คิสซิงเจอร์รำลึก The Frame Years

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

คิสซิงเจอร์รำลึก

The Frame Years

 

“คิสซิงเจอร์ถือว่าเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกันที่มีอำนาจมากที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักสัจนิยมสุดขั้ว ที่กำหนดการทูตแบบใหม่โดยได้สะท้อนถึงผลประโยชน์อเมริกัน ขณะเดียวกันก็ได้รับการสาปแช่งว่า เป็นผู้ที่ละทิ้งคุณค่าแบบอเมริกัน โดยเฉพาะในเรื่องของสิทธิมนุษยชน”

David E. Sanger

 

คงจะไม่ช้าเกินไปนักที่จะเขียนบทความรำลึกถึง “มหารัฐบุรุษ” คนสำคัญของการเมืองโลกยุคปัจจุบันที่ชื่อ “เฮนรี คิสซิงเจอร์” หรือบางคนอาจเปรียบเทียบว่า บุคคลผู้นี้คือ “บิสมาร์กกลับชาติมาเกิด” เพื่อช่วยรัฐบาลอเมริกันทำนโยบายต่างประเทศในยุคสงครามเย็น

คิสซิงเจอร์เกิดวันที่ 27 พฤษภาคม 1923 เสียชีวิตในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2023 เขาเป็นนักการเมืองและนักวิชาการรัฐศาสตร์มีชีวิตอย่างยาวนานถึง 100 ปี

ซึ่งในทางการเมืองแล้ว คงต้องยอมรับว่าเขาเป็นผู้ที่ทรงอิทธิพลทางความคิดในเรื่องของการต่างประเทศอย่างมาก

จนบางทีต้องยกย่องให้เขาเป็น “มหารัฐบุรุษแห่งการเมืองโลกร่วมสมัย”

และในทางวิชาการของสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศแล้ว คิสซิงเจอร์เป็น “บรมครู” คนหนึ่งที่สำคัญในสาขาทั้งสอง ที่มีผลงานทางวิชาการออกจนเกือบวาระสุดท้ายของชีวิต

ขณะเดียวกันเขาคือ “อาชญากรสงคราม” คนสำคัญของยุคสงครามเวียดนาม ที่คนส่วนหนึ่งในยุคนั้น ไม่มีวันยอมให้อภัยเขาได้เลย

บางทีข้อเขียนของเดวิด แซนเกอร์ ผู้สื่อข่าวด้านความมั่นคงของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีโอกาสได้สัมภาษณ์คิสซิงเจอร์หลายครั้ง และเขียนบทความรำลึกถึงในหนังสือพิมพ์นี้ อาจจะพอเป็นภาพสะท้อนถึงความขัดแย้งของมุมมองของชาวอเมริกันที่มีต่อคิสซิงเจอร์… ตกลงเขาเป็นผู้ที่รักษาผลประโยชน์ของอเมริกา หรือเป็นผู้ที่ทำลายคุณค่าแบบอเมริกันในนโยบายต่างประเทศ

ในความเป็นจริงแล้วอาจจะต้องยอมรับในอีกมุมหนึ่งว่า คิสซิงเจอร์เป็นบุคคลที่ทำให้เกิดทั้ง “ข้อโต้แย้งและข้อถกเถียง” อย่างมากในการพิจารณาถึงบทบาทของเขาในเวทีโลก

ซึ่งเขามักจะตอบโต้กับบรรดานักวิจารณ์ทั้งหลายว่า พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้เผชิญกับโลกที่ไม่มีทางเลือกแบบที่เขาต้องเผชิญต่างหาก

หรือเขาใช้คำว่าโลกที่เป็น “the world of bad choices” จนทำให้เขามักจะกล่าวติดตลกเสมอว่า “เรื่องที่ผิดกฎหมายเราทำได้ทันที ส่วนเรื่องที่ผิดรัฐธรรมนูญเราอาจต้องใช้เวลาสักหน่อย”

 

