ผืนแผ่นดินล้านช้าง ‘ยาวยืดเหนือจรดใต้ ทางซ้ายฝั่งโขง’

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

ผืนแผ่นดินล้านช้าง

‘ยาวยืดเหนือจรดใต้ ทางซ้ายฝั่งโขง’

 

อาทิตย์ที่แล้วผมกับครอบครัวเดินทางท่องเที่ยวขนาดใกล้ คือไปแค่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

เราไปเยี่ยมยามสองเมืองใหญ่คือหลวงพระบางและเวียงจันทน์ ไม่ได้มีจุดหมายอะไรพิเศษ นอกจากลูกสาวอยากไป เราเลยตัดสินใจไปด้วยกัน

ผมกับภรรยาเคยไปเที่ยวสองนครนี้มาก่อนแล้ว แต่มันนานมากราวสามสิบปีมาแล้ว ตอนนั้นคนที่ชวนเราไปคืออาจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน ว่าน่าไปชมความเปลี่ยนแปลงของระบอบปกครองใหม่ในลาวว่าเป็นอย่างไร เพราะลาวผลัดเปลี่ยนเข้าสู่ประเทศสังคมนิยมได้สิบเจ็ดปีแล้ว

ภาพประทับที่เห็นตอนนั้น จำไดยังไม่เห็นรูปร่างของระบอบใหม่อะไรมากนัก บ้านช่องร้านค้า วัดวาอารามยังเหมือนเดิม ชาวบ้านก็เดินเหินทำมาหากินไปตามปกติ เมื่อถามก็ไม่มีคำตอบอะไรที่ตรงใจนัก ส่วนใหญ่ก็บอกว่าเรียบร้อยดี

เราไปในช่วงคริสต์มาสถึงปีใหม่ จึงเห็นป้ายและแผ่นผ้าของการฉลองวันชาติลาวเพิ่งผ่านไป นั่นคือวันที่ 2 ธันวา วันนั้นในปี 1975 “เป็นวันสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งประกอบด้วยกองประชุมใหญ่ ผู้แทนประชาชนทั่วประเทศ ประกาศล้มล้างระบอบราชาธิปไตย สร้างตั้งระบอบใหม่สังคมนิยมของประชาชน”

ตามสถานที่ต่างๆ จึงเห็นป้ายฉลองวันชาติมากที่สุด พร้อมกับธงชาติใหม่คู่กับธงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศลาวรูปค้อนเคียว ซึ่งหาดูไม่ได้ในเมืองไทย

มาเที่ยวนี้ก็หลังวันฉลองวันชาติไม่กี่วัน เรายังเห็นป้าย “น้ำใจวันชาติที่ 2 ธันวามั่นยืน” ติดไปทั่วตามสถานที่ทั่วไป

อันนี้กลายเป็นตัวเชื่อมระหว่างอดีตกับปัจจุบันของลาวใหม่ในสายตาของผม

คือการดำรงอยู่ของพรรคและรัฐสังคมนิยมในอุดมการณ์ยังไม่เปลี่ยน ยังมีฐานะนำเหนือความคิดอื่นใด แม้ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและระบบโลกาภิวัตน์ได้สร้างแรงสะเทือนไปทั่วทุกประเทศในโลก

แต่ สปป.ลาวดูเหมือนยังรักษาอัตลักษณ์เดิมของลาวไว้มั่นยืนเหมือนกัน ทว่า ร่องรอยของสิ่งใหม่ก็ปรากฏให้เห็นมากขึ้น นั่นคือการเติบใหญ่ของระบบเศรษฐกิจทุนที่ยังถูกควบคุมโดยรัฐอย่างไม่ลดราวาศอก

สิ่งที่คงทนและยืนหยัดฝ่าแดดลมฝนทางการเมืองและเศรษฐกิจมาได้อย่างดีคือวัด ที่หลวงพระบาง วัดที่พลาดไม่ได้คือวัดเซียงทอง ที่มีสถาปัตยกรรมลาวอันโดดเด่นเป็นศิลปะของชาวหลวงพระบางอันงดงามยิ่ง สีทองแทรกคลุมไปทั่ว ลวดลายกนกใบไม้บนเสาในอุโบสถเลื้อยอย่างสง่างาม

ภาพฝาผนังมีหลายเรื่อง พุทธประวัติ อีกแห่งมีอรรถาธิบายสภาพนรกโลกันตร์ อีกด้านเป็นทศชาติตอนพระนางมัทรีถามหาลูกกันหาชาลีกับพระสวามี ในช่องนั้นยาวออกไปถึงกันหาชาลีที่เดินขึ้นจากบ่อน้ำ

หลายปีก่อนโน้นเราเข้าวัดอย่างเงียบสงบ ไม่มีคนอื่นอยู่ในวัดเลย และหมายความว่าไม่มีการซื้อบัตรเข้าชมวัดด้วย

