อย่าสร้างอำนาจรัฐ ที่เหนืออำนาจประชาชน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ประเทศไทยในปี 2566 คือประเทศไทยที่เดินหน้าสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิม และถึงแม้ประโยคนี้จะมีคนพูดทุกปีจนเหมือนไม่มีความหมายอะไรเลย ประเทศไทยวันนี้ก็กำลังเดินหน้าสู่เส้นทางที่ไม่มีใครในปี 2565 คาดคิดแม้แต่นิดเดียว

ถ้าปี 2565 คือปีที่ทุกคนคาดว่าการเลือกตั้งปี 2566 จะพาประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย ปี 2566 ก็คือปีที่คน “ตาสว่าง” ว่าการเลือกตั้งสามารถถูกใช้เพื่อเบี่ยงเบนไม่ให้ประเทศเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย รวมทั้งถูกฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยสืบทอดอำนาจโดยอ้างว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย

หากถือว่าการเมืองไทยหลังปี 2549 คือการเมืองแห่งการแบ่งขั้วระหว่างชนชั้นนำเรื่อง “เอาทักษิณ” หรือ “ไม่เอาทักษิณ” ที่ต่อมาถูกสร้างเป็นเรื่อง “ไม่เอาสถาบัน” และ “เอาสถาบัน” รวมทั้ง “เอาประชาธิปไตย” หรือ “ไม่เอาประชาธิปไตย” การเมืองไทยในปี 2566 ก็ไม่สนใจการแบ่งขั้วนี้อีกเลย

เพื่อประโยชน์ในการตามประเด็น ควรระบุด้วยว่าการเมืองที่ไม่สนใจการแบ่งขั้วไม่ใช่การเมืองที่ไม่มีขั้วอีกต่อไป แต่ขั้วที่เคยมีเกิดการผสมพันธุ์ข้ามขั้วจนไม่อาจกล่าวว่าขั้วที่ “เอาทักษิณ” คือขั้วที่ “ไม่เอาสถาบัน” อย่างที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, กปปส. และชนชั้นนำบางกลุ่มอ้างตลอดมาเกือบ 20 ปี

ประเด็นคือขณะที่การผสมพันธุ์ข้ามขั้วทำให้ขั้ว “เอาทักษิณ” รอดพ้นจากการถูกโจมตีว่า “ไม่เอาสถาบัน” การผสมพันธุ์ข้ามขั้วยังทำให้ขั้ว “เอาทักษิณ” ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเอนเอียงไปขั้ว “ไม่เอาประชาธิปไตย” อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเลย ถึงแม้ฝ่าย “เอาทักษิณ” จะปฏิเสธเรื่องนี้ก็ตาม

 

ใครๆ ก็รู้ว่าจุดขายของพรรคเพื่อไทยคือการสร้างภาพว่าตัวเองเป็นพรรคที่เก่งเศรษฐกิจและเป็นฝ่าย “ประชาธิปไตย” และใครๆ ก็รู้อีกเช่นกันว่าจุดตายของพรรคเพื่อไทยหลังปี 2566 คือการถูกมองว่าเป็นพรรคตระบัดสัตย์จนถูกโจมตีว่าพรรคเปลี่ยนไปในแง่อุดมการณ์ และในแง่ผลงานอาจไม่เก่งจริง

มองในภาพกว้าง พรรคเพื่อไทยกำลังเผชิญปัญหา “วิกฤตอัตลักษณ์” ที่จุดแข็งพรรคด้านเศรษฐกิจและการเมืองถูกตั้งคำถามอย่างไม่เคยเป็น

นโยบายกู้เงินแจกและซอฟต์เพาเวอร์ถูกวิจารณ์จนเสียความน่าเชื่อถือไม่มากก็น้อย ส่วนนโยบายประชาธิปไตยก็ไม่ชัดเจน ต่อให้ไม่เทียบกับก้าวไกล

แม้องคาพยพของรัฐบาลในคราบสื่อและนักวิชาการบางคนจะอ้างว่าการตระบัดสัตย์ไม่ขัดกับหลักประชาธิปไตย รวมทั้งสร้างวาทกรรมประเภททุกพรรคมาจากการเลือกตั้ง เพื่อไทยจะจับมือกับใครก็ถือว่าเป็นประชาธิปไตยหมด คำอธิบายนี้ก็ไม่ต่างกับเสียงสะท้อนในกะลาที่ไม่มีคนนอกเชื่อเลย

ข้ออ้างของคนองคาพยพนี้คือประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องอุดมการณ์ แต่ประชาธิปไตยคือการผสมพันธุ์กับใครก็ได้จนได้อำนาจรัฐไปทำประเทศให้ดีขึ้น คนเหล่านี้โจมตีว่าอุดมการณ์เป็นเรื่องของพวกสุดโต่งที่อยู่ร่วมกับคนอื่นไม่ได้ การตั้งรัฐบาลต่างหากทำให้ได้ประเทศที่ดีกว่ายุคคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นมา