ช่วงชีวิตเริ่มต้น

คิสซิงเจอร์เป็นบุตรของครอบครัวชาวยิว เขาเกิดในเยอรมนีในปี 1932 แต่ชีวิตในเยอรมนีขณะนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ อันทำให้ครอบครัวของเขาต้องเผชิญกระแสชาตินิยมต่อต้านยิวที่เริ่มปรากฏชัดขึ้นในรัฐนาซีในปี 1935 ด้วยการออกกฎหมาย “The Nuremberg Laws” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ กฎหมายต่อต้านยิว

และทำให้พ่อของเขาถูกบังคับให้ต้องออกจากการเป็นครูสอนหนังสือ

ในภาวะเช่นนี้ ครอบครัวจึงตัดสินใจอพยพมาสหรัฐอเมริกาในปี 1938 เมื่อเขามีอายุ 15 ปี ญาติของเขาส่วนหนึ่งอพยพออกมาไม่ทัน และเสียชีวิตถึง 13 คนจากเหตุการณ์โฮโลคอสต์ (The Holocaust)

การต่อต้านชาวยิวเช่นนี้มีส่วนอย่างมากในการกำหนดชีวิตของเขาในอนาคต เพราะความเป็นยิวทำให้เขาถูกจำกัดกิจกรรมในด้านต่างๆ แม้แต่การไปเล่นฟุตบอล หรือไปชมการแข่งขันฟุตบอล ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาชอบมากในช่วงเยาว์วัย

ข้อจำกัดเช่นนี้ทำให้เขาไม่มีทักษะทางด้านกีฬา แม้เขาจะชอบเล่นฟุตบอลอย่างมากก็ตาม

ดังนั้น สิ่งที่เขาทำได้คือ การเอาดีด้วยการอ่านหนังสือและเรียนหนังสือ

กล่าวกันว่าเขาเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก จนกลายเป็น “หนอนหนังสือ” และพร้อมที่จะเป็น “ผู้แข่งขันในการเรียน” ไม่ใช่ “ผู้แข่งขันในเกมกีฬา” อย่างที่เขาเคยคิดฝันในวัยเด็ก

และภาวะเช่นนี้ทำให้เขามีบุคลิกเป็น “คนเก็บตัว” (introvert)

คิสซิงเจอร์เรียนหนังสือในโรงเรียนที่นิวยอร์ก ซึ่งครอบครัวเขาเริ่มชีวิตใหม่ที่นี่หลังจากอพยพหนีภัยนาซีออกมาจากเยอรมนีแล้ว

เขาเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วยในช่วงเรียนมัธยมปลาย โดยการไปทำงานตอนกลางวัน และเรียนหนังสือในตอนค่ำ

แต่ด้วยผลการเรียนที่ดีและการทำงานที่ดี ทำให้เขามีโอกาสในการเรียนต่อที่ City College of New York โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน และตั้งเป้าหมายที่จะเป็นนักบัญชี

 

ชีวิตในกองทัพบก

แต่แล้วจุดหักเหในชีวิตมาถึงเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น เขาเข้ารับราชการในกองทัพบกอเมริกันในปี 1943 และต้องถือว่าการเข้าเป็นทหารบกเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต และกำหนดเส้นทางชีวิตใหม่ที่ทำให้ความฝันของการเป็นนักบัญชีต้องจบลง

คงไม่ผิดนักที่จะต้องกล่าวว่า สงครามกำลังเปลี่ยนชีวิตของคิสซิงเจอร์อย่างคาดไม่ถึง…

ใครเลยจะคิดว่า วันหนึ่งลูกชายจากครอบครัวชาวยิวที่อพยพหนีนาซีมาจากเยอรมนีจะก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดี อันเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างมากในนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของการเมืองอเมริกัน

ในภาวะสงครามนั้น การมีความสามารถในการใช้ภาษาเยอรมันได้อย่างคล่องแคล่วกลายเป็นคุณสมบัติที่หน่วยงานข่าวกรองของกองทัพบกต้องการอย่างมาก

