สงครามใต้พิภพ (จบ) โลกใต้ดินในกาซา | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ยุทธวิธีของการค้นหาและทำลายช่วยให้ประสบความสำเร็จในการค้นพบอุโมงค์ แต่ความสำเร็จของภารกิจนี้ต้องแลกด้วยชีวิตของทหารหลายนาย…” ปฏิบัติการสงครามต่อต้านอุโมงค์ของทหารอเมริกันในสงครามเวียดนาม

Major Donald M. Heilig
เอกสารวิจัยของโรงเรียนเสนาธิการทหารอากาศ สหรัฐ (ค.ศ.2000)

 

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า สงครามใต้พิภพที่เป็นอุโมงค์หรือโพรงใต้ดินไม่ใช่เรื่องใหม่และเป็นเรื่องเก่าที่ตกทอดมาอย่างยาวนาน แม้ในการสงครามสมัยใหม่ก็ยังเห็นถึงการใช้ประโยชน์ของโครงข่ายใต้ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในทางยุทธวิธี จากสงครามสนามเพลาะของกองทัพคู่พิพาทในสงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงสงครามใต้ดิน (ทางกายภาพ) ของกองทัพแดงของจีน หรือสงครามถ้ำของกองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 และตามมาด้วยสงครามอุโมงค์ในสงครามเกาหลี และสงครามเวียดนามในยุคสงครามเย็น

ในกรณีของสงครามใต้ดินในเวียดนามนั้น อุโมงค์ได้ทำหน้าที่ทางยุทธวิธีอย่างดี จนถือได้ว่าสงครามอุโมงค์คือหนึ่งในความเป็นตัวแทนสำคัญของความเป็นสงครามเวียดนาม และปฏิบัติการของทหารอเมริกันในการค้นหาและทำลายอุโมงค์ของเวียดนามเหนือนั้น เป็นความยากลำบาก และมีความเสี่ยงสูงมาก จนต้องมีการจัดตั้งหน่วยพิเศษที่เรียกขานว่า “หนูอุโมงค์” (tunnel rat) โดยทหารในหน่วยนี้จะได้รับการฝึกพิเศษสำหรับปฏิบัติการในพื้นที่แคบและลึกลงไปใต้ดิน พร้อมกับมีอาวุธเพียง 2 อย่างติดตัวคือ ปืนพกสั้นและมีด โดยมีภารกิจสำคัญในการค้นหาเครือข่ายอุโมงค์

จนเมื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 อุโมงค์และ/หรือโพรงใต้ดินยังมีบทบาทในทางยุทธวิธีไม่ต่างจากในอดีต แม้โลกจะก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่เช่นในปัจจุบัน ที่เห็นถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทหารเพียงใดก็ตาม แต่อุโมงค์ยังคงถูกนำมาใช้ประโยชน์สำหรับยุทธวิธีทางทหารไม่ต่างจากการสงครามในอดีต บนหลักการทางยุทธวิธีที่ว่า “เรา (ที่อยู่ในอุโมงค์) มองเห็นข้าศึก แต่ข้าศึกมองไม่เห็นเรา” และด้วยเงื่อนไขเช่นนี้ ทำให้ฝ่ายที่อยู่ในอุโมงค์เป็น “ผู้เลือกเวลา” สำหรับการต่อสู้

 

ยุคหลังสงครามเย็น

บทบาทของอุโมงค์ในยุคหลังสงครามเย็นที่เห็นได้จากสงครามบอสเนีย (พฤษภาคม 1992-พฤศจิกายน 1995) ที่กองกำลังชาวเซอร์เบียทำการปิดล้อมเมืองซาราเยโว ฉะนั้น กองทัพบอสเนียได้ใช้ “อุโมงค์ซาราเยโว” (The Sarajevo Tunnel) เพื่อเป็นช่องทางในการเชื่อมต่อกับส่วนอื่นของเมืองที่อยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายตน อุโมงค์นี้มีประโยชน์อย่างมากในการลำเลียงอาหาร ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม และสิ่งของต่างๆ เข้าสู่เมือง หรือใช้เป็นช่องทางในการพาคนหนีออกจากเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุโมงค์ดังกล่าวทำให้การปิดล้อมที่เกิดไม่มีประสิทธิภาพ และเป็นปัจจัยที่ทำให้การป้องกันเมืองมีความแข็งแรง เพราะสามารถลำเลียงอาวุธเข้าไปช่วยในการป้องกันเมืองได้ตลอดเวลา

