เบี้ยวค่าแรง 400 คือเบี้ยวอำนาจประชาชน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

พรรคเพื่อไทยมักโฆษณาชวนเชื่อให้คนไทยเชื่อว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะทำให้เศรษฐกิจไทยดี

แต่ทั้งที่ตอนนี้กำลังเข้าสู่ช่วงเดือนสุดท้ายของปีซึ่งมักเป็นช่วงที่เศรษฐกิจดีที่สุด บรรยากาศทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมกลับซบเซาทั้งในแง่กำลังซื้อ ในแง่การลงทุนในตลาดหุ้น และกระทั่งความมั่นใจของประชาชนในการใช้จ่ายเงินของตัวเองจริงๆ

ล่าสุด ตลาดหุ้นไทยช่วงกลางเดือนธันวาคมเริ่มดิ่งเหวสู่ระดับ 1,360 ซึ่งเป็นดัชนีต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี ทั้งที่ประเทศไทยเพิ่งผ่านการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม และมีคุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีเดือนที่ 4 จนสมควรเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจคึกคักและตลาดหุ้นกระฉับกระเฉงมากที่สุด

แต่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและภาคเศรษฐกิจจริงกลับไม่เป็นแบบนั้นเลย

เพื่อให้เห็นภาพยิ่งขึ้น บทวิเคราะห์ของ Bloomberg และสถาบันทางเศรษฐกิจจำนวนมากระบุว่าตลาดหุ้นไทยในวันที่ 13 ธันวาคม เข้าสู่ภาวะ Bear Market หรือ “ซึมยาว” จนดัชนีตลาดหุ้นติดลบ 200 จุดในระยะเวลา 4 เดือน เพราะนโยบายรัฐที่ไม่ชัดเจน, นักลงทุนต่างชาติหมดความเชื่อมั่น ฯลฯ

ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันที่ตลาดหุ้นแทบทั้งโลกเป็นบวกหมดเลย

สำหรับกองเชียร์รัฐบาลที่เถียงว่าตลาดหุ้นคือบ่อนคนรวยที่ไม่สะท้อนความรู้สึกคนทั่วไป ผลสำรวจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็พบว่าความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจทุกด้านลดลงหมดต่อเนื่องจากเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม, การลงทุน, การบริโภค, การท่องเที่ยว, การจ้างงาน, การค้า และการบริการ

น่าสังเกตว่าดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 52.4 ซึ่งต่ำที่สุดหลังจากเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 52.5 อันเป็นเดือนที่มีการเลือกตั้งทั่วไป

ยิ่งกว่านั้นคือดัชนีความเชื่อมั่นหลังเลือกตั้งเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจาก 54.0 ในเดือนมิถุนายนเป็น 54.7 ในเดือนกันยายน ก่อนที่จะลดต่ำลงทันทีที่คุณเศรษฐาเป็นนายกฯ จนปัจจุบัน

 

ไม่ว่าอดีตของคุณทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทยจะทำให้เศรษฐกิจไทยดีจริงหรือไม่ ความเป็นจริงในปัจจุบันบอกว่าคนไทยไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยดีอย่างที่คุณเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยชักจูงให้ประชาชนเชื่อ

ซ้ำความเชื่อมั่นของประชาชนยังเริ่มตกต่ำทันทีในเดือนที่พรรคเพี่อไทยตระบัดสัตย์ตั้งรัฐบาลข้ามขั้วจนคุณเศรษฐาได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ตรงข้ามกับมายาคติที่พรรคเพื่อไทยเชื่อว่าคนไทยมองว่าพรรคเพื่อไทยทำให้เศรษฐกิจดี ข้อเท็จจริงวันนี้คือคนไทยไม่ได้เชื่อว่าคุณทักษิณ, คุณเศรษฐา และพรรคเพื่อไทยจะฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างที่พรรคสะกดจิตตัวเองมาโดยตลอด

ซึ่งหมายความว่ายุทธศาสตร์ของเพื่อไทยที่มุ่งแก้ปัญปากท้องเพื่อให้คนลืมการตระบัดสัตย์นั้นอาจไม่มีผลเลย

คุณแพทองธาร ชินวัตร สร้างวาทกรรมทางการเมืองในวันประชุมใหญ่พรรคว่าพรรคตัวเองแก้ปัญหาปากท้องโดยไม่สร้างวาทกรรม

แต่ต่อให้เป็นปัญหาปากท้องที่คุณแพทองธารสดุดีตัวเอง แนวโน้มที่รัฐบาลจะทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้อย่างครบถ้วนก็ตั้งข้อสงสัยได้ทั้งนั้น