รัฐบาลนี้ดีกว่าคุณประยุทธ์ตรงไหนเป็นเรื่องที่คนต่างกลุ่มคิดต่างกัน และประเทศไทยวันนี้ดีกว่ายุคคุณประยุทธ์ตรงไหนก็เป็นเรื่องที่ต่างคนต่างคิดด้วย เพราะแต่ละคนมีบรรทัดฐานประเมินต่างกัน ซ้ำรัฐบาลคุณประยุทธ์ก็มาตรฐานต่ำจนใครชมตัวเองว่าดีกว่าก็น่าสมเพชแล้วในตัว

 

ขณะที่เพื่อไทยและองคายพเพื่อไทยทุกวันนี้โจมตีก้าวไกลเป็นศัตรูอันดับ 1 ของรัฐบาล คนในสังคมจำนวนมากกลับเห็นว่า “คำพูดในอดีต” หรือ Digital Footprint ของเพื่อไทยต่างหากที่เป็นศัตรูอันดับ 1 ของรัฐบาลที่สุด เพราะหลายอย่างที่เพื่อไทยทำวันนี้ล้วนเป็นสิ่งที่เพื่อไทยอดีตโจมตีอย่างรุนแรง

ถ้าพรรคการเมืองทุกพรรคเป็นประชาธิปไตยเพราะมาจากการเลือกของประชาชน ทำไมเพื่อไทยจึงโจมตีพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลคุณประยุทธ์ว่าทำลายประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงช่วงหาเสียง รวมทั้งประกาศหัวเด็ดตีนขาดไม่ตั้งรัฐบาลข้ามขั้วกับพรรคฝ่ายเผด็จการ?

ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การตั้งรัฐบาลตามกติกา เพราะคุณประยุทธ์ก็แพ้เลือกตั้งแต่ได้ตั้งรัฐบาลในปี 2562 ตามกติกาที่รัฐธรรมนูญกำหนด การทำตามกติกาจึงไม่ใช่ใบรับรองว่ารัฐบาลเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะแม้กระทั่งรัฐบาลในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ยังมีกติกาบางอย่างเช่นกัน

กองเชียร์บางคนอ้างว่าประชาธิปไตยคือการแย่งอำนาจรัฐเป็นของตัวเองจนฝ่ายตรงข้ามหมดอำนาจ แต่ถ้าประชาธิปไตยเท่ากับการแย่งอำนาจ รัฐบาลในอดีตที่เคยมีอำนาจแทนคุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยก็ต้องเข้าข่ายเป็นประชาธิปไตยหมด ไม่ว่าจะเป็นคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, คุณสุรยุทธ์ จุลานนท์ หรือคุณประยุทธ์

ตรงข้ามกับข้ออ้างว่ารัฐบาลแบบประชาธิปไตยไม่ต้องสนใจหลักการ ขอแค่ให้ต่อรองผลประโยชน์จนได้อำนาจก็พอ

ประชาธิปไตยมีความหมายมากกว่าการแย่งอำนาจและแบ่งปันผลประโยชน์จนทุกสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเต็มไปด้วยหลักการเยอะไปหมดตลอดเวลา

 

นักทฤษฎีการเมืองแนวสัญญาประชาคมอย่าง ฌอง ฌากส์ รุสโซ เชื่อว่ามนุษย์เกิดมาเสรี แต่ทุกที่มนุษย์ล้วนถูกพันธนาการบางอย่างตลอดเวลา ประชาธิปไตยจึงเป็นระบบการเมืองที่วางอยู่บนความคิดเรื่องเสรีภาพและความเป็นพลเมืองที่เท่าเทียมกันระหว่างสมาชิกทุกคนในสังคม

สำหรับคนที่เรียนทฤษฎีการเมืองจนมีความรู้มากกว่านักแสดงความเห็นอวยรัฐบาล สถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตยต้องวางอยู่บนหลักการเรื่องความเสมอภาคและความเท่าเทียม มาตรวัดความเป็นประชาธิปไตยในทุกสังคมจึงไม่ใช่แค่การเลือกตั้งและการมีพรรคการเมือง

เพื่อป้องกันไม่ให้องคาพยพรัฐบาลกลุ่มแบกหามบิดเบือนคำพูดนี้ไปตัดตอนว่าเหมือนพันธมิตรฯ และ กปปส. ต้องระบุด้วยว่าการบอกว่าประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้งและพรรคการเมือง หมายความว่าสองเรื่องนี้คือหนึ่งในมาตรฐานขั้นต่ำที่สุดที่ควรมี แต่มีแค่นี้ไม่พอ