แต่ก็มีคำถามทิ้งไว้กับการสิ้นสุดของศตวรรษที่ 20 เนื่องจากการประดิษฐ์ระเบิดเพื่อใช้ในการทำลายที่หลบภัยที่มีลักษณะเป็นบังเกอร์ที่แข็งแรง (ระเบิด bunker-busting munitions ที่ถูกออกแบบเพื่อใช้ในภารกิจนี้โดยตรง) ทำให้การใช้อุโมงค์ในสงครามตามแบบ เป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์มากนัก เพราะเป้าหมายดังกล่าวอาจถูกทำลายได้ง่าย แต่กระนั้น สงครามอุโมงค์ยังคงมีบทบาทในทางยุทธวิธีสำหรับขบวนการก่อความไม่สงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อุโมงค์เพื่อป้องกันการโจมตีทางอากาศ หรือการระดมยิงของปืนใหญ่ข้าศึก เป็นต้น

 

อุโมงค์ในศตวรรษที่ 21

สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮิซบุลเลาะห์ (Hezbollah) ในเลบานอน ยังคงแสดงให้เห็นถึงสงครามอุโมงค์ว่า ไม่ได้หายไปกับโลกสมัยใหม่แต่อย่างใด การสร้างอุโมงค์เป็นผลจากการรบในช่วงปี 2006 ที่กลุ่มฮิซบุลเลาะห์ได้ข้ามพรมแดนจากภาคใต้ของเลบานอนเข้าไปเปิดปฏิบัติการโจมตีอิสราเอล อันเป็นจุดเริ่มต้นของ “สงครามเลบานอน 2006” หรือ “สงครามอิสราเอล-ฮิซบุลเลาะห์”

อิสราเอลได้เปิดการโจมตีทางทหารขนาดใหญ่ต่อเป้าหมายในเลบานอน เพราะถือว่าเลบานอนต้องรับผิดชอบในการกระทำของฮิซบุลเลาะห์ การโจมตีทางอากาศของอิสราเอลทำให้จรวดพิสัยไกลของกลุ่มจำนวนมากถูกทำลายในสองวันแรกของการรบ พร้อมกับการทำลายคลังอาวุธ แต่หลายฝ่ายเชื่อว่า อิสราเอลไม่ได้ประสบความสำเร็จมากเช่นนั้น หากเห็นในอีกมุมถึงการใช้ระเบิดขนาดใหญ่ถึง 23 ตันในการโจมตีบังเกอร์ในภาคใต้ของเลบานอน ที่เชื่อว่าเป็นศูนย์บัญชาการ ซึ่งผลจากการโจมตีในครั้งนี้ทำให้กลุ่มต้องเริ่มหาทางป้องกันตนเองโดยเฉพาะจากการโจมตีทางอากาศ หากเกิดความขัดแย้งขึ้นอีกในอนาคต

ผลจากการรบเช่นนี้ทำให้กลุ่มต้องเริ่มจัดทำอุโมงค์ที่สามารถทานแรงจากการโจมตีทางอากาศให้ได้ โดยเฉพาะการถูกโจมตีด้วยจรวด กลุ่มฮิซบุลเลาะห์จึงตัดสินใจหันไปหาความช่วยเหลือจากเกาหลีเหนือที่มีประสบการณ์อย่างมากในการขุดอุโมงค์ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อุโมงค์นี้จะมีความคล้ายคลึงกับอุโมงค์ของเกาหลีเหนือที่ถูกตรวจพบในบริเวณเขตปลอดทหาร เครือข่ายใต้ดินเช่นนี้จึงเป็นทั้งบังเกอร์ คลังอาวุธที่สามารถเก็บอาวุธ กระสุน และจรวด รวมทั้งมีเครือข่ายของระบบใยแก้วที่จะช่วยในเรื่องของการติดต่อสื่อสาร แต่ในช่วงจากปลายปี 2018 จนถึงต้นปี 2019 ทหารอิสราเอลตรวจพบและทำลายอุโมงค์ของกลุ่มที่ขุดตามแนวชายแดนได้เป็นจำนวน 6 อุโมงค์ กระนั้น ฮิซบุลเลาะห์ยังคงดำรงเครือข่ายใต้ดินไว้จำนวนหนึ่ง ด้วยเหตุผลทางยุทธวิธีและการป้องกันภัยการโจมตี

