เฉลิมชัยและพวก “ต้นทุนต่ำ” ประชาธิปัตย์ยุคใหม่ ฝ่ากระแสต้าน “ลุ้นกำไรสูง” กลางปีหน้า

ต้นทุนทางการเมือง ในสายตาคนใน-นอกพรรค และสมาชิกชาวโซเชียล อาจประเมินว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน และพวก ที่ผงาดขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คนใหม่ อาจไม่สูงเท่าฝ่าย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค

แต่การมี ส.ส.ในมือถึง 21 คน จากทั้งหมด 25 คน ของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน และนายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค นับว่าเป็นบัญชีทรัพย์สินทางการเมืองที่สูงกว่าทุกกลุ่มการเมืองในพรรค

ต้นทุน ส.ส.ที่อยู่ในครอบครองทั้ง 21 คน ยังเคยถูกใช้จ่ายไปในการลงมติเห็นชอบให้ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย ถึง 16 เสียง

แน่นอนว่า หลังนายเฉลิมชัยและพวกเทกโอเวอร์พรรคไว้ในกำมือ มีต้นทุนเดิมหายไป อย่างน้อยก็มีสมาชิกรุ่นใหญ่ลาออกแทบจะทันทีมากกว่า 7 ราย

 

นายเฉลิมชัย ที่ซุ่มสั่งสมบารมี ผ่านอดีตรัฐมนตรี 2 สมัย เป็น ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ 3 สมัย ถึงกับตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ผมกลายเป็นคนผิดเหรอที่วันนี้ ส.ส.ส่วนใหญ่นับถือเคารพผม แล้วจะแปลกอะไรในเมื่อผมอยู่กับเขา ผมไม่ได้อยู่แบบเจ้านาย ผมอยู่แบบครอบครัว พี่น้อง”

แม้เคยสบถสาบานว่า จะเลิกเล่นการเมืองถ้าพรรคได้ ส.ส.ต่ำกว่า 52 เสียง ตามความปรากฏเมื่อครั้งวันรดน้ำดำหัวที่ปราณบุรี เมื่อ 14 เมษายน 2565

แต่หลังผลการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ออกมา แล้วเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและทีมกรรมการบริหารใหม่ “เฉลิมชัย” ยังปรากฏตัวอยู่ทั้งหน้าฉาก-และเบื้องหลังเกมเลือกตั้งหัวหน้าพรรคทั้ง 3 ครั้ง

ในสภาพที่ประชาธิปัตย์หัวขาดมา 7 เดือนเต็ม “เฉลิมชัย” เคลื่อนไหวไม่หยุด และเขาเข้าถึง-ครอบคลุมเกาะกุมจิตใจ ส.ส. สัดส่วน 70% ที่จะกำหนดอนาคตหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

กระทั่ง 24 ชั่วโมงก่อนการประชุมใหญ่สามัญพรรค ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 “ทีมเฉลิมชัยและพวก” ปรากฏตัวในที่โล่งแจ้ง ประกาศ “ถวายตัวให้พรรคประชาธิปัตย์” ชิงหัวหน้าพรรคด้วยต้นทุน ส.ส. 21 เสียง และอายุการเมืองในพรรค 22 ปี

และในที่สุด เฉลิมชัยและพวก ก็คว้าชัย นำทีม 40 คน ขึ้นเป็นกรรมการบริหารชุดใหม่

 

ถือเป็นการชิงลงมือตามความมุ่งมาดปรารถนา ที่เขาเคยเปิดใจไว้ในช่วง 4 เดือนก่อนหน้านี้ว่า “คนที่กำหนดว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ คือ กลุ่ม ส.ส.ปัจจุบันที่มีอยู่ 25 คน เมื่อเป็นอย่างนี้ถึงกลัวกันนักหนา ดิ้นทำไม อย่ารักพรรคคนเดียวและมองคนอื่นไม่รักพรรค อย่าคิดว่าเก่งคนเดียวโดยมองว่าคนอื่นไม่มีความสามารถ”

เฉลิมชัยบอกด้วยว่า ขณะที่เขาพูดประโยคนี้ ในใจเขาคิดถึงหน้าใคร และเขาได้เผชิญหน้ากับคนที่เขานึกถึงอีกครั้งในวันประชุมใหญ่ รอบล่าสุด

เขาย้อนถึงบุญคุณและความแคร์ ต่ออดีตหัวหน้าพรรคไว้ด้วยว่า “วันที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้า ผมออกจากเลขาธิการพรรค ผมไม่รับตำแหน่งอะไรเลยทั้งหมด ใครอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ ณ วันนั้นจนถึงวันเลือกตั้ง ใครอยู่เคียงข้างท่าน ใครที่เข้ามาทำทุกอย่างให้พรรคประชาธิปัตย์ กับให้ท่าน”

สำนึก-ไม่สำนึก ต่อบุญคุณพรรคมีคนกล่าวอ้างถึงกันหลายวาระ “เฉลิมชัย” ก็เช่นกัน วันที่พรรคแพ้ เขาตั้งคำถามว่า “คนรักพรรคหายไปไหนกันหมด แต่ผมตอบแทนพรรคประชาธิปัตย์โดยไม่ต้องเลือกเวลา และไม่มีสถานะหรือตำแหน่ง”

เสียงเชียร์นายอภิสิทธิ์ให้กลับมาเป็นผู้นำพรรค เกิดขึ้นทั้ง 3 ครั้ง ไม่ใช่เฉลิมชัยไม่ได้ยิน เขาถึงต้องออกมาพูดว่า “คนประชาธิปัตย์มีสิทธิทั้งหมด แต่เชียร์ใครให้อยู่ในกรอบ ไม่ใช่คุณเชียร์คนนี้แล้วต้องลากอีกคนมาประจาน มาฆ่า”

