ท่านสุภัทรกับการสร้างความรักชาติ ผ่านการท่องเที่ยว (จบ)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ท่านสุภัทรกับการสร้างความรักชาติ

ผ่านการท่องเที่ยว (จบ)

 

นอกไปจากการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวและทำคู่มือท่องเที่ยวแล้ว ท่านสุภัทรยังมีความคิดล้ำสมัยไปไกลกว่านั้น

โดยในปี พ.ศ.2515 ท่านได้ทำจดหมายถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยศิลปากรเพื่อสนับสนุนแนวคิดในการจัดแสดง “แสงและเสียง” ตามโบราณสถาน ซึ่งในช่วงเวลานั้นเริ่มมีการพูดถึงการแสดงแบบนี้ว่าควรจะมีขึ้นหรือไม่ในสังคมไทย

โดยเนื้อความในจดหมาย (อ้างถึงใน จดหมาย หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ถึง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร, หมายเลขแฟ้ม 003 หมวดเอกสารต้นฉบับ ห้องสมุด ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล, วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2515) ระบุว่า

“…เรื่อง ‘แสงและเสียง’ ที่จะจัดทำในประเทศไทยนี้ ผมเห็นว่าถ้าทำได้ ก็คงจะเป็นการดี เพราะเป็นประโยชน์เกี่ยวกับทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ อาจก่อให้ประชาชนไทยมีความภาคภูมิใจและรักชาติยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศด้วย…การเลือกสถานที่ควรเลือกที่ที่มีเรื่องราวตื่นเต้นพอสมควร เพื่อเร้าใจผู้ดูประกอบ เช่น…ถ้าเป็นที่พระนครศรีอยุธยา ก็ต้องมีตอนเสียกรุง ถ้าเป็นที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ก็ต้องมีตอนสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคต…”

หลักฐานนี้แสดงให้เห็นชัดว่าท่านสุภัทรสนใจเรื่องการท่องเที่ยวในฐานะเครื่องมือสร้างความรักชาติเป็นอย่างมาก และพยายามที่จะนำเสนอวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้คนหันมาสนใจการท่องเที่ยวโบราณสถาน ซึ่งความคิดนี้ของท่านได้ถูกนำมาปฏิบัติจริงครั้งแรกในปี พ.ศ.2519 ที่วัดอรุณราชวราราม และขยายตัวต่อเนื่อง

จนกลายเป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งในการท่องเที่ยวโบราณสถานสืบมาจนถึงปัจจุบัน

หน้าปก อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับ เขาพระวิหารของไทย ปี 2 ฉบับ 2 (กรกฎาคม 2505) และภาพบทความ “ปราสาทพระวิหารในแง่ศิลป” โดย ศิลป์ พีระศรี (แปลโดย ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล)

ควรกล่าวด้วยว่า อีกปัจจัยที่ทำให้การท่องเที่ยวโบราณสถานขยายตัวมาก คือ การเกิดขึ้นของ “อนุสาร อ.ส.ท.” วารสารรายเดือนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยฉบับแรกวางจำหน่ายในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2503

น่าสังเกตคือ แหล่งท่องเที่ยวที่ถูกนำเสนอในวารสารฉบับนี้ในยุคต้นราว 15 ปีแรกนั้นจะเน้นไปที่แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติหรือสถานที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวัฒนธรรม แทบทั้งสิ้น ส่วนแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแม้จะมีอยู่ไม่น้อยแทรกอยู่ในหลายฉบับแต่ก็ต้องถือว่ายังไม่ถูกเน้นย้ำมากนัก ซึ่งจะแตกต่างจากวารสารท่องเที่ยวในยุคปัจจุบันที่จะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม

ลักษณะดังกล่าวคือดัชนีชี้ให้เห็นถึงเป้าหมายที่สำคัญอีกด้านหนึ่งของ “อนุสาร อ.ส.ท.” คือการปลูกฝังความรักชาติให้เกิดขึ้นผ่านสื่อสิ่งพิมพ์แบบมวลชน

น่าสังเกตอีกอย่างด้วยว่า ครึ่งหนึ่งของยอดพิมพ์ในช่วงปีแรกๆ จะถูกมอบให้กระทรวงศึกษาธิการเพื่อนำไปแจกตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ (ดูใน ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, “50 ปี อนุสาร อ.ส.ท. กึ่งศตวรรษแห่งพลังทางวัฒนธรรมสิ่งพิมพ์,” อนุสาร อ.ส.ท. ปี 51 ฉบับ 1 (สิงหาคม 2553) : 46.)

