Soft Power ของจีน กำหนดทิศทางการเมืองในพม่า (จบ) | มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ
(Photo by AFP)

รัฐประหารพม่า
พาประเทศลงนรก หลังกุมภาพันธ์ 2564

หลังการรัฐประหารกุมภาพันธ์ 2564 เพียง 1 ปี สถานการณ์โดยทั่วไปของพม่าก็เห็นชัดว่ารัฐบาลไม่มีอำนาจที่จะบริหารประเทศให้กลับสู่สภาพปกติ สถานการณ์การสู้รบต่อต้านรัฐบาลกระจายกว้างออกไปเรื่อยๆ ความรุนแรงสะท้อนจากภาพที่หมู่บ้านประชาชนถูกเผาหลายแห่ง

พอถึงวันที่รัฐประหารครบ 2 ปี กองกำลัง The People’s Defense Froce PDF ของรัฐบาลพลัดถิ่น NUG (National Unity Government) ขยายตัวออกไปอยู่ถึงระดับอำเภอก็ยิ่งเห็นชัดว่า การต่อต้านมีมากขึ้น

ไม่เพียงสถานการณ์การเมืองที่ปั่นป่วน สถานการณ์ทางเศรษฐกิจกลับยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ ประชาชนทุกชนชาติในพม่ายากลำบากมากขึ้น คนที่มีความรู้ความสามารถพยายามหนีออกจากประเทศ คนใช้แรงงานก็หนีเข้ามาทำงานในประเทศไทย

พม่าตอนนี้ต้องถือว่าเป็นรัฐล้มเหลวเรียบร้อยแล้ว

กุมภาพันธ์ 2567 ก็จะครบ 3 ปีของการรัฐประหาร นักวิเคราะห์ประเมินว่ารัฐบาลทหารพม่าคงปกครองประเทศนี้ต่อไปยากแล้ว

ถึงทำได้ก็จะควบคุมพื้นที่ได้บางส่วนเท่านั้น และก็ไม่รู้ว่าจะทำได้นานเท่าใดด้วย เพราะคนส่วนใหญ่ในประเทศไม่ยอมรับ รัฐบาลต่างประเทศส่วนใหญ่ก็ไม่ยอมรับ

ในสถานการณ์การเมืองการทหารแบบนี้ กลุ่มผู้ลงทุนจึงต้องหยุดรอดูว่าทิศทางของประเทศจะเป็นแบบใด ยกว้นบางกลุ่มที่ทำธุรกิจผิดกฎหมาย

 

จีนจำเป็นต้องเขตสันติภาพเพื่อความมั่นคง

จีนเป็นประเทศใหญ่ซึ่งมีชายแดนติดพม่าประมาณ 2,200 กิโลเมตร ปัจจุบันนักลงทุนจากจีน ลงทุนมากในพม่าเป็นอันดับสองรองจากสิงคโปร์ จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2566 นักลงทุนจากจีนมีโครงการคิดเป็นมูลค่า 21,748 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของพม่า ปีที่แล้วมีการค้าขายระหว่างกัน 2,159 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่การค้าส่วนใหญ่จะเป็นการค้าชายแดน ด่านมูเซ-รุ่ยลี่ เป็นด่านการค้าที่สำคัญที่สุดระหว่างพม่าและจีน มูลค่าการค้าที่ผ่านด่านนั้นมีสูงถึงกว่า 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ประเทศสิงคโปร์มีพื้นที่ในประเทศน้อยมาก เป็นเพียงเกาะเล็กๆ จึงมีความจำเป็นที่ต้องลงทุนในพม่า ซึ่งมีทั้งทรัพยากร แรงงาน และเป็นจุดที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ชั้นเยี่ยม

แต่พิจารณาภูมิรัฐศาสตร์แล้วจีนยิ่งจำเป็นมากกว่าเพราะต้องการออกมหาสมุทรอินเดียซึ่งระยะทางจากชายแดนจีนจนมาถึงมหาสมุทรอินเดียที่เจ้าผิวก็อยู่ที่ประมาณ 800 กิโลเมตรเท่านั้น

นักวิเคราะห์ประเมินว่าจังหวะนี้จีนจะต้องตัดสินใจ สร้างเขตสันติภาพเพื่อความมั่นคง ที่จะคุมเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญจากจีนลงสู่มหาสมุทรอินเดีย

จากประวัติศาสตร์ของพม่า จีนประเมินได้แล้วว่าไม่มีทางที่จะรวมประเทศเป็นเอกภาพได้ ดังนั้น การติดต่อกับรัฐบาลกลางจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย

รัฐบาลกลางจะเป็นขั้นตอนหนึ่งเพื่อให้ถูกต้องตามหลักสากล จีนจะต้องติดต่อกลุ่มการเมืองที่มีกำลังปกครองพื้นที่ตลอดเส้นทางนี้ ซึ่งต้องมีทัศนคติและอุดมการณ์ใกล้เคียงกัน ยอมรับข้อตกลงสันติภาพในพื้นที่

แต่อุปสรรคสำคัญที่อยู่นอกพม่า คือ อินเดีย ซึ่งมีชายแดนติดพม่าประมาณ 1,600 กิโลเมตร

 

ขั้นตอนการสร้างเขตสันติภาพ

ซึ่งในทางปฏิบัติจีนไม่สามารถส่งกำลังเข้ามายึดครองพม่าได้ แต่เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นเขตยึดครองของกองกำลังชาติพันธุ์มานมนานแล้ว การตัดสินใจสร้างพื้นที่สันติภาพและปกครองตนเอง จึงสามารถทำได้

1. ให้กองกำลังเหล่านั้นสร้างอำนาจรัฐเฉพาะพื้นที่ และผลักดันให้มีการรวมกลุ่ม เพื่อให้มีพื้นที่ที่กว้างขวางขึ้น ซึ่งต้องมีทัศนคติและอุดมการณ์ใกล้เคียงกัน ยอมรับข้อตกลงสันติภาพในพื้นที่ ยอมรับการเมืองแบบแบ่งปันและจะต้องยอมรับการลงทุนทางเศรษฐกิจแบบถูกกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่าจีนจะต้องเป็นผู้สนับสนุน ไม่ให้เกิดการปกครองในส่วนนี้ เป็นของพวกแก๊งมิจฉาชีพหรือมาเฟียที่จะสร้างความเดือดร้อนให้ทั้งพม่า จีน อาเซียนและโลก

ดังนั้น เขตพื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับเส้นทางหมู่เจ๊-เจ้าผิวซึ่งผ่านมันฑะเลย์เมืองใหญ่จะกลายเป็นเขต สันติภาพเพื่อความมั่นคง จะเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า และเส้นทางสายไหม

2. ปรากฏการณ์ทางการทหารที่จะเกิดขึ้น คือจีนจะสนับสนุนให้เกิดความสงบในพื้นที่แถบนี้โดยผลักดันให้พม่าถอยร่นลงไป ทางใต้ ไม่ให้เกิดการสู้รบในบริเวณนี้ ความสงบหรือการหยุดยิง คือให้พื้นที่นี้อยู่ในความปกครองดูแลของกองกำลังชาติพันธุ์

3. ไม่ว่ารัฐบาลทหารพม่าจะต้องการหรือไม่ก็ตามก็ไม่มีทางเลือก เนื่องจากกำลังของตนได้อ่อนแอลงแล้วการขยายกำลังไปคุมพื้นที่กว้างขวางยิ่งทำไม่สามารถปกป้องพื้นที่ส่วนใหญ่ได้ สุดท้ายก็จะต้องถอยร่นลงไปซึ่งจะต้องไปสู้รบกับกลุ่มคยา กลุ่มกะเหรี่ยง และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งอยู่ส่วนกลางและภาคใต้

4. จีนสามารถสร้างงานสร้างเมืองสร้างอุตสาหกรรมและระบบเกษตรกรรมให้ประชาชนอยู่ได้ทั้งเส้นทางนี้แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นป่าเขาแต่ส่วนหนึ่งก็อยู่ติดชายทะเลดังนั้น โอกาสที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจมีความเป็นไปได้สูง

คาดว่าอีกไม่นานก็คงจะมีประชากรของจีนส่วนหนึ่งมาลงทุนและอยู่อาศัยที่นี่ร่วมกับคนท้องถิ่น

ทางรถไฟจากชายแดนจีนเมืองหมู่เจ้-มัณฑะเลย์ ยาว 431 กิโลเมตร เมื่อสร้างเสร็จ คาดว่าการเดินทางจากหมู่เจ๊ลงไปยังมัณฑะเลย์ จะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง

 

