Gaslighting การละเมิดและครอบงำทางจิตใจ ของคนมีอำนาจในที่ทำงาน ปัญหาที่คนไทยส่วนหนึ่งยังมองว่าปกติ

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ในช่วงเดือนที่ผ่านมาได้มีกรณีประเด็นการ “ละเมิดทางจิตใจ” ที่เกิดขึ้นโดยบุคคลสาธารณะและนับเป็นครั้งแรกๆ ที่องค์กรสื่อสาธารณะมีการตอบรับต่อเรื่องนี้ และทำให้การพูดถึงเรื่องนี้แผ่ขยายในวงกว้างมากขึ้น

คำถามสำคัญคือ สำหรับสังคมไทยที่คนส่วนหนึ่งยังยอมรับการใช้ความรุนแรงทางกายภาพในนามของความปรารถนาดี หรือแม้แต่การใช้คำพูดที่รุนแรงโดยคนที่มีสถานะเหนือกว่าในนามของความปรารถนาดี แต่แท้จริงแล้วไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่การกระทำเหล่านี้ส่งผลต่อการทำให้ฝ่ายตรงข้ามอยู่ภายใต้อำนาจของตนอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

เช่น การยอมรับว่าอีกฝ่ายมีความชอบธรรมในการพูดจาทำร้ายจิตใจ

มีความชอบธรรมในการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม

มีความชอบธรรมในการพรากศักดิ์ศรีและความเชื่อมั่นออกไปจากมนุษย์ด้วยกัน

ดังนั้น Gaslighting จึงนับเป็นความรุนแรงประเภทหนึ่งตามบรรทัดฐานปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่คน Gen-X หรือคนอายุ 40 ปีขึ้นไปส่วนหนึ่งแยกไม่ออกว่าเป็นปัญหาอย่างไร

เช่นเดียวกันกับคน Gen-Boomer หรือคน 55 ปีขึ้นไปส่วนหนึ่งที่มีปัญหากับการมองว่าความรุนแรงทางกายภาพในนามของความปรารถนาดี

 

ความเข้าใจเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันของคนไทยส่วนมาก ชนชั้นปกครองเราก็มักจะ “Gaslight” ประชาชน ปลูกฝังความแคลงใจ ความไม่เชื่อมั่น ของประชาชนต่อชีวิตของพวกเขาเอง

เช่น เรายังไม่พร้อมกับประชาธิปไตย ไม่พร้อมต่อรัฐสวัสดิการ ไม่พร้อมต่อการมีชีวิตที่ดี มีเสรีภาพ

ครอบครัวไทยส่วนมากเมื่อไม่นานมาก็มีค่านิยมสำคัญในการกดให้ลูกหลานอยู่ในโอวาท อยู่ในจารีตประเพณี อยู่ในความเชื่อแบบแผนที่มีมา

การออกนอกขนบที่คนรุ่นก่อนยึดถือมาก็อาจจะเป็นอันตรายได้

สิ่งเหล่านี้ทำให้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าเติบโตมาอย่างขาดความเชื่อมั่นในการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้

และยอมที่จะอยู่ใต้อำนาจขนบธรรมเนียมที่มีมา และไม่ทำอะไรมากไปกว่าการทำงานหนัก ประหยัด ก้มหัว และจำยอมเพื่อการมีชีวิตที่ปลอดภัย

แต่การที่วัฒนธรรม Gaslight กลายเป็นปัญหาแม้ด้านหนึ่งจะมาพร้อมกับการเชื่อมร้อยของข้อมูลและการรับรู้ปรากฏการณ์ในต่างประเทศ

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสการตั้งคำถามต่อระบบอำนาจนิยมในชีวิตประจำวันในหมู่คนรุ่นใหม่ในช่วง 3-4 ปีก่อน ได้ส่งผลต่อการตั้งคำถามต่อวัฒนธรรมเหล่านี้ อันนำสู่การพูดคุยวงกว้างในหลายเดือนที่ผ่านมา

 

ผมมีโอกาสได้รับฟังเรื่องเล่าในการประชุมสหภาพแรงงานแห่งหนึ่ง ผู้นำสหภาพชายอาวุโสพูดถึงเครื่องจักรโดยใช้คำว่า “เครื่องหลวม” และหันมาพูดกับผู้ดำเนินรายการผู้หญิงว่า “หวังว่าเครื่องยังไม่หลวมนะ” ซึ่งสร้างความอับอายและโกรธสำหรับผู้ดำเนินรายการผู้หญิงท่านนั้นมาก

