สงครามปราบของก๊อบด้วย AI

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน

Instagram : @sueching

Facebook.com/JitsupaChin

 

สงครามปราบของก๊อบด้วย AI

 

การซื้อและใช้ ‘ของก๊อบ’ โดยเฉพาะสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมอย่างกระเป๋า เสื้อผ้า หรือรองเท้า เคยเป็นสิ่งต้องห้ามที่ก่อให้เกิดความอับอายเป็นอย่างมากหากใครถูกจับได้ว่าใช้ของปลอม

เมื่อปีที่แล้วมีข่าวดังเกี่ยวกับซง จี อา ยูทูบเบอร์สาวสวยที่ไปออกรายการเรียลลิตี้โชว์หาคู่ของเกาหลีใต้ซึ่งเป็นรายการที่ฉายบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งทั่วโลก จีอาเป็นผู้หญิงที่หนุ่มๆ ในรายการต่างก็หมายปอง ทุกครั้งที่เธอปรากฏตัว เสื้อผ้า เครื่องประดับ กระเป๋า รองเท้า ที่เธอสวมใส่มักจะแพรวพราวไปด้วยโลโก้แบรนด์เนมที่ราคาแพงระยิบ ส่งเสริมภาพลักษณ์ความเป็นคุณหนูที่เกิดมาในตระกูลร่ำรวย

เรื่องพลิกผันเมื่อผู้ชมรายการเกิดผิดสังเกตไอเท็มแบรนด์เนมหลายอย่างที่เธอสวมใส่ว่ามีลักษณะผิดไปจากของจริง

นำไปสู่การเปิดโปงว่าของบางอย่างที่เธอใช้และน่าจะเป็นส่วนมากเสียด้วยล้วนเป็นของปลอม

กลายเป็นดราม่าใหญ่โตจนจีอาต้องออกมาขอโทษและหยุดการเคลื่อนไหวบนโซเชียลมีเดียไปชั่วคราว

ภาพประกอบจาก Bing Image Creator

ไม่ว่าวันนั้นความโกรธแค้นที่ผู้คนบนอินเตอร์เน็ตมีต่อจีอาจะมาจากเรื่องการใช้ของก๊อบล้วนๆ หรือไม่ แต่ผ่านมาเพียงแค่ปีกว่า ดูเหมือนกับการใช้ของปลอมจะค่อยๆ ลดการถูกตีตราลง

สถิติปี 2020 ระบุว่าในช่วงหลังๆ มานี้ผลิตภัณฑ์แฟชั่นของก๊อบเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้คนนิยมซื้อของก๊อบบนออนไลน์กันมากขึ้น Business of Fashion รายงานว่ามูลค่าของตลาดของก๊อบเพิ่มขึ้นไปแตะ 2.75 ล้านล้านยูโรในปีนี้ซึ่งนับว่าสูงกว่าปี 2013 ถึงสามเท่าตัว และสินค้าปลอมเหล่านี้ก็ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นสูญเสียมูลค่าไปถึง 45,000 ล้านยูโร

บนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ ยังเต็มไปด้วยคอนเทนต์การชี้เป้าซื้อของก๊อบที่ราคาถูกและทำได้เหมือนของจริงที่สุด หรือคอนเทนต์ซื้อของก๊อบมาอวด

แฮชแท็กที่สื่อถึงการเห่อของก๊อบก็อย่างเช่น #bougieonabudget ที่มียอดวิววิดีโอรวมกันมากกว่า 550 ล้านวิว แฮชแท็ก #dupes ยอดวิว 2 พันล้านวิว และแฮชแท็ก #Reps ที่ย่อมาจาก replicas หรือของก๊อบ ก็มีมากถึงเกือบ 2 พันล้านวิวเช่นกัน

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นคอนเทนต์ชี้เป้าแหล่งซื้อของก๊อบที่ก๊อบได้เหมือนจริงในราคาที่ย่อมเยา

 

The Financial Times บอกว่านักช้อปวัยรุ่นเป็นกลุ่มลูกค้าที่หนุนให้ตลาดสินค้าแบรนด์เนมของปลอมเติบโต สินค้าเหล่านี้ราคาสูงลิ่ว กลุ่มนักช้อปที่ยังอายุน้อยแม้จะไม่มีกำลังซื้อแต่ก็อยากได้ภาพลักษณ์ดูดีแบบเดียวกับเซเลบบริตี้ที่ตัวเองชื่นชอบ การซื้อของปลอมที่ดูภายนอกเหมือนกันจนแทบจะแยกไม่ออกจึงกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับลูกค้ากลุ่มนี้

ยิ่งเวลาผ่านไป เทคโนโลยีการผลิตก้าวหน้ามากขึ้น สินค้าของปลอมก็ทำออกมาได้เหมือนจริงมากขึ้นเรื่อยๆ จนบางครั้งแม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญก็แยกแทบไม่ออกอีกแล้ว

ซีอีโอของบริษัทรับซื้อสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมแห่งหนึ่งให้สัมภาษณ์กับ FT ว่าเคยมีผู้หญิงเอากระเป๋าแบรนด์เนมมาขาย ดูด้วยตาเปล่าทุกอย่างก็เพอร์เฟ็กต์ไร้ที่ติ แต่เธอเริ่มมาเอะใจว่าอาจจะเป็นของปลอมก็เมื่อยกกระเป๋าขึ้นดมแล้วได้กลิ่นผิดไปจากปกติ

