เรื่องเล่าถึงวันวาน ‘ตะรุเตา’ สู่วันนี้ อุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของไทย

“ตะรุเตา” เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของไทยมาตั้งแต่ปี 2516 ครอบคลุมพื้นที่เกาะกลางทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย 52 เกาะ รวม 152 ตารางกิโลเมตร ห่างแผ่นดินแม่คือ จ.สตูล 43.8 กิโลเมตร และห่าง “เกาะลังกาวี” มาเลเซีย 4.8 กิโลเมตร กับห่าง “เกาะอาดัง-ราวี” 40 กิโลเมตร กับอีก 2 กิโลเมตรสุดท้ายคือ “ลิเป๊ะ” หรือ “หลีเป๊ะ” ที่รู้จักกันดี

ที่นี่มีธรรมชาติทางทะเลสวยงามน่าสนใจ และมีประวัติศาสตร์วันวานชวนติดตาม จนคนทั่วไปคิดวางแผนต้องเดินทางไปให้ถึงอย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง แม้ปีหนึ่งทะเลแถบนี้จะปลอดมรสุม 7 เดือน มีคลื่นลมทะเลตีรวนนาน 5 เดือนก็ตามที…นั่นดูจะมิใช่ปัญหานักเดินทางท่องเที่ยว ที่ต้องการไปสู่ถิ่นซึ่งเคยลี้ลับมาก่อนอย่างช่องแคบมะละการะหว่างตะรุเตา-ลังกาวี

“ตะรุเตา” เป็นภาษามลายูเพี้ยนจาก “เตอลุกตาวาร์” บ้างก็ว่า “ตะโละเตรา” แปลว่า “อ่าวน้ำจืด” ด้วยมีแหล่งน้ำจืดและมีพันธุ์ไม้เศรษฐกิจ อาทิ ยาง ตะเคียน หลุมพอ ยูง สยา

ล่อเป้าให้เหล่ามอดไม้รุกรานก่อนกฎหมายจะต้วมเตี้ยมเข้าไปควบคุม

ชาวเลดำน้ำจับกุ้งการังทะเลตะรุเตา 2517

วันวานปี 2480 ขุนพิธานทัณฑทัยได้นำทีมสำรวจอ่าวตะโละอุดังฝั่งใต้กับตะโละวาวฝั่งตะวันออกเกาะตะรุเตา เพื่อใช้เป็นคุกธรรมชาติตาม พ.ร.บ.กักกันผู้มีสันดานเป็นโจรผู้ร้ายปี 2479 ปี 2481 จึงยกพื้นที่ป่ากันดารเคียงทะเลสงบขึ้นดังตั้งใจให้เป็นทัณฑสถานนิคมฝึกอาชีพนักโทษเด็ดขาด อีกทั้งนักโทษผู้มีสันดานเป็นโจรร้ายบนแผ่นดิน

ปี 2482 รัฐบาลคราวนั้นยังได้ส่งนักโทษการเมืองคดีกบฏบวรเดช 2476 กับกบฏนายสิบ 2478 ผสมโรงอีกจำนวน 70 นาย มาสมทบยังอ่าวตะโละอุดัง ทำให้มีนักโทษทั้งสิ้น 4,000 คน

และหนึ่งในนั้นมีนาวาเอกพระยาศราภัยพิพัฒน์ (เลื่อน ศราภัยวานิช) ผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงกลาโหม เพื่อนร่วมรุ่นอัสสัมชัญกับพระยาอนุมานราชธนรวมอยู่ด้วย

พระยาศราภัยฯ ได้เขียนเล่าชีวิตอันแสนทารุณหฤโหด อ่านแล้วพาลพาให้คิดว่าไม่สบายเท่านักโทษอภิสิทธิ์เด็ดขาดในสถานพยาบาลเช่นสมัยนี้