ไม่ต้องพูดว่าคำพูดคุณแพทองธารเองก็คือการสร้างวาทกรรมโจมตีคนอื่นอยู่ในตัว

 

ค่าแรงขั้นต่ำเป็น 1 ในนโยบายที่พรรคเพื่อไทยตีฟูว่าจะได้ 600 ในปี 2570 และถึงแม้วิธีหาเสียงนี้จะกะล่อนเพราะให้คนลงคะแนนเลือกก่อนแล้วรออีก 4 ปีกว่าจะเกิดการปฏิบัติตามนโยบาย

แต่ที่เลวร้ายยิ่งกว่าคือแม้แต่ในปี 2567 ที่เพื่อไทยประกาศว่าจะได้ค่าแรง 400 ก็มีโอกาสไม่ได้ไปด้วย หรือเท่ากับโดนเบี้ยวตั้งแต่ปีแรกแต่ถูกบีบให้รอต่อไปอีก 4 ปี

อาจมีคนโต้แย้งว่าความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลจะดีขึ้นหากคุณเศรษฐาทำตามนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียง

แต่ประเด็นคือนโยบายหลักของพรรคหลายข้อส่อแววว่าไม่มีทางทำตามที่หาเสียงเลย ไม่ว่านโยบายค่าจ้างขั้นต่ำปีแรก 400, จ่ายเงินทุกครอบครัวให้มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท หรือแม้แต่กู้เงินแจก 5 แสนล้านเฉพาะคนที่ตรงตามเกณฑ์รัฐบาล

ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคเพื่อไทยออกนโยบายแจกเงินและเพิ่มเงินเพื่อดึงคะแนนเสียงจากคนส่วนใหญ่ที่ยากจน เมื่อใดที่รัฐบาลไม่ทำตามนโยบาย เมื่อนั้นคะแนนเสียงของคนยากจนที่หวังประโยชน์จากนโยบายย่อมสูญหายไปด้วย ต่อให้รัฐบาลและนายแบกนางหามจะสร้างวาทกรรมอธิบายการเบี้ยวนโยบายแค่ไหนก็ตาม

 

ค่าแรงขั้นต่ำเป็นตัวอย่างของการเบี้ยวนโยบายที่ชัดเจนที่สุดของรัฐบาล เพราะคำประกาศว่าค่าแรงปี 2567 ต้องอยู่ที่ 400 นั้นชัดเจนจนไม่มีข้ออ้างให้ตระบัดสัตย์ได้ ส่วนมติคณะกรรมการค่าจ้างที่เพิ่มค่าแรงเพียงแค่ 2-16 บาท ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 330 บาท โดยทั้งประเทศมีภูเก็ตแค่จังหวัดเดียวที่ได้ค่าแรง 370 ซึ่งก็ไม่ถึง 400 อยู่ดี

ข้ออ้างฝ่ายรัฐบาลคือคนงานที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำมีนิดเดียว ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทย การเบี้ยวจึงแทบไม่มีใครเดือดร้อน

แต่คำอธิบายที่สร้างความชอบธรรมในการตระบัดสัตย์แบบนี้เขลาจนคนพูดควรเอาปี๊บคลุมหัวที่ประจานความเขลาตัวเอง เพราะค่าจ้างขั้นต่ำคือฐานของการปรับค่าจ้างทั้งระบบ เมื่อค่าจ้างขั้นต่ำไม่เพิ่ม ค่าจ้างทั้งระบบก็แทบไม่เพิ่มโดยปริยาย

ยกตัวอย่างง่ายๆ ค่าแรงขั้นต่ำของทุกจังหวัดในปี 2566 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 345 บาท แปลว่าคนงานมีฝีมือและมีประสบการณ์ทุกคนต้องได้ค่าจ้างมากกว่า 345 บาทขึ้นไป แต่ถ้าหากรัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2567 เพิ่มขึ้นวันละ 5 บาทเป็น 350 บาท คนงานที่มีประสบการณ์ซึ่งเคยได้ค่าแรง 350 บาทก็จะกลายเป็นได้ค่าแรงเท่ากับคนไม่มีประสบการณ์ไปในทันที

ควรระบุด้วยว่ารัฐบาลโกหกเรื่องคนงานที่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำมีนิดเดียว เพราะตัวเลขของธนาคารชาติเองก็ระบุว่าลูกจ้างได้ค่าแรงต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำถึง 40-44% ในธุรกิจขนาดเล็ก การกดค่าแรงจึงทำให้คนจนที่สุดในธุรกิจที่เล็กที่สุดเผชิญความลำบากที่สุด และคนกลุ่มนี้มีจำนวนเป็นล้านๆ ในประเทศไทย

