‘เสธ.แมว’ วิเคราะห์สถานการณ์เมียนมา รัฐบาลทหาร ‘นับถอยหลัง’ ‘ประชาธิปไตย’ เข้มแข็ง บทบาท ‘มหาอำนาจ’

หมายเหตุ “พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร” หรือ “เสธ.แมว” อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ร่วมวิเคราะห์สถานการณ์การสู้รบล่าสุดที่ประเทศเมียนมา ในรายการ “มีเรื่องมาเคลียร์ by ศิโรตม์” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566

 

คําว่า (ประเทศเมียนมา) “ล่มสลาย” อาจจะไม่ถึงล่มสลาย แต่ใกล้จะถึงจุดที่ต้องมาเจรจาพูดคุยกัน เพื่อหาข้อยุติว่าจะอยู่ร่วมกันต่อไปได้อย่างไร

ก็ไม่รู้ว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้ายของรัฐบาลทหาร “มิน อ่อง ลาย” เพราะที่ผ่านมาในอดีต มันพอจะมีจุดตรงนี้ลงตัวได้เร็ว แล้วก็ค่อนข้างเบ็ดเสร็จ คุยกันได้เร็วได้ง่าย เพราะว่ามีรัฐบาลเลือกตั้ง “ออง ซาน (ซูจี)” คุยกับรัฐบาลทหาร แล้วกลุ่มชาติพันธุ์ก็อยู่ข้างหลัง

แต่ปัจจุบัน ภาพฉากทัศน์นี้เปลี่ยนไป เพราะว่ามันไม่ใช่เป็นรัฐบาลทหารล้วนๆ แล้ว มันไปมี “รัฐบาลเงา” ตอนที่ไปยึดอำนาจ แต่ไปเกิดรัฐบาลเงาเหมือนรัฐบาลพลัดถิ่น “เอ็นยูจี” ที่โตเกียว

ฉะนั้น เมื่อมีรัฐบาลเงา มันก็เลยทำให้เห็นว่ามีสภาพทางการเมือง ไม่ใช่เฉพาะปฏิบัติการทางทหาร เป็นทางการเมืองที่สื่อสารกับสังคมโลก เพราะไปมีที่นั่งอยู่ในสหประชาชาติได้ด้วย ขณะเดียวกัน เมื่อมีรัฐบาลเงา มันก็ต้องมี “กระทรวงกลาโหมเงา” ก็ต้องมีกองกำลัง ซึ่งในอดีตมันไม่มี

กองกำลัง “พีดีเอฟ” คือกองกำลังปกป้องประชาชนเกิดขึ้นตรงนี้แหละครับ สภาวะแวดล้อมในปัจจุบันกับในอดีตที่ทหารเคยคิดว่า เอาล่ะ รีบจัดการ เดี๋ยวเลือกตั้ง แล้วก็ชิงการนำ แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่

มาถึงจุดหนึ่ง ความเพลี่ยงพล้ำหลักไม่รู้คล้ายประเทศไหน คือฝ่ายทหารเองก็ผิดคำมั่นสัญญา จริงๆ เรื่องจะไม่ลุกลาม ถ้าเหมือนเมื่อในอดีต เกิดการเลือกตั้งมาแล้ว ไม่ต้องยึดอำนาจ ปล่อยประชาธิปไตยมันเดินไป จะลงตัวช้าเร็วไม่เป็นไร

แต่คราวนี้ เป็นความโชคร้ายว่าเหมือนรับปากว่าจะให้เกิดพัฒนาการทางประชาธิปไตย แต่มันไม่เกิด แล้วประชาชนมีความเข้มข้นขึ้น ลุกฮือขึ้น กองกำลังพีดีเอฟที่น่ากลัวเพราะมันเกิดทั่วประเทศ

