อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ศิลปะแห่งหัวกะโหลกมนุษย์โบราณ (จำลอง)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ศิลปินผู้ไม่จำเป็นต้องแบกสัมภาระแห่งความเป็นไทย (2) ศิลปะแห่งหัวกะโหลกมนุษย์โบราณ (จำลอง)

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาต่อกันที่ผลงานศิลปะที่โดดเด่นในระดับสากลอีกชิ้นของ ปรัชญา พิณทอง กันเลยดีกว่า

ผลงานชิ้นนั้นมีชื่อว่า Broken Hill (2013)

ซึ่งเป็นชื่อของนิทรรศการครั้งแรกของปรัชญาในสหราชอาณาจักร

ผลงานชุดนี้เป็นการสำรวจสถานะของหัวกะโหลกมนุษย์โบราณ Broken Hill ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติลูซากา (Lusaka National Museum) สาธารณรัฐแซมเบีย

หัวกะโหลกมนุษย์โบราณ Broken Hill เป็นซากดึกดำบรรพ์ของมนุษย์ยุคแรกๆ ที่พบในแอฟริกา

และเป็นหลักฐานเบื้องต้นที่สนับสนุนทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน ที่กล่าวว่ามนุษย์มีสายวิวัฒนาการมาจากสัตว์กลุ่มไพรเมต (primate) ซึ่งถือเป็นกลุ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีพัฒนาการสูงที่สุด

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทฤษฎีวิวัฒนาการทางกายวิภาคของมนุษย์สมัยใหม่ หรือโฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) ที่เชื่อกันว่าถือกำเนิดขึ้นในพื้นที่ของทวีปแอฟริกา ใต้ทะเลทรายซาฮาร่า

หัวกะโหลกนี้ถูกค้นพบในปี 1921 โดยคนงานเหมืองแร่ในเมืองโบรกเค่นฮิลล์ (Broken Hill) โรดีเซียเหนือ (ปัจจุบันคือเมืองคาบเว สาธารณรัฐแซมเบีย)

หัวกะโหลกมีอายุระหว่าง 125,000 และ 300,000 ปี หลังจากค้นพบ มันถูกนำไปลอนดอน โดยเจ้าหน้าที่อาณานิคมของอังกฤษ และนำไปเก็บสะสมและจัดแสดงในคอลเล็กชั่นของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติบริติช ในกรุงลอนดอน

ในขณะที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติลูซากาในแซมเบีย ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ที่ค้นพบ กลับมีแค่เพียงหัวกะโหลกจำลองแสดงอยู่เท่านั้น

ปรัชญาได้ยินเรื่องราวหัวกะโหลกโบราณนี้จากจักรวาล นิลธำรงค์ นักทำหนังเพื่อนรุ่นน้องของเขา เขาจึงทำการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับมัน

และในที่สุด เขาก็เดินทางไปยังแซมเบียพร้อมกับนักทำหนังชาวแซมเบีย มิวโซลา แคทเธอรีน คาเซเคติ (Musola Catherine Kaseketi) และเพื่อนชาวไทย ภัทระ จันทร์ฤๅชาชัย เพื่อค้นคว้าข้อมูล และทำหนังสารคดีเกี่ยวกับหัวกะโหลกโบราณนี้

โดยในวันแรก มิวโซลาถ่ายทำภาพของปรัชญาและภัทระที่เดินทางเข้าไปยังพิพิธภัณฑ์แห่งชาติลูซากา และรับฟังมัคคุเทศก์ประจำพิพิธภัณฑ์ เล่าประวัติศาสตร์ของหัวกะโหลกมนุษย์โบราณ Broken Hill ว่ามันถูกขุดพบในชั้นหินของถ้ำในเหมือง ลึกลงไปราว 30 เมตรจากผิวดิน โดยหัวกะโหลกแคล้วคลาดจากแรงระเบิดที่ใช้ระเบิดเหมืองอย่างน่าอัศจรรย์ (แต่ขากรรไกรล่างของกะโหลกหายไป)

คนงานเหมืองแขวนกะโหลกนี้ไว้บนยอดเสาธงอยู่สองสามวัน ก่อนที่ผู้จัดการเหมืองจะมาพบ และนำมันไปมอบยังพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติบริติชด้วยตัวเองในเวลาต่อมา

หัวกะโหลกถูกตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Homo Rhodesiensis : Rhodesian man (หรือในชื่อเล่นว่า หัวกะโหลก Broken Hill)

โดยทางพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติบริติช ก็ได้ทำหัวกะโหลกจำลองส่งมาให้พิพิธภัณฑ์แห่งชาติลูซากาในภายหลัง

ซึ่งทางรัฐบาลแซมเบียเองก็พยายามเจรจาขอหัวกะโหลกนี้กลับคืนสู่ประเทศ แต่ก็ประสบความล้มเหลวมาโดยตลอด (พวกเจ้าอาณานิคมนี่มันขี้ตู่จริงๆ)

หลังจากได้รับฟังเรื่องราว มิวโซลาทำการถ่ายทำสัมภาษณ์ผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวพันกับหัวกะโหลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนบทละครในเมืองคาบเว ที่ทำละครเกี่ยวกับหัวกะโหลกโบราณแสดงในโรงละครลูซากาในปี 2005 รวมถึงศิลปินท้องถิ่นที่พาเธอไปยังพื้นที่ที่เชื่อว่าเป็นที่ขุดพบหัวกะโหลกโบราณ

หลังจากนั้น ปรัชญาและเพื่อนๆ ก็เดินทางกลับไปยังพิพิธภัณฑ์แห่งชาติลูซากา และพบกับผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ ซึ่งอนุญาตให้พวกเขาสำรวจหัวกะโหลกจำลองเป็นการส่วนตัว