แต่ผู้คนในห้องนั้นคิดว่าเป็นเรื่องปกติ และคิดว่าการที่ผู้หญิงท่านนั้นไม่ตลกกับเรื่องนี้กำลังทำให้เสียบรรยากาศ

เช่นเดียวกันกับมีเรื่องเล่าของพนักงานที่อยู่ในช่วงเรียกร้องค่าจ้างอย่างเปิดเผย แต่ผู้มีอำนาจตัดสินใจไม่พอใจที่พนักงานเรียกร้องมากเกินไป และไม่มีท่าทีอ่อนน้อมประนีประนอมอย่างที่พึงเป็นในสังคมไทย วันดีคืนดีก็พูดขึ้นกลางวงสนทนาท่ามกลางผู้คนที่ไม่รู้เรื่องราวและความขัดแย้งมาก่อน ว่า “คุยกันตรงๆ ถ้าทำแบบนี้ก็อยู่กันไม่ได้”

ซึ่งก็นับเป็นตัวอย่าง Gaslight ประเภทหนึ่ง ที่ทำให้พนักงานที่อยู่ในช่วงระหว่างการต่อรองรู้สึกโดดเดี่ยวว่าตนกำลังทำอะไรผิดอยู่หรือเปล่า หรือตัวเองผิดปกติ

แต่มันคือกลไกการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมที่เบี่ยงเบนการต่อสู้ การตั้งคำถาม และมุ่งหวังให้ยอมกลับไปอยู่ใต้อำนาจของคนนั้น

 

วัฒนธรรม Gaslight ยังปรากฏในเงื่อนไขที่ คนที่มีอำนาจเหนือกว่าในองค์กรวางเงื่อนไขให้คนในองค์กรรู้สึกถูกสอดส่องตลอดเวลา โดยนำประเด็นความเห็นส่วนตัวของคนทำงานมาเป็นจุดโจมตีและขยายประเด็นให้เรื่องราวเหล่านี้กลายเป็นความผิดในสาธารณะ โดยที่ไม่มีโอกาสตอบโต้หรือชี้แจง ด้วยสายบังคับบัญชา หรือการทำให้ผู้อื่นคิดว่า คนทำงานคนนั้นต้องมีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อไปในอนาคต แม้เขาหรือเธอจะไม่ได้ทำอะไรก็ตาม

ลักษณะเช่นนี้คือการลดทอนตัวตนของผู้คน แม้ไม่ได้เป็นการทำร้ายทางกาย หรือทางวาจาโดยตรงแต่อย่างใด ไม่มีการใช้คำหยาบ ไม่มีการคุกคามทางเพศ ไม่มีการใช้ความรุนแรงทางกาย

แต่เราจะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ลักษณะนี้ในชีวิตการทำงานมันรุนแรงทั้งต่อ ขบวนการการต่อสู้ตั้งคำถามในภาพรวม และต่อชีวิตในระดับปัจเจกชน

คำถามสำคัญคือการที่คนส่วนหนึ่งไม่เข้าใจว่าการกระทำบางอย่างเป็น Gaslighting ก็สามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ กลุ่มที่ไม่ได้ตั้งใจเพราะอยู่กับวัฒนธรรมแบบนี้มาจนคุ้นชิน และซ้ำยังคิดว่าวิธีนี้ชาญฉลาดเป็นอุบายไม่ต้องใช้กำลังบังคับ

กลุ่มนี้เมื่อบรรทัดฐานสังคมเปลี่ยนก็สามารถเปลี่ยนได้เพราะตัวเองก็กระทำไปตามบรรทัดฐานของสังคมแต่ละยุค

แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่น่ากังวลคือ รู้ว่านี่คือการกระทำที่ผิด แต่เป็นเครื่องมือที่ตนเองถนัดในการใช้เพื่อข่มเหงผู้อื่นที่มีสถานะต่ำกว่า คนกลุ่มนี้นับว่าอันตรายเพราะกำลังใช้อำนาจของตนเองทำลายตัวตนของคนอื่น

สิ่งที่เราจำเป็นต้องยกระดับคือ การทำให้เรื่อง Gaslighting โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความสัมพันธ์ในที่ทำงานถูกจัดวาง เหมือนกับความรุนแรงทางกาย หรือการคุกคามต่อการต่อรองเงื่อนไขการทำงาน

ควรถูกระบุในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่พึงเป็นบรรทัดฐานทั่วไป ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องจริยธรรมส่วนตัวของใครโดยเฉพาะ