เชื่อว่า ณ ตอนนี้ ปฏิบัติการทางทหารที่เกิดขึ้น มันใกล้จะไปถึงจุดนั้นแล้ว ที่ถ้าไม่หันหน้ามาคุยกัน กองทัพ “มิน อ่อง ลาย” ก็ไปต่อยาก ไม่ถึงกับต้องไปรบแตกหักยึดเนปิดอว์ แต่เนปิดอว์ก็ไม่รู้จะอยู่อย่างไร เพราะจะถูกปิดกั้นเส้นทางส่งกำลังบำรุง

ปัจจุบันนี้ จริงๆ แล้ว การใช้อาวุธกระสุนสู้รบและเสบียงกรังต่างๆ (ของฝ่ายรัฐบาลทหาร) แทบจะเหมือนใช้เสบียงสำรอง ทรัพยากรสำรองแล้ว เพราะว่าช่องทางที่มันจะมาจากประตูการค้าต่างๆ เสบียงที่จะส่งกันต่างๆ มันมีปัญหาหมด

ส่วนกลางจะสนับสนุนส่วนท้องถิ่น-ภูมิภาคเพื่อที่จะไปปฏิบัติการ ก็ช่วยไม่ได้ ไอ้ส่วนไปพื้นที่ปฏิบัติการก็แค่รักษาที่มั่นเอาตัวรอด ก็เคลื่อนไม่ได้ เพราะฝ่ายกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ไม่จำเป็นต้องไปยึด แค่ปิดล้อมไม่ให้เกิดการเคลื่อนที่ ก็จบแล้ว

ตั้งแต่รัฐฉานมา 4-5 เมืองเสียไป ประตูการค้าถูกปิดหมด ไอ้สิ่งที่จะเป็นการส่งกำลังบำรุง เป็นรายได้หลัก หายหมดชัดเจน

ฉะนั้น เนปิดอว์มันเหมือนข้างบนตอนเหนือก็เรียบร้อย รัฐฉานก็เรียบร้อย มาทางขวา อาจจะเป็นกะยา กะเหรี่ยงก็เรียบร้อย ไปทางซ้าย ยะไข่ ชิน ก็เรียบร้อย มาข้างล่าง พะโคก็เรียบร้อยแล้ว มัณฑะเลย์ที่อยู่เหนือเนปิดอว์เรียบร้อย กระชับวงล้อมเข้ามาเรื่อยๆ

การปฏิบัติการทางทหารรูปแบบนี้ ทางทหารเขาอ่านภาพออกเลย คือ “นับถอยหลัง” เท่านั้นเอง เพราะพอการส่งกำลังบำรุงหมดไป ทหารน่ะจบ อาวุธกระสุนไม่มี แล้วจะไปใช้การยุทธ์แบบปฏิบัติการทางอากาศ ก็เท่านั้น เพราะพอไปปฏิบัติการทางอากาศ ไปยึดพื้นที่เขาไม่ได้ เขาก็ขยับรุกคืบเข้ามา

สิ่งที่ “มิน อ่อง ลาย” ถึงกับแปลกใจ (คือ) พอรุกขึ้นมา เรา (รัฐบาลทหาร) มีกองทัพอากาศ แต่ไปๆ มาๆ กองกำลังชาติพันธุ์มีโดรนมาทำลาย (ปฏิบัติการทางอากาศ) ได้ด้วย มันมีอาวุธอะไรต่อเนื่องได้ดีเหลือเกิน

ก็เกิดการตั้งข้อสังเกตว่าจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ มีการสนับสนุนจากต่างประเทศ แต่ไม่ระบุประเทศ แต่น่าจะรู้กันทั่วแล้วว่า สงสัยไปที่จีน

 

จีนถึงแม้จะเคยสนับสนุน “มิน อ่อง ลาย” แต่ตอนนี้ให้น้ำหนักความมั่นคงทางเศรษฐกิจสูง เพราะท่อน้ำมัน-ท่อก๊าซจากอ่าวเบงกอลผ่านรัฐฉานไปเข้ายูนนานไปคุนหมิง ลงทุนไปตั้งเท่าไหร่ ถ้าชนกลุ่มน้อยเกิดคึกขึ้นมา ตัดท่อน้ำมัน-ท่อก๊าซ ก็ยุ่งอีก จีนก็ต้องมาเจรจาชนกลุ่มน้อย ชนกลุ่มน้อยก็โอเค

