ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 ธันวาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
ด้วยเหตุที่ ผบ.อ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด เป็นนักฟุตบอล ชอบเตะบอล และเล่นฟุตบอลอยู่เนืองๆ และมักจะลงมาร่วมเตะบอลกับกำลังพล ที่ออกกำลังกายที่สนามบอลกองทัพไทย แจ้งวัฒนะ ในช่วงเย็นๆ อีกด้วย
ยิ่งเมื่อมีนโยบายให้ความสำคัญกับประชาชน กำลังพลและครอบครัว หรือ People First ที่ต้องการให้กำลังพลได้ใช้เวลาว่างหลังการปฏิบัติงาน มาออกกำลังกายให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง และผ่อนคลาย เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พล.อ.ทรงวิทย์ จึงรวมกลุ่มเล่นกีฬาฟุตบอล โดยได้จัดตั้งเป็นชมรมฟุตบอลกองบัญชาการกองทัพไทย และใช้ชื่อทีมว่า “เสือป่า ยูไนเต็ด” ซึ่งเป็นชื่อที่สมาชิกช่วยกันคิดและโหวต
เนื่องจากไม่ต้องการให้ใช้ชื่อว่า ทีมวีไอพี เช่นที่เคยเรียกๆ กันมา เวลานายทหารชั้นผู้ใหญ่มาเตะฟุตบอล เพราะจะทำให้ทหารชั้นผู้น้อยที่เป็นนักฟุตบอล มาร่วมไม่ได้ จึงตั้งชื่อทีม เสือป่า ยูไนเต็ด
เหตุเพราะคำว่า เสือป่า เคยเป็นคำสัญลักษณ์เรียกกองบัญชาการทหารสูงสุด ที่เคยมีที่ตั้งอยู่สนามเสือป่า ลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนจะย้ายที่ตั้งมาย่านศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ จึงเปลี่ยนมาเรียกว่า เสือป่า แจ้งวัฒนะ
ปัจจุบัน สนามเสือป่า กลายเป็นพื้นที่ของสำนักพระราชวัง และเป็นศูนย์ประสานงานจิตอาสาพระราชทาน ที่มีตัวแทนจากเหล่าทัพมาประจำการ เพื่อประสานงานจิตอาสา และการอบรมต่างๆ กับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 904 ที่เชื่อกันว่า เป็นการสืบสานพระราชปณิธาน รัชกาลที่ 6 ที่ทรงตั้งกองเสือป่า ขึ้นมา
ดังนั้น ชื่อเสือป่า จึงกลายมาเป็นชื่อทีมฟุตบอล “เสือป่า ยูไนเต็ด” ที่นำโดย พล.อ.ทรงวิทย์ ผบ.ทหารสูงสุด นักกีฬา ผู้เป็นแฟนหงส์แดง ลิเวอร์พูล
โดยมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กว่า 300 คนแล้ว และมีการจัดคิวเชิญทีมฟุตบอลของชมรมต่างๆ ทั้งภาคทหาร รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน มาร่วมแข่งขันกีฬาฟุตบอล ที่สนามฟุตบอล กองบัญชาการกองทัพไทย (RTARF Stadium) เป็นประจำทุกวันพุธ ที่จะเป็นนายทหารอายุมาก คือ 50 อัพ และวันพฤหัสบดี เป็นนายทหารหนุ่ม
ทั้งนี้ พล.อ.ทรงวิทย์ ให้นโยบายไว้ว่า ทีมเสือป่าฯ จะไม่มีการแบ่งชั้นยศ สามารถร่วมทีมเดียวกันได้ เพราะในกีฬาจะไม่มีชั้นยศ แต่ที่แบ่งคือ อายุ โดยจะมีทีมอายุ 30-40-50 อัพ โดยใช้ม็อตโต้ “เสือป่า ยูไนเต็ด” รวมใจเป็นหนึ่ง “One Team ทัพไทย”
โดย พล.อ.ทรงวิทย์ จะหาโอกาสมาร่วมแข่งขันกีฬากับกำลังพล และทีมต่างๆ หากไม่ติดภารกิจสำคัญ โดยมีทีมฟุตบอลจากหลายส่วน จองคิวมาเตะทุกสัปดาห์ ทั้งหน่วยในศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ทีมสาธิตเกษตร ทีมลูกน้องเก่าสมัย ร.11 รอ. และทีมจากสปอร์ตคลับ
ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน โดยใช้กีฬาเป็นสื่อกลาง ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี และความร่วมมืออันดีระหว่างกองบัญชาการกองทัพไทยและหน่วยงานภายนอก
ในบรรดาทีมฟุตบอลที่มาเหย้าเยือน ฟาดแข้งกับทีมเสือป่า ยูไนเต็ด ทีมแรกๆ คือ ทีมราชกรีฑาสโมสร (RBSC) ที่ พล.อ.ทรงวิทย์ เป็นสมาชิกอยู่
โดยมีบิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี นำทีมมาด้วยตนเอง เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า พล.อ.เฉลิมชัย อดีตทหารรบพิเศษ ชอบเล่นฟุตบอลมาก เมื่อครั้งเป็น ผบ.ทบ. ก็ลงมาเตะฟุตบอลที่สนามหญ้า บก.ทบ. เสมอๆ โดยจะสวมเสื้อหมายเลข 16 โดยมีทีมเพื่อนเตรียมทหาร 16 ร่วมทีม โดยที่มี พล.อ.ทรงวิทย์ ร่วมทีมเตะฟุตบอล ในนามทีม VIP ทบ. อยู่เนืองๆ
โดยที่ทีมเสือป่า ยูไนเต็ด นี้ก็มีเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 24 ของ พล.อ.ทรงวิทย์ ที่รับราชการอยู่ใน บก.กองทัพไทย ร่วมทีม เช่น เสธ.บอนด์ พล.อ.นักรบ บุญบัวทอง ประธานคณะที่ปรึกษา สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ และบิ๊กอ้อ พล.ท.ทวีศักดิ์ มณีวงศ์ ผบ.ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) ที่เป็นนักฟุตบอลตั้งแต่สมัยเรียน
มีรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เห็นข่าวทีมฟุตบอลทัพไทย เสือป่า ยูไนเต็ด โดยเฉพาะวันที่ พล.อ.เฉลิมชัย นำทีมสปอร์ตคลับไปเยือน เพราะนายกฯ ก็เป็นสมาชิกสปอร์ตคลับด้วยเช่นกัน และชอบเตะฟุตบอลด้วย
อีกทั้งนายเศรษฐา ก็มีความสนิทสนมใกล้ชิดกับ พล.อ.ทรงวิทย์ จากการทำงานด้วยกัน แถมยังคุยภาษาเดียวกัน และถูกคอกัน ในฐานะที่เป็นแฟนหงส์แดงเหมือนกัน
ที่ผ่านมา แม้จะเป็นสมาชิกสปอร์ตคลับด้วยกัน แต่นายเศรษฐา กับ พล.อ.ทรงวิทย์ ก็ยังไม่เคยเตะฟุตบอลด้วยกัน แต่มีเพื่อนสนิทที่รู้จักกัน ก่อนที่จะมาพบปะและรู้จักนายเศรษฐา เมื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ พล.อ.ทรงวิทย์ เป็น ผบ.เหล่าทัพกลุ่มแรกที่นายกฯ เชิญพบหารืออย่างไม่เป็นทางการก่อนที่จะเปิดโต๊ะเชิญปลัดกลาโหม ผบ.เหล่าทัพชุดใหม่ กินข้าวด้วยกัน
ดังนั้น คาดว่าในอีกไม่นาน หากหาเวลาว่างได้ นายกฯ เศรษฐา คงจะได้มาเยือนสนามทัพไทย มาฟาดแข้งกระชับมิตรกับทีมเสือป่า ยูไนเต็ด ในสักวัน เพราะปกตินายกฯ ก็จะไปออกกำลังกาย เล่นกีฬาในสปอร์ตคลับทุกสัปดาห์อยู่แล้ว จนมีข่าวว่า มีบิ๊กทหาร ตำรวจ ไปสมัครเป็นสมาชิกกันหลายคน
นอกจากการเป็นคนรุ่นใหม่ เรียนจบต่างประเทศ ที่ทำให้นายเศรษฐา กับ พล.อ.ทรงวิทย์ สนิทสนมกันรวดเร็ว เพราะการพูดภาษาเดียวกัน คลิกกัน เพราะสไตล์การทำงานรวดเร็วเหมือนกัน นายกฯ จึงมักจะประสานงาน สั่งการผ่าน พล.อ.ทรงวิทย์ มากกว่าคุยตรงกับ ผบ.เหล่าทัพ เพราะมองว่า ผบ.ทหารสูงสุด เป็นผู้บังคับบัญชาของ ผบ.เหล่าทัพ