พวกเขาพบว่าหัวกะโหลกจำลองดังกล่าวทำขึ้นจากพลาสติกเรซิ่น ด้านใต้ของหัวกะโหลกถูกสลักชื่อของ “พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติบริติช” เอาไว้

ปรัชญาจึงขออนุญาตหยิบยืมหัวกะโหลกจำลองนี้เพื่อไปแสดงในนิทรรศการที่ลอนดอน ซึ่งทางผู้อำนวยการก็ให้อนุญาต โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องมีแบบฟอร์มการยืมอย่างเป็นทางการ และมัคคุเทศก์ประจำพิพิธภัณฑ์ต้องเดินทางไปกับหัวกะโหลก (จำลอง) ด้วย

จึงเป็นที่มาของผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ของปรัชญานั่นเอง

นิทรรศการ Broken Hill ที่จัดแสดงในหอศิลป์ Chisenhale ในกรุงลอนดอน ประกอบด้วยหัวกะโหลกโบราณจำลอง ที่ปรัชญาหยิบยืมมาจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติลูซากา

โดยเขาซื้อหัวกะโหลกจำลอง (ที่จำลองจากหัวกะโหลกจำลองอีกที) ที่มีขายทางออนไลน์ ส่งให้พิพิธภัณฑ์นำไปจัดแสดงแทนเป็นการชั่วคราว

หัวกะโหลกจำลองถูกจัดแสดงคู่กับกล่องไม้ที่จำลองจากกล่องไม้ที่ใช้เก็บหัวกะโหลกจริงในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติบริติช และใบอนุญาตที่ศิลปินได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการมรดกแห่งชาติแห่งสาธารณรัฐแซมเบีย ด้วยความที่หัวกะโหลกจำลองนี้ถูกจัดให้เป็นโบราณวัตถุของชาตินั่นเอง (ช่างเป็นอะไรที่เจ็บปวดจริงๆ)

นอกจากนั้น ปรัชญายังเชื้อเชิญมัคคุเทศก์ประจำพิพิธภัณฑ์ คัมฟวา ชิชาล่า (Kamfwa Chishala) ให้เดินทางไปยังลอนดอน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์อันซับซ้อนเกี่ยวกับหัวกะโหลกโบราณนี้ให้ผู้ที่เข้ามาชมงานนิทรรศการได้ฟังตลอดระยะเวลาการแสดงงาน

เช่นเดียวกับที่เขาทำในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติลูซากา ที่สำคัญ ปรัชญายังพาชิชาล่าไปชมหัวกะโหลกโบราณ Broken Hill ตัวจริงเสียงจริงที่แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติบริติชอีกด้วย

ชิชาล่าถูกปรัชญาชักพาให้มีโอกาสพบปะและสนทนากับผู้คนหลากหลายที่เข้ามาชมนิทรรศการนี้ที่เขาไม่เคยพบเจอมาก่อน ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากที่เขาพบเจอในชีวิตประจำวัน

ซึ่งประสบการณ์อันแปลกใหม่เหล่านี้ ก็จะถูกเขานำกลับไปบอกเล่าให้ผู้คนในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนของเขาฟัง เมื่อเขากลับไปถึง

ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลายเป็นการขยายขอบเขตของเรื่องราวของหัวกะโหลกและเรื่องเล่าของเขาให้กว้างไกลยิ่งขึ้นไปอีก

ผลงาน Broken Hill ของปรัชญา นอกจากจะเป็นการสำรวจต้นตอแหล่งที่มา และสภาวะอันแท้/เทียมของโบราณวัตถุในประวัติศาสตร์ของโลก และตีแผ่การแทรกแซงของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงสถานภาพของวัตถุโบราณเหล่านั้นให้ซับซ้อนยุ่งเหยิง

รวมถึงสร้างบทสนทนาที่ยั่วล้อและวิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศในยุคอาณานิคมและยุคหลังอาณานิคมได้อย่างแหลมคมแล้ว (การนำหัวกะโหลกจำลองจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติลูซากาที่แซมเบียไปจัดแสดงอยู่ในลอนดอน เมืองเดียวกับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติบริติชที่เก็บหัวกะโหลกของจริงเอาไว้ ก็เป็นอะไรที่ยียวนไม่น้อยทีเดียว)

ผลงานศิลปะรูปลักษณ์เรียบง่าย หากแต่เต็มไปด้วยกระบวนการคิดอันแยบยลของเขาชุดนี้ยังช่วยสร้างเครือข่ายที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์และมิตรภาพระหว่างผู้คนต่างชาติต่างภาษาที่อยู่คนละซีกโลกเข้าไว้ด้วยกัน รวมถึงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน และยังมีส่วนช่วยขยายพรมแดนแห่งองค์ความรู้ของมวลมนุษยชาติให้ขยับกว้างไกลออกไปอีก ไม่มากก็น้อย

สังเกตว่าผลงานศิลปะของปรัชญานั้นไม่จำเป็นต้องหยิบยกเอาเอกลักษณ์ความเป็นไทยหรือความเป็นชาตินิยมไปนำเสนอบนเวทีศิลปะโลก

หากแต่เขาทำงานเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นสากล เรื่องราวของคนที่อยู่ไกลโพ้นคนละซีกโลก

พูดง่ายๆ ก็คือ ปรัชญาเป็นศิลปินที่ทิ้งสัมภาระแห่งความเป็นไทย และก้าวย่างออกไปเป็นศิลปินของโลกแล้วนั่นเอง