‘อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง’ : อารมณ์ขัน, ความเศร้า และความหวัง

คนมองหนัง

“อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง” คือภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ “สรยศ ประภาพันธ์” คนทำหนังแนวตลกร้าย ซึ่งเคยมีผลงานหนังสั้นมามากมายหลายเรื่อง

หนังออกเดินสายตระเวนฉายตามเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมาแล้วหลายแห่ง ก่อนจะเพิ่งเข้าฉายในเชิงพาณิชย์ที่ประเทศไทย ณ ปลายปี 2566 ซึ่งถือว่า “ค่อนข้างช้า” เลยทีเดียว

“อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง” เริ่มต้นเรื่องราวขึ้นด้วยอารมณ์ตลกขบขันและลีลาจิกกัดเสียดสีในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับหนังสั้นก่อนหน้านี้ของสรยศ

เป้าหมายหลักที่โดนยั่วล้อ คือ ฉากหน้า ระเบียบหยุมหยิม และวิถีชีวิตประจำวัน ในระบบการศึกษาไทย (น่าเสียดาย ที่เอาเข้าจริง หนังไม่ได้วิพากษ์การศึกษาในเชิงเนื้อหา-หลักสูตรอย่างลงลึกสักเท่าไหร่)

แล้วหนังก็ค่อยๆ พาคนดูไปสำรวจการต่อสู้ของบรรดา “นักเรียนเลว” ที่นำโดยเด็กผู้หญิง

ขณะเดียวกัน ก็พาเราไปรู้จักชีวิตของ “นักเรียนตัวอย่าง” หรือ “นักเรียนดี” ผู้เป็นวัยรุ่นชายนามว่า “อานน”

ไม่แน่ใจว่า การเพิ่งได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วไปตอนเกือบจะสิ้นปี 2566 โดยมีตัวละครหลักกลุ่มหนึ่งเป็น “นักเรียนเลว” จะนับว่า “ช้าเกินการณ์” ไปแล้วหรือไม่? เพราะพลวัต-พัฒนาการ-การแตกตัว-กระบวนการเรียนรู้ของเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อไม่กี่ปีก่อน ก็ไม่ได้เหมือนเดิมอีกแล้ว

ไม่รวมถึงสภาพการณ์ของความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่เคลื่อนตัวไปอีกลำดับขั้น ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วหลังการเลือกตั้งปี 2566

กระทั่ง “คนฝ่ายประชาธิปไตย” บางราย ที่ต้องมาสวมบทตัวละคร “เผด็จการอำนาจนิยม” ในรั้วโรงเรียน ในหนังเรื่องนี้ ได้กลับกลายเป็น “ตัวร้าย” ในโลกความจริงทางการเมืองไปแล้วเรียบร้อย อย่างขำไม่ออก

ผมค่อนข้างชอบเส้นเรื่องของ “อานน” ที่เต็มไปด้วยความยอกย้อนไปมา กล่าวคือ เขาเป็นลูกครึ่งฝรั่ง (หนังทำให้คนดูอนุมานว่า พ่อของเขาอาจเป็นฝรั่งนักเสียดสีการเมืองที่ถูกเนรเทศออกนอกประเทศ) แต่เด็กหนุ่มคนนี้ก็เป็น “เด็กดีในระดับหนึ่ง” ของสังคมไทย

“อานน” เรียนเก่งมากๆ ทั้งที่ไม่ได้มีบุคลิกเป็น “เด็กเรียน” “อานน” มีหัวขบถต่อต้านเรื่องจุกจิกจู้จี้เล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้ใหญ่คอยมากำหนดบังคับ แต่เขาหลีกหนีไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ใหญ่กว่านั้น แถมเต็มใจเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ทุจริตฉ้อฉลอีกด้วย

และท้ายสุด “อานน” ยังเป็น “นักเรียนดี” มากพอ ที่จะได้รับทุนจากรัฐบาลไปศึกษาต่อต่างประเทศ

แง่มุมความพ่ายแพ้-สยบยอมของ “อานน” ดูจะมีความสอดคล้องกับสถานการณ์จำนวนมากที่น่าเศร้านอกจอภาพยนตร์

อย่างที่เขียนไปแล้วข้างต้นว่า กลุ่ม “นักเรียนเลว” ในปัจจุบัน เหมือนจะอยู่ในจุดคลี่คลายตัวเพื่อเติบโตไปเป็น “พลัง?” ประเภทอื่น แต่พลังในการรวมตัวเพื่อต่อต้านท้าทายอำนาจของผู้ใหญ่ในพื้นที่โรงเรียนได้ยุติลงชั่วคราว (และไม่มีการรวมพลังรอบใหม่อย่างที่ปรากฏในตอนจบของหนังด้วยซ้ำไป)

ขณะที่คนอย่างตัวละคร “อาจารย์ใหญ่” “ครูวาณี” หรือ “ครูประจำชั้น” (ที่เห็นต่างจากผู้หลักผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจ แต่ไม่กล้าโต้แย้งขัดขืนอย่างจริงจัง) นั่นแหละที่ยังคงอยู่

ความงี่เง่าไร้เหตุผลต่างๆ ของระบบการศึกษาไทยนั่นแหละที่ยังดำรงอยู่ ต่อให้มันจะถูกหัวเราะเยาะเย้ยถากถางขนาดไหน

เช่นเดียวกับความเป็นจริงที่ว่าเยาวชนอีกหลายราย ซึ่งเคยเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงต้นทศวรรษ 2560 ยังมีพันธะ-ภาระต้องสู้คดี หรือยังต้องถูกคุมขังในเรือนจำจนถึงทุกวันนี้