เมื่อมองมาในส่วนของผู้เขียนยุคแรกของอนุสาร อ.ส.ท. ก็น่าสนใจอีกเช่นกันเพราะประกอบไปด้วย พันเอกดำเนิร เลขะกุล, หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล, อนุวิทย์ เจริญศุภกุล, วิทย์ พิณคันเงิน, นิจ หิญชีระนันทน์, พิสิฐ เจริญวงศ์, ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา เป็นต้น

ซึ่งหากพิจารณาบทบาทของท่านเหล่านั้นแล้ว เกือบทั้งหมดคือนักวิชาการตามขนบทางวิชาการทั้งสิ้น แต่ทุกคน (ในช่วงเวลาดังกล่าว) เลือกที่จะมาร่วมเขียนบทความแนวท่องเที่ยว

ซึ่งการเลือกเช่นนี้ย่อมสามารถยืนยันถึงเป้าหมายดังกล่าวของอนุสาร อ.ส.ท. ในยุคแรกเริ่มได้เป็นอย่างดีว่ามีเป้าหมายที่เชื่อมโยงกับการสร้างความรักชาติแบบมวลชนให้เกิดขึ้นอยู่มากพอสมควร

ยิ่งเมื่อพิจารณายอดการพิมพ์ก็จะยิ่งเห็นถึงพลังของวารสารฉบับนี้ในการทำหน้าที่เผยแพร่ความคิดและอุดมการณ์สู่มวลชน เพียงแค่ฉบับปฐมฤกษ์ก็มีจำนวนพิมพ์มากถึง 10,000 ฉบับ โดยมีการเพิ่มขึ้นเป็น 22,000 ฉบับในเวลาเพียงปีเดียว ต่อมาเพิ่มเป็น 37,000 ฉบับในปี พ.ศ.2508 และขยายเป็น 70,000 ฉบับในปี พ.ศ.2516-2525 โดยในบางฉบับพิเศษมีการขยายยอดพิมพ์ไปมากถึง 100,000 ฉบับ

ในบทบรรณาธิการฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2506 กล่าวถึงประโยชน์ของการท่องเที่ยวเอาไว้น่าสนใจว่า

“…อนุสาร อ.ส.ท. ได้พยายามที่จะชักชวนให้ท่านท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทยอยู่ตลอดเวลา ถ้าท่านจะถามว่า เหตุใดจึงทำเช่นนั้น คำตอบก็มีอยู่ว่า ที่ทำเช่นนั้นก็เพราะมุ่งประโยชน์ 2 ประการ คือ ประโยชน์แก่ตัวท่านเอง และประโยชน์แก่ท้องถิ่น…ในด้านประโยชน์แก่ตัวท่าน ท่านย่อมจะได้ความสนุกเพลิดเพลิน จะได้ความรู้ จะได้สุขภาพทางร่างกายและจิตใจ และจะได้พบปะสังสันทน์แก่ประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้ท่านรู้จักพี่น้องร่วมชาติของท่านมากขึ้น และท่านจะจดจำไปได้อีกชั่วกาลนาน…”

 

คํากล่าวนี้จะว่าไปแล้วก็คือการพูดถึงการท่องเที่ยว (และแน่นอนรวมถึงบทบาทของ “อนุสาร อ.ส.ท.” ด้วย) ในลักษณะที่เป็นเครื่องมือในการสถาปนาชุมชนจินตกรรมว่าด้วยชาติไทยให้เกิดขึ้นนั่นเอง ซึ่งด้วยจำนวนพิมพ์ดังกล่าวย่อมทำให้จินตกรรมชุดนี้เดินทางไปถึงผู้คนในวงกว้างได้มากขึ้น

นอกจากนี้ เรายังพบว่ามีไม่น้อยเลยที่มีการตีพิมพ์ซ้ำบทความวิชาการทางประวัติศาสตร์ศิลปะที่เผยแพร่ในวงจำกัดผ่าน “อนุสาร อ.ส.ท.” เช่น บทความ “ปราสาทพระวิหารในแง่ศิลป” ของ ศิลป์ พีระศรี (แปลเป็นภาษาไทยโดยท่านสุภัทร) ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2503 ได้ถูกนำมาตีพิมพ์ใหม่ในฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2505

