คณะทหารหนุ่ม (69) | ปิดสถานการณ์ มีนายทหารผู้ต้องหากบฏหลบหนี 6 นาย

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

ดร.บุญชนะ อัตถากร

ดร.บุญชนะ หัตถากร ซึ่งต่อมาได้เดินทางออกนอกประเทศเนื่องจากหวั่นเกรงว่าจะได้รับอันตรายหลังความพ่ายแพ้ของฝ่ายปฏิวัติและมีข่าวพาดพิงว่าร่วมก่อการด้วย จนกระทั่งมีการออกหมายจับในข้อหากบฏภายในพระราชอาณาจักรเมื่อ 17 เมษายน พ.ศ.2524 ร่วมกับบุคคลระดับนำของคณะผู้ก่อการที่อยู่ระหว่างการหลบหนีไม่เข้ารายงานตัวต่อรัฐบาลอีก 7 คน

ดร.บุญชนะ บันทึกไว้ใน “บันทึก การปฏิวัติ 1-3 เมษายน 2524 กับข้าพเจ้า” ว่ามิได้มีส่วนร่วมในการวางแผนหรือร่วมปฏิบัติการใดๆ กับคณะปฏิวัติ แต่ก็ได้เข้าไปในกองบัญชาการคณะปฏิวัติจริงเมื่อ 1 เมษายน พ.ศ.2524 ดังนี้

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2524 นางจิราภรณ์ เบเกอร์ ได้โทรศัพท์ทางไกลจากกรุงวอชิงตันมาขอสัมภาษณ์ข้าพเจ้าที่กรุงลอนดอน โดยแจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ภาษาไทยออกในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงขอบันทึกเป็นคำถามคำตอบไว้ดังต่อไปนี้

1. คำถาม : ขอทราบว่ามีเหตุผลอย่างใด คุณบุญชนะจึงเข้าไปร่วมในการปฏิวัติเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2524

คำตอบ : ข้าพเจ้าไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงในการปฏิวัตินั้น ข้าพเจ้าเป็นเพียงครูบาอาจารย์ซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหาอยู่มากทั้งในวงการทหารและพลเรือน เมื่อมีผู้ใดมาขอความรู้ความคิดความเห็นก็บอกให้ทราบ เมื่อมีคำถามหรือปัญหาอย่างใดมาขอให้ตอบก็ตอบไปตามตำราในทางวิชาการและความคิดความเห็นของตน ซึ่งบางทีก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม บางทีก็เป็นเรื่องทางการเมือง ข้าพเจ้าไม่เคยไปมีส่วนร่วมในการเตรียมการ หรือการวางแผน หรือไปร่วมดำเนินการปฏิวัติรัฐประหารกับคณะปฏิวัติดังกล่าวเลย

แต่ในวันปฏิวัติที่ 1 เมษายนนั้น ทางกองบัญชาการปฏิวัติโทรศัพท์มาเรียกหรือเชิญเข้าไปในกองบัญชาการคือหอประชุมกองทัพบก ข้าพเจ้าจึงเข้าไปในวันนั้นวันเดียว ไม่ได้เข้าไปอีกเลยในวันที่ 2-3 เมษายน

2. คำถาม : ขอทราบว่าเหตุการณ์ในกองบัญชาการคณะปฏิวัติในวันที่ 1 เมษายนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

คำตอบ : ข้าพเจ้าเข้าไปในกองบัญชาการคณะปฏิวัติค่อนข้างช้า ประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 1 เมษายน ต้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งจากบ้านจึงไปถึง

เมื่อผ่านพระราชวังสวนจิตรฯ เวลาประมาณ 09.30 น. ยังมีธงมหาราชชักอยู่บนพระตำหนักที่ประทับ ข้าพเจ้าก็ดีใจว่าในหลวงยังทรงประทับอยู่ให้เห็นเป็นที่อุ่นใจของชาวกรุง

 

เมื่อข้าพเจ้าไปที่ตึกหอประชุมกองทัพบกนั้น รู้สึกว่าภายในห้องโถงใหญ่นั้นค่อนข้างจะสับสนไม่เป็นระเบียบ เมื่อสังเกตติดตามต่อๆ ไปจนถึงเที่ยง ความสับสนก็ยังมีอยู่ ข้าพเจ้าไม่ค่อยสบายใจนัก เวลานั้นมีนายทหารอยู่เต็มทั่วไปนับจำนวนร้อย และมีข้าราชการพลเรือนอยู่ประมาณ 10-20 คน ได้รับคำบอกเล่าจากบางคนในนั้นว่า การเสนอหนังสือให้หัวหน้าลงนามเป็นคำสั่งประกาศซึ่งมีลักษณะเป็นกฎหมายนั้นมิได้มีการกลั่นกรองตามสายงาน ข้าพเจ้าก็ได้แต่แนะว่างานที่เสนอควรเป็นไปตามระเบียบสายงาน

ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งหัวหน้าคณะปฏิวัติได้ลงนามแต่งตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจซึ่งเป็นการแต่งตั้งพร้อมกับผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทั่วไป ฝ่ายรักษาความมั่นคง และฝ่ายต่างประเทศและกฎหมายอยู่ในคำสั่งเดียวกัน แต่คำสั่งนี้ก็มิได้กำหนดหน้าที่ให้มีอำนาจบังคับบัญชาหน่วยราชการใดได้จึงยังไม่มีงานอะไรทำ ได้แต่นั่งร่วมสังเกตการณ์อยู่ในคณะที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายเท่านั้น

จนเวลาประมาณ 17.00 ถึง 18.00 น. ของวันที่ 1 เมษายน ข้าพเจ้าได้โทรศัพท์ไปบอกภรรยาว่าจะกลับบ้านช้า ภรรยาข้าพเจ้าจึงบอกให้ทราบว่าในหลวงเสด็จไปประทับอยู่โคราชและนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็อยู่ที่โคราชด้วย

ข้าพเจ้าได้นำความนี้ไปถาม พล.ท.วศิน อิศรางกูร ว่าเป็นความจริงเพียงใด คุณวศินบอกว่าเป็นความจริง ข่าวนี้พวกนายทหารทราบแล้วทุกคน แต่ไม่บอกให้ฝ่ายพลเรือนทราบเลย

เมื่อข่าวในหลวงไม่ได้ประทับในพระนครแต่เสด็จไปโคราช ประทับอยู่กับฝ่ายรัฐบาลเช่นนี้ทำให้ข้าพเจ้าคิดว่าทั้งสองฝ่ายอาจจะเกิดปะทะกันถึงนองเลือดจึงได้หาทางออกไปจากกองบัญชาการตอนค่ำมืดวันนั้น

ในอีก 2 วันต่อมาเหตุการณ์ภายในกองปฏิวัติจะเป็นอย่างไรอีกข้าพเจ้าไม่ทราบและก็ไม่มีผู้ใดตามให้ข้าพเจ้าเข้าไปในกองปฏิวัติอีกเลย

 

3 เมษายน : กรุงเทพมหานคร

พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก เล่าเหตุการณ์ในวันสุดท้ายแก่นายทหารกองทัพภาคที่ 2 ที่เข้าร่วมคลี่คลายสถานการณ์ครั้งนี้ว่า…

พอเช้าตรู่วันที่ 3 เมษายน ทุกหน่วยก็เคลื่อนย้ายเข้าแผน ทุกหน่วยก็ทำงานได้และผลที่สุดก็จับตัวฝ่ายกบฏได้ขณะที่ฝ่ายกบฏออกมาตรวจแนวด้วยความตายใจว่าทหารที่อยู่ในแนวนั้นเป็นทหารของตัวซึ่งได้วางอาวุธถอนไปหมดแล้ว ทหารที่อยู่ที่นั่นคือทหารของกองอำนวยการรักษาความสงบแห่งชาติ ดังนั้น พอลงมาตรวจแนวยังไม่ทันจะรู้ตัว ทหารของฝ่ายเราก็ล้อมไว้หมดแล้ว จัดการจับกุมพันเอกคนหนึ่งซึ่งก็ไม่กล้าขัดขืน ต้องลงมาในสภาพที่ปลดอาวุธแล้วก็เอาปืนจี้คุมขังไว้

เราสั่งให้ทุกหน่วยวางอาวุธกลับเข้าที่ตั้งให้หมดเวลาประมาณ 10.00 น. เรายึดได้ทุกจุดตามแผนที่ได้วางไว้ทุกประการ แล้วเราออกประกาศทางวิทยุแจ้งให้ประชาชนทราบ

ในการยึดที่หมาย ผมกะว่าจะยึดได้ตอนเย็น แต่ว่ายังไม่ทันจะกินข้าวเที่ยงเราก็ยึดได้หมดแล้วเพราะว่าเราได้กระจายข่าวและทางฝ่ายกบฏก็ร่วมมือ

นี่ก็เป็นเหตุการณ์ที่ผมอยากจะเล่าให้ฟัง ผลที่สุดเราก็พบความสำเร็จ เราก็สามารถกอบกู้สถานการณ์ไว้ได้อย่างเรียบร้อย ฝ่ายกบฏหรือฝ่ายปฏิวัติก็หลบหนีกระจัดกระจายไป ขณะนี้เรากำลังเรียกให้มารายงานตัว เรากำลังเรียกมาทำการสอบสวน เรากำลังเอาไปควบคุมตัวไว้ และผมขณะนี้ก็ต้องทำงานที่หอประชุมในฐานะผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งมีอำนาจสั่งการใช้ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตํารวจ ได้เช่นเดิม