หนึ่งในมาตรวัดความเป็นประชาธิปไตยของรัฐบาลที่ดีที่สุดคือการลดความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะจุดกำเนิดของประชาธิปไตยคือความคิดเรื่องคนเท่ากัน รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยมากจึงได้แก่รัฐบาลที่ลดความเหลื่อมล้ำและความแตกต่างในสังคมตลอดเวลา

นักรัฐศาสตร์สายประชาธิปไตยจากมหาวิทยาลัยเยลอย่าง Ian Shapiro เสนอว่าประชาธิปไตยคือ “ระบอบ” ที่การครอบงำลดลงสู่จุดที่ “ไม่มีการครอบงำ” (Non-Domination) แต่ต้องย้ำด้วยว่า “การครอบงำ” ในความหมายของชาปิโรคือสภาวะที่คนถูกทำให้มีทางเลือกน้อยหรือไม่มีทางเลือกเลย

ถ้าคิดเรื่องประชาธิปไตยแบบอิงหลักการมากกว่าอำนาจนักการเมือง การปฏิรูปการเมืองในสังคมประชาธิปไตยควรมีศูนย์กลางที่ลดทอนการครอบงำในสังคมทั้งหมด และเพื่อไม่ให้ประเด็นนี้ถูกบิดเบือน การปฏิรูปการเมืองโดยนัยนี้คือการลดทอนอุปสรรคที่ทำให้คนไม่มีทางเลือกทางการเมือง

ขณะที่รัฐบาลอ้างว่าถึงตระบัดสัตย์ก็เป็นประชาธิปไตยเพราะทุกพรรคประชาชนเลือกมา การปฏิรูปการเมืองแบบรัฐบาลนี้กลับแทบไม่พูดถึงการลดอำนาจนักการเมือง รวมทั้งการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนด้านต่างๆ

แต่พูดถึงแค่การร่วมมือกับข้าราชการหรือปรับปรุงกฎหมายเพื่อนักธุรกิจเอง

 

ตรงข้ามกับสังคมไทยที่พูดเรื่องความหลากหลายทางเพศ, การศึกษา, กฎหมาย 112, ศาสนา ฯลฯ รัฐบาลนี้กลับใช้อำนาจแบบที่ขัดขวางหรือไม่ส่งเสริมให้เกิดทางเลือกที่หลากหลายเยอะไปหมด การศึกษากลับไปฟื้นประวัติศาสตร์แบบล้างสมอง ส่วนรัฐบาลขัดขวางไม่ให้สภาพูดถึง 112 เลย

มองในแง่วิธีใช้อำนาจรัฐแล้ว รัฐบาลชุดนี้ทำให้การครอบครองอำนาจรัฐโน้มเอียงสู่การใช้อำนาจตามอำเภอใจ อะไรที่สังคมเรียกร้องเพื่อลดอำนาจรัฐจึงถูกรัฐบาลปฏิเสธหมดไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปทหาร, ปฏิรูปตำรวจ ไม่ต้องพูดถึงการปฏิรูปข้าราชการหรือศาลซึ่งไม่มีทางพูดถึงเลย

แน่นอนว่าพฤติกรรมใช้อำนาจตามอำเภอใจของรัฐบาลนี้ไม่หนักเท่ารัฐบาลประยุทธ์ซึ่งใช้อำนาจแบบเผด็จการ แต่สังคมไม่ควรตกต่ำจนหวังแค่รัฐบาลที่พอดูได้เมื่อเทียบกับรัฐบาลเดิม เพราะสิ่งที่คนไทยควรได้คือรัฐบาลที่ดูดีเมื่อเทียบกับมาตรฐานของรัฐบาลประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น

สังคมไทยในปี 2566 ต้องการการเมืองแบบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจที่ไม่เหลื่อมล้ำอย่างปัจจุบัน แต่สิ่งที่รัฐบาลทำคือแตะเบรกความต้องการประชาธิปไตย ส่วนเรื่องเศรษฐกิจก็ไม่ทำอะไรที่แตะ “เจ้าสัว” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ นอกจากโยนเศษเงินอันน้อยนิดเพื่อลดความไม่พอใจของประชาชน

แม้จะไม่อาจพูดว่ารัฐบาลนี้เป็นฝ่าย “ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย” อย่างที่รัฐบาลประยุทธ์เคยเป็น แต่สิ่งที่พูดได้แน่ๆ คือพรรคเพื่อไทยจับมือกับฝ่าย “ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย” ตั้งรัฐบาลที่เตะถ่วงและไม่ตอบสนองความต้องการเปลี่ยนประเทศที่แรงกล้ากว่าของประชาชน

รัฐบาลที่ควรเป็นในระบอบประชาธิปไตยคือรัฐบาลที่ทำให้ประชาธิปไตยก้าวหน้า ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน

ไม่ใช่รัฐบาลที่คุยแต่กับผู้มีอำนาจรัฐด้วยกันว่าจะควบคุมประชาชนไม่ให้เปลี่ยนประเทศอย่างไรดี