เมื่อใดที่รัฐบาลกดค่าจ้างขั้นต่ำของคนงานไร้ประสบการณ์ เมื่อนั้นค่าแรงของคนงานที่มีฝีมือก็จะถูกกดไปด้วย และเมื่อใดที่รัฐบาลขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้คนงานใหม่ที่ไร้ฝีมือ เมื่อนั้นค่าแรงของคนงานที่มีฝีมือก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยโดยปริยาย

 

ค่าจ้างคือรายได้ซึ่งเป็นที่มาของกำลังซื้อในหมู่ประชาชน ทันทีที่รัฐบาลกดค่าแรง, เพิ่มค่าแรงแค่วันละ 2 บาท ซึ่งเท่ากับเพิ่มขึ้นเดือนละ 60 บาท เท่ากับข้าวขาหมูจานเดียว หรือไม่ขึ้นค่าแรงให้เป็นวันละ 400 ตามที่โฆษณาชวนเชื่อ รัฐบาลคือคนที่ทำให้ประชาชนไม่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเลย โดยเฉพาะคนกลุ่มที่รายได้เท่าค่าจ้างขั้นต่ำหรือได้มากกว่านิดเดียว

แม้แต่เด็กประถมก็รู้ว่าคนไทยหลายสิบล้านคนมีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายในชีวิตประจำวัน

กระทรวงแรงงานมีข้อมูลมหาศาลว่าคนงานต้องใช้เงินกิน, อยู่, เดินทาง, รักษาโรค ฯลฯ มากกว่าค่าแรงที่ได้ในแต่ละวันมาตลอด

ช่องว่างของรายได้ที่ไม่พอกับรายจ่ายคือสาเหตุให้คนงานต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อให้ตัวเองมีกินมีใช้เพื่อประทังชีวิตแต่ละเดือน

ด้วยเหตุที่คนงานคือคนจนที่ไม่มีหลักทรัพย์อะไรเลย คนงานจึงเหมือนคนส่วนใหญ่ที่สถาบันการเงินไม่มีทางปล่อยเงินให้กู้ได้ เมื่อใดที่คนงานขาดเงิน เมื่อนั้นคนงานต้องยืมเงินจากเจ้าหนี้จนเป็นหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นเสมอ การกดค่าแรงจึงเป็นการบีบให้คนงานอยู่ในวงจรหนี้นอกระบบไม่สิ้นสุด ต่อให้รัฐบาลจะประกาศแก้ปัญหาหนี้นอกระบบก็ตาม

หนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้คนไทยเป็นหนี้นอกระบบมากที่สุดคือการกดค่าแรงและไม่เพิ่มรายได้ประชาชน และสิ่งที่น่าสมเพชที่สุดคือรัฐบาลที่ไม่เพิ่มค่าแรงตามที่หาเสียง กลับเป็นรัฐบาลที่อวดอ้างว่าจะแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้ประชาชน

ยิ่งคิดก็ยิ่งเห็นว่าการกดค่าแรงเป็นต้นตอให้คนจำนวนมากอยู่ในวังวนหนี้และความยากจนตลอดกาล

แต่พรรคการเมืองที่อวดอ้างว่าตัวเองมีจุดแข็งที่การแก้ปัญหาปากท้องกลับตั้งรัฐบาลซึ่งไม่สนใจแก้ไขปัญหานี้

รวมทั้งไม่มีใครเลยในรัฐบาลที่พูดเรื่องนี้เหมือนที่ตัวเองเคยแหกปากตะโกนสนั่นหวั่นไหวบนเวทีปราศรัยเพื่อหาเสียงจากประชาชน

 

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยพูดว่าการเลือกตั้งคือนาทีทองของพรรคการเมืองที่จะหาเสียงแบบไร้ความรับผิดชอบที่สุด

แต่เพื่อให้ถูกต้องกับบริบทปัจจุบัน ควรระบุว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คือนาทีทองของพรรคการเมืองที่จะตระบัดสัตย์แบบไร้ยางอายที่สุดด้วย

เพราะมีนโยบายจำนวนมากที่พรรครัฐบาลไม่ทำโดยไม่มีเหตุอะไรเลยนอกจากหลอกประชาชน

ด้วยการไม่ทำตามนโยบายเรื่องค่าแรงที่หาเสียงไว้กับประชาชน รัฐบาลเสี่ยงจะถูกมองในแง่ตระบัดสัตย์มากขึ้นจนกระทบต่อความเชื่อมั่นจนยุทธศาสตร์ใช้ประเด็นปากท้องกลบการข้ามขั้วทางการเมืองไม่มีทางทำได้เลย