ประเด็นสำคัญต่อมาคือ เป็นการตีพิมพ์ซ้ำในช่วงเวลาเพียงไม่ถึงเดือนหลังจากที่ศาลโลกมีคำตัดสินว่าปราสาทนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของกัมพูชา (มีคำตัดสินวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2505) โดยหน้าปกของฉบับนี้เป็นรูปปราสาทพระวิหารพร้อมข้อความด้านล่างขนาดใหญ่ว่า “เขาพระวิหารของไทย”

และในบทบรรณาธิการก็อุทิศเนื้อหาทั้งหมดเพื่ออธิบายว่าทำไมปราสาทหลังนี้คือโบราณสถานที่คนไทยเป็นผู้สร้างมิใช่เขมรแต่อย่างใด

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ในฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ.2520 เป็นฉบับที่อุทิศให้กับการท่องเที่ยวสุโขทัย ภาพปกคือ “พระอจนะ” วัดศรีชุม เมืองเก่าสุโขทัย ภายในประกอบด้วยบทความของนักวิชาการหลายท่าน เช่น นิจ หิญชีระนันทน์ เขียนเรื่องผังเมืองสมัยสุโขทัย, สงวน รอดบุญ เขียนเรื่องยุคทองของสุโขทัย, ประโชติ สังขนุกิจ เรื่องประติมากรรมสมัยสุโขทัย และคณิตา เลขะกุล เรื่องเมืองสุโขทัยนี้ (ยัง) ดี เป็นต้น โดยมีบทความหลักเขียนโดย ดำเนิร เลขะกุล เรื่อง “ประเทศไทยเริ่มต้นที่สุโขทัย” เป็นประเด็นหลักของฉบับ

ในบทบรรณาธิการ ย้ำข้อเสนอชัดเจนโดยกล่าวว่า “…อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับนี้ภูมิใจที่จะแนะนำให้ท่านรู้จัก สุโขทัย เป็นพิเศษทั้งฉบับ ภายในเล่มท่านจะได้ทราบว่า ประเทศไทยเริ่มต้นที่สุโขทัย…”

 

กรณีข้างต้น (และกรณีที่พูดถึงไปเมื่อสัปดาห์ก่อน) คือหลักฐานยืนยันให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของท่านสุภัทรที่มีต่อการท่องเที่ยวและงานเขียนเชิงสารคดีท่องเที่ยวในฐานะเครื่องมือในการปลูกฝังความรักชาติ ซึ่งตามความเห็นของผม

ภารกิจด้านการท่องเที่ยวของท่านได้เข้ามามีส่วนอย่างสำคัญมากต่อการสร้างความรู้สึกชาตินิยมไทยให้เกิดขึ้นในวงกว้าง

บทความทั้ง 4 ตอนที่ผมเขียนถึงท่านสุภัทรในโอกาสครบรอบ 100 ปีชาตกาลของท่าน นอกจากเป้าหมายในการนำเสนอบทบาทบางด้านที่คนส่วนใหญ่อาจไม่ได้ให้ความสนใจมากนักแล้ว

ประเด็นสำคัญที่สุดคือ การแสดงให้เห็นว่าเรื่องราวของท่านสุภัทรยังมีแง่มุมอีกมากที่รอการศึกษาค้นคว้าต่อไปในอนาคต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่สุดคือ หม่อมเจ้าสุภัททรดิศ ดิศกุล กับการสร้างความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีในฐานะเครื่องมือสถาปนาอุดมการณ์ชาตินิยมมวลชนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

แม้ท่านสุภัทรจะมิใช่คนเดียวที่เข้ามาแสดงบทบาทในด้านนี้ (กรณีปราสาทพระวิหาร, การพัฒนาพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ และการท่องเที่ยวแบบมวลชน)

แต่เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า ท่านสุภัทรคือสดมภ์หลักของนักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีที่ได้เข้ามาขยับขยายองค์ความรู้ทางวิชาการไปสู่บทบาทหน้าที่ในการสร้างอุดมการณ์ชาตินิยมทางอ้อมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

และผลงานของท่านหลายด้านยังคงได้รับการสืบทอดต่อเนื่องทางความคิดมาสู่สังคมไทยในปัจจุบัน