เขาจึงถูกส่งกลับเข้าไปเรียนหนังสือที่ Lafayette College ที่เพนซิลเวเนียในโครงการฝึกทางทหารเฉพาะทาง (The Army Specialized Training Program) แทนที่จะถูกส่งไปรบ

คราวนี้เขาถูกจับเรียนวิศวกรรม แต่ก็มักใช้เวลาว่างอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ ทั้งยังคอยช่วยติวเพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกัน

ต่อมาโครงการนี้ถูกยกเลิกในปี 1944 และเขาถูกย้ายไปประจำการอยู่กับกองพลทหารราบที่ 84 ที่ลุยเซียนา เพื่อที่จะเตรียมเดินทางเข้าสู่สนามรบในยุโรป

ในการนี้ เขาทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาเยอรมันให้กับนายพลโบล์ลิ่ง (Gen. Alexander Bolling)

และเมื่อหน่วยต้องถอนตัวจากการรุกของกองทัพเยอรมันที่ปิดล้อมเมืองบัสตอญ [หรือบาสโตนจ์ (Bastogne) ในเบลเยียม] ซึ่งยุทธการนี้รู้จักกันในชื่อของ “The Battle of the Bulge” (16-22 ธันวาคม 1944) อันเป็นการรุกใหญ่ครั้งสุดท้ายของเยอรมันก่อนที่สงครามจะสิ้นสุดลง

แต่คิสซิงเจอร์อาสาที่จะอยู่ในแนวรบเพื่อทำหน้าที่ในงานต่อต้านข่าวกรอง

ด้วยความสามารถของภาษาเยอรมันที่มีอยู่ เขาช่วยในภารกิจนี้ได้อย่างมาก เมื่อกองทัพเยอรมันต้องล่าถอยจากความล้มเหลวในการเปิดยุทธการครั้งนี้

กองพลของเขาได้ยึดเมือง Krefeld ที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำไรน์ คิสซิงเจอร์จึงรับหน้าที่เป็นผู้บริหารเมือง หรือประมาณว่าเป็นนายกเทศมนตรี โดยใช้ความสามารถทางด้านภาษา และความเข้าใจในวัฒนธรรมเยอรมัน ทำให้เขาประสบความสำเร็จในการจัดระเบียบเมือง พร้อมกับจัดตั้งคณะผู้บริหารพลเรือนในระยะเวลาเพียงสัปดาห์เศษ…

อดคิดไม่ได้ว่า สิ่งนี้เป็นความสำเร็จชิ้นแรกในการจัดระเบียบและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ที่แม้จะเป็นเพียงระดับเมืองก็ตาม แต่ก็สะท้อนถึงความสามารถของการจัดระเบียบ ที่ในอนาคตอาจจะเป็นในระดับที่ใหญ่ที่สุดคือ การจัดระเบียบโลก!

ความสำเร็จครั้งนี้ ทำให้เขาถูกส่งเข้าไปทำงานในหน่วยต่อต้านข่าวกรอง (The Counter-Intelligence Corps) โดยมีภารกิจในพื้นที่ที่กองทัพอเมริกันเข้าปลดปล่อยแล้ว เขาจะต้องค้นหาพวกนาซี และพวกเกสตาโปที่หลบอยู่ในเมือง

ซึ่งผลงานเช่นนี้ทำให้เขาได้รับเหรียญกล้าหาญในระดับ Bronze Star และเขายังทำหน้าที่ดังกล่าวต่อไป แม้สงครามโลกสิ้นสุดลงแล้ว

โดยเขาประจำการอยู่กับรัฐบาลทหารของสหรัฐ ที่เข้าควบคุมเยอรมนีในยุคหลังสงคราม

กล่าวกันว่าเขาต้องทำหน้าที่ในครั้งนี้ด้วยการควบคุมความโกรธและความเกลียดให้ได้ เนื่องจากครอบครัวต้องเผชิญกับภัยนาซี จนต้องอพยพออกไปจากเยอรมนี

 