แม้สายการบังคับบัญชาจะเป็น Single Command แต่ทว่าในทางปฏิบัติ และประเพณีของกองทัพ แล้ว ที่ผ่านมาราว 20 ปี ผบ.เหล่าทัพ จะมีอำนาจสูงสุดของตนเอง โดยไม่ต้องฟัง ผบ.ทหารสูงสุด
แต่ในยุคหลังนี้ ยุคสมัยเปลี่ยน โลกเปลี่ยน บทบาทของ ผบ.ทหารสูงสุด มีมากขึ้น และแนวอินเตอร์ เพราะการฝึกร่วมกับมิตรประเทศ และการทูตทางทหารมากขึ้น
บทบาทของ ผบ.ทหารสูงสุด ในแต่ละยุค แตกต่างกันไปตามบุคลิกลักษณะ และคอนเน็กชั่น รวมถึงรุ่น หากเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ ผบ.เหล่าทัพ โดยเฉพาะ ผบ.ทบ. กองทัพก็จะดูกลมเกลียว
เช่น ในยุคบิ๊กหมง พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ เป็น ผบ.ทหารสูงสุด ลูกป๋า มาจากสายบ้านสี่เสาเทเวศร์ จึงเปี่ยมบารมี แถมนั่ง ผบ.ทหารสูงสุดนานถึง 4 ปี จากตุลาคม 2539-2543 ประกอบกับบุคลิกลักษณะ และมีบิ๊กเหวียง พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร เพื่อน จปร.9 เป็น ผบ.ทบ. และจากนั้น ผบ.ทบ.เป็นรุ่นน้อง พล.อ.มงคล จึงเป็น ผบ.ทหารสูงสุดที่มีเพาเวอร์
ในบางกรณี แม้ ผบ.ทหารสูงสุด จะเป็นรุ่นพี่ หรือแม้แต่เพื่อนกับ ผบ.เหล่าทัพ โดยเฉพาะ ผบ.ทบ. ก็จะมีเส้นบางๆ กางกั้น เพราะคนเป็น ผบ.ทบ. จะวางตัวในฐานะ ผบ.เหล่าทัพที่ใหญ่ที่สุด และเป็นเหล่าทัพหลักในทางการเมือง และการรัฐประหาร บ่อยครั้งที่ ผบ.ทบ.จะไม่ค่อยมาร่วมงานของ ผบ.ทหารสูงสุด
ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับศิลปะในการบริหารจัดการอำนาจของ ผบ.ทหารสูงสุดแต่ละคน
หากในยุคใดที่ ผบ.ทหารสูงสุด เป็นรุ่นน้อง ผบ.เหล่าทัพ จึงอาจถูกจับตามอง เช่น ในยุค พล.อ.ทรงวิทย์ เตรียมทหาร 24 ขณะที่บิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. และบิ๊กดุง พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. เป็นรุ่นพี่ ตท.23
แต่ก็ไม่มีปัญหา เพราะโดยบุคลิกของ พล.อ.ทรงวิทย์ เรียบง่าย อ่อนน้อมอยู่แล้ว แม้นายกฯ เศรษฐา จะสั่งงานตรงมาที่ พล.อ.ทรงวิทย์ เพราะคิดว่ากองทัพเป็น Single Command แต่ในทางปฏิบัติ พล.อ.ทรงวิทย์ ก็จะส่งต่อข้อมูล ข้อห่วงใย ข้อสั่งการของนายกฯ ผ่านไปทาง ผบ.เหล่าทัพอีกทอดหนึ่ง แต่ไม่ได้สั่งตรงไปยังหน่วยปฏิบัติ ซึ่งเป็นไปตามสายการบังคับบัญชาของกองทัพอยู่แล้ว
แต่ด้วยเพราะ พล.อ.ทรงวิทย์ เป็นนายทหารคนดังมาตั้งแต่เป็นนายทหารเด็กๆ ลูกชายบิ๊กตุ๋ย พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี อดีต ผบ.ทบ. แกนนำ จปร.5 และโด่งดังตอนลงไปทำหน้าที่ในชายแดนภาคใต้ จนได้ฉายา “เสธ.ปาเสมัส” สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพราะลงไปอยู่ในพื้นที่ และถูกเรียกขานว่า อ๊อบ ปาเสมัส
หรือแม้แต่ในช่วงที่มีม็อบ ก็เป็นนายทหารที่ไปช่วยประชาชนที่ติดอยู่ในวงล้อมการปะทะที่หลักสี่