ครั้งนั้นต้องเสี่ยงหนีข้ามทะเลลี้ภัยด้วยเรือตังเกสู่เกาะลังกาวีด้วยความยากลำบากกว่าจะสำเร็จ แล้วจึงเขียนประจานภายหลังถึงความชั่วร้ายขณะนั้นในชื่อ “ฝันร้ายของข้าพเจ้า”

โดยบางตอนระทึกไม่แพ้นักโทษ “ปาปิญอง” ซึ่งเขียนโดยเฮนรี่ ชาร์รีแอร์ ที่พยายามแหกคุกนิคมทัณฑสถานเฟรนซ์เกียนา ฝรั่งเศส และถูกจับกุมถึง 9 ครั้งจนสุดท้ายถึงสามารถฝ่าดงฉลามได้ฉลุย

ตอนหนึ่งของฝันร้ายพระยาศราภัยฯ… “ครั้นถึงเขตแดนหลักหินเราค่อยโล่งใจหน่อย แต่ก็ยังไม่ไว้ใจอยู่ดี เพราะค่ำคืนเช่นนั้นผู้ติดตามจับอาจมุ่งเอาตัวให้ได้ และไม่เคารพต่อสัญญาระหว่างประเทศ ล่วงล้ำเข้ามาจับเราก็ได้ พอพายมาสักครู่หนึ่ง เราเห็นเกาะลังกาวีตะคุ่มๆ หายใจสะดวกยิ่งขึ้นทุกที เลือดฉีดแรงกว่าปกติ ยิ่งเห็นหาดทรายชัด คนพายไม่ทันใจ อยากโดดน้ำว่ายไปหลายครั้งแต่กลัวฉลาม เราช่วยกันจ้ำด้วยพายอะไหล่ที่มีติดเรือมาแรงยิ่งขึ้น”

“เรือจึงเกยหาดทรายเวลา ๒ น. ของวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๒ ซึ่งข้าพเจ้าถือว่าเป็นวันเกิดของข้าพเจ้ายิ่งกว่าวันเกิดที่แท้จริงเสียอีก เราทั้ง ๕ คนเป็นอิสรภาพโดยปล่อยตัวเองเอาชีวิตเข้าแลก ไม่ต้องพึ่งพาอำนาจบุญบารมีของผู้ใดทั้งหมด”

อดีตปี 2482 คราวสงครามโลกครั้งที่ 2 ตะรุเตาเป็นนรกขุมหมกไหม้ที่สุด เหล่าผู้คุมและนักโทษต่างประสบปัญหาอาหารไม่มียาไส้ ไร้ยารักษาไข้ป่าโดยเท่าเทียมกัน ชีวิตต้องสังเวยไปกว่า 700 ศพ ส่วนชีวิตที่รอดต้องผันตัวเองเป็นโจรสลัดปล้นเรือสินค้าผ่านไปมาด้วยภาวะจำยอม

อังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมมาเลเซียขณะนั้น จึงส่งทหาร 300 นายจัดการกับหัวหน้าโจรคือขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์กับเพื่อนร่วมแก๊งแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน โดยขีดวงให้นักโทษนั่งตากแดดบนดาดฟ้าเรือห้ามลุกไปไหน ถึงสตูลแล้วยังสั่งให้เดินเปลือยเท้าเข้าไปประตูเรือนจำ

ระหว่างสงคราม…พระยาศราภัยฯ ซึ่งลี้ภัยได้ทำหน้าที่โฆษกวิทยุออสเตรเลีย ภาษาไทย สนับสนุนขบวนการเสรีไทย ปี 2488 ได้รับนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองไทยทั้งหมด ถึงได้กลับเมืองไทยและสู่สนามการเมืองอีกครั้ง เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ

ก่อนจบชีวิตด้วยโรคหัวใจขณะวัย 79 ปีเมื่อปี 2511

ชุมชนเก่าบนเกะตะรุเตา

นับจากวันไฟสงครามดับลงหลังจากนั้นถัดมาอีก 2 ปี กรมราชทัณฑ์ถึงยุตินิคมฝึกอาชีพตะรุเตา ทิ้งวันวานเหลือเพียงโซ่ตรวนกับกระทะทำอาหารเลี้ยงนักโทษมีสนิมจับเขรอะไม่น้อย สนิมหนาเตอะจับขั้วประวัติศาสตร์ชั่วร้ายครั้งกระนั้น ที่บ่งบอก…ตะรุเตาคือแดนนรกบนหาดทรายแสนสวยและป่าไม้แสนงามขณะนั้น

ครั้นสงครามสิ้นสุดลง…เท่ากับเปิดโอกาสให้เหล่ามอดไม้นายทุนเริ่มหวนกลับมาคืนชีพบนเกาะตะรุเตาอีกครั้งหนึ่ง การโค่นล้มชักลากทางทะเลสู่โรงเลื่อยบนฝั่งเพื่อแปรรูปโดยกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลเป็นไปอย่างเสรี เนื่องด้วยมาตรการทางกฎหมายเวลานั้นยังไล่ตามแทบไม่ทัน

ขณะเดียวกันปัญหาใหม่จากราษฎรชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี ไหลเข้าจับจองที่ดินทำกินโดยถางป่าทำนาและไร่ชา โดยปราศจากเอกสารสิทธิ์นับได้ 800 ครัวเรือน

นานจนถึงปี 2515 ที่ทรัพยากรจะย่อยยับไปมากกว่านี้ กรมป่าไม้ถึงได้ตื่นขึ้นมาป้องกันและปลุกปั้นตะรุเตากับอาดัง-ราวี และเกาะบริวารอีก 51 เกาะ เป็นอุทยานฯ ภายใต้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ

การอพยพราษฎรออกจากเกาะตะรุเตา

ด้วยเหตุผลมีธรรมชาติป่าเขาหาดทรายสวยงาม สัตว์ป่าชุกชุมบนบกและสัตว์น้ำสารพัดสารพันอยู่ในท้องทะเล จึงได้จัดส่งนักวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ป่าไม้ไปสำรวจความเป็นไปได้

จากนั้นอีก 1 ปี…ถึงส่งนายบุญเรือง สายศร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติคนแรกเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ปี 2503-2506 ไปดำเนินการเตรียมประกาศ

โดยรู้ทั้งรู้ว่า…การปฏิบัติงานครั้งนี้ย่อมเสี่ยงเผชิญกับปัญหารุนแรงอาจถึงขั้นแลกกันด้วยชีวิต ระหว่างกลุ่มนายทุนมอดไม้กับชาวบ้านดื้อแพ่ง 800 ครัวเรือนที่โมเมไม่ยอมสละพื้นที่เกาะทำกินเสียที

ที่สุดความขัดแย้งได้กลายเป็นปรปักษ์ระหว่างฝ่ายหนึ่งถือคัมภีร์กฎหมาย ขณะอีกฝ่ายถือการดื้อรั้นและอิทธิพลที่เบ่งบารมี จนคืนหนึ่ง…มีกลุ่มชายฉกรรจ์อาศัยเรือเร็วเป็นพาหนะแล่นมายังอ่าวพันเตมะละกา แล้วจากนั้นบุกขึ้นไปซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ป่าไม้จนเกิดการปะทะกัน ครู่ใหญ่กลุ่มชายนิรนามจึงล่าถอยกลับไปลงเรือ โดยฝ่ายป่าไม้คิดว่านี่คือการจงใจข่มขู่เสียมากกว่า

มีเจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานเพียงคนเดียวถูกกระสุนเจาะเข้าที่โคนขา ต้องรีบนำลงเรือโทงติดเครื่องของอุทยานฯ เพื่อส่งโรงพยาบาล จ.สตูล โดยใช้เวลาเดินทาง 3-4 ชั่วโมง

ทว่า…เหยื่อเกิดสูญเสียเลือดมากกับเวลาที่เนิ่นนาน ทำให้เขาต้องสิ้นลมลงอย่างน่าอนาถที่สุด

ผิดกับฝันร้าย พระยาศราภัยฯ ที่การหลบหนีกลางแสงจันทร์คืนเดือนหงายสู่ลังกาวี ซึ่งมีแต่ภัยรายรอบทั้งสายตาผู้คุม ฝูงจระเข้กับฉลามพร้อมบูลลี่เกลื่อนทะเล – แต่รอดราวปาฏิหาริย์?