ชีวิตใหม่หลังสงคราม

เขาถูกปลดประจำการในปี 1946 ด้วยยศในระดับสิบเอก… สิบเอกคิสซิงเจอร์แห่งกองทัพบกสหรัฐ ซึ่งเขากล่าวเสมอว่า ชีวิตในกองทัพเป็นช่วงเวลาสำคัญหนึ่งคือ เป็น “ไฮไลต์” ในการกำหนดตัวตน เพราะเป็นช่วงของการสร้างอัตลักษณ์ของความเป็นอเมริกัน และสร้างความมั่นใจในการเป็นชาวอเมริกันของเขาในยุคหลังสงคราม

อย่างไรก็ตาม การทำงานต่อต้านข่าวกรองในกองทัพ ตลอดจนมีโอกาสได้เห็นถึงสนามรบจริงๆ และในช่วงเวลาสั้นๆ เขาทำหน้าที่เป็น “ครูทหาร” ให้แก่นายทหารอเมริกันในเยอรมนี

ประสบการณ์ดังกล่าวทำให้เขาเริ่มคิดที่จะศึกษาต่อ และหวังที่จะมีโอกาสในการกำหนดนโยบายต่างประเทศในอนาคต…

ในช่วงเวลาเช่นนั้น ไม่มีใครคาดเดาได้เลยว่า แล้ววันหนึ่งเขาจะประสบความสำเร็จในความฝันเช่นนี้

แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ลูกจากครอบครัวผู้อพยพ ที่มียศเพียงสิบเอกจากสงคราม จะสามารถเดินไปสู่จุดหมายของความสำเร็จเช่นนั้นได้จริง

แล้วความฝันก็เริ่มถูกทำให้เป็นจริง… คิสซิงเจอร์ได้เข้าเรียนทางด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีในปี 1950 จบปริญญาเอกในปี 1954

และหลังจากจบการศึกษาในปีนี้แล้ว เขาเข้าเป็นอาจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาได้สร้างตำนานของการเรียน โดยวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขา เป็นวิทยานิพนธ์ที่ยาวที่สุดของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีนักศึกษาปริญญาเอกคนใดทำลายสถิตินี้ได้

ต่อมาเขาได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ในปี 1962 แต่งานสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็น “รัฐบุรุษโลก” คือการจัดโครงการสัมมนาระหว่างประเทศ โดยการเชิญผู้มีตำแหน่งสำคัญจากประเทศต่างๆ ราว 40 คนเข้าร่วมการสัมมนาในทุกฤดูร้อน

ผลพลอยได้อย่างมีนัยสำคัญคือ การสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ ซึ่งวันหนึ่งที่เขาต้องรับบทบาทสำคัญในการ “ปรับแต่ง” นโยบายต่างประเทศอเมริกันใหม่แล้ว เครือข่ายเช่นนี้จะเป็นฐานรองรับบทบาททางการเมืองได้อย่างดีในอนาคต

โครงการสัมมนาภาคฤดูร้อนของคิสซิงเจอร์เริ่มก่อตั้งในปี 1952 และสิ้นสุดลงในปี 1969 อันเป็นระยะเวลานานถึง 17 ปีที่เครือข่ายเหล่านี้รอเวลาที่ทำหน้าที่ในเวทีทางการเมืองระหว่างประเทศในอนาคต หรือกล่าวอีกมุมหนึ่งได้ว่า คิสซิงเจอร์มีเครือข่ายทางการทูตขนาดใหญ่ที่วันหนึ่งจะกลายเป็น “ทรัพย์สินที่มองไม่เห็น” แม้จะจับต้องไม่ได้ แต่กลับมีมูลค่าอย่างมหาศาลในทางการเมือง

แน่นอนว่า บทบาทของเขาไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้… จากครอบครัวผู้อพยพ เข้าร่วมสงครามกับกองทัพสหรัฐ ศึกษาต่อจนได้ดุษฎีบัณฑิต และดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของสังคมอเมริกัน

พร้อมกับมีเครือข่ายทางการทูตขนาดใหญ่อยู่ในมือ เขาดูจะพร้อมแล้วที่จะกระโจนออกสู่เวทีนอกรั้วมหาวิทยาลัย!