จึงทำให้ พล.อ.ทรงวิทย์ มีต้นทุนทางสังคม และอยู่ ทบ.มาทั้งชีวิต ทำงานใกล้ชิดกับ พล.อ.เจริญชัย มายาวนาน โดยเฉพาะใน ฉก.ทม.รอ.904 ยุคบุกเบิก สมัยบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. ที่ควบ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 คนแรก
แม้จะเคยเป็นแคนดิเดตแม่ทัพภาคที่ 1 และ ผบ.ทบ.ด้วยกันมาก็ตาม แต่วันนี้ ต่างคนต่างถึงเส้นชัยของตนเอง และมีเรื่องม่านประเพณี จปร.ด้วย แต่คนในกองทัพมองว่าเหมาะสม พล.อ.เจริญชัย เป็น ผบ.ทบ. ส่วน พล.อ.ทรงวิทย์ ที่จบนายร้อย VMI เป็นนายทหารแนวคิดสมัยใหม่ เป็น ผบ.ทหารสูงสุด
พล.อ.ทรงวิทย์ ในฐานะรุ่นน้อง จึงให้เกียรติรุ่นพี่เสมอ
ในระยะหลัง นายกฯ เศรษฐา ที่เข้าใจเรื่องสายการบังคับบัญชาของกองทัพมากขึ้น ก็มีการประสานสั่งการไปทางเหล่าทัพโดยตรงบ้าง และผ่านทางกลาโหม คือ นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม บิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขานุการ รมว.กลาโหม และบิ๊กหนุ่ม พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกลาโหม ที่ก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.24 ของ พล.อ.ทรงวิทย์ อยู่แล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม นายกฯ ก็ยังถนัดที่จะสื่อสารกับ พล.อ.ทรงวิทย์ มากกว่า เพราะคุยคนเดียวได้ทุกเรื่องของทุกเหล่าทัพ
ใน ผบ.เหล่าทัพชุดใหม่ ส่วนใหญ่เป็นเพื่อน ตท.24 ของ พล.อ.ทรงวิทย์ เช่น พล.อ.สนิธชนก และบิ๊กไก่ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. ที่มีอายุราชการถึงกันยายน 2568 พร้อมกัน ส่วนปีหน้า กันยายน 2567 พล.อ.เจริญชัย และ พล.ร.อ.อะดุง ก็จะเกษียณราชการ
ดังนั้น ผบ.เหล่าทัพในปีหน้า จึงถูกจับตามองว่า พล.อ.ทรงวิทย์ จะดันเพื่อน ตท.24 ขึ้น ผบ.ทบ. และ ผบ.ทร.คนใหม่ หรือจะสนับสนุนการกระจายรุ่น สู่ ตท.25 และ ตท.26
แต่เก้าอี้ ผบ.ทบ.คนใหม่นั้น เป็นที่รู้กันว่า เป็นตำแหน่งพิเศษ ที่ต้องผ่านขั้นตอนการคัดเลือกมากกว่า ผบ.เหล่าทัพอื่น เพราะต้องเป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ด้วย ว่าจะเป็นสัญญาณเดิม เป็นบิ๊กปู พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ เสธ.ทบ. เตรียมทหาร 26
หรือสัญญาณเปลี่ยน ว่าจะเป็นบิ๊กหนุ่ย พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ ผช.ผบ.ทบ. จาก ตท.24
อย่างไรก็ตาม การดีลตรงของนายกฯ เศรษฐา กับ พล.อ.ทรงวิทย์ ทำให้ถูกมองในอีกมุมหนึ่งด้วยว่าเป็นการข้ามสายการบังคับบัญชาในส่วนของ รมว.กลาโหมหรือไม่ เพราะควรจะต้องสั่งผ่านนายสุทิน คลังแสง หรือไม่
แต่ต้องไม่ลืมว่า นายเศรษฐาในฐานะนายกรัฐมนตรี คุมความมั่นคงเองทั้งหมด ไม่ได้ตั้งรองนายกรัฐมนตรีคนใดมาคุมความมั่นคง อีกทั้งโดยตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เป็นทั้ง ผอ.รมน. และประธานบอร์ด สมช. จึงคุยตรงกับ ผบ.เหล่าทัพ
