนถูกชาวเขมรกล่าวหาว่าพยายามยึดครองที่ทำกินของตน!

ความหวาดระแวงกลืนชาติว่าเป็นนโยบายเวียดนามยังตามหลอกหลอนกัมพูชาเสมอ ไม่ว่าจะผ่านมากี่สมัย สมเด็จฮุน เซน โดนข้อกล่าวหานี้จนชินชาและแทบจะไม่สนใจ หรือ “หืออือ” ที่จะหยิบยกเพื่อเจรจาแก้ปัญหาใดๆ

แต่จู่ๆ หลังเวียดนามถอนทหารช่างออกไป ผู้นำเขมรก็ประกาศนโยบายเขตท่องเที่ยว “รัตนคีรี-มณฑลคีรี” ราวกับปักธงหยุดยั้งการรุกคืบจากฮานอย เพราะนี่คือ ข้อตกลงที่กัมพูชาทำกับทางการจีน!

มันคือ สงครามแย่งชิงความเป็น “บองทม” หรือผู้คุ้มครองต่อกัมพูชา? งั้นสิ ขณะที่จีนยังไม่พร้อม แต่แน่นอนอนาคต ผลประโยชน์มหาศาลจากสินค้าจีนที่จะทะลักลงมาภูมิภาคส่วนนี้ เวียดนามคือตัวช่วยวิเศษ ที่จะขยายเขตการค้าจีนให้มากขึ้นเมื่อเทียบกับกัมพูชาและลาว

ที่สำคัญคือ นี่คือ “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ของลาว-กัมพูชา ที่เวียดนามและจีนต่างรู้ดี ไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวรสำหรับสงครามและการค้า วลีที่ใช้ได้ดีตลอดมา นี่คือเหตุผลที่ทำไม “สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ กลว.” จึงไปประชุมย่อยที่ปักกิ่งตอน BRI/2023

และว่า ทำไมการประชุมไตรภาคี-อนุภูมิภาค-กลว. จึงมีขึ้นที่นั่น เช่นเดียวกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มาเยือนเวียดนาม คล้อยหลังนายกฯ ฮุน มาแนต เพียงวันเดียว

เพราะเวียดนามยังอยู่บนสมการความสัมพันธ์ของปักกิ่งเสมอ แม้ว่าการประชุม BRI นอกรอบ กลว. ของ 3 ประเทศที่นั่น พี่เอื้อยอินโดจีนอย่างเวียดนาม (ว) จะถูก “ลดสถานะ” ความสำคัญอย่างเห็นได้จาก “ล” (สปป.ลาว) ที่หันไปเชิดฮุน มาแนต ว่า กัมพูชา (ก) มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและเป็นเซ็นเตอร์การพัฒนา กลว.ได้?

หลู่เกียรติสีที่เป็นเสมือนพี่ใหญ่และเคยดูแลกันมา ได้ถึงเพียงนี้! แต่ไม่สิ เวียดนามต่างหากที่ควรปรับตัวต่อบริบทในอนาคตที่จะมาถึง และลาวเองก็สนับสนุนกัมพูชาทุกรูปแบบกว่าทุกประเทศในอนุภูมิภาคไม่ว่าไทยหรือเวียดนาม ไม่สังเกตหรือ?

“ถึงจะเป็นประเทศเล็ก แต่แบะโดงทม” (แต่ใจใหญ่) นั่นคือสโลแกน “เขมร-ลาว” ในรอบปีที่ผ่านมา

เวียดนามจึงไม่ควรอนุมานตนเองว่า คือภาคีใหญ่ใน 3 เหลี่ยมเศรษฐกิจ หรือเรื่องอื่นๆ อีกต่อไป?

และควรตระหนักให้ได้ว่า อิทธินโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนของเวียดนามในอดีต มันได้สิ้นสุดโดยสมบูรณ์แล้ว

และนั่นทันทีที่ฮุน มาแนต เยือนฮานอย หลัง กลว.ประกาศความร่วมมือ ชาวเขมรต่างตกใจขนหัวลุก เกรงว่ากัมพูชาจะเปิดโอกาสให้สัญชาติต่อชาวเวียดนามที่เข้าไปตั้งรกรากใน 4 จว. กลว. และนี่คือสิ่งที่ชาวเขมรไม่อาจยอมรับได้

ทุกวันนี้ กัมพูชาเสียเปรียบเวียดนามด้านการค้าขนาดไหน กระนั้นฮานอยก็ยังกดดันให้พนมเปญคุ้มครองพลเมืองของตนที่เข้ามาทำกินในกัมพูชาอย่างผิดกฎหมาย ยิ่งข้อตกลงสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ที่มีจีนสนับสนุนให้เขมรเป็นแกนนำภูมิภาค เวียดนามก็ยิ่งพัฒนาเศรษฐกิจตามพรมแดนของตน

และมันคือการปลดแอกตนเองของทุกฝ่ายไม่ว่าจะสหพันธรัฐอินโดจีนที่เวียดนามผู้รักษาไว้ หรือ สปป.ลาว-กัมพูชาที่อยากจะสลักแอกนี้ออกไปในทุกวิถีทางที่ผ่านมา

โลกการเมืองใบนี้ ช่างใส่บ่าแบกหาม ฮุน มาแนต เองนั้น ก็หามมาตั้งแต่ยังหนุ่ม จากพ่อที่ถูกตราหน้าว่าเป็น “หุ่นเชิด” ของฮานอยเรื่อยมาจนตนขึ้นมามีอำนาจ ก็ยังถูกปรามาสเช่นนั้น ความจำเป็นที่จะปลดแอกยาวนานนี้ออกไป ไม่มีวันจะเกิดได้ หากกัมพูชาไม่มีแบ๊กอัพที่แข็งแกร่ง

ไม่มีภารกิจไหนจะท้าทายเท่ากับ “กลว.” อีกแล้ว!

เอาจริงนะ ตั้งแต่สมัยพ่อของเขา ในการไปเยือนฮานอยแต่ละครั้งของฮุน เซน ใน 4 ทศวรรษที่ผ่านมา กัมพูชาจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อเวียดนามเป็นอันดับต้นๆ กระทั่งมาถึงยุคของลูกชาย นายฮุน มาแนต จะเห็นว่า ในที่สุด เวียดนามคือประเทศแรกที่ผู้นำเขมรต้องไปเยือน

แม้จะเห็นว่า ก่อนหน้านี้ ฮุน มาแนต ได้พบปะผู้นำสูงสุดของเวียดนามในต่างกรรมต่างวาระมาแล้วเกือบทั้งหมด ยกเว้นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามที่ไม่เดินทางไปต่างแดน และนั่น จึงว่าทำไมก่อนไปฮานอย ฮุน มาแนต ขึ้นเป็น “รองประธาน” พรรคประชาชนกัมพูชารองจากสมเด็จฮุน เซน เรียกว่า ให้มีศักดิ์ทัดเทียมกับฮานอย ซึ่งจัดพิธีต้อนรับอย่างสมเกียรติทัดเทียมกับปักกิ่ง

ฮุน มาแนต ถูกจดจำจากฮานอยต่างไปจากฮุน เซน พ่อของตนแล้วจริงๆ ในการแสดงออกต่อสาธารณชนและการยอมรับ หรือในที่สุดก็สำเร็จ แห่งระดับผู้นำของอดีตสหพันธรัฐอินโดจีน?

การถ่ายผ่านได้เกิดขึ้นแล้ว ผู้นำกัมพูชาฮุน มาแนต จึงยืนตัวตรงสง่างามกว่าบิดา ในศักดิ์และศรีของภาษากายต่อการพบปะผู้นำเวียดนามที่ผ่านมา

หลังจากได้ใช้เวลาเพียรพยายามมายาวนาน บัดนี้ กัมพูชาได้ทำสำเร็จแล้ว?

 

สารภาพ ความทรงจำของฉันแทบจะเหลือน้อยลงทุกที สำหรับความหวาดระแวงที่ว่า ได้สูญเสียเวลาไปกับการเฝ้าดูตระกูลฮุนกับฮานอย แม้แต่เรื่องความสัมพันธ์เชิงการเมืองและปัจเจก

ประเด็นที่อาจพิสูจน์ว่า ตนไม่ได้เป็น “หุ่นเชิด” เหมือนบิดา และทำไมว่าเรื่องนี้สำคัญนัก หากจะลบล้างความรู้สึกของผู้คน ถ้าฮุน มาแนต จะสังเกตว่าทำไมตนจึงถูกบูลลี่มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก?

มาแนตจำเป็นต้องต่อสู้กับประเด็นตระกูลฮุนเป็นหุ่นเชิดฮานอย มันคืองานยากสำหรับเขา

แต่ขณะเดียวกัน ไม่ว่า ครม.มาแนตจะสร้างความสำเร็จแก่ประเทศสักเพียงใด แต่เขาจะไม่มีวันได้ใจชาวเขมรนอกจากความเกลียดชัง และมันคือปมเดียวที่เขาควรลบล้างจากอดีตที่บิดาก่อไว้ ซึ่งสิ่งที่เขาจะแก้ไขโดยไม่ว่าจะอย่างไร

ฟังดูเหมือนง่าย คือ ทำทุกอย่างให้ตรงข้ามกับที่บิดาฮุน เซน สร้างไว้ และเท่ากับทำปิตุฆาต “อนันตริยกรรม” บิดาตนเอง?

แล้วใครจะไม่…กลว.?