ส่อง ‘บทเรียน’ เลือกหัวหน้าพรรค การเมืองแบบ ‘ปชป.’

เหตุใด? การประชุมเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) “ล่ม” ถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรก เดือนกรกฎาคม

ครั้งที่สอง เดือนสิงหาคม

สาเหตุเบื้องหน้าที่แลเห็นคือ องค์ประชุมไม่ครบ

แต่ส่วนที่มองไม่เห็น ละม้ายคล้ายคำโบราณที่ว่า “รู้หน้า ไม่รู้ใจ”

จึงย่อมมีแต่คนวงในหรือคนใกล้ชิดเท่านั้นที่จะรู้ตื้นลึกหนาบาง

ความจริงข้อหนึ่งคือใน “ปชป.” แตกเป็นก๊กเป็นเหล่า

สภาวะ “เป็นก๊กเป็นเหล่า” หาใช่เรื่องประหลาดพิสดาร มนุษย์เป็นสัตว์สังคม คนที่คิด หรือที่ดำเนินชีวิตมีความพึงใจชอบพอในสิ่งใดคล้ายคลึงกันย่อมเกาะเกี่ยวกันเป็นกลุ่มย่อยๆ

อย่างน้อยๆ ใน “ปชป.” ก็จะต้องมีกลุ่มเก่า กลุ่มใหม่ กลุ่มหนุ่มๆ สาวๆ อาวุโสลายคราม กลุ่มคนแก่ที่คิดใหม่ มีคนไม่แก่แต่คิดเก่าปนเปกันไปเป็นธรรมชาติ

ภาพภายนอกจึงไม่อาจชี้บอก “คุณค่า” อะไรได้มากนัก ยิ่งสำนวนโวหารวาทกรรมด้วยแล้วฟังยาก!

บางคนอาจแต่งกายดี ท่วงท่าไม่สรวลเสเฮฮา พูดจาสุภาพ นุ่มนวล มีเหตุมีผล ชอบพูดถึงแต่ความดีงาม ลึกลงไป อาจเลือดเย็น เห็นแก่ตัว คนที่พร่ำถึงความเสียสละอาจอำพรางแผนทำกำไรได้อย่างแม่นยำและยาวไกล

หรือแม้กระทั่งคนที่ “เสียง” ลมหายใจเข้าออกบอก…อุดมการณ์ๆ นั่นก็ใช่ว่าจะแน่เสมอไป

 

9 ธันวาคม 2566 เลือก “หัวหน้าพรรค ปชป.” รอบที่สาม องค์ประชุมครบ ผ่านฉลุย

คะแนนร้อยละ 88.5 จากที่ประชุมเทให้ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” อดีตเลขาธิการพรรค ขึ้นนั่งเก้าอี้ “หัวหน้า ปชป.” คนใหม่เป็นที่เรียบร้อย

หากแต่มี “ความไม่เรียบร้อย” บางประการที่เกิดขึ้นทั้ง “ก่อนหน้า” และ “ภายหลัง” น่าสนใจไม่น้อย

“ก่อนหน้า” เลือกหัวหน้าพรรค ปชป. มีการเสนอชื่อ 2 คน

1.เฉลิมชัย ศรีอ่อน และ 2.น.ส.วทันยา บุนนาค หรือ “มาดามเดียร์” ซึ่งเพิ่งเข้าเป็นสมาชิกพรรคได้เพียง 1 ปี แต่ขัดที่ข้อบังคับพรรคกำหนดว่า ต้องสังกัดพรรคมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี

เมื่อให้ลงมติ “ขอยกเว้น” ข้อบังคับพรรคไม่ผ่าน “มาดามเดียร์” จึงปิ๋ว!

คงเหลือแต่ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” หนึ่งเดียว

มิคาดว่า สายอำนาจเก่าจอมเก๋าระดับอดีตนายกรัฐมนตรี “ชวน หลีกภัย” ฉีกแนว ลุกขึ้นประกาศวัดบารมีด้วยการเสนอชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรค ปชป. และอดีตนายกรัฐมนตรีให้กลับมารั้งตำแหน่ง “หัวหน้าพรรค ปชป.” อีกครั้ง

เมื่อถึงคราว “อภิสิทธิ์” เธอก็ลุกขึ้นผงาดกวาดสายตาไปทั่วห้องประชุมใหญ่ด้วยท่วงท่ามีกังวลพร้อมพรรณนาที่มาที่ไปหลายกระทง แต่พอจะขมวดความในตอนท้ายได้ว่า

“วันนี้ ผมลง ผมแพ้ก็จะมีปัญหา ผมลง ผมชนะก็มีปัญหาเข้าไปใหญ่ เพราะกระบวนการหลายเดือนที่ผ่านมาหลายคนถามว่า ทำไมไม่คุยกัน หลายคนให้คุยกัน แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ ผมก็ไม่กล้าสอบถามเหตุผลของการปฏิเสธ แต่คำตอบชัดคือไม่คุย ฉะนั้น วันนี้เมื่อนายชวนเสนอชื่อผม ผมถามท่านรักษาการหัวหน้าพรรค (เฉลิมชัย) พักการประชุมแล้วคุยกับผมมั้ย”

2 คนต่างก็มีคม และมีคน (หนุนหลัง)

“เฉลิมชัย” พักการประชุมคุยกับ “อภิสิทธิ์” 10 นาที

คุยจบ “อภิสิทธิ์” ออกมาแถลง “ขอถอนตัวจากการเป็นผู้สมัครหัวหน้าพรรค ปชป. และขอลาออกจากสมาชิกพรรค ปชป.”