ปัจจุบันการเข้าในวัด พิพิธภัณฑ์และโบราณสถานต้องซื้อบัตรค่าเข้าชมทั้งนั้น พร้อมกันนั้นก็มีอิทธิพล ผมว่าต้องมาจากเมืองไทยแน่ คือราคาบัตรของคนลาวกับคนต่างชาติต่างกันลิบ

นี่คือสัญญาณของระบบทุนที่เริ่มทำงานของมันอย่างเอาจริงเอาจังแล้ว

เราพักที่โรงแรมขนาดเล็กมีแค่ 6 ห้อง เป็นบ้านไม้สร้างไม่นาน ผู้จัดการเป็นสตรีวัยสาวมีลูกสาวเพิ่งมาจากเวียดนาม พูดลาวได้ซึ่งหมายความว่าเราพูดกันผ่านภาษาไทยลาว พนักงานทำความสะอาดและทำอาหารทั้งหมดเป็นสตรีรุ่นสาวทั้งนั้น ไม่มีบุรุษสักคนในนี้

เราไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของกิจการนี้ แต่จากการคุยกัน เธอเล่าว่าที่นี่เป็นเจ้าของส่วนตัวไม่ได้ ต้องเช่าจากรัฐ

ที่ดินแถวข้างแม่น้ำคานแถวนี้คงเปิดใหม่ มีห้องพักเล็กและกลางเต็มหมดทั้งถนนจนไปสุดแม่น้ำโขง บางร้านผู้ประกอบการเป็นคนไทย

เท่าที่เดินสำรวจยังไม่เห็นผู้ประกอบการและพนักงานเป็นคนจีน นอกจากคนหนึ่งมาส่งตู้เย็นให้แก่โรงแรม เดาได้ว่าเขาเป็นจีน รวมทั้งรถตุ๊กตุ๊กก็มีอักษรจีนบอกชื่อห้างร้าน

เมื่อนั่งรถออกไปเที่ยวน้ำตกกวางสี เห็นอาคารสำหรับกิจการใหญ่เป็นภาษาจีนทั้งนั้น แสดงว่าคนจีนมาทำกิจการผลิตก่อสร้างมากกว่าเปิดโรงแรมเล็กๆ

เมื่อไปขึ้นรถไฟลาวจีนเพื่อเดินทางไปนครเวียงจันทน์ ภาพสถานีรถไฟที่ใหญ่โตมโหฬารตั้งอยู่นอกเมืองหลวงพระบาง ถึงเห็นอานุภาพของทุนจีนที่อยู่ในประเทศ

แปลกที่เราได้ข่าวทำนองวิพากษ์วิจารณ์การสร้างรถไฟความเร็วสูงในลาวของจีนว่าเป็นการลงมือของจีนเป็นหลัก เหมือนกับว่าลาวคงไม่มีอำนาจในการตัดสินใจอะไรทำนองนั้น

แต่เมื่อผมมองดูสภาพการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศแล้ว ผมกลับเห็นใจคนและประเทศลาว ด้วยเงื่อนไขที่จำกัดของโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมในหลายปีก่อนและหลังการปฏิวัติปลดปล่อยประเทศจากระบอบเก่าราชาธิปไตยที่ระบบทุนต่างชาติเข้ามาดัดแปลงระบบการผลิตในลาวไม่มากนัก แทบไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่า “การสะสมทุนขั้นต้น” (primitive accumulation of capital) ขึ้นในประเทศเลย

นั่นคือการทำลายการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เช่น ที่ดินและทุนของเอกชนส่วนตัว แล้วยึดรวมเข้าไปอยู่ภายใต้อำนาจการผลิตของทุนแต่ฝ่ายเดียวที่กระทั่งรัฐเองก็ต้องยอมเป็นรองด้วย

ลักษณะการผลิตดังกล่าวไม่เกิดในสมัยอาณานิคม เพิ่งมาเกิดก็หลังจากการปฏิวัติสังคมนิยมภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ลาว ซึ่งก่อตั้งและขยายใหญ่ด้วยความร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม หาไม่แล้วโอกาสที่พรรคคอมมิวนิสต์ลาวจะเอาชนะด้วยลำพังตัวเองคงเป็นไปได้ยาก

คุณูปการใหญ่ประการหนึ่งของการเกิดและพัฒนาระบบทุนนิยมคือการทำให้การผลิตของปัจเจกกลายเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตทางสังคมไป หมายความว่าการเกิดและดำรงอยู่ของกรรมกรที่บัดนี้ไม่มีกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตใดๆ นอกจากแรงกายเท่านั้น ไม่ใช่เป็นคนงานโดดๆ จะเป็นตายร้ายดีก็ไม่เกี่ยวกับคนอื่น

ตรงกันข้าม นายทุนต้องทำให้การดำรงอยู่ของชนชั้นกรรมกรเป็นเรื่องของสังคม เพราะมันหมายถึงการอยู่รอดและเติบใหญ่ของทุน

ระบบทุนต้องทำให้มีแรงงานเสรีออกสู่ตลาดตลอดเวลา เพื่อระบบการผลิตจะไม่สะดุดตัดตอนได้ ไม่ว่าราคาและค่าจ้างแรงงานจะถูกกดทำให้ต่ำ