แล้วที่พม่าตั้งข้อสังเกตเพราะอะไร เพราะประตูการค้า ถ้าไม่มีเหมือนไฟเขียวจากจีน (กองกำลังชาติพันธุ์) มันไม่มีทางยึดได้

ก็ต้องเข้าใจ จีนต้องเล่นสองบทบาท แต่ก็จะดีในอนาคต เพราะอาจจะต้องมาเป็น “ตัวกลาง” ช่วยพูดกับรัฐบาลพม่าด้วย

เพราะตอนนี้ ตัวแบบที่บอกมันเปลี่ยนไป เพราะมันดันไปมีรัฐบาลเอ็นยูจี รัฐบาลเงา รัฐบาลพลัดถิ่น ซึ่งทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับทั่วโลกได้ แล้วความชอบธรรมสูง เพราะว่าถูกยึดอำนาจ

ตรงนี้ เราเห็นชัดเลย พัฒนาการของพม่าแสดงว่าประชาธิปไตยแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนถึงลุกฮือมา ไม่งั้นพีดีเอฟไม่แข็งแรง

พีดีเอฟที่มี มันจะแข็งแรงได้อย่างไร (ก็เพราะ) พวกกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ไง ทำให้แข็งแรง โดยเฉพาะปะหล่อง ก็รบมาทั้งชาติ ฝึกๆๆ เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่เพิ่งมาเปิดการยุทธ์

(แต่ทั้งหมดเกิดขึ้น) ตั้งแต่ยึดอำนาจแล้ว แสดงว่ามีปฏิสัมพันธ์ของฝ่ายกองกำลังชาติพันธุ์กับพีดีเอฟของเอ็นยูจี ที่มีการฝึกวิทยายุทธ์ให้กัน แล้วมาเปิดฉากยุทธการหลัก ก็คือ “1027” พอ 1027 ทางเหนือเสร็จปั๊บ ก็มาทางปีกขวา “1107” แล้วก็มาปีกซ้าย “1111” แล้วก็กระชับแคบมา

เนปิดอว์อยู่ตรงกลาง ซ้ายขวาหน้าหลังเรียบร้อยหมด อันนี้คือการนับถอยหลัง แล้วเราจะเห็นเป็นข่าวทหารหนีทัพทุกวัน บางข่าววันละ 300-1,000 คน แล้วรูปมันออกมาปรากฏชัดเจน

สิ่งที่น่าเป็นข้อสังเกต คือ การปฏิบัติการยุทธ์ของฝ่ายชาติพันธุ์ มีการรุกคืบได้เร็วมาก มันเลยเกิดการตั้งข้อสังเกตว่า กองกำลังของรัฐบาลทหารเมียนมาที่ว่ากันว่ามีสี่แสนนาย จริงๆ มันมีเท่าไหร่กันแน่?

ณ ตอนนี้ บางคนบอกว่าเหลือแสนกว่า แล้วถ้าไปหักพวกหน่วยส่งกำลังบำรุง มันอาจจะเหลือหน่วยยุทธการปฏิบัติสักประมาณแสนพอดีๆ ขณะที่กองกำลังชาติพันธุ์ถ้าเขารวมกัน เขาก็ไม่น้อยหน้า

มันเลยเริ่มชี้ให้เห็นว่า ในเฟสของปฏิบัติการทางทหาร ถือว่าเอ็นยูจี-พีดีเอฟ และกลุ่มชาติพันธุ์ ได้เปรียบแบบค่อนข้างจะเบ็ดเสร็จแล้ว เพียงแต่จะต้องไปรอเฟสสองว่าถ้าการเจรจายุติได้ จะปกครองกันอย่างไร?