เรื่องที่เล่าให้ฟังนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและก็จบลงได้ทั้งนี้ก็เพราะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และอาจจะเป็นเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระสยามเทวาธิราชท่านคุ้มครองประเทศชาติอยู่ บันดาลให้คนที่คิดทรยศต่อชาติต้องมีอันเป็นไปพร้อมกันหมด

ถ้าไม่คิดทรยศหรือไม่มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น เราก็ยังไม่รู้ว่าใครที่มันชั่วบ้างในแผ่นดิน

บัดนี้เราก็ได้ทราบหมดแล้ว

 

ปิดสถานการณ์

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารบก ได้กล่าวปราศรัยต่อประชาชนเป็นการยืนยันว่า เหตุการณ์ได้คลี่คลายสู่สถานการณ์ปกติแล้ว…

“พี่น้องประชาชนชาวไทยที่เคารพรักทั้งหลาย

บัดนี้สถานการณ์ที่น่าเสียใจได้กลับคืนสู่สภาพปกติเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลทุกฝ่ายและกองทัพแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน ได้ร่วมมือกันแก้ไขสถานการณ์อย่างมีระเบียบวินัย ปฏิบัติตามนโยบายที่ให้ไว้อย่างมีสันติ”

“รัฐบาลจะยังถือเอาพระราชกระแสเป็นนโยบายต่อไปอีก คือ จะดำเนินการด้วยสติ ปราศจากความลำเอียงหรืออารมณ์ ให้ความเป็นธรรมและจะกระทำด้วยความสุขุมรอบคอบ สำหรับผู้หลงผิดที่สำนึกตัวเองและวางอาวุธแล้วกลับคืนสู่ที่ตั้งเป็นการสิ้นสุดของวิกฤตการณ์ รัฐบาลจะยอมตามสัญญาที่ให้ไว้ และไม่เอาโทษ”

หลังเหตุการณ์สงบ ผู้ก่อการส่วนใหญ่วางอาวุธและรายงานตัวต่อทางราชการ ซึ่งก็ได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติ นายทหารและกำลังพลชั้นผู้น้อยให้กลับเข้ากรมกองและปฏิบัติงานตามปกติ ส่วนผู้ก่อการระดับนำที่เข้ารายงานตัวก็ถูกควบคุมตัวไว้ระหว่างการสอบสวน แต่ยังมีผู้ก่อการระดับนำอีกบางท่านที่ยังไม่เข้ารายงานตัว ดังนั้น ต่อมาในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2524 กองทะเบียนประวัติอาชญากรได้มีประกาศสืบจับผู้ต้องหากบฏภายในราชอาณาจักรที่ยังไม่ได้รายงานตัวต่อทางราชการและอยู่ระหว่างการหลบหนี เป็นนายทหาร 6 นาย และบุคคลพลเรือน 2 นาย

ดังมีรายชื่อต่อไปนี้

 

1.พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา รูปร่างท้วม สูง 160 เซนติเมตร ผิวดำแดง ศีรษะกลม หน้ากลม คอสั้น ตัดผมสั้นทรงมหาดไทย อายุ 60 ปี

2. พ.อ.พัลลภ ปิ่นมณี รูปร่างผอม สูง 165 เซนติเมตร ผิวดำแดง ศีรษะกลม หน้ายาว จมูกโด่งเล็กน้อย อายุ 45 ปี

3. พ.อ.บวร งามเกษม รูปร่างผอม สูง 170 เซนติเมตร ผิวดำแดง ศีรษะกลม หน้าเหลี่ยม จมูกโด่ง อายุ 46 ปี

4. พ.อ.วีรยุทธ อินวะษา รูปร่างท้วม สูง 165 เซนติเมตร ผิวดำแดง ศีรษะกลม หน้ารูปไข่ จมูกโด่ง อายุ 46 ปี

5. พ.อ.มนูญ รูปขจร รูปร่างสันทัด สูง 170 เซนติเมตร ผิวดำแดง ศีรษะกลม หน้ารูปไข่ อายุ 46 ปี

6. พ.อ.สมบัติ รอดโพธิ์ทอง รูปร่างผอม สูง 165 เซนติเมตร ผิวขาว ศีรษะกลม หน้ากลม จมูกโด่งเล็กน้อย อายุ 46 ปี

7. นายรักศักดิ์ วัฒนพานิช รูปร่างผอม สูง 165 เซนติเมตร ผิวขาวเหลือง ศีรษะกลม หน้าผากกว้าง สายตาสั้น (สวมแว่นสายตา) จมูกโด่งเล็กน้อย อายุ 54 ปี

8. นายบุญชนะ อัตถากร รูปร่างผอม สูง 170 เซนติเมตร ศีรษะกลม ผิวขาว หน้ากลม สายตาสั้น (สวมแว่นสายตา) อายุ 65 ปี