แต่การประชุมเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.จบลงที่ “ร้อยละ 88.5” โหวตให้ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน”

 

“ภายหลัง” หัวหน้าพรรค ปชป.เสร็จ !

มีเสียงกัมปนาทคล้าย “ระเบิด” จากอดีตรองหัวหน้าพรรค “สาธิต ปิตุเตชะ” ประกาศลาออกตามนายอภิสิทธิ์ พร้อมกับทิ้งสำนวนเสียงกัมปนาทว่า “ตระบัดสัตย์ ไม่รักษาสัจจะ”

การทิ้งบอมบ์ของ “สาธิต” ได้ความสะใจแก่สมาชิกจำนวนหนึ่งที่ทยอยลาออกตาม 1 ในนั้น “วิบูลย์ ศรีโสภณ” โพสต์หนักหน่วงว่า “อุดมการณ์ของ ปชป.เปลี่ยนไป เน้นใช้เงินสร้างพรรคและ ส.ส. อีกทั้งหัวหน้าพรรคตระบัดสัตย์”

จริงทีเดียว ระหว่างหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 “เฉลิมชัย” เคยประกาศว่า ถ้าได้ ส.ส.ต่ำกว่าปี 2562 (52 คน) จะวางมือ เลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต

เมื่อครั้งเลือกตั้งปี 2562 ประชาธิปัตย์ได้ “คะแนนมหาชน” หรือความนิยมพรรค “3.9 ล้านเสียง”

แต่ผลเลือกตั้งปี 2566 คะแนนนิยมพรรคประชาธิปัตย์ ต่ำเตี้ยเหลือเพียง 925,349 เสียง

ก่อนเลือก “หัวหน้าพรรค ปชป.” นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวชื่นชม “เฉลิมชัย” ในที่ประชุมด้วยว่า ตั้งแต่อยู่ประชาธิปัตย์มา 30 ปียืนยันว่า การสนับสนุนผู้สมัคร และการสนับสนุนพรรค ไม่มียุคใดทำได้มากเท่ายุคเลขาฯ เฉลิมชัย แต่สุดท้ายกลับมาพร้อมกับความพ่ายแพ้ทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง

ส.ส.ประชาธิปัตย์ ลดฮวบจาก 52 คน เหลือ 25 คน!

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค กับ เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค จึงลาออก

ขณะเกิดสุญญากาศที่ “ปชป.” ร้างหัวหน้านั้น บรรดาก๊กเหล่าก็เกิด “ความหวัง”

แต่สถานการณ์พลิกผันเมื่อ “เฉลิมชัย” ได้รับแรงหนุนให้กลับมา

นั่นเป็นที่มาของคำว่า “ตระบัดสัตย์”

 

จะว่าไปแล้ว บนถนนการเมืองไทย นักการเมืองทั้งที่มาจาก “พลเรือน” และ “ทหารการเมือง” ล้วน “ตระบัดสัตย์” กันจนเป็นวิถีประพฤติ

บอกว่า ไม่ปฏิวัติๆๆ ก็ทำรัฐประหารยึดอำนาจ แล้ว “ข้าราชการ” ก็ขึ้นมานั่งบงการบริหารประเทศ

ห่มผ้าเหลืองออกมาพูด ไม่เอาแล้วๆ เลิกแล้ว ไม่เล่นแล้ว ถึงเวลาก็ตระบัดสัตย์ ตั้งพรรคสนับสนุนทหารที่ทำรัฐประหารเต็บสูบ

ประกาศปาวๆ ไม่เอาลุงๆๆ ก็เอามาทั้งพรรค พร้อมกับแปลงคำพูดเสียใหม่ว่า “การตัดสินใจทางการเมือง”!

ความจริงแล้ว “เหตุ” ที่คนส่วนหนึ่งไม่อยากให้ “เฉลิมชัย” เปลี่ยนใจ ผิดคำพูดก็เพราะอยากครองความเป็นใหญ่ใน “ประชาธิปัตย์”

“เหตุ” ที่คนส่วนหนึ่ง เพิ่งจะฟุ้งซ่านอุดมการณ์ ออกอาการรักประชาธิปัตย์น้ำมูกน้ำลายไหลก็เพราะไม่ได้เคยรู้สึกสำนึกกับความผิดพลาดในอดีต ที่เป็น “นั่งร้าน” ให้นักรัฐประหาร ไม่เป็นเสาหลักให้กับประชาธิปไตย

การจำแนกแยกแยะมิตรศัตรูของระบอบประชาธิปไตยผิดพลาด การศิโรราบสยบสิ้นให้กับนักรัฐประหาร ควรจะเป็น “บทเรียน” ของประชาธิปัตย์

ไม่ใช่เอาดีใส่ตัว ความคิดผิด ประพฤติผิด ตัดสินใจผิดทั้งหลายล้วนแต่เป็นของ “ผู้อื่น”!?!!