อย่างไรก็ตาม รัฐก็ต้องหาทางไปช่วยไม่ให้กรรมกรอดตาย การพัฒนาเข้าสู่ระบบสังคมนิยมจะประสบความสำเร็จจึงต้องอาศัยเงื่อนไขมีก่อนเหล่านี้ จึงจะสามารถต่อยอดระบบการผลิตทุนไปสู่สังคมนิยมที่กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตตกเป็นของส่วนรวมซึ่งรวมทั้งรัฐด้วย

แน่นอนพัฒนาการของระบบทุนดังกล่าวไม่ได้เกิดเลย หรือมีก็เพียงน้อยนิด

ปัญหาดังกล่าวนี้ กล่าวในทางประวัติศาสตร์แล้ว ไม่ได้มีเพียงแค่ลาวเท่านั้น หากในความเป็นจริงปรากฏในแทบทุกประเทศที่ทำการปฏิวัติสังคมนิยมที่ไม่มีความพร้อมในลักษณาการของพัฒนาการระบบทุนขั้นต้นเกิดขึ้นเลย ไม่ว่าในรัสเซีย ซึ่งมีระบบอุตสาหกรรมมากกว่าคนอื่น

นอกนั้นไม่ว่าจีน เวียดนาม และกัมพูชาล้วนไม่พร้อมสำหรับการเข้าสู่ระบบสังคมนิยม

ระหว่างนั่งรถแท็กซึ่ในระบบใหม่ จากสถานีรถไฟลาวจีนไปยังโรงแรมในกรุงเวียงจันทน์ ผมถามว่าเดี๋ยวนี้ยังใช้ระบบสังคมนิยมอีกไหม

เขาตอบว่ายังเป็นสังคมนิยมอยู่ แต่ก็ให้เอกชนเข้ามาลงทุนทำกิจการมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใช้สองระบบคู่กัน แต่เขาก็ยอมรับว่ายังไม่พัฒนามากนัก

เขาอธิบายให้ฟังว่า ระบบสังคมนิยมคือไม่มีคนรวยมากๆ นิดเดียว แล้วคนส่วนมากยากจน ปัจจุบันไม่มีอย่างนี้ แต่คนก็ยังไม่มีมากนัก ต้องทำต่อไปอีกระยะ

ถามว่าแล้วระบบสังคมนิยมจีนและเวียดนามสำเร็จไหม เขาตอบว่าก็ยังไม่สำเร็จ ยังต้องทำต่อไปอีก

น่าสนใจว่าคนลาวที่พูดคุยด้วย ไม่มีใครบ่นหรือเปรียบเทียบกับประเทศไทยที่พัฒนารุดหน้ามั่งคั่งกว่าลาว

คนรุ่นหนุ่มสาวซึ่งเป็นพลังใหม่ของประเทศ ดูมีความเชื่อมั่นในระบอบ และที่สำคัญพวกเขาและเธอมีความเชื่อมั่นในตัวเอง ในศักยภาพของการประกอบธุรกิจเอกชนภายใต้รัฐรวมศูนย์

ผมคิดว่าผู้ประกอบการรุ่นใหม่จะประกอบไปด้วยคนลาว จีนและเวียดนามเป็นแกนหลักในการพัฒนายกระดับการผลิตต่อไป

 

จุดสุดท้ายที่เราไปชมคือพิพิธภัณฑ์วัดศรีษะเกศและหอพระแก้ว ลูกสาวแปลกใจที่ไม่รู้ว่าลาวปฏิวัติเปลี่ยนประเทศเมื่อไม่นานคือปี 1975 ถือโอกาสเล่าเบื้องหลังประวัติศาสตร์ลาว เพราะเขาอ่านเจอคำอธิบายที่บอกว่า พระพทธรูปจำนวนมากถูกนำมาเก็บไว้ที่นี้เพราะ “การบุกรุกรานอย่างรุนแรงของประเทศข้างเคียง” ผมบอกลูกสาวว่ารู้ไหมประเทศเพื่อนบ้านลาวตอนนั้นคือประเทศอะไร หากไม่รู้ คือประเทศสยาม

ผมพาไปดูแผ่นอธิบายหน้าหอพระแก้ว ก็บอกว่าพระแก้วมรกตถูกนำออกไปโดยพระเจ้าตากสินมหาราช จากนั้นมา ผมจำได้ว่าเคยมาประชุมสัมมนาของนักประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวียงจันทน์ และพาพวกนั้นมาชมหอพระแก้วพร้อมกับเล่าประวัติให้ฟัง ทุกคนตื่นเต้นมากกับวรรคทองที่ว่าใครเอาพระแก้วลาวไป ในนั้นมีนักประวัติศาสตร์ลาวคนหนึ่งถามขึ้นมาว่า “เมื่อใดจะเอามาคืน”

ทั้งกองประชุมใหญ่เงียบสนิท