ส่วน “คนก่อรัฐประหาร” ผู้เคยสั่งปราบปรามประชาชน กลับ “ลงจากหลังเสือ” ได้อย่างราบรื่นสวยงาม และพรรคการเมืองที่เคยถูกรัฐประหารก็สามารถจับมือจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่สนับสนุนคนทำรัฐประหาร ได้อย่างกลมเกลียวสมานฉันท์

ฉากตอนท้ายของภาพยนตร์ ซึ่ง “อานน” ร้องไห้ออกมา ระหว่างอยู่ที่สนามบิน ก่อนจะเดินทางไปแสวงหาชีวิตและโอกาสที่ดีกว่าในต่างประเทศ จึงเป็นปริศนาชวนขบคิดอันน่าสนใจ

“อานน” รู้สึกว่าตนเองน่าจะต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงและลงมือทำอะไรได้มากกว่านี้? หรือเขาหลั่งน้ำตาเพราะสาเหตุอื่นๆ?

อย่างไรก็ดี ตัวละคร “อานน” ทำให้ผมนึกถึงเพื่อนสมัยมัธยมคนหนึ่ง และ “ความหวังในการต่อสู้” ที่มักอยู่เคียงข้างมนุษย์เราเสมอ

เพื่อนผมคนนี้เป็นเด็กเรียนเก่งหัวดีในโรงเรียนชายล้วนชื่อดังเก่าแก่มาตั้งแต่ ม.ต้น แล้วพอถึง ม.4 เขาก็สร้างพฤติการณ์อันลือลั่น ที่ยังติดแน่นอยู่ในความทรงจำของผม

เหตุการณ์เกิดขึ้นในเช้าวันหนึ่ง ที่นักเรียนทั้งระดับชั้นมีคิวขึ้นไปเข้าแถวในหอประชุมใหญ่ ซึ่งมีเก้าอี้เบาะหนังอย่างดีและเปิดแอร์เย็นฉ่ำ ครั้นเมื่อถึงเวลา 8 นาฬิกาตรง เพื่อนคนนี้กลับนั่งพักอยู่บนเก้าอี้ด้วยความสบายใจ และไม่ยอมลุกขึ้นยืนเพื่อร้อง-เคารพเพลงชาติเหมือนเด็ก ม.4 รายอื่นๆ

ปฏิกิริยาที่บังเกิดขึ้นโดยฉับพลัน คือ มีอาจารย์สตรีสอนวิชาเคมีคนหนึ่งพุ่งเข้ามาโหวกเหวกโวยวายดุด่าเพื่อนผม แล้วลากเขาขึ้นไปกล่าวโทษ-ประณามบนเวทีด้านหน้าหอประชุม

เรื่องที่ทำให้ผมและเพื่อนๆ ในหอประชุมอึ้งมากขึ้น ก็คือเพื่อนคนนี้ยืนยืน-ยืนกรานอย่างหนักแน่นว่า ตามหลักการทางฟิสิกส์แล้ว เขาเห็นว่าการต้องลุกขึ้นยืนตรงเคารพเพลงชาติ นั้นทำให้มนุษย์เราสูญเสียพลังงานไปโดยใช่เหตุ

เหตุผลของเพื่อนยิ่งทำให้ครูสอนเคมีแสดงอาการโกรธกรี๊ดจนเสียกิริยากลางเวที แล้วเข้าใจว่า ในท้ายที่สุด เรื่อง “การไม่ยืน” นี้จะจบลงด้วยการที่โรงเรียนเชิญผู้ปกครองของเพื่อนมาว่ากล่าวตักเตือน

เหตุการณ์สืบเนื่องที่ร้ายกาจกว่านั้น คือ ในเวลาต่อมา เพื่อนผมคนนี้ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิก และได้ทุนไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่สหรัฐอเมริกา

ผมไม่ได้เจอหรือพูดคุยกับเขานานหลายปี (แถมเคยหลงคิดแบบผิดๆ ว่า เขาคงเติบโตไปเป็น ศ.ดร.สายวิทยาศาสตร์ หรือเทคโนแครตที่ไม่มีความกระตือรือร้นทางการเมือง หรือเผลอๆ อาจ “เอียงขวา” เฉกเช่นคนชั้นกลางที่เติบโตมาในยุค 2530-2540 ส่วนใหญ่)

กระทั่งช่วงหลังรัฐประหารปี 2549 ที่คนรอบตัวผมเกือบทั้งหมดยัง “เชียร์ทหาร” แบบไม่ลืมหูลืมตา และ “เกลียดทักษิณ” ชนิดไร้เหตุผลอยู่ จำได้ว่ามีผู้ทำแคมเปญล่ารายชื่อต่อต้านการรัฐประหารผ่านระบบออนไลน์

ผมเข้าไปร่วมลงชื่อด้วย และพบว่าเพื่อนผู้ไม่ยอม “ยืนตรงเคารพเพลงชาติ” สมัยมัธยม ซึ่งเวลานั้นกำลังเรียนปริญญาเอกอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (แคลเทค) ก็มาร่วมลงนามด้วยเหมือนกัน

หลายปีผ่านไปจนถึงปัจจุบัน จุดยืนทางการเมืองและความคาดหวังที่มีต่อสังคมไทยของเพื่อนคนนี้ยังตั้งมั่นไม่เปลี่ยนแปลง หลังจากที่พวกเราผ่านรัฐประหาร (ซ้ำ) เมื่อปี 2557 และประสบพบเจอคลื่นลมผันผวนครั้งสำคัญๆ มาอีกหลายระลอก

บางที “อานน” ในหนังของสรยศ อาจมีความหวัง ความฝัน และหลักคิด ที่ไม่แตกต่างอะไรจากเพื่อนผม •

| คนมองหนัง