ท่าทีของอดีตหัวหน้าพรรคอีกคนหนึ่ง ที่เห็นไส้ในของ “ทีมเฉลิมชัย” คือนายชวน หลีกภัย ที่เปิดหน้าแฉตั้งแต่วันแรกที่แพ้พวกต้นทุนต่ำแต่เป็นต่อ ว่า

“เขาล็อกไว้หมดแล้ว เลือกหัวหน้าพรรค ตามที่เลขาธิการพรรคสั่งมา เพราะเลขาธิการพรรคดูแลมา 4 ปี พูดง่ายๆ คืออุปถัมภ์เลี้ยงดูกันมา 4 ปี” และ “ถ้าอยู่นานแล้วโคตรโกง โกงทั้งโคตร หัวหน้าติดคุก ก็ไม่มีใครยอมรับความเป็นสถาบันการเมือง อย่า…ให้เขาเอาพรรคไปหากิน”

 

ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร “เฉลิมชัย” ก็ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแล้ว และเขามีเครือข่ายคอนเน็กชั่นพิเศษ ทั้งกับบรรดาหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน และหัวหน้าพรรคพันธมิตรสำคัญอย่างภูมิใจไทย (ภท.)

กับเนวิน ชิดชอบ ผู้มีบารมีในพรรคภูมิใจไทย “เฉลิมชัย” ก็ใกล้ชิดในระดับเกือบย้ายชื่อเข้าเป็นสมาชิกพรรคมาแล้ว ตั้งแต่เมื่อ 14 ปีก่อน ยุคที่มี ชวรัตน์ ชาญวีรกูล เป็นหัวหน้าพรรค

กับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เขาก็เคยร่วมงานใกล้ชิด เช่นเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ชื่อเฉลิมชัย ก็มักถูกเรียกหา-มีตั๋วเข้าบ้านป่ารอยต่อฯ ได้ไม่ยาก

ที่หน้าบ้านพักของเฉลิมชัย ย่านปิ่นเกล้า อันเป็นแหล่งชุมนุมนักการเมืองทั้งจากใน-นอกพรรค และขุน-ปลัด ข้าราชการ มีป้ายติดไว้ที่ประตูทางเข้าแรกว่า “บ้านนี้ไม่คุยเรื่องตำแหน่ง”

กระนั้นก็ตาม ยังมีนักการเมืองเก่า-ใหม่ในประชาธิปัตย์ หลั่งไหลหัวบันไดไม่แห้ง เพราะเฉลิมชัยบอกว่า “ผมไม่ใช่เจ้าพ่อ ผมไม่ใช่คนไปสั่งการ ผมรับฟังความคิดเห็นมากที่สุดคนหนึ่ง และเอกภาพเป็นเรื่องสำคัญ ผมต้องหวังว่าประชาธิปัตย์จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ทำให้พรรคดีขึ้นแน่นอน ไม่เปลี่ยนให้มันเลวเหมือนเดิม”

 

จากนี้ไป ส.ส. 21 คน ยกเว้นอดีตหัวหน้าพรรคในบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ คือแรงขับเคลื่อนของพรรค ภายใต้หัวหน้าพรรคคนใหม่ เป็นผู้กำหนดทิศทางอนาคต พร้อมประกาศอีกครั้งว่า “อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพมาบริหารพรรคได้ นำพาพรรคได้”

อย่างน้อยความเป็นนักเลงของเฉลิมชัย ที่เคยใช้สันดานการันตีไว้ว่า “ไม่เคยปัดความรับผิดชอบและนิสัยผมไม่เคยเอาความในขององค์กรหรือทุกอย่างในองค์กรไปพูดข้างนอก หรือทำให้องค์กรไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม ไม่ใช่สันดานผม ผิดผมก็กล้าขอโทษ” ย่อมได้รับการไว้วางใจจากคนส่วนใหญ่ในพรรคเวลานี้

เฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดใจก่อนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประมุขพรรค “ผมรู้ว่าการตัดสินใจในวันนี้มันเจ็บ มันทำลายสิ่งที่ผมสร้างมาทั้งชีวิต ผมได้คุยกับหัวหน้าอภิสิทธิ์ ผมก็พูดว่า ผมกรีดเลือดมาก็เป็นสีฟ้า ตลอดเวลาที่อยู่กับพรรคก็ยึดหลักการและอุดมการณ์ของพรรคไม่เปลี่ยนแปลง”

“เมื่อพรรคให้โอกาสผมเองเป็นรัฐมนตรี ก็ขอยืนยันเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต กล้าพูดว่า ผมไม่มีมลทินเรื่องนี้ อยู่กระทรวงกล้าค้านข้าราชการ ผมไม่ได้ไปในนามตระกูลศรีอ่อน แต่ไปในนามพรรคประชาธิปัตย์”

 

แม้เฉลิมชัย-ใช้ต้นทุนอายุสมาชิกพรรค 22 ปี ค้ำประกันตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนที่ 9 ไม่นำพาพรรคไปเป็นพรรคอะไหล่ ไม่มีวันทำลายอุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์

แต่ก็ยังมีเสียงก้องออกจากพรรค ไปถึงตึกไทยคู่ฟ้าทะลุแกนกลางประมุขบ้านจันทร์ส่องหล้า ว่ากลางปีหน้า จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี ประชาธิปัตย์จะได้รับข่าวดี เป็นรางวัลแห่งการเปลี่ยนแปลง

ต้นทุนการเมืองของเฉลิมชัย อาจจะต่ำ แต่ก็มีลุ้นทำกำไรสูงในอนาคต