ในสงครามกลางเมืองซีเรียก็เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากอุโมงค์ของกลุ่มกบฏในการโจมตีที่ตั้งของกองทัพรัฐบาลซีเรีย หรือกองทัพยูเครนใช้อุโมงค์ในการยันการรุกของกองทัพรัสเซียในการรบที่โรงงานเหล็กในเมืองมาริอูโปล (The Azovstal Iron and Steel Works) จนทำให้การรบที่โรงงานเหล็กแห่งนี้มีความเป็นสงครามอุโมงค์อย่างแท้จริง เพราะอุโมงค์ที่ถูกขุดในสงครามเย็นโดยฝ่ายสหภาพโซเวียตนั้น ได้กลายเป็นเครือข่ายอย่างดีให้กับกองทัพยูเครนในสงครามต่อต้านรัสเซียได้เป็นอย่างดี จนกล่าวกันว่าเครือข่ายอุโมงค์ที่อยู่ใต้โรงงานเหล็กที่มาริอูโปลนั้น ทำให้ประธานาธิบดีปูตินต้องชั่งใจในการออกคำสั่งบุกโรงงานแห่งนี้ และกองทัพยูเครนที่อยู่ในโรงงานสามารถรับมือการบุกของกองทัพรัสเซียได้นานถึง 80 วันในปี 2022 ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นความสำเร็จของกองทัพยูเครนอย่างไม่น่าเชื่อ

ข้อสรุปจากสงครามอุโมงค์ที่มาริอูโปลชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สนามรบในอุโมงค์เป็นการต่อสู้ที่ยากที่สุดชุดหนึ่งของการสงครามทางบก ทั้งยังชี้อีกว่ากำลังพลที่มีความมุ่งมั่นและไม่ยอมแพ้ในอุโมงค์หรือในเครือข่ายโพรงใต้ดินจะเป็นฝ่ายที่เลือกสถานที่และเวลาของการต่อสู้ ด้วยการใช้ยุทธวิธีของการซุ่มโจมตี ซึ่งส่งผลให้กองทัพรัสเซียประสบความสูญเสียอย่างมาก ว่าที่จริงอาจจะไม่ต่างจากประสบการณ์เดิมที่กองทัพโซเวียตเคยทำการสู้รบกับนักรบชาวมุสลิมที่อาศัยเครือข่ายถ้ำเป็นเครื่องมือทางยุทธวิธีมาแล้วในสงครามอัฟกานิสถาน

 

สงครามใต้พิภพในกาซา

สําหรับในพื้นที่ของฉนวนกาซานั้น เครือข่ายอุโมงค์ของกลุ่มฮามาสเป็นที่รับรู้กันมานาน โดยกองอิสราเอลเรียกเครือข่ายเช่นนี้ว่า “เมโทร” (The Metro) อันมีนัยหมายถึงเส้นทางขนส่งคมนาคมใต้ดิน ซึ่งการสร้างอุโมงค์นี้อาจจะมีมาก่อน แต่ผลที่เกิดจากการปิดล้อมของอียิปต์และอิสราเอลในปี 2007 ทำให้กลุ่มฮามาสต้องแสวงหาเส้นทางในการลำเลียงอาวุธ และสิ่งผิดกฎหมายจากอียิปต์เข้ามาในกาซา ซึ่งแต่เดิมอุโมงค์นี้จะใช้ในการลำเลียงคนและอาหารเข้ามาในพื้นที่

อุโมงค์ดังกล่าวทำให้กลุ่มไม่ต้องกังวลกับการปิดพรมแดนอีกต่อไป ในสภาวะเช่นนี้ ฮามาสได้ขยายเครือข่ายอุโมงค์ออกไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการขุดเข้าไปในดินแดนของอิสราเอล อันทำให้การลำเลียงคน ยุทโธปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อใช้ในปฏิบัติการทางทหาร ไม่สามารถถูกตรวจจับได้จากการลาดตระเวนของโดรน