ด้วยเหตุผลที่ นายเศรษฐา เคยระบุว่าตนเองจะช่วยประสานกับฝ่ายความมั่นคงด้วยอีกแรง เนื่องจากนายสุทิน เป็น รมว.กลาโหมพลเรือนคนแรกที่ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย
นายสุทิน จึงยืนยันว่า ไม่นอยด์ ไม่ได้รู้สึกว่านายกรัฐมนตรีข้ามหน้าข้ามตา หรือข้ามสายการบังคับบัญชาเพราะเป็นสไตล์การทำงานของนายกรัฐมนตรี ที่เป็นสไตล์นักธุรกิจ เชื่อว่าไม่มีปัญหาเหล่าทัพ ที่มีสายบังคับบัญชาแล้ว กองทัพปรับตัวได้ เพราะเจอนายกฯ มาหลายสไตล์
“เราต้องเรียนรู้สไตล์การทำงานของแต่ละคน ถ้าเราได้นายกฯ ที่มาจากราชการ ก็จะเป็นสเต็ปแบบราชการ ซึ่งคนก็บอกว่าช้า ถ้าได้นักธุรกิจมาก็จะทำงานเร็ว ถ้าทุกคนเข้าใจสไตล์ ก็ไม่มีใครนอยด์หรอก ไม่มีใครน้อยใจหรอก” นายสุทินระบุ
เพราะระหว่างนายสุทิน กับ ผบ.เหล่าทัพ ก็มีไลน์สื่อสารกันอยู่แล้ว มีอะไรก็โทร.หาทันที หรือจะมาพบที่กลาโหมก็ได้เสมอ หากมีเรื่องสำคัญ เช่น พล.ร.อ.อะดุง ก็คุยหรือมาพบหลายครั้ง
“เท่าที่ฟังมาไม่มีปัญหา กองทัพพร้อมปรับตัวทำงานกับนายกฯ มาทุกสไตล์ กองทัพมีประสบการณ์มากับนักกฎหมาย นายกฯ นักธุรกิจ นายกฯ การทหาร ก็ผ่านมาเยอะ เหล่าทัพเข้าใจ ถือว่าการสั่งผ่านใคร เป็นเรื่องเล็กน้อย” นายสุทินระบุ
เชื่อกันว่า นายสุทิน รู้ดีว่านายกฯ เศรษฐา คือสายตรงจากอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทย และรู้สถานะของตนเอง
เพราะตลอด 3 เดือนที่เป็น รมว.กลาโหม นายสุทิน ก็ทำให้กองทัพสบายใจได้ว่า ไม่ได้มาแบบมีธงล้างบางกองทัพ แถมยังมาทำหน้าที่เหมือนเป็นโฆษกชี้แจงแทนกองทัพอีกด้วย ถึงขั้นที่นายสุทินระบุว่า มาทำงานกับทหารมีความสุข เพราะทหารให้เกียรติ แม้ตนเองจะเป็นนักการเมืองบ้านนอกก็ตาม
และด้วยสไตล์สบายๆ ของนายสุทิน จึงทำให้กองทัพไม่เกร็ง และสามารถเข้าถึงได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นนายทหารระดับผู้บัญชาการเหล่าทัพหรือนายทหารระดับปฏิบัติงาน รวมทั้งขยันลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยทหารพบปะกำลังพล จึงทำให้นายสุทินสามารถแสดงบทบาท รมว.กลาโหมพลเรือน ที่เป็นข้อต่อ ช่วยประสานสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพได้อีกแรงหนึ่ง
จนมีเสียงชื่นชมจากทหารในกองทัพว่าแม้นายสุทินจะไม่มีความถนัดเรื่องการทหารและความมั่นคง แต่ด้วยความที่เป็นครูเป็นอาจารย์มาและมีความสามารถในเรื่องของการประเมินและใช้ถ้อยคำ จึงทำให้นายสุทินสามารถพูดในเวทีทหารได้อย่างเข้าใจและมีคำที่เปี่ยมความหมาย
แต่ด้วยสมการแห่งอำนาจ และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย มีการมองกันว่า ในการแต่งตั้งโยกย้ายทหารในปีหน้า ทั้งเมษายนและกันยายน อำนาจอาจไม่ได้อยู่ที่นายสุทินและนายเศรษฐา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022