ประเมินผลกระทบต่อไทย

1.สถานการณ์การสู้รบในประเทศพม่าจะไม่จบลงแบบรวดเร็วถ้ารัฐบาลทหารยอมเสียพื้นที่บางส่วนและป้องกันส่วนสำคัญก็ยังสามารถปกป้องพื้นที่อยู่ได้แต่แน่นอนว่าจะเสียเขตปกครองที่ห่างไกลออกไปให้กับกองกำลังชาติพันธุ์และ PDF ซึ่งการสู้รบที่ยืดเยื้อแบบนี้จีนเองก็ไม่สามารถเข้าไปยุ่งได้ และก็ไม่จำเป็นถ้าไม่เข้ามาสู้รบกันในเขตที่จีนต้องการสงวนไว้เป็นเขตสันติภาพและการลงทุน

2. การสู้รบที่เคลื่อนต่ำลงมาทางใต้จะทำให้เกิดผู้อพยพที่ทะลักเข้ามาตามชายแดนไทยซึ่งยาวติดต่อกับพม่าถึง 2,400 กิโลเมตร ผู้ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนประเมินว่าจะมีผู้ลี้ภัยจากสงคราม แต่ยังอยู่ภายในประเทศพม่า ตามชายแดนสูงถึง 1 ล้านคน แต่ถ้าชายเขตที่จีนสร้างเป็นเขตสันติภาพสงบส่วนหนึ่งอาจจะหนีไปทางนั้น แต่ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ตามแนวชายแดนไทยพม่า

3. ถ้าจีนมีทางออกมหาสมุทรอินเดียที่รัฐยะไข่แล้วความสำคัญของเส้นทางอื่นก็จะลดน้อยลง ความสำคัญของโครงการแลนด์บริดจ์ ต่อจีนก็จะลดน้อยลง

มิใช่ว่าถ้ามีเส้นทางจากทะเลรัฐยะไข่ถึงชายแดนจีนแล้วการขนส่งทางน้ำ หรือแลนด์บริจด์ ภาคใต้ของไทยจะไม่สำคัญ เพราะเรือขนส่งสินค้าจำนวนมากยังจะต้องเดินทางไปมา จากแอฟริกา จากยุโรป จากตะวันออกกลาง เพื่อไปยังชายฝั่งตะวันออกของจีน ซึ่งเป็นเมืองท่าและเมืองอุตสาหกรรม

 

พม่าร้าว หรือแยก
หรือแบ่งการปกครอง

ในอนาคตถ้าแนวโน้มสงครามออกมาในแนวที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าจะพ่ายแพ้ก็จะเกิดปรากฏการณ์ที่กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์จะเข้ายึดพื้นที่ให้กว้างขวางที่สุดเพื่อสร้างเป็นเขตปกครองของตนเอง เพราะยังไม่รู้ว่าในอนาคตถ้ารัฐบาลทหารพม่าล้มลงแล้วการเจรจาเรื่องการปกครองประเทศจะออกมาในรูปแบบไหน อย่างไร การฟื้นการประชุมสนธิสัญญาปางโหลง สมัยออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้ง จะยังคงใช้ได้อยู่หรือไม่

ดังนั้น ที่บอกว่าร้าว หรือแยก หรือแบ่งการปกครอง จะออกมาในรูปแบบไหนก็ไม่แจ่มชัด แต่ประเมินกันว่ากลุ่มกองกำลังอิสระจะยึดถือผลประโยชน์ของตนเป็นสำคัญ

สำหรับจีนแล้ว เขตสันติภาพและฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคเหนือใกล้ชายแดนจีนสำคัญที่สุด ใต้จากนั้นลงมาจนถึงย่างกุ้งหรือทวาย เป็นส่วนเสริมที่จะต้องตกลงกับรัฐบาลในอนาคตและร่วมทุนกับประเทศต่างๆ

โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน กล่าวว่า “จีนกำลังรับบทบาทสำคัญตามแนวทางของตนเองในการสนับสนุนการเจรจาสันติภาพ และขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยึดเอาผลประโยชน์ของประชาชนมาก่อน ตลอดจนการหยุดยิงและยุติสงครามนี้อย่างเร็วที่สุด”

ประเมินว่าจีนจะไม่เข้าแทรกแซงการรบในพม่าของทุกฝ่าย ถ้าไม่เข้าไปใกล้เขตสันติภาพเพื่อความมั่นคง เพราะจีนเองก็ต้องเกรงใจทั้งรัฐบาลทหารพม่า กลุ่มชาติพันธุ์ และรัฐบาลพลัดถิ่น

แต่การยุติสงครามนี้อย่างเร็วที่สุดอาจจะยืดเยื้อไปอีก 2-4 ปี