ฤดูหนาว กับผลงานของนักฟุตบอล

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน | พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

ฤดูหนาว

กับผลงานของนักฟุตบอล

 

สําหรับประเทศอังกฤษและประเทศส่วนใหญ่ในทวีปยุโรป ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม อุณหภูมิเฉลี่ยจะต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส

นักฟุตบอลที่ลงแข่งขัน แม้จะวิ่งตลอดเวลาจึงไม่รู้สึกหนาวมาก

แต่เวลาที่อุณหภูมิต่ำมากๆ นักฟุตบอลก็หนาวเป็นเหมือนกัน

เวลาแข่งขันนักฟุตบอลสวมเสื้อกันหนาวหนาๆ หรือเสื้อไหมพรมไม่ได้เพราะต้านลม ทำให้วิ่งไม่เร็ว

สิ่งที่นักฟุตบอลสวมกันหนาวได้ และไม่มีผลต่อการเคลื่อนไหว ไม่ทำให้ขัดขวางการเล่นฟุตบอล ก็คือ ถุงมือไหมพรม

 

แม้นักเตะในทวีปยุโรปจะชินกับความหนาว แต่เวลาที่อากาศหนาวจัด ก็ส่งผลให้ทำประตูได้น้อยลง

โดยเรื่องนี้มีรายการการศึกษาชื่อ Cold Kills Goals หรือ ความเย็นฆ่าการทำประตู ซึ่งจัดทำโดย British Weather Services บริษัทเอกชนที่ให้คำปรึกษาเรื่องลมฟ้าอากาศว่าจะมีผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ อย่างไร

การศึกษาชื่อ Cold Kills Goals ได้วิเคราะห์ผลการแข่งขันในฟุตบอลพรีเมียร์ ลีกอังกฤษ 380 แมตช์ ในฤดูกาล 2011-2012 เพื่อดูว่าความหนาวเย็นมีผลต่อการทำประตูอย่างไร

พบว่าเมื่ออุณหภูมิขณะแข่งขันต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส โอกาสที่จะมีการยิงประตูเกิน 2 ประตูในการแข่งขันลดลงด้วย

 

อากาศหนาวจัด ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อนักฟุตบอลเท่านั้น ตัวผู้ตัดสินก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยอาจทำให้หนาว สั่น สมาธิลดลง ส่งผลให้การตัดสินอาจไม่แม่นยำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไลน์แมนที่ไม่ได้วิ่งตลอดเวลาเหมือนกับผู้ตัดสินหลัก เมื่อยืนอยู่เฉยๆ ไม่ได้เคลื่อนไหวก็จะรู้สึกหนาวยิ่งขึ้นไปอีก

หลายคนอาจสงสัยว่า British Weather Services ศึกษาผลกระทบของอากาศหนาวต่อการทำประตูในการแข่งขันฟุตบอลไปเพื่ออะไร ใครต้องการข้อมูลนี้

คำตอบคือ เจ้ามือรับพนัน ซึ่งในอังกฤษและอีกหลายๆ ประเทศ เช่น อเมริกา การพนันฟุตบอล การพนันกีฬาต่างๆ เป็นเรื่องถูกกฎหมาย เป็นธุรกิจที่ทำรายได้มหาศาล

โดยปัจจัยสำคัญที่เจ้ามือรับพนันฟุตบอลใช้ทำการศึกษาวิเคราะห์เพื่อกำหนดอัตราต่อรอง คือฟอร์มการเล่นของทีม ณ เวลานี้, สถิติการแข่งขันเวลาพบกันของทั้งสองทีม, กรรมการผู้ตัดสิน และที่ลืมไม่ได้คือพยากรณ์อากาศในวันแข่งขัน เพื่อจะได้กำหนดอัตราต่อรองได้แม่นยำกับผลการแข่งขันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดโอกาสที่นักพนันจะชนะเจ้ามือ

เพราะจากสถิติ หากอากาศไม่ดี ฟ้าฝนไม่เป็นใจ โอกาสที่ทีมเป็นต่อจะชนะทีมรองก็ลดลง ประตูที่จะยิงได้ก็ลดลงไปด้วย

 

ลม ฟ้า อากาศ มีผลกระทบต่ออารมณ์ของคนอย่างมาก

อุณหภูมิกี่องศาเซลเซียส เป็นอุณหภูมิที่ทำให้คนมีความสุขที่สุด

อาจารย์ชาวญีปุ่นชื่อ โยชิโร่ ซึซึอิ (Yoshiro Tsutsui) แห่ง Osaka University ทำการศึกษาและสรุปว่า อุณหภูมิ 13.9 องศาเซลเซียส เป็นอุณหภูมิที่ทำให้คนมีความสุขสุดยอด

อาจารย์โยชิโร่ สอบถามอารมณ์ ความรู้สึกของนักศึกษา Osaka University จำนวน 75 คน อย่างละเอียด ในช่วงอุณหภูมิต่างๆ เป็นเวลานานถึง 516 วัน

และได้คำตอบว่า อุณหภูมิ 13.9 องศาเซลเซียส นักศึกษามีความสุขที่สุด

สำหรับอากาศแบบที่ทำให้คนหงุดหงิดง่าย อารมณ์เสีย เหนื่อยง่าย ผลการศึกษาจากหลายสถาบันให้คำตอบเหมือนกัน คือ อากาศร้อน อบอ้าว หรือฝนตก

ซึ่งตรงกับอากาศปกติของเมืองไทยเปี๊ยบเลย!

 

มารี คอนนอลลี่ (Marie Connolly) จาก Princeton University รายงานผลการวิจัยเรื่องอากาศกับอารมณ์ว่า สำหรับผู้หญิง ในวันที่อากาศร้อนและฝนตก จะมีความพอใจในชีวิตน้อยกว่าวันที่อากาศเย็นและฝนไม่ตก

แนนซี่ โมลิทอร์ (Nancy Molitor) อาจารย์ด้านจิตวิทยา แห่ง Northwestern University อธิบายถึงสาเหตุที่คนหงุดหงิดเวลาอากาศร้อนอบอ้าวว่าเป็นเพราะอากาศแบบนี้ ส่งผลไปในทุกเรื่อง ตั้งแต่กิน อยู่ หลับนอน

อากาศร้อนทำให้นอนไม่เต็มอิ่ม ตื่นมาเวลาทำกิจกรรมต่างๆ ก็เกิดกระหายน้ำบ่อยขึ้น พอร่างกายขาดน้ำก็หงุดหงิด สมองคิดอะไรไม่ออก

 

นอกจากนี้ เมื่ออากาศร้อน คนก็พยายามไม่ออกไปไหน อยู่แต่ในร่ม ซึ่งเมื่ออยู่ในที่จำกัดเป็นเวลานานๆ จิตใจก็ไม่แจ่มใส

แพทริก เบย์ลิส (Patrick Baylis) แห่ง University of California, Berkeley พบว่าความสุขของคนลดลงเมื่ออุณหภูมิสูงเกิน 21 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส

ร้อนเกินไปก็ไม่สุข หนาวเกินไปก็ทุกข์

ลม ฟ้า อากาศ เป็นสิ่งที่เหนือการควบคุมของเรา ดังนั้น ต้องพยายามปรับอารมณ์ของตัวเองไม่ให้แปรปรวนตามอากาศ