หากต้องอาศัยการยกขึ้นดมถึงจะเอะใจได้ว่าของที่กำลังจะซื้ออยู่ไม่ใช่ของแท้ การซื้อแบรนด์เนมจากเว็บไซต์ออนไลน์จะมีความเสี่ยงที่จะถูกหลอกได้มากแค่ไหน จริงไหมคะ

คนที่เต็มใจและตั้งใจซื้อสินค้าปลอมก็เรื่องหนึ่ง แต่ก็มีลูกค้าอีกกลุ่มที่เข้าใจว่าตัวเองกำลังซื้อของแท้อยู่ คนกลุ่มนี้จ่ายราคาเต็ม แต่ได้ของปลอมไปครอบครองโดยไม่รู้ตัว

 

อาชญากรบนอินเตอร์เน็ตไม่ได้แค่ขายของเลียนแบบของจริงเท่านั้น แต่ยังลงทุนสร้างเว็บไซต์ปลอมให้เหมือนกับเว็บไซต์ทางการของแบรนด์จริงๆ เพื่อหลอกเหยื่อที่พลาดคลิกเข้ามา กว่าจะรู้ตัวว่าได้ของปลอมก็ต่อเมื่อของมาส่งถึงมือแล้ว ถ้าส่งของปลอมคุณภาพแย่มาให้ก็อาจจะรู้ตัวทันที แต่ถ้าได้ของปลอมที่คุณภาพดีหน่อย บางทีอาจจะไม่มีวันนึกเอะใจสงสัยขึ้นมาเลยก็ได้

สินค้าปลอมเหล่านี้สร้างความเสียหายให้กับหลายฝ่าย ทั้งกับลูกค้าที่ถูกหลอก และกับตัวแบรนด์เองที่เสื่อมเสียภาพลักษณ์และชื่อเสียง และยังส่งผลกระทบไปเป็นวงกว้างกว่านั้นเนื่องจากกระบวนการผลิตสินค้าปลอมก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม โรงงานไม่ได้มาตรฐาน คุณภาพชีวิตของคนงานก็ไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ควรจะเป็น

เมื่อสินค้าปลอมปลอมได้เนียนขึ้นจนมองด้วยตาเปล่าเริ่มแยกแยะไม่ออก แล้วเราจะรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างไร

ตรงนี้แหละค่ะที่เทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาช่วยได้

 

แบรนด์แฟชั่นหลายแบรนด์เริ่มใช้ AI มาช่วยในการตรวจจับสินค้าปลอม AI สามารถวิเคราะห์จากทั้งภาพถ่าย ภาพวิดีโอ หรือข้อความ และตรวจจับสิ่งผิดปกติในสินค้าก๊อบได้แม้ว่าข้อผิดพลาดนั้นจะไม่สามารถตรวจจับได้ด้วยตาเปล่าก็ตาม

ยกตัวอย่างรองเท้าสองข้างที่มาพร้อมลวดลายซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ มองด้วยตาเปล่าแล้วรองเท้าสองข้างนี้มีความแตกต่างกันน้อยมาก ข้างหนึ่งเป็นของจริง อีกข้างหนึ่งเป็นของปลอม อัลกอริธึ่มแมชชีนเลิร์นนิ่งสามารถวิเคราะห์ลวดลายบนเนื้อผ้าเหล่านั้นได้อย่างละเอียด หากพบว่าลวดลายมีความผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น มันก็สามารถรีพอร์ตได้ทันทีว่าเป็นของปลอม

บางแบรนด์เลือกใช้สิ่งที่เรียกว่าฉลากอัจฉริยะ เสื้อผ้าของแบรนด์จะมาพร้อม QR Code ที่แตกต่างกันไปในแต่ละชิ้น ลูกค้าสามารถสแกนโค้ดเพื่อดูที่มาที่ไปของสินค้าชิ้นนั้นๆ ได้ และตรวจสอบได้ว่าเป็นของจริงหรือของปลอม

บริษัทสตาร์ตอัพ Entrupy ก็ใช้เทคโนโลยี AI มาช่วยผู้ใช้งานแยกแยะของจริงของปลอมด้วยการให้ลูกค้าสแกนกระเป๋าใบที่ต้องการตรวจสอบ แอพพลิเคชั่นจะแจ้งผลว่ากระเป๋าใบที่สแกนไปเป็นของจริงหรือไม่โดยใช้ฐานข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาตั้งแต่ปี 2012 บริษัทเคลมว่าสามารถให้ผลที่แม่นยำได้ถึง 99.1 เปอร์เซ็นต์

แม้ AI จะเก่งกาจแม่นยำแค่ไหนแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคงไม่สามารถช่วยขจัดปัญหาสินค้าปลอมออกไปได้อย่างสมบูรณ์แบบ และตัวมันเองก็ถูกฝ่ายผลิตสินค้าปลอมหยิบไปใช้เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตให้ใกล้เคียงของจริงได้เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

กลายเป็นสงครามระหว่างคนทำของจริงและคนทำของปลอมที่ก็ต้องผลัดกันชิงไหวชิงพริบแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