อย่างไรก็ตาม กองทัพอิสราเอลตระหนักถึงภัยคุกคามของสงครามอุโมงค์มานาน อย่างน้อยตั้งแต่ปี 2001 เมื่อกลุ่มได้ขุดอุโมงค์เข้าไปวางระเบิดที่ตั้งของหน่วยทหารชายแดน และในปี 2004 กองทัพอิสราเอลได้จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจ “The Weasels” ซึ่งมีภารกิจโดยตรงในการค้นหาและทำลายอุโมงค์ของฮามาส และแม้อิสราเอลจะใช้การโจมตีทางอากาศเป็นยุทธวิธีหลัก แต่ก็ไม่สามารถทำลายอุโมงค์ดังกล่าวได้จริง ต่อมาในปี 2014 ฮามาสได้เปิดปฏิบัติการข้ามพรมแดนด้วยอุโมงค์ในการโจมตี ทหารอิสราเอลเสียชีวิตถึง 11 นาย ซึ่งดูจะเป็นต้นแบบของการโจมตีในวันที่ 7 ตุลาคม 2023

ผู้นำฮามาสเคยให้สัมภาษณ์ในปี 2021 อย่างน่าสนใจว่า อุโมงค์ของพวกเขามีความยาวถึง 500 กิโลเมตร ทั้งที่กาซามีพื้นที่เพียง 360 ตารางกิโลเมตรเท่านั้นเอง ฉะนั้น หากกองทัพอิสราเอลให้สัมภาษณ์ว่าได้ทำลายอุโมงค์รวมกันมีความยาวถึง 100 กิโลเมตร ซึ่งส่วนที่ถูกทำลายคิดเป็นเพียง 1 ใน 5 หรือ 20% เท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งคือ เครือข่ายหลักของเส้นทางคมนาคมใต้ดินเหล่านี้ยังไม่ถูกทำลายแต่อย่างใด

ดังนั้น หลังการโจมตีอิสราเอลในวันที่ 7 ตุลาคมแล้ว กองทัพอิสราเอลเปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศขนาดใหญ่ต่อเป้าหมายในกาซา แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าเครือข่ายอุโมงค์ส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกทำลายลงแต่อย่างใด ซึ่งปัญหาเช่นนี้ล้วนเป็นประสบการณ์ของกองทัพสหรัฐ ที่ใช้การทิ้งระเบิดอย่างหนักจากเครื่องบิน บี-52 ต่อเป้าหมายภาคพื้นดินในเวียดนามใต้ แต่อุโมงค์ไม่ได้ถูกทำลายอย่างที่ทหารอเมริกันคิดแต่อย่างใด ไม่ต่างจากประสบการณ์การโจมตีทางอากาศของโซเวียตในสงครามอัฟกานิสถาน ที่ไม่อาจทำลายถ้ำของกลุ่มมูจาฮีดีนได้ เช่นเดียวกับการโจมตีทางอากาศของรัสเซีย ก็ไม่อาจทำลายเป้าหมายอุโมงค์ใต้โรงงานเหล็กในสงครามยูเครนได้แต่อย่างใดเช่นกัน

ฉะนั้น การเอาชนะสงครามอุโมงค์ในกาซาจึงเป็นความท้าทายของชุดค้นหาและทำลายเป็นอย่างมาก และท้าทายอย่างที่สุดเมื่อทหารอิสราเอลจะต้องทำลายอุโมงค์และหาตัวประกันไปด้วยพร้อมกัน ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ง่ายเลย

ความลำบากของภารกิจนี้ คือการที่ฮามาสเอาตัวประกันเก็บไว้ในอุโมงค์ ขณะเดียวกันทหารอิสราเอลต้องค้นหาและทำลายอุโมงค์ ซึ่งอาจมีผลต่อชีวิตและความปลอดภัยของตัวประกันด้วย… สงครามอุโมงค์ในกาซาจึงเป็นเหมือนการเล่นซ่อนหาของสนามรบในเมืองนั่นเอง!