การเมืองเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อไทย-ภูมิใจไทย ชิงแต้มต่อ

หากย้อนกลับไปช่วงการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไป “ค่าแรงขั้นต่ำ” ล้วนเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่บรรดาพรรคการเมืองส่วนใหญ่ชูขึ้นเป็นนโยบายหลัก เพื่อหวังเรียกคะแนนเสียงเลือกตั้งจากพี่น้องประชาชน

โดยแต่ละพรรคต่างงัดกลยุทธ์ออกมาโกยเรตติ้งความนิยมด้วยจำนวนของตัวเลขค่าแรงที่ค่อนข้างสูง เสมือนจุดประกายความหวังของกลุ่มพี่น้องแรงงานไทย ให้มีรายได้ที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพในปัจจุบัน

สำหรับพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล สมัยช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ชูแคมเปญ “คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน” ประกาศว่า ค่าแรงขั้นต่ำของไทย ต้องไปแตะอยู่ที่ 600 บาท/วัน ในปี 2570

พร้อมกับขยายความอธิบายไว้ว่า สิ่งสำคัญต้องเริ่มต้นจากการทำเศรษฐกิจให้ดีขึ้นทั้งระบบ เมื่อเศรษฐกิจดี ค่าแรงจะปรับขึ้นได้ การขึ้นค่าแรงจะขึ้นทีละขั้นตอน แบบไตรภาคี ปรับตามกลไกการเติบโตของเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศเดินต่อไปได้

 

ทว่าเมื่อ “ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท” ไม่ได้ถูกบรรจุเอาไว้อย่างชัดเจนในคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ส่งผลให้ ส.ส.ปีกแรงงานของฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล (ก.ก.) หยิบยกขึ้นมาทวงถามกลางที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างการแถลงนโยบาย พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งทำตามสัญญาเพื่อยกระดับคุณภาพแรงงานตามที่ให้สัญญาไว้ในการหาเสียง

ทำให้ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลุกขึ้นชี้แจงว่า ค่าแรงขั้นต่ำ เป็นเรื่องสำคัญที่หลายพรรคก็พูดกันไว้ เพราะทุกคนมีความเป็นห่วงเรื่องของประชาชนที่อยู่ชายขอบที่ต้องได้รับการดูแล มีรายได้ที่เหมาะสมเพียงพอกับการใช้จ่ายประจำวัน เรื่องนี้เราจะมีการเจรจากันกับทั้ง 3 ฝ่าย ระหว่างแรงงาน ผู้ว่าจ้าง และรัฐบาล เพื่อปรับค่าแรงขั้นต่ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม มีเป้าหมายที่ 400 บาทโดยเร็วที่สุด

จวบจนกระทั่งการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการมอบหมายให้ศึกษาเรื่องการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ

โดยเรื่องนี้ “ธวัชชัย จันทร์ไพศาลสิน” ที่ปรึกษาประจําสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จึงได้มีหนังสือด่วนที่สุด แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งปฏิบัติตามมติ ครม.ที่เห็นชอบตามที่นายกฯ เสนอ

“ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไว้ว่า รัฐบาลมีนโยบายในการสร้างรายได้ สร้างชีวิตของคนไทยให้มีเกียรติ มีเงินเดือน และค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม สอดคล้องและเพียงพอต่อปัจจัยด้านการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีนั้น จึงมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน เร่งรัดการศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และรายงานผลให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบโดยเร็ว”

 

ขณะที่ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ออกมาประกาศด้วยว่า กระทรวงแรงงานเตรียมมอบของขวัญปีใหม่ 2567 ด้วยการขึ้น “ค่าแรงขั้นต่ำ” กับพี่น้องชาวแรงงาน โดยจะมีการพิจารณาทุกขั้นตอนอย่างรอบคอบ คำนึงความเหมาะสม สะท้อนใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อ และทำให้ทุกภาคส่วนอยู่ร่วมกันได้

ด้วยเหตุนี้ การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ทางกรรมการไตรภาคีเพื่อพิจารณาการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2566 มีมติให้ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั้ง 77 จังหวัด ในอัตราเพิ่มขึ้น 2-16 บาท ซึ่งค่าจ้างค่าขั้นต่ำที่เพิ่มมากที่สุด คือ จ.ภูเก็ต คือ 370 บาท เพิ่มขึ้นจาก 354 บาท และต่ำที่สุดคือ 330 บาท ใน 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 328 บาท

โดยหลังจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวมีผลใช้บังคับในปี 2567 จะทำให้ประเทศไทยมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 345 บาท/วัน และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 12 ธันวาคม เพื่อรับรองและให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

 