เกาะตะรุเตากลางช่องแคบมะละกา

วันวานต่อมา…หลังตะรุเตาเป็นอุทยานฯ ปี 2517 จนขจัดมอดไม้และอพยพชาวบ้านได้สำเร็จ จำนวนทัวร์ซอฟต์แอดเวนเจอร์วินเทจ คือย้อนความจำแสวงหาประสบการณ์ใหม่เพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

คืนหนึ่งขณะคน 20 ชีวิตกำลังสรวลเสเฮฮาตอยู่ในชายคาร้านอาหารสวัสดิการ มีเจ้าหน้าที่มาแจ้งข่าวร้ายให้ทราบเกิดมี “วาฬ” ตัวหนึ่งพลัดหลงมาเกยตื้นหาดตะโละวาว

ทุกคนฟังแล้วรีบบึ่งด้วยรถเก่าๆ ของอุทยานฯ ไปยังหาดที่ห่าง 12 กิโลเมตรทันที พบวาฬผิวดำมะเมื่อมลำตัวยาวราว 10 เมตรกำลังนอนเกยชายหาดไม่ไหวติง พลางทำตาปริบๆ สันนิษฐานว่ามันคงตกใจกลัวการลอบทำประมงในเขตอุทยานฯ ซึ่งมีบ่อยครั้งจากลงอวนตาถี่หรือใช้ปืนฉมวกและระเบิดบึ้มปลาแบบมักง่าย วาฬถึงตื่นว่ายหนีอย่างเร็วจนเกิดอาการเสียศูนย์เกยหาด

อีกอย่างวาฬเป็นสัตว์มีครีบหางเหมือนเงือกในวรรณคดี ที่ตีน้ำขึ้นลงให้เคลื่อนไหว ส่วนปลาใช้ครีบหางแกว่งซ้ายขวาไปมาขยับสรีระ บวกน้ำหนักตัวมหึมา วาฬจึงยากที่มนุษย์จะช่วยยกหรือผลักดันให้ขยับเขยื้อนลงทะเลได้

ทางเดียวที่พอทำได้คือหาภาชนะช่วยกันวาดน้ำจากทะเลขึ้นมาใช้เลี้ยงลำตัวเอาไว้ไม่ให้แห้ง กับอาศัยวิทยุสื่อสารแจ้งหน่วยงานบนฝั่งให้จัดหาเรือพร้อมปั้นจั่นมาช่วย…นับจากนั้นเวลาที่ผ่านแต่ละนาทีล้วนมีค่าเทียบได้กับลมหายใจเข้าออก ทุกคนยินดีทำจิตอาสารดน้ำเลี้ยงวาฬตลอดคืนให้มีชีวิต…จนฟ้าเริ่มสางแววตานั้นยังขยับคล้ายบอกสัญญาณชีพแบบเหนื่อยล้า แล้วค่อยๆ หรี่ดับก่อนจะนิ่งสนิท ก่อนที่เรือกู้ชีพจะมาถึงเพียงไม่กี่นาที อนิจจา…ช่างน่าเวทนาที่สุด!

นี่คือดราม่าฉากรันทดที่เกิดกับ “ตะรุเตา” อันเป็นบทเล่าขานยาวนานจากวันวานถึงวันนี้

ที่ทำการชั่วคราวอ่าวพันเตมะละกา
อดีตท่าเทียบเรือพันเตมะละกาปี 2517