แต่ทว่า จากมติดังกล่าว “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองว่า ค่าแรงขั้นต่ำของเราไม่ได้ขึ้นมานานมาก ขึ้นมาน้อยมาก ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวัน ประชาชนหลายสิบล้านคนต้องพึ่งค่าแรงขั้นต่ำจำนวนมาก บางจังหวัดขึ้นแค่ 7-12 บาทเท่านั้น ซึ่งน้อยเกินไป ทั้งที่รัฐบาลพยายามที่จะยกระดับ ให้ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมไฮเทค ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น

“วันนี้จะยอมให้แรงงานประชาชนคนไทยต่ำติดดินแบบนี้ ในขณะที่ประเทศที่ใกล้เคียงกับไทย เช่น เกาหลี และสิงคโปร์ค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน 1,000 บาท เราจะยอมให้พี่น้องประชาชนของเราเป็นพลเมืองชั้น 2 ชั้น 3 ของโลกหรือ ในเมื่อค่าแรงขั้นต่ำติดดินขนาดนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และประกาศชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย ขอให้ผู้ใช้แรงงาน ดูการกระทำว่าตนเองมีความจริงใจขนาดไหนอย่างไร” นายกฯ เศรษฐาระบุ

นายกฯ เศรษฐายังตอบคำถามนักข่าวเมื่อถูกถามว่า รัฐบาลจะพยายามทำให้ได้ถึง 400 บาทตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้หรือไม่ ว่า ต้องดูตามความเหมาะสม จังหวัดใหญ่อาจจะได้ถึง 400 แต่จังหวัดเล็กอาจจะไม่ถึง ต้องดูความเหมาะสม ขอย้ำว่าสิ่งต่างๆ ที่รัฐบาลพยายามทำเพื่อให้นายจ้างสามารถส่งสินค้าออกไปได้และยังอำนวยความสะดวก เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ

“นโยบายค่าแรงขั้นต่ำเราดูที่ความเหมาะสม เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลนี้ หลายประเทศ ค่าแรงขั้นต่ำเขามากกว่านี้ วันนี้เราชนะสิงคโปร์ในแง่ดึงดูดนักลงทุน บริษัทใหญ่เข้ามาสร้าง Data Center เป็นนิมิตใหม่อันดีว่าประเทศเรามีศักยภาพสูง แต่ทำไมจึงไปกดผู้ใช้แรงงานที่จะมาช่วยพัฒนาประเทศ” นายกฯ ระบุ

 

อย่างไรก็ดี การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ประเด็นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ทางกระทรวงแรงงาน โดย “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้นำมติของคณะกรรมการไตรภาคี ที่มีมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่ม 2-16 บาท มานำเสนอเพื่อให้ ครม.รับทราบ

แต่ทาง “รมว.พิพัฒน์” กลับมีข้อสังเกต เนื่องจากเป็นการใช้ตัวเลขย้อนหลัง 5 ปีมาคำนวณเฉลี่ยกัน ซึ่งเป็นการนำตัวเลข 2563-2564 มาร่วมพิจารณาด้วย ทั้งที่เป็นปีที่เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงและติดลบมากจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19

ฉะนั้น การนำตัวเลข 2 ปีนี้มาคำนวณด้วยจะทำให้ได้ตัวเลขต่ำกว่าความเป็นจริง และควรนำตัวเลขที่ผิดมาตรฐานออกไป เมื่อ ครม.รับทราบและเห็นด้วยกับข้อสังเกต ทาง รมว.แรงงานจึงขอถอนและนำกลับไปพิจารณาสูตรการคิดค่าแรงใหม่

เท่ากับว่า ครม. “ยังไม่ได้รับทราบ”

 

แน่นอนว่า จากท่าทีและคำพูดของนายกรัฐมนตรี สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ภายหลังเข้ามารับทำหน้าที่บริหารประเทศ 3 เดือนกว่า ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อน พลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ผลักดันนโยบายต่างๆ ช่วยเหลือและยกระดับให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องแบกรับกับสภาพเศรษฐกิจภาวะเช่นนี้ นอกจากนโยบายลดค่าครองชีพ ลดราคาพลังงาน แก้หนี้ทั้งนอกระบบและในระบบ กระทั่งล่าสุด ปรับเดินหน้าเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำ

อย่างไรก็ดี “ค่าแรงขั้นต่ำ” นับจากนี้ไป ต้องรอดูว่าจะมีการปรับเปลี่ยนหรือทบทวนมติอย่างไร จะประเดิมขยับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้กับแรงงานไทย แบบไม่ขายฝันได้หรือไม่

หรือจะกลายเป็นความไม่ราบรื่นที่อาจบานปลายไปสู่ศึกภายในพรรคร่วมรัฐบาล ระหว่างพรรค พท. กับพรรค ภท. เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม